Skip to main content

สถาบันอัลไซเมอร์และบ.ผู้พัฒนาของอังกฤษ เปิดตัวแอปฯเสมือนจริง จำลองการเดินทางและกิจวัตรของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เชื่อเพิ่มความเข้าใจแก่คนทั่วไป-เฝ้าระวังอาการแก่ผู้ป่วย พัฒนาการรักษามากขึ้น


ภาพหน้าจอจากวิดีโอ A Walk Through Dementia - Launch film



14 มิ.ย.2559 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยโรคอัลไซเมอร์ในอังกฤษ หรือ Alzheimer’s Research UK และบริษัท Visyon เปิดตัวแอปพลิเคชัน จำลองการใช้ชีวิตของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (Dementia) อย่างโรคอัลไซเมอร์ บริเวณสถานีรถไฟเก่าแก่อย่างสถานี St Pancras อัลไซเมอร์ทำให้ผู้ป่วยกว่า 50 ล้านคนทั่วโลกสูญเสียความทรงจำ โดยนอกจากผู้ป่วยจะทำกุญแจหายตลอดเวลา หรือลืมชื่อลูกๆ เสมอแล้ว การใช้ชีวิตอยู่กับโรคนี้ ยังทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ ตาไวต่อแสงแดด มองเห็นภาพหลอน และกินอาหารได้ไม่ปกติร่วมด้วย

แอปพลิเคชันที่ชื่อว่า ‘A Walk Through Dementia’ จะจำลองการเดินทางของผู้ป่วยที่เป็นโรคดังกล่าว ผ่านสถานการณ์ต่างๆ เช่นการเดินกลับบ้าน การไปซื้อของในห้างสรรพสินค้า ฯลฯ โดยผู้ใช้สามารถหันซ้ายขวา ขยับหน้าขึ้นลงเพื่อดูบรรยากาศรอบด้านได้ว่า หากตัวเองต้องใช้ชีวิตกับโรคดังกล่าวจะเกิดความรู้สึกอย่างไร ในวันเปิดตัว แอปพลิเคชันนี้ถูกเปิดในสมาร์ตโฟน ที่เชื่อมกับกล่องกระดาษลักษณะคล้ายแว่นตา แสดงภาพเคลื่อนไหวของการเดินทางในมุมมองของผู้ป่วย โดยผู้สวมใส่สามารถเคลื่อนไหวศีรษะเพื่อเปลี่ยนมุมมองซ้าย-ขวา บน-ล่าง ได้อย่างอิสระ

“แอปพลิเคชันนี้จะทำให้ผู้ใช้ได้เข้าไปอยู่ในโลกของคนที่เป็นโรคนี้จริงๆ ซึ่งน่าจะช่วยให้สังคมเข้าใจและตระหนักรู้ถึงโรคนี้มากขึ้น” ทิม พาร์รี่ หัวหน้าสถาบันวิจัยโรคอัลไซเมอร์สถาบันวิจัยโรคอัลไซเมอร์กล่าว


วิดีโอแนะนำแอปพลิเคชัน ‘A Walk Through Dementia’


หนึ่งในสถานการณ์จำลองภายในแอปพลิเคชัน เล่าถึงบรรยากาศการซื้อของภายในห้างสรรพสินค้า หากผู้ใช้หมุนเลื่อนจอขึ้นไปบนเพดานก็จะเห็นว่า แสงสว่างของโคมไฟนั้นสว่างจนรู้สึกแสบตา เพราะตาของผู้ป่วยโรคนี้จะมีความไวต่อแสงเป็นพิเศษ แม้ดวงไฟธรรมดาๆ ที่คนทั่วไปสามารถมองด้วยตาเปล่าได้  พวกเขาก็รู้สึกว่าการเพ่งมองนั้นช่างทรมานเหลือเกิน เมื่อเส้นทางนำไปสู่ทางเดินที่มีของวางระเกะระกะ ผู้ที่เป็นโรคนี้จะไม่สามารถแยกระยะระหว่างวัตถุแต่ละชิ้นได้ จนเกิดอาการเวียนศีรษะ ต่อมาเมื่อเดินมาจนสุดทางเดิน คุกกี้และอาหารจังค์ฟู้ดก็ปรากฏเต็มตะกร้ารถเข็นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งนี่สะท้อนภาพความจริงของผู้ป่วยไดเมนเทียร์หลายคนที่มักเกิดอาการไม่รู้ตัวชั่วขณะ ทำให้ทำกิจวัตรซ้ำๆ เดิมๆ โดยไม่จำเป็น

