Skip to main content

“คนนั้นแตกต่างกันได้ แต่คนนั้นไม่ได้แตกต่างจากความเป็นคน” นี่คือคำบอกเล่าของหนึ่งในนักแสดง อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ เกี่ยวกับละครแทรกสด อวสานความเฉย ตอน “แตกต่าง...เป็นบางเวลา”

“แตกต่าง....เป็นบางเวลา” ละครซึ่งเสนอความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีความสามารถแตกต่าง (Differently Able) นำเสนอมุมมองของการกดขี่ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่นั่งวีลแชร์ คนตาบอด ผู้มีสายตาเลือนราง หรือแม้แต่ประเด็นการกดขี่อื่นๆ โดยนำเสนอทั้งสิ้น 4 เรื่องได้แก่

1. รักยกล้อ (กลุ่มคนนั่งวีลแชร์)

2. ปาร์ตี้...ที่ไม่ใช่ของเรา (กลุ่มคนตาบอด)

3. ระยะชัดที่วัดไม่ได้ (กลุ่มผู้มีสายตาเลือนราง)

4. อาจารย์ใหม่...ไฟแรงเฟร่อ! (การกดขี่ในสถาบันการศึกษา)        

ผ่านกระบวนการละครแทรกสด(Forum Theatre) ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มละครของผู้ถูกกดขี่(Theater of the oppressed ) ในฐานะของเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม

‘ละครของผู้ถูกกดขี่’ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1950 โดยออกุสโต โบอาล (Augusto Boal) นักการละครชาวบราซิลและเป็นที่แพร่หลายในช่วง ค.ศ.1960 ทั้งในบราซิลและยุโรป จุดเด่นของละครชนิดนี้คือผู้ชมจะมีส่วนเข้ามาเป็นผู้ร่วมแสดงด้วยในระหว่างที่ละครกำลังดำเนินเรื่อง โดยมีกรอบคิดของเนื้อเรื่องและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมและนักแสดงเป็นหลัก

กว่า 2 ปีแล้วที่คณะละคร ‘มาร็องดู‘โดย ‘ฉั่ว’ ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย นำเสนอผลงานด้วยกระบวนการนี้เป็นแห่งแรก มุ่งหวังให้เป็นละครเพื่อการเคลื่อนไหวของสังคม โดยเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เข้ามาเป็น ’ผู้แสดง’ แก้ไขประเด็นปัญหาที่นำเสนอในละคร ที่ผ่านมา ‘มาร็องดู’ มีผลงานการทำละครของผู้ถูกกดขี่มาแล้วไม่น้อย เช่น ปี พ.ศ. 2556 เรื่อง ’ขออาจารย์ก่อน’ ซึ่งนำเอาประเด็นการกดขี่ในสถานศึกษามาใช้ หรือการแสดงเล็กๆ ในชื่อ ‘วัตถุเหลวไหล’ เพื่อรณรงค์เรื่องการตระหนักรู้เกี่ยวกับการกดขี่และฉกฉวยผลประโยชน์จากชาวบ้านในนามของทุนนิยม รวมทั้งยังมีละครแฟลชม็อบของผู้พิการที่นำเสนอเกี่ยวกับความเท่าเทียมของระบบขนส่งมวลชน เช่น บีทีเอส ด้วยการสร้างสถานการณ์ “การต่อว่าคนพิการบนรถไฟฟ้า” เพื่อกระตุ้นให้คนตระหนักว่าทำไมควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการในพื้นที่สาธารณะ

เสน่ห์ของละครเรื่องนี้ที่ต่างจากละครเวทีเรื่องอื่นๆ เพราะการเปิดกว้างให้ผู้แสดงที่มีความหลากหลายทั้งพิการและไม่พิการเข้ามาร่วมเล่น และยังให้ผู้ชมได้เข้ามามีส่วนร่วม ขบคิด ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคม โดยนำเสนอประเด็นใกล้ตัวที่ทุกคนมองข้าม เน้นการคิดแบบวิพากษ์ (Critical thinking) และเชื้อเชิญให้ทุกคนขึ้นมาเป็นผู้ปฎิบัติ  

