Skip to main content
นั่งอยู่ก็ตกใจว่าจะทำอย่างไร แม้เขาจะยังไม่เอ่ยปากขอความช่วยเหลือ หลายคนระส่ำระส่าย คุณกำลังคิดว่าจะให้เขายืนอยู่ตรงไหน จะลุกให้เขานั่ง จะพาเขาไปนั่งเก้าอี้คนพิการ หรือปล่อยให้เขายืนต่อไป
หน่วยบริการสนับสนุนนักศึกษาพิการที่เรียกกันว่า  DSS หรือ Disability Support Services เป็นหน่วยที่ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ สนับสนุนทางด้านอุปกรณ์และสิทธิต่าง ๆ ให้กับนักศึกษาพิการ
เป็นคนพิการแล้วมีสิทธิอะไรบ้าง อยากเป็นผู้ดูแลคนพิการต้องทำอย่างไร คนพิการกู้เงินได้ไหม มีความรักได้หรือเปล่า ฯลฯ ชวนอ่านถาม-ตอบหลายคำถามที่ติดอันดับถูกถามมากที่สุดเกี่ยวกับคนพิการ
3 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคนพิการสากล (International day of persons with disability) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1992 เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จของความเข้าใจเรื่องความพิการการช่วยเหลือ สิทธิและความเป็นอยู่ที่ดีของคนพิการ
เมื่อวันที่ 1 พ.ย.62 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ในประเทศไทย (UNDP) ร่วมกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม (SIF) และสำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) จัดประชุมว่าด้วยการส่งเสริมการจ้างงานของผู้หญิงพิการ ภายใต้ชื่อ "Able to Create Change: the Business Network Meeting for Employing
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะกำกับดูแลงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ คนพิการ เด็ก การศึกษาและการสาธารณสุข เปิดเผยถึงการประชุมหารือร่วมกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมกา
รายงานเปิดชีวิตคนไร้บ้านที่มีอาการทางจิตเวช พบเป็นจำนวนมากในกทม.และปริมณฑล ปี 2559 มูลนิธิกระจกเงาเก็บข้อมูลมี 125 คน ปี 2560 มูลนิธิอิสรชนเก็บข้อมูลมี 700 กว่าคน เราติดตามกระจกเงาลงพื้นที่พบหลากหลายกรณี รวมถึงผู้หญิงที่คลอดลูกข้างถนนแล้วลูกเสียชีวิตมา 3 ครั้งแล้ว พร้อมกันนี้จะพาไปดูระบบการดูแล ต
ผู้หญิงในกลุ่มชาติพันธุ์ มายาคติหลายอย่างที่แฝงอยู่ทำให้พวกเธอต้องเผชิญกับความไม่เท่าเท่าเทียมในหลายด้าน ตั้งแต่เรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ ไปจนถึงเรื่องความเชื่อแบบสุดโต่งของบุคคลากรทางการแพทย์บางคนที่มองว่า หญิงชาวเผ่านั้นสกปรก ฯลฯ งานศึกษาเรื่องสิทธิของผู้หญิงในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ นั้นพอมีให้เห็นกันอยู่บ้าง แต่ดูเหมือนหญิงชนเผ่าที่เป็นคนพิการด้วยนั้นอยู่ในหลืบมุมที่ไม่มีใครเข้าถึง  ที่ผ่านมายังไม่เคยมีงานศึกษาเกี่ยวกับหญิงพิการในพื้นที่ชนเผ่ามาก่อนในประเทศไทย อาจเพราะความซับซ้อนของประเด็นและความยากในการค้นหา เข้าถึง และสื่อสาร กับหญิงพิการชนเผ่างานวิจัยหนึ่งของกมลพรรณ พันพึ่ง ระบุว่า หญิงพิการบางคนพอใจกับมายาคติที่สังคมมองว่า เมื่อเป็นคนพิการ พวกเขาไม่จำเป็นต้องเรียนรู้วิธีครองบ้านครองเรือน พวกเขาจึงไม่ต้องกดดันจากความคาดหวังให้แต่งงานเหมือนกับผู้หญิงคนอื่นแต่ในขณะเดียวกันพวกเขากลับถูกสังคมคาดหวังให้เป็นคนเก่ง ทำได้หลายอย่าง พึ่งพาตัวเองได้และใช้ความพิการเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา นี่คงเป็นความย้อนแย้งที่แม้แต่ตัวเราเองก็พบเจอ จนทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วในพื้นที่ชนเผ่าความย้อนแย้งต่อผู้หญิงพิการเกิดขึ้นไหม อย่างไรกันเราลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่พร้อมความรู้จากตัวหนังสือที่เคยได้อ่าน เช่น ผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์สื่อสารภาษาไทยไม่ได้ ไม่มีสัญชาติและเข้าไม่ถึงสวัสดิการสุขภาพจากภาครัฐ หรือความเชื่อว่าการเปิดเผยอวัยวะเพศเป็นเรื่องน่าอายที่ครอบไว้จนทำให้ผู้หญิงเป็นมะเร็งปากมดลูก วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่เห็นได้ชัดในสังคมเมือง ยิ่งเห็นมากขึ้นในสังคมชนเผ่าจากทุกงานวิจัยที่เคยอ่านผ่านมาแม้เราจะมีมุมมองเรื่องคนพิการอยู่มากพอสมควร แต่พื้นที่ชนเผ่าเป็นพื้นที่ใหม่ที่เรายังไม่เคยเข้าไปจ้องมองดูอย่างจริงจัง