ในอีกสถานการณ์ แอปพลิเคชันสร้างให้ผู้ใช้เดินทางไปซื้อของพร้อมกับลูกชาย และเมื่อละสายตาจากลูกชายเพียงชั่วขณะ ก็พบว่าลูกชายกำลังจะเดินก้าวขาลงไปในเหวลึกที่อยู่ขวางทางเดิน ถึงแม้มันจะเป็นเพียงแอ่งน้ำขัง หรือแผ่นกระเบื้องสีดำ แต่ผู้ใช้ซึ่งเปรียบเสมือนผู้ป่วยจะเห็นมันเป็นหลุมขนาดใหญ่ ที่ขุดลึกลงไปบนพื้น นอกจากนี้ แค่เพียงเงาดำ หรือพรมสีดำ ก็ทำให้พวกเขาคิดว่ามันคือหลุมเช่นเดียวกัน

“อีกประโยชน์หนึ่งของแอปพลิเคชันนี้ คือนอกจากจะทำให้คนทั่วไปรู้จักโรคแล้ว คนที่เป็นโรคยังได้ทำความเข้าใจ และเฝ้าระวังอาการที่กำลังจะเกิดในอนาคตที่พวกเขาอาจจะคาดไม่ถึง” พาร์รี่กล่าว

ในการสร้างแอปพลิเคชัน ทีมได้ร่วมมือกับบริษัท Visyon ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการสร้างภาพความเป็นจริงเสมือน หรือวีอาร์ (VR: Virtual Reality) ที่เคยมีผลงานกับหลายบริษัทใหญ่ทั้งอาดิดาส และซัมซุง โดยใช้เวลากว่า 8 เดือน ทีมดีไซน์เนอร์ใช้เทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบเพื่อสร้างสรรค์ให้สถานการณ์ในแอปพลิเคชันนี้มีความหลากหลาย ใส่ฟังก์ชันที่ใช้ทำให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุมจอภาพได้ 360 องศาเหมือนกับในวิดีโอเกม  ซึ่งรอบล้อมไปด้วยสถานการณ์ชวนงุนงง รายละเอียดที่ภาพเบลอ และเปลี่ยนสลับไปมา  และแน่นอนว่าทุกประสบการณ์ที่พวกเขาใส่ลงไปล้วนมาจากประสบการณ์จริงของผู้ป่วยทั้งสิ้น

“ฟีดแบคที่ได้รับค่อนข้างดี ผู้ป่วยโรคนี้ต่างกล่าวว่า มันเป็นเรื่องเหลือเชื่อมากที่มีคนผลิตแอปพลิเคชันที่สื่อสารความรู้สึกของพวกเขา” ซีอีโอของบริษัท Visyon กล่าว

หลังจากการเปิดตัว ทางบริษัทพบว่าผลตอบรับทีได้นั้นเหนือกว่าความคาดหมาย หลายๆ คนถึงกับร้องไห้เมื่อได้รับชม พร้อมหวังว่า การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้จะเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพยายามหาทางรักษาโรคนี้อย่างจริงจัง เพราะโรคดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในวิกฤตหลักด้านสาธารณสุขของศตวรรษที่ 21 อีกทั้งคาดว่า ตัวเลขผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นถึงเกือบเท่าตัวในอีก 20 ปีข้างหน้า

“การใช้เทคโนโลยีเช่นนี้ทำให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่นนั้นเพิ่มขึ้น ซึ่งพวกเขานี่แหละเป็นกลุ่มที่อาจเผชิญโรคนี้ในอนาคต และหวังว่าพวกเขาจะเติบโตขึ้นมาเพื่อหาวิธีในการรักษามัน” พาร์รี่กล่าว



แปลและเรียบเรียงจาก
http://www.smithsonianmag.com/innovation/using-virtual-reality-walk-shoes-someone-with-alzheimers-180959329/?no-ist