Skip to main content
สารพัดการตอกย้ำมายาคติเกี่ยวกับคนพิการในละครทีวีไทย ทั้งไม่สมจริง ไม่สะท้อนปัญหารากเหง้า และไม่มีคนพิการที่เรียกว่า ‘นักแสดง’
 

ในวรรณกรรมชื่อดังของไทยอย่าง บ้านทรายทอง มีตัวละครชื่อ ชายน้อย ซึ่งนับว่า เป็นบทคนพิการที่เป็นที่รู้จักที่สุดของเมืองไทย โดยตัวละครชายน้อยถูกบรรยายไว้ว่า  ‘ลูกคนสุดท้องของหม่อมพรรณราย ที่มีร่างกายพิการ ขาเป๋ ปากเบี้ยว และรูปร่างเล็กกว่าอายุจริง และเกิดมาได้ไม่นานทูลหม่อมพ่อก็เสียชีวิต’ หรือ "เด็กชายผู้นี้มีกรรม อาภัพเพราะพิการมาแต่กำเนิด แม่จึงไม่เอาใจดูหูใส่ ทิ้งๆ ขว้างๆ ตั้งแต่นั้นมา" (ก.สุรางคนางค์ 2536: 61-62)   

จะเห็นได้ว่าชายน้อยอยู่ในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย สังเกตได้จากเครื่องแต่งกาย หรือเก้าอี้โซฟาด้านหลัง ซึ่งจะพบเฉพาะในครอบครัวที่มีฐานะ (บ้านทรายทองเวอร์ชั่นปี 2015)

 

ชายน้อย เป็นน้องชายคนเล็กของพระเอก เกิดในครอบครัวฐานะร่ำรวย และอาศัยในคฤหาสน์หลังโต แต่ด้วยความพิการ หรือที่เรียกในละครว่า ‘ง่อย’ จึงทำให้ครอบครัวเลือกที่จะแอบซ่อนเขาจากสังคม หนำซ้ำยังคิดว่าการเกิดของชายน้อย เป็นสาเหตุให้พ่อเสียชีวิต 

พจมาน นางเอกของเรื่อง มักเข้าไปขวาง หรือออกรับแทนเมื่อชายน้อยโดนรังแก (บ้านทรายทองเวอร์ชั่นปี 2015)

การรังแกชายน้อยช่วยเสริมให้นางร้ายชุดสีแดง ดูร้ายมากขึ้น และส่งเสริมให้ ‘พจมาน’ นางเอกดูเป็นนางเอกที่ดี (บ้านทรายทองเวอร์ชั่นปี 2015)

 

บ้านทรายทองเป็นเป็นเพียงหนึ่งในละครไทยอีกหลายสิบเรื่อง ที่ตอกย้ำมายาคดิว่า คนพิการ พิการเพราะบุญกรรมที่ทำขึ้นในอดีตหรือชาติปางก่อน ทั้งยังทำให้ผู้ชมติดภาพว่าคนพิการต้องถูกหลบซ่อน และต้องได้รับการสงเคราะห์ตลอดเวลา

เจค อดีตทหารเรือจากเรื่องAvatar นั่งวีลเเชร์ โดยใช้สเปเชี่ยลเอฟเฟคเพื่อสร้างขาที่ลีบเล็ก สมจริง 

เจค ในร่างของชาว นาวี สามารถทำให้คนดูลืมภาพความพิการไปได้เสียสนิท เพราะเมื่อเป็นชาวนาวี เจคสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว ว่องไว

สำหรับภาพยนตร์ฮอลลีวูด บทคนพิการนั้นปรากฎมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในบทนำ เช่น สตีเฟ่น ฮอว์กกิ้นส์ ใน ‘The theory of everything’  หรือ บทของ ‘เจค’ อดีตทหารเรือผู้พิการนั่งวีลแชร์ จากเรื่อง Avatar ทั้งสองเรื่องนำเสนอคนพิการอย่างมีมิติ มีความสามารถ มีความล้มเหลวและประสบความสำเร็จ ต่างจากละครไทยที่มุ่งแต่ขับเน้นความพิการ และตอกย้ำทัศนคติทางลบต่อคนพิการ

พิการเพราะเคราะห์กรรม

ความพิการเกิดได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุหลัก คือ อุบัติเหตุ รองลงมาคือ พันธุกรรม และความเจ็บป่วย แต่สำหรับสังคมไทย ทึ่คอนเซปต์เรื่องบุญกรรมฝังรากลึกมาก จึงมีความเชื่อในหมู่คนไทยว่า ความพิการเป็นเรื่องของบุญกรรม ละครไทยก็เลือกที่จะตอกย้ำความเชื่อนี้ โดยการทำให้คนพิการดูน่าสงสาร น่าเวทนา และพิการเพราะได้รับเคราะห์กรรมจากอดีต หรือชาติปางก่อน หรือไม่ก็เป็นความโชคร้าย 