เราใช้เวลา 9 วันเพื่อสำรวจประเด็นนี้ใน 2 กลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงใหม่คือ ปกาเกอะญอ และ ม้ง เราพบว่าคนพิการในพื้นที่มีไม่มากนัก สอดคล้องกับจำนวนประชากรกลุ่มชาติพันธุ์โดยรวมทั้งหมดหลายคนเข้าใจว่า ชาวเผ่าภาคเหนือต้องคอยาวและมักเรียกพวกเขากันติดปากว่า “กะเหรี่ยง” แท้จริงแล้วพวกเขามีชื่อและวัฒนธรรมที่ต่างกันไป กะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอ, โพล่ง, กะยาห์, กะยัน, และปะโอ กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของ 15 จังหวัดคือ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก กำแพงเพชร แพร่ สุโขทัย อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ รวมแล้วก็เกือบ 400,000 คน เดิมทีคนที่นี่นับถือผี แต่ก็ค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นพุทธและคริสต์นิกายคาทอลิกพื้นที่ทับซ้อนของคนพิการและผู้หญิงชนเผ่าจักรวาลคนพิการนั้นลึกแต่ไม่กว้าง ปัจจุบันมีคนพิการในประเทศไทยประมาณ 1.9 ล้านคนที่ขึ้นทะเบียนแล้ว และยังมีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน พวกเขาได้เบี้ยความพิการเดือนละ 800 บาทและเกือบ 60% ไม่มีรายได้อื่น ไม่มีอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเพราะปัจจัยทางสภาพแวดล้อม อุปกรณ์ที่ไม่พร้อม ความยากลำบากของร่างกายหรือความไม่เข้าใจของสังคม หนำซ้ำคนพิการมักถูกมองว่าน่าสงสารจนทำให้เกิดปัญหาการกดขี่และเลือกปฏิบัติเช่นเดียวกับหญิงชนเผ่าที่ในอดีตนั้นถูกกดขี่สารพัดโดยเฉพาะเมื่อแต่งงาน อำพร ไพรพนาสัมพันธ์ หญิงปกาเกอะญอซึ่งทำงานในเครือข่ายสตรีชนเผ่าได้กล่าวในงาน "การประชุมและรณรงค์วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล" โดยเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อความเท่าเทียมระหว่างเพศว่า ตนเองมาจากชนพื้นเมืองปกาเกอะญอ การต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมเมื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศมีข้อจำกัดเนื่องจากจารีตของชนพื้นเมือง เช่น การต้อง "เป็นผู้หญิงที่ดี" หมายถึงความเป็นแม่ ความบริสุทธิ์ ซึ่งถูกกำหนดวิถีทางเพศด้วยการแต่งงาน ผู้หญิงปกาเกอะญอถูกคาดหวังให้ต้องทนกับสามีเมื่อถูกทำร้ายหรือล่วงละเมิด และมักถูกประณามว่าร้ายแทนที่จะได้รับความช่วยเหลือ สำหรับตัวเธอเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศ เธอไม่เพียงเจ็บปวดจากการถูกกระทำแต่จารีตกลับทำให้รู้สึกกลายเป็น "ผู้หญิงไม่ดี" ความคิดนี้เหล่านี้ทำให้หญิงชนเผ่าบางคนกดดันจนหาทางออกไม่ได้และฆ่าตัวตายพร้อมกับลูกในท้องข้อมูลข้างต้น เป็นชุดข้อมูลเชิงลึกที่หลายคนรับรู้และมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะแก้ไขจารีตบางอย่างเพื่อให้ผู้หญิงชาวเผ่าสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียม เช่น การสร้างประเพณีเอาลูกสาวกลับบ้านของชาวม้งเมื่อผู้หญิงเลิกกับสามี เป็นต้นแล้วผู้หญิงพิการชนเผ่าล่ะ พวกเธออยู่ตรงไหนของชุดข้อมูลนี้ ?เราเองก็จินตนาการภาพของ “หญิงพิการชนเผ่า” ไม่ออก พวกเธออาจอยู่หรือไม่อยู่ อาจเป็นหรือไม่เป็นผู้หญิงชนเผ่าแบบที่เราเล่าให้ฟังข้างต้น ชีวิตแต่งงานของพวกเธอราบรื่น มีอุปสรรคหรือพวกเธอไม่เคยได้เข้าถึงการแต่งงานและความรักเลยกันแน่ ?ปกาเกอะญอกับหญิง “พิการ” ที่ไม่มีอยู่“ชายปกาเกอะญอมองว่า ต้องแต่งงานกับหญิงพิการเพราะสงสาร และพ่อแม่หญิงพิการปกาเกอะญอบางคนก็ยกลูกให้ผู้ชายโดยไม่ต้องทำพิธีกรรมตามประเพณี” เราเดินทางเข้าหมู่บ้านปกาเกอะญอ อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยความตั้งใจที่จะสัมภาษณ์ผู้หญิงพิการประเภทต่างๆ ที่อยู่ในวัฒนธรรมแต่งงานแบบชนเผ่า หลายคนบอกว่าผู้หญิงพิการมีโอกาสเข้าถึงการมีชีวิตคู่ยากกว่าผู้หญิงไม่พิการ ทั้งจากมายาคติที่ว่าผู้หญิงพิการนั้นไม่มีเพศ ไม่มีความสามารถในการมีความสัมพันธ์ทางเพศ และมักถูกแยกขาดออกจากเรื่องเพศโดยสิ้นเชิง เพราะกลัวว่าจะมีภาระตามมาหลังจากนั้น เช่น มีลูกพิการแล้วดูแลเองไม่ได้ หรือจะมีชีวิตคู่ที่ไม่ยั่งยืน หญิงพิการปกาเกอะญอในพื้นที่แม่วางส่วนใหญ่พิการทางการได้ยิน