Skip to main content

ครบรอบ 1 ปี หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้บีทีเอส-กทม. สร้างสิ่งอำนวยความสะดวก กลับไร้ความคืบหน้า-ใช้งานไม่ได้จริง รองผู้ว่าฯ ยันส่งมอบลิฟต์ตัวแรกสถานีพร้อมพงษ์ เม.ย.นี้ - ลิฟต์ 111 ตัวเสร็จสิ้นภายใน ก.ย.




สถานที่ก่อสร้างลิฟต์ สถานีบีทีเอสเพลินจิต  (ถ่ายเมื่อ 21 ม.ค. 2559)

 


สรุปข้อมูลการสำรวจลิฟต์บีทีเอส รายสถานี
ภาพจาก เครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A)


20 ม.ค. 2559 ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) จัดเสวนาโต๊ะกลม ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “BTS : 20 ปีที่รอคอย..ทุกคนต้องขึ้นได้” ณ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เพื่อย้ำเตือนจุดยืนในการต่อสู้ ก่อนครบรอบ 1 ปีคำสั่งจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการบนบีทีเอส ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในวันที่ 21 ม.ค.2559 นี้ หลังไร้ความคืบหน้าในการจัดสร้าง และไม่สามารถดำเนินการตามกำหนดเวลาได้ทัน

การเสวนาโต๊ะกลมในครั้งนี้ ประกอบด้วย ธีรยุทธ สุคนธวิท ประธานภาคีเครือข่าย T4A, สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่ พัทยา, อุดมโชค ชูรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่ ซึ่งเป็นโรงเรียนเฉพาะสำหรับคนพิการ, มานิตย์ อินทร์พิมพ์, สนธิพงศ์ มงคลสวัสดิ์ ทนายความ, อมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯ กทม. นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนพิการจากหลายที่เช่น มูลนิธิพระมหาไถ่ สภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการประเทศไทย เข้าร่วมสังเกตการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ขณะที่ตัวแทนจากบีทีเอส เข้าร่วมสังเกตการณ์ แต่ไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ

อุดมโชค ชูรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่ พัทยา เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงปัญหาการปล่อยปะละเลยผู้สูงอายุในสังคมไทยว่า ไม่ได้รับการดูแลทั้งจากครอบครัว สังคม และสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร ยิ่งเห็นได้เด่นชัดในด้านการเดินทาง นอกจากนั้น เขายกตัวอย่างนักเรียนที่โรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่ว่า ในรุ่นหลังๆ มีเด็กจำนวนไม่น้อยซึ่งพิการหลังจากกำเนิด ที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมและมักจะถูกกีดกันด้วยปัญหาของการเดินทางเช่นกัน

“เราสามารถทำให้การขนส่ง การเดินทางมันเท่ากันได้ แต่ทำไมเรายังไม่ทำ” เขากล่าว

เขากล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการเข้าร่วมเสวนาครั้งนี้ว่า เป็นการบอกให้รู้ว่าวันนี้ยังมีจุดที่ไม่สะดวก และต้องแก้ไข เพื่อให้คนรุ่นนี้และรุ่นต่อๆ ไปจะได้ไม่ลำบากเหมือนทุกวันนี้ เขายกตัวอย่างกระบวนการในประเทศที่พัฒนาแล้วว่า ประเทศเหล่านั้นจะเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหลัก ในการขับเคลื่อนกระบวนการต่างๆ ในสังคม

เขาเล่าถึงการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมตั้งแต่ 29 ก.ค. 2551 ซึ่งเป็นระยะเวลากว่า 8 ปีแล้ว แต่ก็ยังพบความล้าหลังในการจัดการ โดยเฉพาะข้อ 9 ที่ว่าด้วย สิทธิในการเข้าถึง การสื่อสาร การขนส่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

“ไม่มีข้อปฏิเสธใดๆ ที่ภาครัฐจะไม่ทำ ไม่ว่าจะเป็นด้วยสามัญสำนึก ไม่ว่าจะเป็นด้วยความถูกต้องชอบธรรมโดยสำนึกทางใจ หรือข้อกฎหมายระหว่างประเทศก็ดี ก็จะต้องทำ” เขากล่าว
 