จากวิทยานิพนธ์ ภาพตัวแทนทางสังคม ของคนพิการในสังคมไทย:กรณีศึกษาผ่านวรรณกรรมไทย ของ กุลภา วจนสาระ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งข้อสังเกตว่า ค่านิยมของสังคมไทย โดยเฉพาะความเชื่อด้านพุทธศาสนา ซึ่งอธิบายที่มาของความพิการว่า เป็นปมด้อย เป็นมลทิน และคนพิการเกิดมาเพื่อที่จะชดใช้กรรมในชาตินี้  

ตัวอย่างที่สะท้อนถึงข้อสรุปของเธอได้ดี คือ เกราะเพชรเจ็ดสี ซึ้งเป็นละครพื้นบ้าน เล่าเรื่องของ ศรุตเทพ ชายหนุ่มที่อาสาเดินทางไปหาเกราะวิเศษ เพื่อมารักษาอาการป่วยของภรรยาเทพองค์หนึ่ง แต่เขากลับไม่นำเกราะนั้นมารักษาตามที่สัญญาไว้ จึงถูกเทพองค์นั้นสาปให้เป็นง่อย เพื่อชดใช้ความผิด แต่เมื่อทำความดีชดใช้ ก็ได้รับการให้อภัย และหายเป็นง่อย 

ในเพลงประกอบละครขวานฟ้าหน้าดำ ซึ่งเป็นละครพื้นบ้านอีกเรื่องหนึ่ง ก็พูดถึงปานสีดำขนาดใหญ่บนใบหน้าของพระเอกว่าเป็นเพราะกรรมที่ทำมา “ขวานฟ้าหน้าดำ หน้าดำ เพราะกรรมทำมา”  

ง่อย มาอันดับหนึ่ง

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลทำการวิเคราะห์ละครที่มีบทคนพิการ 14 เรื่อง ประกอบด้วย ความพิการทางกาย 7 ความพิการทางจิต 4 เรื่อง สติปัญญา 2 เรื่อง และสายตา 1 เรื่อง  พบว่า วรรณกรรม เกี่ยวกับความพิการทางกายนั้นพบได้มากที่สุด รองลงมาเป็นความพิการทางจิต 

นอกจากนี้ ความพิการที่พบในละครก็มีอยู่ไม่กี่แบบ ขาดความหลากหลาย และไม่สมจริง  

ตัวอย่างเช่น ในบทคนตาบอด ซึ่งคนตาบอดจริงๆ จะไม่สามารถบังคับลูกตาดำได้ เรามักจะเห็นตาดำของคนตาบอดเหลือบขึ้นด้านบน หรือด้านล่าง หรือไม่เห็นตาดำเลย แต่ในละคร ตัวละครตาบอดจะมองตรงไปข้างหน้าตลอดเวลา ซึ่งไม่สมจริงยิ่งนัก ทั้งๆ ที่จริงแล้วสามารถใช้คอนแทคเลนส์เพื่อทำให้ดูสมจริงได้ 

ติ๊ก เจษฎาภรณ์ จากเรื่องแก้วตาพี่ ในบทบาทพระเอกตาบอด สังเกตได้ว่า เขาใช้วิธีการมองตรง ไม่ขยับลูกตา ในการสวมบทบาทนี้ และแม้จะได้ยินเสียงคู่สนทนาอยู่ด้านข้าง ก็ไม่หันหน้าไปคุยด้วย ขัดกับลักษณะของคนตาบอดทั่วไป ที่มักหันหน้าตามเสียงของคู่สนทนา

หรือใส่แว่นดำ เพื่อสื่อว่าตาบอด

อีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อมีบทคนใบ้ คนใบ้ในละครมักไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาใดๆ ได้ และพูดเสียงอู้อี้ โบกไม้โบกมือ ที่ยากจะมีคนเข้าใจ ทั้งๆที่ความจริงแล้ว คนใบ้แทบทั้งหมดสามารถใช้ภาษามือได้ การแสดงเช่นนี้ เป็นการย้ำว่าคนพิการไม่สามารถสื่อสาร หรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้

นอกจากนั้นยังพบการนำอาการหลากหลายชนิดที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน เช่น ปากเบี้ยว ตาเหล่ มือเท้าหงิกงอ พูดไม่ชัด หรือเดินเอียงไปเอียงมา มารวมกัน จนเกิดเป็นอาการที่เรียกว่า ‘ง่อย’ ดังบทของชายน้อยในข้างต้น

ความพิการที่พบได้บ่อยถัดลงมา เห็นจะเป็นความพิการเพราะเสียโฉมจากการทะเลาะเบาะแว้งสารพัดรูปแบบ ไม่ว่าจะถูกฟันแทงด้วยของมีคม แผลไฟไหม้ หรือแม้แต่การสาดน้ำกรด และน่าแปลกว่า เหตุการณ์เหล่านี้มักเกิดกับตัวร้ายเป็นส่วนมาก เพื่อตอกย้ำว่า คนพิการ พิการเพราะทำกรรมไว้