เกือบทุกคนสื่อสารด้วยภาษามือที่คุยกันได้เฉพาะในบ้านและบริเวณโดยรอบ นอกจากความพิการทางการได้ยินแล้ว ความพิการทางสติปัญญาและการเรียนรู้ก็พบได้มาก น่าแปลกใจที่ความพิการ 2 ประเภทนี้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการแต่งงานและมีชีวิตคู่ของหญิงปกาเกอะญอเลย พวกเขามองความพิการแตกต่างจากสังคมเมือง ปกาเกอะญอ มองความพิการว่าคือการใช้การบางส่วนไม่ได้ มากกว่าจะมองว่าคือความบกพร่อง ผู้หญิงหูหนวกจึงเพียงไม่ได้ยิน แต่ทำกิจวัตรอย่างอื่นได้ปกติ แม้ปกาเกอะญอจะมองว่าความพิการทางการได้ยินหรือทางสติปัญญาไม่เป็นอุปสรรคต่อการมีครอบครัว แต่กับคนพิการทางการเคลื่อนไหว เรากลับไม่เห็นพวกเขาในพื้นที่เลย เราพยายามกระซิบถามชาวบ้านในแต่ละละแวกบ้านที่ไปหรือถามพี่ที่พาลงพื้นที่ พวกเขาก็ล้วนบอกเล่าไปในทางเดียวกันว่า คนพิการทางการเคลื่อนไหวนั้นมีอยู่ แต่มักอยู่แค่ในบ้าน จึงเข้าไม่ถึงวัฒนธรรมการแต่งงาน หนำซ้ำยังถูกมองว่าไม่สามารถทำหน้าที่เมียได้อย่างเต็มที่ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงไม่เห็นพวกเธอเลยตลอดหลายวันในพื้นที่  แบรี (นามสมมติ) 54 ปี หญิงปกาเกออะญอกำลังเดินเก็บผลเสาวรสตอนที่ไปสัมภาษณ์ หูของเธอหนวกเพราะการทำพิธีกรรมที่ผิดพลาดตอนเกิด นอกจากแบรีแล้วพี่ชายคนหนึ่งของเธอก็หูหนวกเช่นกัน แม้หูจะไม่ได้ยินแต่แบรีก็ใช้ชีวิตได้ปกติผ่านภาษามือที่ใช้เฉพาะภายในครอบครัว จนกระทั่งแต่งงานมีครอบครัว ลูก 4 คน เป็นชาย 1 และหญิง 3 หนึ่งในนั้นเป็นเนื้องอกในสมองจนเดินไม่ค่อยถนัด ตามวัฒนธรรมแล้ว หนุ่มสาวปกาเกอะญอแต่งงานในช่วงอายุราว 18-20 ปี แบรีพบรักกับ “ทวน” ผู้เป็นสามีตอนอายุ 24 ปีซึ่งเรียกได้ว่า “แก่จนจะขึ้นคานแล้ว” สำหรับสังคมปกาเกอะญอ หลังปลงใจจะอยู่กินด้วยกันผู้หญิงจะไปสู่ขอผู้ชาย ถ้าพ่อแม่ตกลงผู้ชายจะเลี้ยงเหล้า 2 ขวดเป็นพิธีและย้ายเข้าบ้านผู้หญิง ทุกคนที่นี่มีอิสระในการเลือกคู่เช่นเดียวกับแบรี ปกาเกอะญอค่อนข้างเปิดกว้างและให้อิสระในการเลือกคู่เพราะแผลในอดีตจากการกีดกันของพ่อแม่ หนุ่มสาวปกาเกอะญอที่ผิดหวังจากความรักจะฆ่าตัวตาย เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าพ่อแม่รุ่นหลังจึงมักไม่กีดกันลูกตัวเองหากพวกเขาชอบพอกันเพราะไม่อยากให้ลูกต้องเจอจุดจบที่น่าเศร้า แบรีอ่านหนังสือได้และใช้เวลาในช่วงวันทำสวน ปลูกเสาวรส และสื่อสารกับครอบครัวด้วยภาษามือและการอ่านปาก (ตอนสัมภาษณ์เธออ่านปากเราออกก่อนที่ลูกจะแปลเป็นภาษามือเสียอีก) เธอเล่าย้อนไปถึงวันที่เจอกับทวน หลังย่นย่อความห่างของภูเขาสองสามลูกพวกเขาเจอกันที่บ้านป่ากล้วย บ้านเกิดของแบรี ทวนข้ามภูเขามาจากแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อทำงานกับพี่ชายของแบรี โดยครอบครัวเดิมที่แม่ฮ่องสอนคิดว่า เขาตายไปแล้วเพราะจากบ้านมาโดยไม่ได้บอกกล่าว ทวนทำงานกับพี่ชายแบรีกว่า 6 ปี จนคุ้นชินและรู้สึกสงสารที่แบรี “ไม่มีคนเอา” (ไม่มีคนเอาในความหมายว่า ไม่มีครอบครัวดูแล) จึงตัดสินใจแต่งงานกันอาศัยในบ้านไม้สลับปูนยกพื้นสูง หลังอยู่กินกัน 30 กว่าปีทวนเส้นเลือดในสมองแตกเข้าโรงพยาบาลกลายเป็นคนพิการอัมพาตครึ่งซีก แม้ทวนจะเหลือแขนที่ใช้งานได้เพียงข้างเดียว แขนข้างเดียวก็สื่อสาร เถียง ทะเลาะกับแบรีได้เหมือนเดิม ในขณะที่เราผู้ไม่ค่อยได้คุยหรือไม่คุ้นชินกับคนหูหนวกจึงมีความรู้สึกติดขัดอยู่บ้างในการสื่อสาร โดยเฉพาะเวลาที่ต้องการถามเรื่องส่วนตัว แบรีไม่เข้าใจคำถามที่ถูกแปลงเป็นภาษามือ หรืออาจอึดอัดใจที่ต้องมีคนในครอบครัวคอยเป็นตัวกลางในระหว่างบทสนทนาโดยตลอดก็เป็นได้ ปกาเกอะญอรุ่นใหม่ที่แต่งงาน พวกเขามักจดทะเบียนสมรสกัน แม้จะเลิกกันในภายหลังก็ไม่จำเป็นต้องมีพิธีรีตองอะไรเพื่อนำชายและหญิงคู่นั้นกลับบ้าน แตกต่างกับวัฒนธรรมม้งที่ผู้หญิงจะถูกตัดจากบ้านเดิมเมื่อฝ่ายชายฉุดผู้หญิงให้พ้นหมู่บ้าน ปกาเกอะญอสมัยก่อน การคลุมถุงชนเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง แต่ปัจจุบันหลังจากการเข้ามาของศาสนาพุทธและศริสต์ คนเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเพราะได้รับการศึกษามากขึ้น ทำให้การกดขี่ระหว่างหญิงชายลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ดี