Skip to main content

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ว่า รศ. ดร.อภิศักดิ์ ธีระวิสิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงาน สกว. พร้อมด้วย ผศ. ดร.ชูจิต ตรีรัตนพันธ์ หัวหน้าโครงการวิจัยเพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมกับชุมชนที่สามารถช่วยในการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการทางกายภาพในชนบทที่ห่างไกล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มอบเก้าอี้ “น้องยิ้ม” สำหรับการฟื้นฟูเด็กพิการแก่นางอรพรรณ สุวรรณรัตน์ รองประธานมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ ณ โรงเรียนศรีสังวาลย์

 

ผศ. ดร.ชูจิต กล่าวว่า การฝึกกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอและถูกต้องเหมาะสม รวมถึงการมีส่วนร่วมของครบอครัว มีส่วนสำคัญอย่างต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพของเด็กพิการทางกายภาพ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้นักวิจัยพัฒนาระบบแนวทาง การออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตและบำบัดรักษา ตลอดจนพัฒนาศักยภาพผู้ป่วยเด็กที่มีความพิการทางสมองอายุระหว่าง 3-9 ปี รวมทั้งสร้างทัศนคติและแรงจูงใจที่ดีในการบำบัด ซึ่งจะสามารถช่วยพยุงอาการของเด็กไม่ให้แย่ลงหรือฟื้นฟูจนดีขึ้น ทั้งนี้พัฒนาการของเด็กในช่วงขวบปีแรกจนถึง 7 ปี เป็นช่วงที่เด็กมีพัฒนาการสูงสุด หากพ้นจากช่วงนี้ไปและไม่เคยรับการฟื้นฟูด้านต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อข้อต่อต่าง ๆ มีอาการเกร็งหรือยึดติดมากขึ้น การพัฒนาจะไม่ได้ผลอย่างเต็มที่ ส่งผลให้เด็กไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในอนาคต

จากการลงพื้นที่ในจังหวัดมหาสารคามเพื่อสังเกตการณ์ใช้ชีวิตประจำวันและพูดคุยกับครอบครัวเด็กพิการทางสมองที่มีปัญหาในการบำบัดฝึกฝน รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน พบว่าส่วนใหญ่จะทำกิจกรรมบนพื้น ดังนั้นการพัฒนาอุปกรณ์ในโครงการวิจัยจึงเน้นที่การสนับสนุนให้เด็กมีการเคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเองไปรอบ ๆ ภายในบ้านอย่างมีอิสระและปลอดภัย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เด็กเกิดความสนุกสนานและได้รับการฝึกฝนในการควบคุมการเคลื่อนไหวของที่นั่งตามศักยภาพที่มี เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เด็กมีความอยากรู้อยากเห็นกับสิ่งรอบตัวมากขึ้น และทดลองสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวมากขึ้น คณะผู้วิจัยจึงได้ออกแบบพัฒนาต้นแบบเก้าอี้ “น้องยิ้ม” ซึ่ง มีลักษณะของเก้าอี้ทรงเตี้ยและมีล้อ เพื่อให้เด็กใช้แขนขาช่วยในการเคลื่อนที่ตามที่ต้องการ ซึ่งจะกระตุ้นให้เด็กพัฒนากล้ามเนื้อให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น โดยเก้าอี้ดังกล่าวมีรูปร่างและสีสันสดใส เป็นที่ชื่นชอบของเด็ก จึงสามารถดึงดูดให้เด็กเข้ามาใช้งาน ที่สำคัญคือปลอดภัย ไม่ซับซ้อน เด็กสามารถขึ้นใช้งานได้เอง เหมือนของเล่นเด็กปกติทั่วไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และมีการใช้งานหลากหลายรูปแบบ เช่น เคลื่อนที่โดยใช้ขาหรือมือ ทำให้เด็กที่มีความแตกต่างกันสามารถใช้งานในลักษณะที่เหมาะสมกับตนเองได้

การวิจัยนี้ได้รับการอนุเคราะห์จากศูนย์บริการคนพิการ โรงเรียนศรีสังวาลย์ ซึ่งได้รับคำแนะนำและทดสอบผลิตภัณฑ์จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจจากครูกายภาพบำบัด นอกจากจะใช้งานในสถานฝึก อย่างไรก็ตามการใช้เก้าอี้พลาสติกตามแบบที่พัฒนามาเบื้องต้นจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการขึ้นรูปทำแม่พิมพ์ฉีดพลาสติกในราคาสูง และต้องผลิตจำนวนมากจึงจะคุ้มทุน ผู้วิจัยได้สรรหาเก้าอี้ที่มีลักษณะใกล้เคียงในท้องตลาดมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ โดยได้รับการอนุเคราะห์จากบริษัท ไพโอเนียร์ อินดรัสเทียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อใช้ในโครงการวิจัยและมอบให้โรงเรียนศรีสังวาล์นำไปใช้งาน ส่วนโครงสร้างเหล็ก ที่รองรับเก้าอี้และการประกอบล้อทั้งหมดได้รับการช่วยเหลือจากบริษัท เฟอร์นิสต์ ในการทำต้นแบบ ทำให้คณะผู้วิจัยจึงสามารถผลิตเก้าอี้ “น้องยิ้ม” ได้สำเร็จในราคาต้นแบบตัวละไม่เกิน 3,500 บาท รับน้ำหนักตัวเด็กได้ถึง 60 กิโลกรัม และได้ยื่นจดสิทธิบัตรด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ปัจจุบันผู้วิจัยได้นำเก้าอี้น้องยิ้มไปมอบให้ศูนย์บริการคนพิการในโรงเรียนศรีสังวาลย์จำนวน 2 ตัว เพื่อใช้ในกิจกรรมกายภาพบำบัดในโรงเรียน ซึ่งมีเด็กพิการในชั้นอนุบาลและชั้นประถมศึกษารวม 195 คน รวมถึงครอบครัวเด็กที่พิการทางสมองที่มหาสารคามจำนวน 1 ตัว ศูนย์ดูแลสุขภาพและพัฒนาเด็กเล็ก อบต.วังแสง จังหวัดมหาสารคามจำนวน 1 ตัว ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดมหาสารคามจำนวน 1 ตัว และได้รับการคัดเลือกจาก มจธ. ทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2558