“สังคมไทยต้องการ Actor ไม่ใช่ Watcher เราขาดคนทำ”ฉั่วกล่าว 


ศรชัย / ฉั่ว

ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย (ฉั่ว) – ผู้จัด เริ่มสนใจในเรื่องละคร การเมืองและการขับเคลื่อนสังคมตั้งแต่เรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาพบว่าหนังสือที่เขาสนใจแทบทั้งหมดจะอยู่ในห้องสมุดรัฐศาสตร์และเมื่อใดที่เขาหาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและการละครก็จะเจอคำหนึ่งเสมอ นั่นคือ ‘ละครของผู้ถูกกดขี่’

ฉั่วเดินทางไกลถึงอินเดียเพื่อศึกษาละครชนิดนี้อย่างจริงจัง ด้วยความสนใจว่าละครทำงานอย่างไรในการขับเคลื่อนสังคม ฉั่วเล่าว่าละครของผู้ถูกกดขี่มีการนำเสนอหลายๆ รูปแบบ แต่เขาได้หยิบยกเครื่องมือของการมีส่วนร่วมของผู้ชมหรือที่เรียกว่า ละครแทรกสด ที่ต้องการการแก้ปัญหาจากผู้ชมและเน้นการคิดแบบวิพากษ์ เชื้อเชิญให้คนลุกขึ้นมาทำ ไม่เน้นสั่งสอนผู้ชม เพราะละครของผู้ถูกกดขี่เชื่อว่าไม่สามารถเอาความรู้ไปใส่ให้ใครได้ แต่ควรจะสร้างให้เกิดการเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าละครส่วนใหญ่ในไทยเน้นสะท้อนสังคมและมีไว้เพียงเพื่อนั่งดูเท่านั้น

เมื่อถามถึงความแตกต่างของการทำงานที่อินเดียและไทย ฉั่วให้ความเห็นว่า ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก คนอินเดียค่อนข้างคุ้นเคยกับการถูกกดขี่เพราะเขาถูกกดขี่มาหลายรูปแบบ เขามีวัฒนธรรมการคุย การถกเถียง เขาไม่ลังเลที่จะขึ้นมาร่วมแก้ปัญหา กลับกันคนไทยที่ถูกมองภาพว่าไม่กล้าแสดงออก แต่เมื่อมีละครลักษณะนี้กลับพบว่าไม่เคยขาดคนเข้าร่วม เผลอๆ ยังแย่งกันเข้าร่วม

“ทุกคนควรจะได้เรียนรู้และไม่ควรพาตัวเองไปอยู่ในห้องปิดไฟมืดๆ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับสังคมปัจจุบันที่ไร้สิทธ์และเสียง”ฉั่วแลกเปลี่ยน

ฉั่วมองว่าการกดขี่นั้นแฝงตัวในทุกรูปแบบสังคม แต่เห็นเด่นชัดในแง่มุมความพิการและเมื่อได้มีโอกาสรู้จักผู้พิการ ฉั่วจึงหยิบยกความพิการมานำเสนอในประเด็นเรื่องใกล้ตัว เช่น เรื่องความรัก เรื่องครอบครัว ซึ่งเป็นมุมมองง่ายๆ ธรรมดาๆ ไม่มีใครสนใจ แต่มีความละเอียดอ่อน เกี่ยวข้องกับความรู้สึกและไม่สามารถสื่อสารออกมาด้วยสื่ออื่นๆ ได้ เขายกตัวอย่างเทียบกับการทำหนังสั้นว่า หนังสั้นมักจะมีการเจือจางปัญหา ทั้งยังต้องสอดแทรกไปด้วยสุนทรียะและความสวยงาม จนในที่สุดเราก็จะได้เห็นผลลัพธ์ที่ ‘เติมน้ำลงไปแล้ว’ ทั้งที่ในความเป็นจริง ถ้าเราลองขาหัก นั่งวีลแชร์ โลกก็คงจะไม่สวยงามแบบนั้น

“ถ้าเอาปัญหาไปซุกใต้พรม การเปลี่ยนแปลงมันก็จะเกิดขึ้นไม่ได้”ฉั่วกล่าว

เมื่อถามถึงประสบการณ์ในการทำงานครั้งนี้ ฉั่วกล่าวด้วยน้ำเสียงสดใสว่า เขามีความสุขมากในการทำงานครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกับ ‘อรรถ’ ซึ่งเป็นคนที่เข้าใจอะไรเร็ว มีทัศคติที่ดีต่อชีวิตและไม่เคยรู้สึกขัดเขินรวมทั้งตัวอรรถก็เข้ากับคนอื่นๆ ได้ดี ขณะที่ ‘เก่ง’ เป็นนักฟังที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์และการจับประเด็นที่ดีมาก

“บางครั้งแม้จะรู้สึกว่าเก่งเขาไม่ได้ฟัง แต่จริงๆแล้วเค้าฟังอยู่(หัวเราะ) ส่วนออมเค้าเป็นชายหนุ่ม ชอบทำให้คนหัวเราะ แทบไม่รู้สึกเลยว่าเค้าแตกต่างจากเราตรงไหน” ฉั่วกล่าว

ฉั่วมองว่าสำหรับละครเรื่องนี้ตัวเขาเป็นแค่นักการละครที่รู้กระบวนการ ไม่ได้มีความรู้ใน “เนื้อ” ซึ่งนั่นหมายถึงเขาเปรียบเทียบตัวเองว่าเป็นผู้ช่วยของผู้ที่ถูกกดขี่

“ตัวผมไม่ได้ไปกำกับว่าเขาต้องพูดอะไร ตราบใดที่ยังมีผู้ถูกกดขี่ที่ต้องการจะพูดและเขาอยากพูดผ่านละคร ผมก็เป็นคนหนึ่งที่จะช่วยเขา” ฉั่วกล่าว

“คณะละครชื่อมาร็องดู ก็บอกอยู่ว่า มา’ลอง’ดู คำว่าลองคือ let’s try ไม่ใช่การมองดูเฉยๆ” ฉั่วกล่าวทิ้งท้าย


รณภัฏ / ออม

รณภัฎ วงศ์ภา (ออม) – นักแสดง  พระเอกหนุ่มจากเรื่องรักยกล้อ เป็นเจ้าของประสบการณ์การถูกกดขี่ที่สื่อนัยยะเกี่ยวกับความรัก ออมเป็นชายหนุ่มที่มีความสดใสและมักจะทำให้คนรอบข้างยิ้มได้เสมอ เขาเล่าว่าเขาไม่มีความรู้เรื่องละครของผู้ถูกกดขี่มาก่อนแต่มีความสนใจและอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมจึงตัดสินใจเข้าร่วมเวิร์คชอบ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในละครนี้

ความมุ่งหวังของเขา เขาอยากให้ละครนี้ชวนขบคิดเรื่องสถาบันครอบครัว การกดขี่ที่เกี่ยวกับเรื่องความรัก เรื่องราวของชายหนุ่มที่ผิดหวังจากความรักเพียงเพราะเขานั่งวีลแชร์ จึงถูกกีดกันจากครอบครัว เขาจึงต้องการให้สังคมเห็นว่าความพิการไม่ใช่อุปสรรคในเรื่องความรัก ทั้งยังสามารถใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมและอยากให้สังคมเปิดโอกาสในส่วนนี้มากขึ้น

ออมกล่าวถึงความท้าทายของการเล่นละครว่า มีความท้าทายตรงที่เป็นละครแทรกสด นักแสดงจึงต้องเตรียมตัวอย่างดีและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับผู้ชมและยังต้องจัดการกับความตื่นเต้นของตัวเองอีกด้วย การเข้าร่วมงานละครในครั้งนี้ได้เปลี่ยนภาพความคิดเกี่ยวกับละครเวทีแบบเก่าๆ ของเขาไปอย่างสิ้นเชิง 

“การเล่นละครครั้งแรกมันตื่นเต้น ชอบหลุดขำ ยิ่งบทของผมมีบทที่เป็นแฟนกันและไม่เคยรู้จักกันมาก่อน บางทีมันจะเกร็งๆ” เขากล่าวพร้อมหัวเราะ