ยังมีการข่มขืนหรือมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานกับผู้หญิงพิการมากกว่าผู้หญิงทั่วไป แต่ส่วนมากมักจบลงด้วยการรับผิดชอบแต่งงานกัน ดังเช่นกรณีของ ตินา (นามสมมติ) หญิงพิการทางการได้ยินและสติปัญญาวัย 28 ปี ซึ่งแต่งงานมา 8 ปีแล้ว โดยสามีของเธอ “จะเด็จ” เล่าว่า เกิดความรักและสงสารอยากดูแลเพราะตินาไม่มีพ่อแถมครอบครัวก็ไม่ใส่ใจ ก่อนแต่งงานเมื่อ 8 ปีที่แล้วตนและตินามีความสัมพันธ์กันจนท้อง แต่เพราะยังไม่ได้แต่งงาน แม่ของตินาจึงยกลูกให้กับคนนอกหมู่บ้านและให้เธอทำหมัน เพราะมองว่าเธอจะไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้ จะเด็จเองไม่มีสิทธิพูดอะไร หลังจากนั้นถึงค่อยตกลงแต่งงานกัน  เป็นคนพิการชนเผ่า = เข้าไม่ถึงการศึกษาจากข้อมูลในเว็บไซต์ TCIJ ระบุว่า มีเด็กพิการในวัยเรียนทั่วประเทศ 800,000 คน ซึ่งตัวเลขดูจะไม่สอดคล้องกับข้อมูลในเว็บไซต์สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษที่ระบุว่า ทั่วประเทศมีโรงเรียนเฉพาะทางความพิการ 48 แห่ง ในเชียงใหม่มีอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนกาวิละอนุกูล โรงเรียนศรีสังวาลเชียงใหม่ และโรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร ซึ่งไม่ได้รองรับเพียงแค่นักเรียนพิการจากเชียงใหม่เท่านั้น แต่รับนักเรียนพิการจากทั่วประเทศ แม้นักเรียนพิการส่วนหนึ่งอยู่ในระบบการเรียนรวม แต่ด้วยโรงเรียนเฉพาะมีจำนวนน้อยและไกลบ้าน จึงทำให้เด็กพิการที่อยู่ห่างไกลเข้าไม่ถึงการศึกษา เช่นเดียวกับตินา เธอใช้ชีวิตเองได้ด้วยการเลียนแบบพฤติกรรมคนรอบข้าง ตั้งแต่เรื่องทำกับข้าว ซักผ้า ตักน้ำ รวมไปถึงการหัดใช้เครื่องซักผ้าไฟฟ้าและใช้เวลาว่างไปกับการเขียน ก.ไก่ เธอไม่เคยได้เข้าโรงเรียนในขณะที่พี่ชายและพี่สาวนั้นเข้าโรงเรียนกันตามปกติ สอดคล้องกับข้อมูลของเจ้าหน้าที่ศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) ที่ระบุว่า คนพิการกลุ่มชาติพันธุ์เข้าไม่ถึงการศึกษาเพราะครอบครัวมองว่า ถ้าพิการก็ไม่จำเป็นต้องเรียน ถึงจะอยากเรียนก็ไม่มีโรงเรียนที่เข้าถึง ครูไม่เข้าใจเด็กพิการ คนพิการชนเผ่าจึงมักอ่านและเขียนไม่ได้ นอกจากบางกลุ่มซึ่งออกจากบ้านไปอยู่โรงเรียนประจำของคนพิการในตัวเมืองเชียงใหม่ อย่างไรก็ดี การไปอยู่โรงเรียนประจำทำให้เด็กพิการถูกแบ่งแยกจากวัฒนธรรมเดิม เด็กผู้หญิงบางคนไปอยู่โรงเรียนประจำก็โดนล่วงละเมิดทางเพศซ้ำอีกลูกชายของตินาและจะเด็จเป็นเด็กแข็งแรงเรียนอยู่ชั้น ป.2 ที่อีกหมู่บ้านหนึ่ง ทุกวันนี้ตินาพร่ำบอกให้สามีไปเอาลูกคืน หลังเธอได้เจอลูกอีกครั้งที่โรงเรียนใกล้หมู่บ้าน จะเด็จจึงได้แต่บอกว่า ไม่ใช่ลูกแล้วเพราะยกให้คนอื่นไปแล้ว จะเด็จกลุ้มใจที่ตินาความจำดีมากและไม่เคยลืมเรื่องลูก บาดแผลในใจจากการโดนพรากทำให้ทุกวันนี้พวกเขาทั้งสองคนก็ยังต้องพูดเรื่องลูกอย่างไม่จบไม่สิ้นแม้จะมีคนพิการจำนวนน้อยสอดคล้องไปกับจำนวนประชากรของเผ่า แต่หญิงพิการส่วนใหญ่กลับถูกบอกให้ทำหมัน เพราะมักถูกข่มขืนและท้องก่อนที่จะแต่งงาน หากไม่รู้ว่าใครข่มขืนและไม่มีคนรับผิดชอบก็จะโดนคนในหมู่บ้านประณาม กล่าวหาว่าติดเอชไอวีเช่นเรื่องของ จรุงจิต (นามสมมติ) วัย 26 ปีซึ่งพิการทางการเรียนรู้ เธอถูกคนต่างหมู่บ้านข่มขืน การถูกข่มขืนทำให้เธอกลัวและเสียใจ แต่ที่แย่กว่านั้นคือ คนในหมู่บ้านกลับมองว่าเธอเป็นเอดส์และกำลังจะตาย ทุกคนตีตัวออกห่าง หมอแนะนำให้เธอทำหมันเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์หากเกิดเหตุการณ์ถูกล่วงละเมิดอีก แต่เธอปฏิเสธและขอเพียงแค่ฉีดยาคุม หลังตรวจแล้วว่าไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวี แม่และพ่อเลี้ยงของจรุงจิตก็ให้เธอแต่งงานและย้ายไปอยู่กับชายคนหนึ่งเพราะเชื่อว่าจะช่วยดูแลเธอได้ หลังจากนั้น 1 เดือนผู้ชายก็ทิ้งไป เธอกลับมาอยู่กับแม่และพ่อเลี้ยงตามเดิมสมัยก่อน การล่วงละเมิดทางเพศในปกาเกอะญอนั้นมีน้อยมาก แต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลัง ชาวบ้านเชื่อว่าเกิดขึ้นเพราะมีการย้ายถิ่นฐานของคนข้างนอกเข้ามามากขึ้น รวมถึงหมู่บ้านกลายเป็นพื้นที่สัญจรผ่านไปมาของหมู่บ้านใกล้เคียง เหตุข่มขืนเกิดขึ้นเยอะโดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงพิการทางสติปัญญาและหญิงพิการทางการได้ยิน เมื่อข่มขืนแล้ว เขาและเธอจะแต่งงานกันตามวัฒนธรรมและมักใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันได้ยาว ที่ผ่านมามีเพียง 2 คู่เท่านั้นที่เลิกกันแต่ไม่ใช่กับกรณีของจรุงจิต คนที่ข่มขืนเธอเป็นคนต่างหมู่บ้านและหนีไปหลังเกิดเหตุการณ์ ทิ้งให้จรุงจิตงุนงงอยู่สักพักก่อนจะตั้งหลักได้และเข้าทำงานในศูนย์ดูแลเด็กเล็ก เธอเรียนรู้ช้า แต่ช่วยเหลือตัวเองได้ทุกอย่าง เหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นทิ้งบาดแผลเป็นโรคซึมเศร้า ความอยากตาย ซึ่งถาโถมเข้าใส่เธออยู่บ่อยๆ จนต้องกินยา แต่เพราะบ้านอยู่ไกลโรงพยาบาล เมื่อยาหมดก็ไม่ได้ไปเอาอีกและหยุดกินไปในที่สุด จนอาการมักกำเริบวนไปวนมา การทำงานที่ศูนย์เด็กเล็กเหมือนเป็นเครื่องเยียวยาเธอทางหนึ่งและสร้างรายได้เดือนละ 9,000 บาทซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยของชาวบ้านที่นี่ที่มีรายได้เดือนละ 2,000 บาท ชีวิตแต่งงาน 1 เดือนของเธอจบลงเพราะนึ่งข้าวไม่เป็น ฟังแล้วอาจดูเป็นเหตุผลที่เล็กน้อย แต่สิ่งนี้เป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ของภรรยาชาวปกาเกอะญอ แม่ของฝ่ายชายจึงไม่ชอบและไม่ยินดีให้เธออยู่ด้วยอีกต่อไป ตั้งแต่เลิกกันเมื่อ 3 ปีที่แล้ว จรุงจิตก็ไม่เคยมีคนรักอีก เพราะกลัวจะเลี้ยงลูกไม่ได้และยินดีที่อาจต้องเป็นโสดตลอดไป แน่นอนว่า เวลา 4 วันในพื้นที่ไม่สามารถบอกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด แต่เค้าลางของความเปลี่ยนแปลงจากการนับถือผีเป็นศาสนาทำให้ความเชื่อของคนที่นี่ค่อนข้างเปลี่ยนไปเช่นเดียวกับในชนเผ่าม้ง ตรงกับที่อังศุรักษ์ พรหมสุวรรณ์ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับผู้หญิงม้งได้ให้ข้อสังเกตว่า ผู้หญิงม้งเองก็เลือกที่จะนับถือศาสนาเพื่อเป็นหนทางสู่การเข้าถึงการศึกษาและการสร้างพรรคพวกเพื่อต่อรองกับความเชื่อเรื่องชายเป็นใหญ่ที่พวกเธอต้องเจอ ชนเผ่าม้งอยู่ในเขตภูเขาสูงภาคเหนือของไทย มีจำนวนประชากรมากกว่า 150,000 คน อังศุรักษ์เล่าให้ฟังว่า ผู้หญิงม้งมองว่าตัวเองโดนกดขี่ตั้งแต่เกิดแล้วเพราะพวกเธอไม่มีสิทธิในการตัดสินใจอะไรเลย และยิ่งเข้มข้นขึ้นในกรณีคนพิการ ต่างกันกับคนปกาเกอะญอที่มีพื้นฐานความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากกว่า   “วัฒนธรรมม้งสะท้อนให้เห็นจนถึงปัจจุบัน เห็นได้จากแม้ครอบครัวม้งมีฐานะดี แต่การส่งลูกชายและลูกสาวเรียนก็ไม่เท่ากัน หรือวิธีการ “ฉุด” เมียแล้วค่อยไปขอ คนม้งมีเมียได้ไม่จำกัดเพื่อเป็นแรงงาน เมื่อผู้หญิงหายตัวไปครอบครัวจะรู้แล้วว่าโดนฉุด พอรุ่งเช้าแล้วค่อยให้ผู้ใหญ่มาเคลียร์กัน” อังศุรักษ์กล่าว ปัญหาไม่ได้จบเพียงแค่การฉุดเท่านั้น ผู้หญิงม้งที่โดนฉุดและทำพิธีเข้าบ้านผู้ชายแล้วจะไม่สามารถกลับมาที่บ้านตัวเองได้ ถ้าหย่ากันจะต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน ไม่มีครอบครัว ไร้ญาติขาดมิตรและต้องตายนอกบ้าน ในช่วงหลังมีความพยายามต่อสู้ในการเอาลูกสาวกลับบ้านด้วยการใช้พิธีกรรมบางอย่าง หรือไม่ตัวผู้หญิงเองก็เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ทั้งที่ตัวเองอาจจะไม่ได้เชื่อ แต่เพื่อเป็นหลักประกันว่าเมื่อตายไปก็ยังมีคนในครอบครัวมากราบไหว้ (แม้จะนับถือคริสต์ แต่หญิงม้งก็ยังอาจทำพิธีกรรมแบบไหว้ผี หรือเข้าวัดแบบพุทธไปด้วย) เพราะการนับถือคริสต์ไม่มีการหย่าขาด ทำให้พวกเธอยังมีขาข้างหนึ่งอยู่ในตระกูลของสามีทั้งๆ ที่เลิกกันแล้ว ไม่กลายเป็นสัมพเวสีผีไร้บ้านที่ไม่มีคนกราบไหว้ ด้วยความเชื่อเรื่องผีและบรรพบุรุษที่เข้มข้นของชาวม้ง จึงส่งผลให้เมื่อมีคนพิการเกิดขึ้นในหมู่บ้าน พวกเขาจึงมองว่า ความพิการเกิดจากสิ่งที่บรรพบุรุษเคยทำในอดีตมากกว่าเป็นความผิดปกติของการตั้งครรภ์หรือโรคภัยไข้เจ็บที่อธิบายได้ด้วยการแพทย์ คนพิการม้งไม่เคยโดนล้อเลียนและพูดถึงความพิการเพราะพวกเขาเชื่อว่าจะทำให้บรรพบุรุษโกรธ และส่งผลให้ลูกหรือคนรุ่นต่อไปในครอบครัวมีความพิการเหมือนกัน ฉะนั้นคนพิการม้งจึงได้รับการปฏิบัติด้วยอย่างดีและมีการระบุไว้เป็นธรรมเนียมด้วยว่า