Skip to main content

ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด สิทธิการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและสิทธิที่จะได้รับการสนับสนุนทางการศึกษาของคนพิการกำลังจะไม่ใช่สิทธิที่คนพิการพึงได้รับอีกต่อไป เพราะสิทธินั้นกลับกลายเป็น ‘หน้าที่รัฐ’ แต่อะไรจะเป็นหลักประกันที่ทำให้คนพิการมั่นใจได้ว่าจะได้รับสิทธิจากหน้าที่เหล่านั้น แล้วหากรัฐไม่ทำ ใครเล่าจะจัดการ

‘สิทธิคนพิการ’ เป็นสิทธิที่ถูกบัญญัติไว้ในข้อกฎหมายและพระราชบัญญัติ รวมทั้งพันธะสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยได้ลงนามอย่างอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการหรือซีอาร์พีดี (CRPD: Convention on the Rights of Persons with Disabilities) สิทธิเหล่านี้ถือเป็นข้อตกลงในการปฏิบัติร่วมกัน และเป็นข้อบังคับที่ช่วยให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตและได้รับการสนับสนุนให้ใช้ชีวิตได้ทัดเทียมกับผู้อื่น

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติจำนวนไม่น้อยที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ ทั้งพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือพ.ร.บ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ แต่กลับไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างที่ควรจะเป็น รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศจึงถูกคาดหวังให้เปรียบเสมือนข้อบังคับที่เด็ดขาด เพื่อบังคับให้สิทธิของคนพิการต่างๆ เหล่านั้นเกิดขึ้นจริง

ธีรยุทธ สุคนธวิท เลขานุการสภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการประเทศไทย หนึ่งในตัวแทนผู้ร่วมเดินทางไปรายงานมาตรการในการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ซีอาร์พีดี ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า สิทธิที่เห็นเด่นชัดว่าหายไปจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ ได้แก่ สิทธิในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และการสนับสนุนเพื่อการศึกษาที่เท่าเทียม โดยสิทธิเหล่านี้ถูกถ่ายโอนกลายเป็น ‘หน้าที่รัฐ’

จากสิทธิเป็นหน้าที่รัฐ ตามแนวทางมีชัย ‘รวบ-สั้น-กระชับ-กว้าง’

เนื่องจากสิทธิคนพิการกลายเป็น ‘หน้าที่รัฐ’ ตามหลักของมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งให้เปลี่ยนการเขียนยืดยาวเป็นการเขียนแบบสั้นและกว้าง เพื่อหลีกเลี่ยงการระบุกลุ่มเฉพาะ เพราะเกรงความ ‘รุงรัง’ หากเขียนได้ไม่ครบทุกกลุ่ม แล้วจึงค่อยออกกฎหมายลำดับรองเพื่อมารองรับ ทั้งนี้คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญได้ให้คำอธิบายไว้ว่า เรื่องเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องถูกกำหนดเป็นสิทธิ แต่ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดหาและเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านั้น และได้นิยามแนวคิดในการร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ว่าเป็น ‘ความก้าวหน้า’ หน้าตาของร่างจึงออกมาเป็นลักษณะนี้ทั้งหมด

ธีรยุทธกล่าวว่า สิทธิทุกด้านของคนพิการถูกระบุอยู่ในซีอาร์พีดี รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงแม้จะไม่ได้บัญญัติสิทธิของคนพิการไว้ แต่ก็ระบุให้คำนึงถึงพันธะสัญญาระหว่างประเทศในมาตรา 4 ที่ว่าด้วยการที่รัฐบาลไทยจะต้องคำนึงถึงพันธะสัญญาที่ไปผูกพันกับต่างประเทศ

ด้วยมาตรการ ‘รวบ สั้น กระชับ กว้าง’ ของมีชัย สิทธิทั้งหมดจึงถูกปรับเปลี่ยนเป็นหน้าที่ของรัฐ ซึ่งสร้างความกังวลให้แก่กลุ่มคนพิการมากว่า แม้รัฐธรรมนูญก่อนๆ ได้กำหนดสิทธิคนพิการไว้ชัดเจน แต่ก็ยังไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างทั่วถึง แล้วหากไม่มีการบัญญัติเรื่องคนพิการ คนพิการจะอ้างเรื่องสิทธิจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญได้อย่างไร

“การดำเนินการจะต้องเริ่มจากการกำหนดสิทธิก่อน แล้วจึงกำหนดหน้าที่ กล่าวคือคนต้องมีสิทธิแล้วจึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อให้คนได้รับสิทธิตามที่กำหนดไว้” ธีรยุทธแนะ

การเขียนที่คลุมเครืออย่างมาตรา 71 วรรค 4 ในรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยที่ว่า รัฐต้องจัดสรรงบประมาณ โดยพึงคำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างของเพศ วัย และสภาพบุคคลเพื่อความเป็นธรรมนั้น อาจจะทำให้คนพิการจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะหยิบยกมาตราเหล่านี้มาใช้หากมีปัญหา แต่การใช้คำอย่าง‘สภาพบุคคล’ นั้นก่อให้เกิดความคลุมเครือ จนอาจถูกพลิกแพลงและปฏิเสธ และเกิดการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการได้ อีกทั้งอาจต้องอาศัยการตีความโดยขั้นตอนทางกฤษฎีการ่วมด้วย