วิปัศยา / โอมเพี้ยง

วิปัศยา อยู่พูล (โอมเพี้ยง) – นักแสดง สาวหน้าใสมากความสามารถ เธอมีความสามารถทั้งร้องเพลง เขียนคำร้องเพลงละคร แทบจะเรียกได้ว่าชีวิตของเธอนั้นค่อนข้างคุ้นเคยกับละคร เธอเข้าร่วมละครเวทีครั้งนี้ตามคำชักชวนของฉั่ว นอกจากนั้นเธอยังรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยของฉั่วในการติดต่อประสานงานภายในคณะละครและเทศกาลละครด้วย

เธอเล่าว่า เธอนั้นมีเพื่อนที่เป็นผู้พิการทางสายตา แต่เมื่อได้เข้ามาร่วมงานกับมาร็องดู เธอกลับได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป คือ ความใกล้ชิดและการแลกเปลี่ยนทางความคิด  ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสะท้อนให้เธอเข้าใจถึงโลกของคนพิการมากขึ้น

เธอเล่าถึงประเด็นของการกดขี่ในหลายๆ มิติที่เกิดขึ้นว่าเพราะมีอำนาจเหนือ ซึ่งอาจจะมาจาก เพศ เพศสภาพ อายุ ฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษาและความแตกต่าง ผนวกเข้ากับระบบสนับสนุน จึงทำให้เกิดการกดขี่ การกดขี่นั้นมีทุกที่ ทุกเวลา ขึ้นกับเราว่าจะมองเห็นมันหรือไม่

นอกจากนี้เธอยังเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับด้วยน้ำเสียงมีความสุขว่า เธอเป็นคนบ้าการเรียนรู้ สิ่งดีๆ ที่ได้รับคือการได้เรียนรู้ทั้งหน้าที่จัดการและการละคร ได้เจอแบบฝึกหัดและได้แก้ ได้ทำงานกับคนที่มีความแตกต่างและเรียนรู้ที่จะแสดงร่วมกัน

”วันก่อนเราซ้อมกับคนตาบอด...เวลาซ้อมเขาไม่รู้ว่าเราอยู่ทางไหนและไม่ได้หันมาทางเรา เหมือนเราก็ต้องพยายามมากขึ้น ว่าเราควรจะบอกเขายังไง ใช้เสียงยังไง ” เธอกล่าว

“ถ้าใครสนใจ มีหนทางในการสนับสนุนละครเรื่องนี้ด้วย โดยสามารถติดตามและสั่งจองของที่ระลึก เสื้อและสมุด ผ่านทางเฟซบุ๊กได้ เนื่องจากการทำละครครั้งนี้มีค่าใช่จ่ายในการเดินทางค่อนข้างสูง เลยต้องมีการระดมทุนนิดนึง” โอมเพี้ยงกล่าวพร้อมหัวเราะ


ณรงค์ศิลป์ / เก่ง

ณรงค์ศิลป์ ล้านศรี (เก่ง) – ผู้ร่วมไอเดีย หนุ่มสุขุมหัวหน้าฝ่ายสื่อทีมGen-V for disability เริ่มจากการเข้าร่วมโครงการนักขับเคลื่อนสังคมจากรากฐานรุ่นที่1 จึงได้มีโอกาสรู้จักกับฉั่วและได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของละครนี้

เก่งเล่าว่า สำหรับเขาความน่าสนใจของละครนี้คือการนำเสนอเรื่องราวของผู้ถูกกดขี่ โดยเมื่อเรื่องมีการดำเนินไปจนถึงจุดที่ตัวละครในเรื่องไม่สามารถแก้ปัญหาได้ คนดูจะเป็นผู้เข้ามาร่วมแก้ปัญหา ซึ่งนอกจากจะเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้คนดูแล้ว ตัวเขาก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ปลุกพลังในตัวเอง สร้างความเชื่อมั่นในตัวเองและเชื่อว่าพลังเหล่านี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมได้

“พอได้เห็นพลังของหนุ่มสาว ที่พร้อมจะผลักดันสังคมและเรียนรู้เกี่ยวกับความพิการ ผมก็ประทับใจ รวมทั้งมีความสุขที่เห็นคนพิการมาเล่นละคร ยิ่งถ้ามีบทที่เอื้อ ก็ยิ่งอยากจะสนับสนุน”เก่งเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