หากครอบครัวใดมีคนพิการ น้องชายคนเล็กจะต้องเป็นผู้ที่ดูแลพี่พิการไปตลอดชีวิต สาวพิการชาวม้งที่ไม่มีวันแต่งงาน“สาวม้งที่มีความพิการจะไม่แต่งงาน ไม่ว่าเธอจะมีความพิการเล็กน้อยขนาดไหน” จากคำพูดนี้เราเดินทางเข้าสู่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ด้วยรถห้าประตูสีชมพูคันเก่ากับ “แน่งน้อย” ผู้หญิงม้งที่เคยเป็นกรณีศึกษาและผันตัวเองมาเป็นนักสู้เรื่องสิทธิผู้หญิงชนเผ่า แม้แน่งน้อยจะรู้จักผู้หญิงพิการหลายคน แต่เธอก็นึกไม่ออกว่า คนเหล่านั้นมีชีวิตประจำวันอย่างไร การเดินทางครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการเดินทางครั้งแรกของเราทั้งสองคนที่จะเข้าไปทำความรู้จักกับหญิงพิการชาวม้ง เราเดินทางไกลกว่า 2 ชั่วโมงจากตัวเมืองเชียงใหม่มุ่งหน้าสู่ อ.หางดง คนที่นี่นิยมปลูกบ้านชั้นเดียวไม่ยกพื้น พวกเขานิยมค้าขาย เห็นได้จากการเปิดหน้าบ้านเป็นร้านขายของ ขายก๋วยเตี๊ยว ฯลฯ บ้านของเฉิน (นามสมมติ) หญิงม้งซึ่งเกิดมาตัวเล็กและขายึดตึงอาศัยอยู่ตรงข้ามร้านขายของชำ น้องชายของเฉินเล่าว่า เธอพิการเพราะเป็นไข้สมองอักเสบตั้งแต่เขายังจำความไม่ได้และไม่เคยได้ไปโรงเรียน ไม่ใช่ว่าโรงเรียนไม่รับหรือไม่มีครูดูแล แต่พ่อแม่ของเฉินไม่เคยคิดจะพาไป คล้ายกับคนพิการอีกหลายคนในเผ่าม้งที่ไม่เคยได้รับการศึกษาใดๆ เลย ความว้าวของเราเกิดขึ้นเมื่อเฉินเริ่มเอ่ยปากพูดภาษากลาง ใช่แล้ว ภาษาไทยกลาง ตั้งแต่ลงพื้นที่ปกาเกอะญอจนมาถึงม้ง เราแทบจะฟังใครไม่ออกเลยแม้แต่คนเดียว แต่เฉินกลับพูดภาษากลางได้อย่างชัดถ้อยชัดคำเพราะหัดจากหนังและละครที่ดูทุกวัน หนึ่งในนั้นคือบุพเพสันนิวาสหรือ “ออเจ้า” ที่ใครหลายคนติดกัน หน้าเฉินดูฟินมากเมื่อพูดถึงฉากรักในละคร เราจึงได้จังหวะถามเธอเกี่ยวกับเรื่องความรักบ้าง เธอดูเขินอายทันทีพร้อมบอกเบาๆว่า โสด ไม่เคยมีแฟนและอยากอยู่กับพ่อแม่ นิรันด์น้องชายของเฉินที่นั่งข้างๆ พูดแทรกขึ้นมาว่า ตามธรรมเนียมม้ง ผู้หญิงพิการจะไม่แต่งงานและอยู่กับครอบครัวไปตลอดชีวิต อย่างที่บอก การนับถือศาสนาให้โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและเพิ่มเครือข่ายที่อยู่ต่างพื้นที่ สายสัมพันธ์ม้งจึงไกลข้ามลาว เพชรบูรณ์ ไปถึงสหรัฐอเมริกาตามแบบฉบับของครอบครัวชาวจีนและนอกจากพวกเขาจะเครือข่ายเยอะ ค้าขายเก่งแล้ว พวกเขาก็ยึดถือธรรมเนียมการมีลูกไว้สืบสกุลด้วย เช่นเดียวกับวิชัย ภูศิริพัฒนานนท์ ที่แต่งงานมานานแต่ไม่มีลูก จึงตัดสินใจรับ มาลัย (นามสมมติ)เป็นลูกบุญธรรม มาลัย ในวัย 17 ปีเป็นหญิงสาวผิวขาวอมชมพู ถูกรับมาเลี้ยงตั้งแต่อายุได้ 4 วัน ไม่มีสัญญาณอะไรเลยที่บอกว่ามาลัยมีความพิการ แต่เมื่อถึงวัยเข้าเรียนชั้นประถมโรงเรียนกลับปฏิเสธไม่ให้เข้าเรียนเพราะเธอสมองช้า ทำอะไรไม่เป็น วิชัยจึงส่งลูกสาวเข้าโรงเรียนคนพิการในตัวเมืองเชียงใหม่ ก่อนจะลาออกเมื่อ 2 ปีที่แล้วเพราะเธองอแงไม่อยากไปโรงเรียน “ตอนพาลูกหาหมอที่โรงพยาบาลนครพิงค์ หมอบอกว่าเขาปัญญาอ่อน แต่ละวันที่ลูกโตขึ้นเขาก็ดีขึ้นนะ รับรู้ทุกอย่าง เวลาใครพูดไม่ถูกใจเขาก็โกรธ แต่ไม่พูดโต้ตอบ ถึงตอนนี้ก็หลายสิบปีแล้ว เราเอาเค้ามาเลี้ยงแล้วจะทอดทิ้งก็ไม่ใช่เรื่อง” วิชัยกล่าว โดยทั่วไป หญิงม้งจะแต่งงานตอนอายุราวๆ 16-17 ปี หรือตอนเรียนชั้น ม.3 ขึ้น ม.4 ซึ่งก็คือวัยเดียวกับมาลัย วิชัยกล่าวว่า วัยนี้แหละที่สาวชาวม้งจะแต่งงานกัน แต่ไม่ใช่กับลูกสาวเพราะเธอจะเป็นภาระให้กับครอบครัวฝ่ายชาย เว้นแต่ครอบครัวฝ่ายชายจะสามารถเลี้ยงได้ก็ยินดีให้แต่ง ด้วยความไม่ประสีประสาของมาลัย วิชัยผู้เป็นพ่อเลยไม่อยากให้เธอออกนอกบ้านมากนักเพราะกลัวว่าจะเกิดเรื่องเสียหายแล้วไม่มีใครดูแล จึงวางแผนให้ย้ายไปอยู่กับพี่น้องถ้าพ่อกับแม่ไม่อยู่แล้ว วิชัยเล่าว่าช่วงแรกๆ หมอแนะนำให้มาลัยทำหมันเพราะเธอดูแลตัวเองไม่ได้หากมีลูกจะยิ่งลำบาก ตอนนั้นวิชัยก็เห็นด้วย แต่ยังไม่ทันได้ตัดสินใจทำ มาลัยก็ตัดสินใจไปโรงเรียนเสียเอง เมื่อไม่มีอะไรน่ากังวลเมื่ออยู่ที่บ้าน พวกเขาจึงล้มเลิกโครงการทำหมัน แม้หลายคนจะบอกว่า มาลัยนั้นพัฒนาการช้า ไม่ประสีประสาอะไรเลย แต่เราเชื่อว่า มาลัยนั้นทำอะไรได้ไม่น้อยกว่าคนอื่น ในวัย 16 