ตัวร้าย มักพิการจากการต่อสู้ ทำความชั่ว หรือรับไม่ได้ในสิ่งที่เคยทำไม่ดี จนทำให้เกิดอาการทางประสาท ส่วนมากรักษายาก เกิดความพิการถาวร หรือถึงขั้นเสียชีวิต 

ขณะที่คนดี มักบาดเจ็บเพราะพฤติกรรมความชั่วของผู้ร้าย โดยเพาะการเข้าไปช่วยคนรักให้รอดพ้นจากอันตราย หรือพิการเพื่อเปลี่ยนอวัยวะให้กับคนรักที่ใกล้ตาย และไม่นานมักหายจากการบาดเจ็บ หรือความพิการนั้นเสียดื้อๆ

ตัวอย่างภาพยนตร์ เดอะดาวน์ เป็นคนธรรมดามันง่ายไป 

ในช่วง2-3ปีที่ผ่านมา มีรูปแบบใหม่ๆ เช่นหนังสารคดีเรื่อง เดอะดาวน์ เป็นคนธรรมดามันง่ายไป โดย วงทนงศ์ ชัยณรงค์สิงห์ นำเสนอเรื่องราวชีวิตของหนุ่มสาวดาวน์ซินโดรม 5 คน ในทุกๆ กิจวัตรประวันของพวกเขา ตั้งแต่ที่บ้าน ที่ทำงาน จนถึงทัศนคติของคนรอบข้าง แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ความพิการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหนังได้มากพอ 

นักวิจารณ์หนังซึ่งใช้นามแฝงว่า 9Slow กล่าวว่า หนังเรื่องนี้ทำให้เข้าใจคนที่เป็นดาวน์ซินโดรมมากขึ้น สำคัญคือหนังได้ชี้ให้เห็นว่า คนที่เป็นโรคนี้ ก็สามารถทำทุกอย่างได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป เพียงแค่ต้องมีความเข้าอกเข้าใจต่อกันให้มากขึ้น

ทำไมไม่มีคนพิการเป็นนักแสดง

ในเมื่อมีบทคนพิการในสื่อละครอยู่จำนวนไม่น้อย จะดีกว่าไหมที่สังคมจะเปิดโอกาสให้คนพิการได้เข้ามาแลกเปลี่ยนหรือเล่นในบทบาทเหล่านั้น

ครรชิต สพโชคชัย กรรมการผู้จัดการและผู้กำกับหนังโฆษณา อย่างหับ โห้ หิ้น บริษัทผลิตภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ของไทย กล่าวกับประชาไทว่า เป็นไปได้ที่เราจะพบนักแสดงคนพิการในอนาคต แต่ต้องใช้เวลา หากทำบทประพันธ์สักเรื่องที่เห็นชีวิตของคนพิการเป็นเรื่องปกติ เช่น เรื่องความรัก เรื่องความทุ่มเทของเขาต่องาน โดยที่ไม่โฟกัสเรื่องความพิการ  เขาคิดว่ามุมมองที่มีต่อคนพิการก็น่าจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน และเสนอว่า ควรนำเสนอเรื่องความพิการให้น่าสนใจ และเยอะขึ้น หรืออาจให้คนพิการได้เข้ามามีบทบาทในการแสดง โดยมองผ่านการยอมรับว่าเขาก็เป็นเรื่อง ‘ปกติ’ และเลิกผลิตซ้ำมุมมองสงสารเหล่านั้น 

ส่วนนัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับภาพยนตร์อีกคน กล่าวกับประชาไทว่า เขาเองเคยมีประสบการณ์ทำหนังโฆษณาร่วมกับคนพิการทางสายตา และเห็นว่า จริงๆ แล้วคนพิการมีศักยภาพ ที่จะดู ทำ รู้สึก และอยากเช่นเดียวกับคนทั่วๆไป เพียงแต่อาจจะยังไม่มีช่องทางเพื่อเข้าถึงวงการบันเทิงที่มากพอ

เขากล่าวต่อว่า คนพิการควรได้รับโอกาสที่จะพัฒนาตัวเอง และเช่นเดียวกัน คนพิการก็ต้องเปิดตัวเอง และพัฒนาตัวเอง เพื่อให้มีความสามารถในการแสดง สามารถเล่นได้ทุกบทบาท นอกเหนือจากบทบาทที่เน้นความพิการ

“หวังว่าในหนังจะมีตัวละครที่เป็นคนพิการ ที่การเป็นคนพิการของเขาไม่ได้ถูกโปรในด้านดราม่า ก็เป็นแค่ตัวละคร ก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง ที่มีความรู้สึกเหมือนกับพวกเราทั่วๆ ไป ซึ่งผมเชื่อว่า วันนั้นจะมาถึงในเร็ววัน” เขากล่าว