ความมุ่งหวังของเก่งคือการช่วยปลุกกระแสใหม่ๆ เช่น เปลี่ยนภาพลักษณ์ในพื้นที่สื่อต่างๆ ที่มักเสนอว่าความพิการเป็นบทลงโทษของความชั่วในละคร เพื่อให้สังคมมองผู้พิการอย่างเท่าเทียมและลบล้างภาพจำเดิมๆออกไป เขาเสริมอีกว่า ในทุกวันนี้สังคมไม่ได้รังเกียจผู้พิการ แต่มักจะมีภาพของความสงสารเช่น ความคิดว่าความพิการเป็นกรรมเก่า ทำให้หลายๆครั้ง คนพิการต้องตกอยู่ในภาวะจำยอม จำนนต่อชีวิตชดใช้กรรมและไม่มีพลังลุกขึ้นมาต่อสู้กับชีวิตหรือมุมมองการกดทับเช่น การให้เงินหรือให้แซงคิว ซึ่งมุมมองแบบนี้ส่งผลกระทบต่อสิทธิพื้นฐานอื่นๆ เช่น การสมัครงาน สังคมก็จะมองไม่เห็นศักยภาพที่แท้จริงโดยมักจะมองว่าผู้พิการคือคนป่วยที่ต้องอยู่บ้านเท่านั้น


อรรถพล / อรรถ

อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ (อรรถ)- ที่ปรึกษาโครงการ  หนุ่มอารมณ์ดีผู้เป็นที่ปรึกษาให้กับละครเรื่องนี้ โดยเขาได้เข้าร่วมเวิร์คช็อปเพราะทราบว่าฉั่วสนใจในประเด็นของผู้พิการและเห็นว่า ชื่อของ’ละครของผู้ถูกกดขี่’นั้นมีความน่าสนใจมาก

อรรถเล่าว่า ละครเรื่องนี้สะท้อนมุมมองผู้ที่ถูกกดขี่ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับเขาตรงที่สภาพร่างกายมีความแตกต่างจากคนอื่นๆ จึงมักโดนกดทับในด้านต่างๆ อยู่เสมอ รวมทั้งในวงการละครของไทย ส่วนใหญ่ยังไม่เปิดกว้างสำหรับคนที่หลากหลาย ละครนี้จึงนับว่าเป็นละครแรกๆ ที่เปิดกว้างมากเรื่องความหลากหลาย 

ความคาดหวังของอรรถคือการเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคมของคนพิการและการตระหนักรู้ของคนในสังคมที่มากขึ้น เขากล่าวว่า การเข้าไปมีส่วนร่วมในละครเรื่องนี้ ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ของเขา เป็นการสร้างพลังให้กับตัวเอง

อรรถทิ้งท้ายว่า ถ้าอยากจะมาเรียนรู้มุมมองอะไรที่มันแตกต่างจากเดิม ก็เชิญให้มาดูและขบคิด เพราะบางทีความแตกต่างนั้นมันอาจจะไม่แตกต่าง เพียงแค่เราต้องมาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

คณะละครมาร็องดูจะจัดแสดงสด ละคร‘อวสานความเฉย’ ตอน  ”แตกต่าง....เป็นบางเวลา”ทั้งสิ้น 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 10-15 พฤศจิกายน 2558 ในเทศกาลละครกรุงเทพฯ2558 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร(BACC)

อังคารที่ 10 พ.ย.รอบ19.00 น.

พุธที่ 11 พ.ย. รอบ19.00 น.

พฤหัสที่ 12 พ.ย. รอบ 19.00 น.

ศุกร์ที่ 13 พ.ย.รอบ 19:00 น.

เสาร์ที่ 14- อาทิตย์ที่ 15 พ.ย. รอบ 13:00 น. และ 15:00 น. (เสาร์อาทิตย์มีสองรอบ)

จองบัตร (ไม่เสียค่าเข้าชม) และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/malongdu

 

ขอบคุณรูปภาพจากเพจ Malongdu Theatre และศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

อ้างอิงข้อมูลจาก

 http://www.scribd.com/doc/35205258/Forum-Theatre-in-Thailand-Thesis-Paper#scribd

http://www.thaiappraisal.org/thai/market/market_view.php?strquery=market205.htm