ปีเธอสามารถทำงานบ้านได้ทุกอย่าง แถมยังปักผ้าได้ นอกจากทำงานบ้านแล้วอีกสิ่งที่เธอชอบก็ไม่แพ้กันก็คือการเล่นกับเด็กเล็กๆ ทุกวันนี้แม้จะยังมีประเพณีการฉุดอยุ่บ้าง แต่ก็น้อยลงเรื่อยๆ ตามคำบอกเล่าของวิชัย ความเข้าใจและชอบพอกันเป็นปัจจัยสำคัญในการแต่งงานของหนุ่มสาวม้งรุ่นใหม่เสียมากกว่า สอดคล้องกับที่อังศุรักษ์กล่าวว่า การใช้ชีวิตของหนุ่มสาวชาวม้งนั้นเริ่มเปลี่ยนไปจากปัจจัยของการศึกษาและการใช้ชีวิต เมื่อพวกเขาส่งลูกเข้ามาเรียนใช้ชีวิตแบบคนเมือง ทัศนคติของพวกเขาก็เปลี่ยนไปคล้ายกับชนชั้นกลาง เด็กรุ่นใหม่เรียนโรงเรียนดีๆ พ่อแม่ตามรับตามส่ง อย่างไรก็ดี ความคิดแบบคนเมืองก็ไม่ได้สะท้อนกลับไปในหมู่บ้านทั้งหมดเพราะยังมีผู้ใหญ่ในหมู่บ้านที่คอยกำกับสร้างวัฒนธรรมม้งอย่างเข้มแข็งอยู่ วัฒนธรรมการฉุดก็ยังพอมีให้เห็น ดังเช่นผู้หญิงหลายคนเมื่อกลับบ้านช่วงปิดเทอมก็กลับโดนฉุดไปเป็นเมียคนที่สองที่สาม จึงทำให้หนุ่มสาวม้งบางคนไม่กลับบ้านและทำงานนอกพื้นที่มากขึ้น การศึกษาและอาชีพจึงเป็นเงื่อนไขของการมาอยู่ในเมืองหรือหากหนุ่มสาวม้งที่ชอบกันในเมืองก็จะกลับบ้านไปฉุดกัน เพื่อกันไม่ให้พ่อแม่จัดแจงการแต่งงานกับคนอื่น หลายคนอาจมองว่า การรับวัฒนธรรมเมืองเข้ามาอาจทำให้ม้งมีปัญหาและสูญเสียอัตลักษณ์ แต่สำหรับชาวม้ง การผสานรวมวัฒนธรรมเกิดขึ้นอย่างกลมกลืน ปกาเกอะญอและม้งมีความเชื่อคล้ายคนพุทธ พวกเขาคิดว่า ศาสนาหรือวัฒนธรรมที่เข้ามาเป็นโอกาสในการเรียนหนังสือ ไม่ขัดกับผีที่นับถือ พวกเขาสามารถรับทั้งคู่และผสมผสานเข้าด้วยกัน แม้รุ่นปู่ย่าอาจไม่เปลี่ยนความเชื่อแต่พวกเขาก็ไม่ได้ขัดขวาง หลายคนไหว้พระสวดมนต์แต่ก็นับถือผีหรือไม่ยอมออกจากสายตระกูลเพราะกลัวไม่มีใครเส้นไหว้ รวมถึงการสานสัมพันธ์แบบสายตระกูลที่ยังเข้มแข็ง เช่น การเอาคนรุ่นเดียวกันมาทำงานด้วยกันเมื่อมีพิธีแต่งงาน แม้การรับวัฒนธรรมเมืองจะทำให้หนุ่มสาวชาวม้งยืดหยุ่นในชีวิตมากขึ้น แต่ความยืดหยุ่นนี้ก็ทำให้คนพิการหญิงหลายคนรู้สึกว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องอยู่ในวัฒนธรรมการแต่งงานเหมือนที่พวกเขาเคยถูกปลูกฝังไว้ เพชรกมล (นามสมมติ) หญิงพิการทางร่างกายวัย 29 ปี เกิดมาพร้อมกับภาวะไดพีเจียแบบเกร็ง (ภาวะที่ทำให้กล้ามเนื้อยึดตึง โดยเฉพาะบริเวณสะโพกและขา หัวเข่าจะมีลักษณะบิดเข้าหากันและทำให้การเดินเป็นไปอย่างลำบาก) ก่อนไปเรียนโรงเรียนศรีสังวาลย์เธอเคยเรียนโรงเรียนร่วมกับเด็กๆ ในชุมชน และหลังจากจบชั้น ม.3 ที่ศรีสังวาลย์เธอก็ถูกส่งต่อไปเรียนที่อยุธยา แต่ความทรงจำส่วนนี้กลับไม่อยู่ในความจำเธอเลยกระทั่งไปค้นเจอกระเป๋าและเสื้อผ้านักเรียน ความสามารถและโอกาสที่ต้องรอการหยิบยื่น“ตอนเด็กๆ นั่งก็ไม่ได้ คลานก็ไม่ได้ ยืนก็ไม่ได้ แต่เราอยากเดินก็เลยพยายาม ซึ่งเจ็บมาก สุดท้ายก็ยืนและเดินได้แต่ก็ไม่เหมือนคนอื่นเพราะเข่าเล็กผิดปกติ จากที่แม่เคยต้องยกไปยกมาจนอายุ 8-9 ขวบ ก็ช่วยเหลือตัวเองและทำกิจวัตรประจำวันได้” เพชรกมลกล่าว เพชรกมลมีน้อง 5 คนหญิง 4 และน้องชายคนสุดท้อง แม้อายุของเพชรกมลจะล่วงเลยถึง 29 ปีแล้ว ซึ่งเป็นวัยที่ “ควร” แต่งงานแล้วสำหรับหญิงชาวม้ง แต่ปัจจุบันเธอก็ยังไม่มีแฟนและอาศัยอยู่กับครอบครัว เธอพูดเสียงแข็งว่า ไม่ต้องการมีครอบครัวเพราะอยู่คนเดียวสบายตัวกว่า หลังจากเข้าเรียนที่ศรีสังวาลย์ตอนอายุ 13 ปีในชั้น ป.1 ตามคำชักชวนจากผู้ก่อตั้งโรงเรียนที่เข้ามาติดต่อในแต่ละหมู่บ้าน แรกๆ เธอยังสื่อสารภาษาไทยไม่คล่องนัก อาศัยทักษะจากการดูละครที่บ้านเวลาพ่อแม่ออกไปทำไร่นา ตอนนี้เธอพูดภาษาไทยคล่องและใช้ได้ถูกหลักมากกว่าคนที่ใช้มันมาตลอดเสียอีก  ความทรงจำเดียวที่ประทับใจที่สุดคือตอนเรียนโรงเรียนศรีสังวาลย์ที่ทั้งช่วยปลดเปลื้องความกังวลเมื่อต้องอยู่บ้านคนเดียว เธอกลัวโจร กลัวผู้ชาย กลัวทุกอย่าง และยังสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตกับคนอื่น เธอจึงย้ำอยู่ตลอดการสัมภาษณ์ว่า โรงเรียนเป็นเหมือนบ้านหลังที่สอง มีวิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาโปรด ตอนเรียนจบใหม่ๆ เธออยากเรียนต่อด้านภาษา แต่ตอนนี้แก่แล้วก็เลยลังเล แม้ใจจะยังอยากเป็นครูสอนภาษาแค่ไหนก็ตาม เพชรกมลมีอะไรที่อยากทำหลายอย่าง