“แน่นอนว่าการกำหนดแบบนี้ทำให้สิทธิคนพิการที่มีอยู่ยิ่งน้อยลง” ธีรยุทธกล่าว “ขนาดกำหนดชัดๆ ว่าสิทธิที่คนพิการพึงได้รับมีอะไรบ้าง ยังไม่สามารถทำได้ตามที่กำหนด แล้วหากไม่กำหนดให้ชัดๆ หนำซ้ำบอกว่าเป็นหน้าที่รัฐ หากคนพิการเข้าไม่ถึงสิทธิก็ไปฟ้องร้องเอาสิ แบบนี้สิทธิคนพิการที่มีอยู่จะต้องด้อยลงแน่นอน”

การเข้า (ไม่) ถึงสิ่งอำนวยความสะดวก

แต่เดิม การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกของคนพิการถูกกำหนดอยู่ในมาตรา 55ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และมาตรา 54 ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กลับไม่พบข้อบังคับดังกล่าว อย่างไรก็ดี ธีรยุทธกล่าวว่า มีความพยายามที่จะผลักดันมาตรานี้แล้วตั้งแต่มีการปล่อยร่างแรก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

มาตราดังกล่าวมีสาระสำคัญว่า คนพิการหรือทุพพลภาพมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ ข้อกำหนดเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏอยู่เพียงแค่ในรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏอยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศอีกด้วย ในซีอาร์พีดีได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมและการเข้าถึงบริการอันเป็นสาธารณะไว้หลายข้อ เช่น การกำหนดว่าคนพิการ รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวควรได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือที่จำเป็น เพื่อให้ครอบครัวหนุนคนพิการให้ได้รับสิทธิอย่างเต็มที่และเท่าเทียม หรือข้อกำหนดที่ว่า รัฐภาคีต้องดำเนินการให้คนพิการสามารถเข้าถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ การขนส่ง เทคโนโลยี ระบบสารสนเทศและการสื่อสาร และสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงบริการอื่นที่เปิดหรือจัดให้แก่สาธารณะทั้งในเมืองและในชนบท

นอกจากกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ไทยเองก็มี พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ซึ่งในมาตรา 20 กล่าวถึงการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ

เรื่องนี้ธีรยุทธมองว่า การที่กฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญปล่อยปะละเลย และไม่บัญญัติข้อกำหนดเหล่านี้ลงไปว่าเป็นสิทธิของคนพิการที่พึงได้รับ จะทำให้การบังคับใช้ที่หละหลวมอยู่แล้ว ยิ่งหละหลวมขึ้น รวมทั้งขาดความชัดเจน และอาจเป็นประเด็นที่ต้องการการตีความเพิ่มเติมจนอาจก่อให้เกิดความยุ่งยาก หนำซ้ำยังอาจทำให้แนวโน้มการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในอนาคตที่คำนึงถึงคนพิการอย่างแนวคิดยูนิเวอร์แซลดีไซน์ หรือการออกแบบเพื่อคนทุกคนยิ่งห่างไกลออกไปมากกว่าเดิม

ไม่เลือกปฏิบัติ แต่อาจ ‘ด้อยโอกาส’ ทั้งทางสังคมและกฎหมาย

ในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ทั้งฉบับปี 2540 และ 2550 ต่างมีบทบัญญัติที่กล่าวถึงการไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลอื่นไว้ในมาตรา 30 เหมือนกัน ซึ่งมีคำว่า ‘คนพิการ’ ระบุชัดเจน แต่เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยออกมาครั้งแรก ถึงแม้จะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการไม่เลือกปฏิบัติเช่นกันในมาตราที่ 27 แต่กลับไม่มีคำว่า ‘คนพิการหรือทุพพลภาพ’ อยู่ ซึ่งนั่นทำให้เกิดการทักท้วงจากกลุ่มคนพิการ และถูกใส่กลับเข้าไปในร่างฉบับล่าสุด

นอกจากรายละเอียดยิบย่อยเล็กๆ น้อยๆ ที่ดูเหมือนจะขาดหายไป สิทธิของคนพิการที่ถูกพูดถึงในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยยังถูกใช้ควบคู่กับคำว่า ‘ผู้ด้อยโอกาส’ ในเกือบทุกแห่ง ซึ่งธีรยุทธแลกเปลี่ยนว่าแนวความคิดที่ใช้ควรเน้นเรื่องฐานสิทธิเป็นหลัก หากใช้แนวคิดที่พ่วงอยู่บนพื้นฐานของผู้ด้อยโอกาสเช่นนี้ ย่อมเท่ากับรัฐมีหน้าที่ให้การสงเคราะห์ไปโดยปริยาย

“ในความคิดของผม มันเหมือนคุณค่านั้นด้อยลง กลุ่มคนพิการก็เลยต้องคุยกันว่าจะทำอย่างไรกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะรับหรือไม่รับ ในเมื่อทางฝั่งนั้นบอกว่าจะไม่ปรับแก้อะไรอีกแล้ว คนพิการก็ได้มาเท่านี้” เขากล่าว