ด้าน สนธิพงศ์ มงคลสวัสดิ์ ทนายความคดีลิฟต์ บีทีเอส กล่าวว่า การต่อสู้เรื่องบีทีเอสมีมายาวนานกว่า 20 ปี และตามข้อเท็จจริง สามารถดำเนินคดีต่อ กทม. และบีทีเอสได้ เดิมที เคยแนะแนวทางให้พูดคุยเจรจาก่อน ส่วนมาตรการในการฟ้องเป็นเรื่องสุดท้าย แต่การเจรจาไม่เป็นผล หลังจากหารือ ประชุม ทำหนังสือ รวมถึงเชิญสื่อมวลชนหลายแขนงมาทำข่าว จนเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง เริ่มต้นตามที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาว่า บีทีเอสและ กทม. ไม่ผิด เนื่องจากพบว่าตัวอาคารเป็นอาคารที่สร้างขึ้นก่อนจะมีกฎระเบียบบังคับในการสร้างอาคาร จึงได้อุทธรณ์ต่อ ใช้เวลาร่วม 7 ปี จนเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2558 ศาลปกครองสูงสุดจึงวินิจฉัยว่า บีทีเอสและ กทม. อยู่ในวิสัยที่จะสามารถทำสิ่งอำนวยความสะดวกได้ จึงพิพากษากลับ ให้ดำเนินการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก โดยได้กำหนดว่า สิ่งอำนวยความสะดวกนั้นต้องแล้วเสร็จในวันที่ 21 ม.ค. 2559 แต่จนตอนนี้ก็ยังไม่เสร็จ ซึ่งแสดงได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของคนพิการ ประชาชนและสาธารณะ

เขาให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ต้องย้อนกลับตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. 58 เลยว่า ทำไมถึงไม่เริ่มสร้างตั้งแต่ตอนนั้น วันนี้มาฟังรองผู้ว่าฯกทม. ก็ยังไม่ชัดเจน เช่นเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนและไม่ยินดีให้สร้างลิฟต์ว่ามีการแก้ปัญหาอย่างไร กลับบอกว่าเป็นความลับของราชการ นอกจากนั้นการตัดสินของศาลปกครองสูงสุด มีอำนาจออกคำบังคับคดีฝ่ายที่แพ้คดี แล้วก็เขียนจบแค่นี้ ไม่มีภาคบังคับอะไรต่อ จึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความผูกพันกับทุกคน ทั้งผูกพันกับบีทีเอส, กทม., เครือข่ายคนพิการ รวมทั้งทุกคนในสังคม ตั้งแต่บุคคลที่ยังไม่เกิด และบุคคลที่เกิดแล้ว ส่วนปัญหาที่ยังไม่แล้วเสร็จก็เป็นปัญหาที่ต้องรอคำชี้แจงจาก กทม.

สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่ พัทยา กล่าวว่า บีทีเอสและกทม.พยายามกล่าวอ้างว่า การเซ็นสัญญาจัดสร้างบีทีเอสนั้นเกิดขึ้นก่อนจะมีการใช้กฎกระทรวงว่าด้วยเรื่องของการควบคุมอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกปี 2542 และพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ปี 2534  โดยบีทีเอสอ้างว่ามีการเซ็นสัญญาในปี 2535 ฉะนั้นกฎหมายจึงไม่สามารถย้อนกลับไป ณ วันเซ็นสัญญาตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ศาลปกครองสูงสุดมีวิสัยทัศน์เรื่องการบริการสาธารณะจึงได้มีคำสั่งให้จัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกนี้

“ผมว่านี่คือมิติใหม่ของตุลาการ ในการใช้หลักความยุติธรรม หลักความเป็นธรรมในการตัดสินคดีที่เป็นบริการสาธารณะ ที่ผมพูดไม่ได้สะท้อนในเรื่องของบีทีเอสอย่างเดียว แต่ให้มองไปถึงบริการสาธารณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย” เขาแลกเปลี่ยน

อมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เขาให้ความสำคัญกับคนพิการอย่างมากและรู้สึกยินดีในคำตัดสินของศาลเมื่อปี 2558 ส่วนในเรื่องลิฟต์ต้องขออภัยที่ล่าช้า ทั้งนี้ มีแผนดำเนินการในเรื่องนี้มานานแล้ว แต่ติดปัญหาเรื่องการเลือกพื้นที่ในการสร้างลิฟต์  และด้วยระบบราชการ เมื่อมีคนร้องเรียนว่าไม่ให้สร้างในที่ตรงนี้ กระบวนการทั้งหมดก็จะต้องกลับไปเริ่มใหม่ และบางจุดที่เป็นทำเลใหม่ก็มีระบบสาธารณูปโภคใต้ดินที่ไม่สามารถทำได้ ในตอนนี้ สถานีต่อขยายทั้งหมด มีการติดตั้งลิฟต์แล้ว ซึ่งได้แก่ บางหว้า-กรุงธนบุรี และอ่อนนุช-แบริ่ง

เขากล่าวต่อว่า ผู้ว่าฯ เน้นย้ำเสมอว่ากรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งโอกาส ตอนที่เริ่มโครงการ ถึงแม้จะเริ่มในสมัยผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน แต่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ก็ได้ดำเนินการสานต่อ รวมทั้งเกิดโครงการใหม่ๆ ขึ้น เช่น แท็กซี่คนพิการ ที่ยืนยันว่าจะไม่เก็บค่าใช้จ่ายถ้า กทม.มีงบประมาณเพียงพอ ศาลาที่พักผู้โดยสาร และการทดลองเดินเรือในคลองภาษีเจริญ รวมทั้งแจงต่อว่า ตอนนี้มีหลายบริษัทที่อยากจะทำแท็กซี่คนพิการโดยใช้รถเดิม (แท็กซี่คนพิการจะเป็นรถตู้ที่มีระบบไฮโดรลิกท้ายรถ เพื่อยกผู้โดยสารที่ใช้วีลแชร์ขึ้นรถ-ประชาไท) ซึ่งเขาเห็นว่า ไม่เหมาะสมเพราะคนขับแท็กซี่ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย แต่คนพิการมีทั้งสองเพศ คงจะไม่ควรถ้าให้แท็กซี่ที่เป็นผู้ชายอุ้มผู้โดยสารหญิง

“ถ้าผมเป็นผู้พิการ นั่งวีลแชร์ ผมก็จะไม่ใช้บริการบีทีเอสที่ไม่มีลิฟต์ เพราะท่านใช้ยาม 2 คนมาแบกรถผม ทำเหมือนผมเป็นสิ่งของ เป็นอะไรก็ไม่รู้” เขากล่าว

เขากล่าวถึงแผนงานในขั้นต่อไป โดยย้ำว่า ไม่เกินเดือนกันยายน 2559 นี้ ลิฟต์ทั้งหมด 111 ตัว จะสร้างเสร็จสิ้น และมีทางเดินเสียงเพื่อผู้พิการทางสายตา จะสามารถดำเนินชีวิตและใช้งานได้เอง รวมทั้งมีการเตรียมพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะมาถึงอีกด้วย พร้อมเสริมว่า ตนเองมีความพร้อมช่วยเหลือและทำงานอย่างเต็มที่ วันนี้สำเร็จแล้ว 57% และคาดว่าสถานีพร้อมพงษ์จะเสร็จเป็นที่แรกในเดือนเมษายนนี้ และเปิดใช้ทันที รวมทั้งสถานีไหนที่ไม่มีปัญหากับประชาชนในการใช้ที่ดิน จะดำเนินการสร้างทันที นอกจากนี้ได้ประสานกับทางบีทีเอสแล้ว ให้ดำเนินการขอโทษต่อผู้โดยสารด้วยการแจกใบปลิวบนสถานี รวมทั้งเขาเองก็ต้องขออภัยต่อผู้พิการทุกท่านด้วย

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กทม. ยังเพิ่มกติกาใหม่ๆ ด้วย นั่นคือ อาคารไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ที่ต้องการทำทางเชื่อมสกายวอล์ก ต้องมีจุดจอดรถคนพิการ ทางลาด ลิฟต์และต้องเปิดทำการเวลาเดียวกันกับบีทีเอสคือ 6 โมงเช้า-เที่ยงคืน ซึ่งหากไม่ทำตามข้อตกลงนี้ กทม.มีสิทธิสั่งปิดทางเชื่อมนั้นๆ ได้

ธีรยุทธ สุคนธวิท ประธานภาคีเครือข่าย T4Aกล่าวว่า สิ่งที่ กทม.พูดมา ซึ่งรวมถึงคำมั่นสัญญาในวงเสวนานี้ เป็นสิ่งที่ตนเองได้ยินมานานแล้ว พร้อมถามหารูปธรรมที่จะช่วยให้การมองภาพนั้นชัดเจนมากพอ จนเชื่อมั่นได้ว่าการก่อสร้างจะเสร็จสิ้นแน่นอนในวันที่ 30 ก.ย. นี้ โดยตั้งแต่มีคำสั่งจากศาลปกครองสูงสุด พบว่า รองผู้ว่าฯ อมร หรือองคาพยพของกรุงเทพฯ รวมทั้งผู้บริหารของบีทีเอส ก็ออกมาให้ข้อมูล ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ ด้วยความมั่นใจว่า สามารถสร้างเสร็จ ฉะนั้นตอนนี้ขอตั้งคำถามไว้ ณ ที่นี้ว่า มันเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง

เขาให้สัมภาษณ์ว่า ในตอนนี้สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงและต้องเฝ้าระวัง เพราะเคยเจอคำมั่นสัญญาแบบนี้มาโดยตลอด พร้อมแนะให้มาคุยกับผู้ใช้งานจริง โดยไม่ต้องมาอ้างคำหวานหรือเหตุผลเรื่องสภาพพื้นที่ ยอมรับว่าไม่เคยเห็นความจริงใจของบีทีเอสเลย และจะเฝ้าติดตามการทำงานของ กทม. ว่าจะเห็นความจริงใจและความเป็นไปได้ได้แค่ไหน ถ้ามีแนวโน้มไม่คืบหน้า ทางภาคีก็จะมีมาตรการทางสังคมตอบโต้ หรือฟ้องร้องค่าเสียหายต่อไป

มานิตย์ อินทร์พิมพ์ ประธานคณะติดตามระบบราง เครือข่าย T4A ให้สัมภาษณ์ว่า จริงๆ ต้องบอกว่าผิดหวัง เรื่องวันนี้สมควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนแรกหลังจากศาลสั่ง กทม.ต้องมาคุยกับตัวแทนคนพิการ ตอนนี้พูดย้อนหลังก็ไม่มีประโยชน์ คาดหวังให้มีการคุยกัน ทำงานร่วมกันในอนาคต

เขากล่าวด้วยว่า อาจมีการดำเนินการฟ้องร้องบีทีเอสในกรณีนี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระตุ้นบีทีเอสแล้ว ยังน่าจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปยังที่อื่นๆ ด้วย เช่น เอ็มอาร์ที

นอกจากนี้ ในงานดังกล่าว ยังมีการอ่านแถลงการณ์ของ T4A ด้วย โดยมีสาระสำคัญ 3 ข้อ ดังนี้
1.ต้องเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือ ระหว่างกทม. บีทีเอส เครือข่ายประชาชน โดยต้องมีคณะทำงานร่วม และสามารถนำมติไปปรับใช้ในขนส่งมวลชนอื่นๆ โดยที่ต้องพิจารณาถึงความหลากหลายของแต่ละบุคคล

2.มีการทำปฏิบัติการ อาทิ ลงสำรวจพื้นที่ สร้างบรรทัดฐานให้สังคม มีการสื่อสารกับผู้ใช้บริการ เป็นต้น

3.จะต้องมีการสร้างหลักประกันในการทำงาน

นอกจากนี้ ยังมีคนพิการที่เป็นผู้ใช้งานจริง ร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม พร้อมชี้แจงบางประเด็นที่ รองผู้ว่าฯ กทม.ตกหล่น และยังขาดความเข้าใจมากพอ เช่น บีทีเอสควรเพิ่มขนาดของตัวอักษรในจอทีวี ที่คอยบอกว่าถึงไหนแล้ว เพิ่มป้ายไฟวิ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนหูหนวกที่ไม่ได้ยินเสียงประกาศ

ขณะที่ผู้พิการทางสายตาเสนอว่า อยากให้มีเสียงประกาศเส้นทางและแจ้งว่ารถไฟมาแล้วในบริเวณชานชลา โดยให้เหตุผลว่า เมื่อขบวนรถไฟมาที่ชานชลา จะไม่มีเสียงเตือนใดๆ ว่า ขบวนนี้ไปไหน หรือขบวนนี้สายอะไร จึงทำให้คนตาบอดเกิดความกลัวตลอดเวลาว่า จะขึ้นรถผิดคัน

นอกจากนี้ยังมีการแสดงความกังวลกรณีบีทีเอสสร้างลิฟต์โดยไม่ได้คำนึงถึงตำแหน่งที่ตั้ง เช่นสถานีช่องนนทรี ซึ่งสร้างลิฟต์ตรงกลางระหว่างสองถนนที่รถขับด้วยความเร็วสูง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
 


ลิฟต์สถานีช่องนนทรีซึ่งตั้งอยู่กลางถนน
ภาพจากเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A)