ตั้งแต่อยากไปเที่ยวน้ำตก ทะเล อยากออกจากบ้านไปทำงานคนเดียว อยากเรียนต่อหรืออยากเรียนขับรถ ด้วยเหตุผลที่ว่าอยากไปไหนมาไหนได้เองโดยไม่ต้องรบกวนใคร แต่ก็มักโดนเบรคโดยคนในครอบครัวที่หาว่าเธอพูดเพ้อเจ้อ “พิการแล้วจะขับรถได้อย่างไร” “แค่เดินนิดหน่อยก็เหนื่อยแล้วแล้วจะไปไหนได้” ระหว่างที่เราสัมภาษณ์เสียงแม่ น้องสาว น้องชาย ดังขึ้นเป็นระยะๆ เพื่อคัดค้านสิ่งที่เพชรกมลพูด ทั้งเรื่องอยากเรียนต่อ การใช้ชีวิตเองหรือแม้แต่การหัดขับรถ คนสัมภาษณ์รู้สึกอึดอัดกับเหตุการณ์นั้น ผิดกับผู้ให้สัมภาษณ์ เพชรกมลบอกว่าความคิดแบบนี้เป็นความคิดที่ “ปกติ” สำหรับคนในชุมชนชาวเผ่า พวกเขาไม่รู้ว่ามีโรงพยาบาลที่คนพิการเข้าไปรักษาได้ ไม่รู้ว่ามีโรงเรียนที่เด็กพิการไปเรียนได้และมักไม่ให้คนพิการออกจากบ้านไปพบปะกับสังคม ตั้งแต่สมัยก่อนคนพิการก็อยู่บ้านและกินข้าวไปวันๆ คนในครอบครัวไม่ได้มีเวลาพาคนพิการออกไปไหน ชายหญิงชาวม้งไม่ว่าจะพิการแบบไหน มักมีคนในครอบครัวเลี้ยงดูอยู่เช่นนั้น เธอจึงมองว่าตัวเองโชคดีมากที่แม่พาไปเรียนจนอ่านออกเขียนได้คล่อง ถ้ามีคนมาขอแต่งงานจะว่ายังไง? เราโยนคำถามไป เพชรกมลรีบส่ายหน้าบอกว่า ไม่แต่งเพราะอยู่แบบนี้ก็มีความสุขดี และหากมีคนมารักก็อยากรัก แต่ถ้าไม่มีคนรักก็ไม่เห็นต้องหา หากถามถึงเรื่องกุ๊กกิ๊กแบบหนุ่มสาว เธอเล่าว่ามีเพื่อนชายเข้ามาชอบ แต่ตัวเธอเองไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าเขาแอบชอบ ทั้งที่เขามานั่งขวางทางให้เห็นตอนเดินออกจากห้อง มานั่งเฝ้าหรือแอบดูข้ามตึกผ่านกระจกห้องนอนของเพชรกมล เธอมีคนที่เธอเคยแอบชอบและอกหักเสียใจอย่างรุนแรงมาแล้ว จากนั้นก็ตั้งใจว่า เป็นคนพิการตั้งใจเรียนก็พอและไม่คิดถึงเรื่องความรักอีก หลังจากจบชั้น ม.3 ตอนอายุ 19 ปี ชีวิตที่เคยมีเพื่อนห้อมล้อมก็หายไป เพชรกมลกลับมาอยู่ในหมู่บ้าน ช่วงแรกๆ เธอเล่าว่าเหงามากเพราะไม่มีอะไรให้ทำ บวกกับสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบากขึ้น กระทั่งผ่านไป 3 ปี ความเคยชินก็เพิ่มขึ้นมากและยังเผื่อแผ่ไปคิดถึงอนาคตด้วยว่า ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างเมื่อไม่มีพ่อแม่แล้ว สมัยก่อนผู้ชายม้งสามารถฉุดผู้หญิงที่ชอบเพื่อแต่งงานสร้างครอบครัว โดยจะชวนพรรคพวกมาอุ้มผู้หญิงเข้าบ้าน ฝ่ายบ้านผู้หญิงเองเมื่อเห็นว่าลูกสาวหายไปก็เป็นอันรู้กันว่าโดนฉุด รุ่งเช้าฝ่ายชายจะต้องพาผู้หญิงกลับมาที่บ้านและสู่ขอไปเป็นเมีย เป็นอันเสร็จพิธี เมื่อผู้หญิงผ่านขั้นตอนการฉุดพวกเธอจะต้องถูกตัดขาดจากบ้านเดิม และย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านสามี ถึงแม้เลิกกันก็ไม่สามารถกลับไปบ้านเดิมของพ่อแม่ได้ด้วยความเชื่อที่ว่า ลูกสาวเปรียบเสมือนน้ำในขันที่เทออกไปแล้วไม่สามารถคืนมาได้ ในปัจจุบันจึงมีความพยายามที่จะนำเอาผู้หญิงกลุ่มนี้กลับบ้านโดยใช้พิธีกรรมที่เรียกว่า ผู่ (Phum) หรือการ “รับลูกสาวกลับบ้าน” ซึ่งมี 2 ขั้นตอนคือ ‘หลีไก๊’ หรือการแจ้งย้ายฝ่ายหญิงกลับมาเป็นสมาชิกในบ้านเพื่อบอกให้ผีบ้านผีเรือนและบรรพบุรุษรับทราบ และการเสริมกำลังใจด้วยการสู่ขวัญและให้ผู้อาวุโสกล่าวคำอวยพรและผูกข้อมือให้เพื่อให้ผู้หญิงสามารถกลับคืนบ้านเดิมของเธอได้หลายวันในพื้นที่ม้งและพื้นที่ปกาเกอะญอ เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ที่ท้าทายสมมติฐานที่เราเคยมีต่อผู้หญิงพิการ ทั้งในเรื่องของการสร้างชีวิตครอบครัว ความไร้ตัวตนและการมีตัวตน จากเดิมที่แม้แต่จินตนาการยังยากจะไปถึงว่า ผู้หญิงพิการชนเผ่านั้นมีชีวิตความเป็นอยู่กันยังไง การได้สำรวจโลกของพวกเขาครั้งนี้ทำให้รู้ว่า ผู้หญิงพิการในพื้นที่เหล่านี้ไม่ได้เข้าไม่ถึง หรือไม่ประสีประสาในเรื่องเพศ แต่พวกเธอมีวิถีความเชื่อ วิถีทางเพศที่เป็นแบบแผนของตัวเอง รวมไปถึงวิถีชนเผ่าเองก็ไม่ได้กีดกันคนพิการออกจากความสัมพันธ์ แต่ถึงกระนั้นก็เป็นเรื่องยากสำหรับคนพิการที่อยากออกจากวิถีที่เป็นอยู่ เพราะพวกเธอมีโอกาสน้อยที่จะได้ออกมาเรียนหนังสือ ทำงาน หรือบอกเล่าเรื่องราวให้คนอื่นได้ฟัง
หลายคนอาจจะรู้จักการใช้สุนัขนำทางในไทยผ่านทรายและลูเต้อร์มาไม่มากก็น้อย (หากใครยังไม่รู้จัก เรามีบทสัมภาษณ์ที่นี่