นอกจากนั้น ในการปล่อยร่างสู่สาธารณะครั้งแรก บทบัญญัติการเข้าไปมีส่วนร่วมของเด็ก สตรี คนพิการ ฯลฯ ในการเข้าไปเป็นกรรมการวิสามัญในการยกร่างกฎหมายที่เคยมีตามมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และมาตรา 152 ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ก็ได้หายไป จนสุดท้ายหลังจากการทักท้วงบทบัญญัตินี้จึงถูกดึงกลับเข้ามาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยในมาตรา 128 วรรค 2

อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่า ในซีอาร์พีดีมีการพูดถึงหลักในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับคนพิการไว้ชัดเจนมาก แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไทยทำได้แค่จัดล่ามภาษามือให้ในชั้นสอบสวน แต่ยังไม่มีการจัดหาล่ามในชั้นศาล

การศึกษาเด็กพิการ ให้เท่าเทียม-ได้เท่าเทียมจริงหรือ?

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดได้บัญญัติเรื่องการศึกษาไว้ในมาตรา 54 ว่าด้วย ‘รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย’ โดยไม่มีเนื้อหาใดที่กล่าวถึงคนพิการดังเช่นมาตรา 49 วรรค 2 ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งบัญญัติว่า ‘คนพิการมีสิทธิที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาทัดเทียมกับบุคคลอื่น’

การบัญญัติที่ครอบคลุมถึงเด็กทุกคนดังร่างล่าสุด (รวมทั้งเด็กพิการตามที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญตีความ) นั้นให้ภาพที่สวยและเท่าเทียม แต่แนวคิดนี้จะช่วยให้เด็กพิการได้รับการศึกษาเท่าเทียมจริงหรือ?

ธีรยุทธกล่าวว่า การเขียนว่า ‘เด็กทุกคน’ ซึ่งรวมถึงเด็กพิการด้วยนั้น จะสัมฤทธิ์ผลหากสามารถสร้างความเข้าใจและปฏิบัติได้จริง แต่ด้วยสภาพสังคมที่ยังมีระบบการ ‘คัดออก’ อยู่ จึงทำให้เมื่อเด็กพิการเดินทางเข้าสู่เส้นทางการศึกษาก็มักถูกส่งต่อไปยัง ‘โรงเรียนคนพิการ’ และกีดกันออกจากโรงเรียนกระแสหลักอยู่เสมอ

“ไม่ได้ห้ามเด็กพิการมาเรียน อยากมาก็มาสิ แต่พอไปสมัครเรียนเข้าจริงๆ กลับไม่มีครูสอน ถูกเอาไปไว้หลังห้อง หรือต้องมีผู้ปกครองไปตามดูแลตลอดเวลาเพราะครูไม่มีเวลาจะดูแล” เขากล่าวถึงปัญหาที่พบ

ดังนั้น การ ‘ให้’ การศึกษาที่เท่าเทียมกันกับเด็กทุกคน จึงไม่ได้แปลว่าเด็กทุกคนที่มีข้อจำกัด โอกาส และอุปสรรคต่างกันจะสามารถ ‘ได้รับ’ การศึกษาที่เท่ากัน เด็กบางคนต้องการการสนับสนุนที่ ‘มากกว่า’ คนอื่นๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาในระดับเดียวกัน และถึงแม้ประเทศไทยมีการออก พ.ร.บ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.2551 ที่ว่าด้วยเรื่องการศึกษา การสนับสนุนพิเศษ และการจัดหาครูที่มีความรู้ในเรื่องการศึกษาสำหรับคนพิการนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดกลับไม่ได้สอดคล้องและไม่ได้คำนึงถึงความต้องการที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคลไม่แต่น้อย

เมื่อถามว่า หากเปรียบแล้วร่างรัฐธรรมนูญนี้คล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญในปีไหน ธีรยุทธกล่าวว่า ‘ไม่รู้จะเทียบอย่างไร’ เพราะตั้งอยู่กันคนละพื้นฐานความคิด แม้แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ไม่ได้มีเรื่องคนพิการมากนัก ก็ยังคงมีหมวดที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิคนพิการเยอะกว่า จึงทำให้ไม่สามารถนำเอารัฐธรรมนูญที่ ‘ไม่มี’ สิทธิของคนพิการมาเทียบกันได้ พร้อมกล่าวว่าโดยส่วนตัวตั้งใจที่จะ ‘ไม่รับ’ ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว

ท่ามกลางกระแสต่างๆ ที่ว่าสิทธิคนพิการหายไป ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่กล่าวว่า ‘รับๆ ไปก่อน’ ด้วยเหตุผลที่ว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็ดีในระดับหนึ่งท่ามกลางสถานการณ์ทางสังคมเช่นนี้ อีกทั้งกลุ่มคนพิการเองก็ให้ความสนใจน้อยมาก บ้างก็ไม่รู้ข่าวสารและเข้าไม่ถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า หลังจากนี้ ทางกลุ่มคนพิการจะมีมาตรการในการแสดงออกอย่างไรและจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว