Skip to main content

กรณีบริติชแอร์เวย์ทำวีลแชร์ผู้โดยสารเสียหาย กก.สิทธิ-นักกีฬาพาราลิมปิกอังกฤษชี้สายการบินควรชดเชยค่าเสียหายตามมูลค่า พร้อมแสดงความกังวลต่อนักกีฬาพาราลิมปิกที่จะเดินทางโดยมีสายการบินเป็นสปอนเซอร์

6 มิ.ย. 2559 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานการฟ้องร้องสายการบินและสนามบินในบริเตนใหญ่ สืบเนื่องจากเหตุการณ์ทำวีลแชร์ของผู้โดยสารเสียหาย โดยคริส โฮมส์ กรรมการด้านคนพิการในคณะกรรมการความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชนของอังกฤษ และนักกีฬาว่ายน้ำพาราลิมปิกออกมาแสดงความเห็นว่า ผู้ให้บริการควรที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดกรณีเกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์ช่วยเหลือการเคลื่อนไหว หรือวีลแชร์

โฮมส์ ได้เล่าถึงกรณีการฟ้องร้องของอาธีนา สตีเวนส์ ต่อสายการบินบริติชแอร์เวย์ และสนามบินลอนดอน ซิตี้ หลังวีลแชร์ของเธอเสียหายเมื่อครั้งเดินทางไปเมืองกลาสโกส์วเมื่อตุลาคมปีที่แล้ว

สตีเวนส์ นักเขียนบทละครซึ่งพิการด้วยโรคซีรีบรัลเพาร์ซี่ ฟ้องร้องสายการบินบริติชแอร์เวย์และสนามบินลอนดอนซิตี้ โดยกล่าวหาว่าทั้งสองทำให้วีลแชร์ที่สั่งทำพิเศษ ซึ่งมีราคากว่า 25,000 ปอนด์ของเธอพังอย่างไม่มีทางซ่อม นั่นส่งผลให้เธอต้องเช่าวีลแชร์ไฟฟ้าที่ใช้งานได้ไม่ดีนักตั้งแต่เดือนมกราคม และสูญเงินกว่า 70,000 ปอนด์ในการจ้างผู้ช่วยพิเศษเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน อีกทั้งต้องใช้บริการแท็กซี่ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 50 ปอนด์ต่อเที่ยวเพื่อเดินทางไป-กลับบ้านเพราะไม่สามารถใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะได้ ซึ่งภาวะเช่นนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อบริษัทของเธอ

หลังจากมีการรายงานข่าวของเธอครั้งแรกในเดือนมกราคม ผู้คนกว่า 52,000 รายต่างร่วมลงชื่อผ่านเว็บไซต์ 38 ดีกรีซึ่งเป็นเว็บไซต์สำหรับแคมเปญเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเรียกร้องให้สายการบินซ่อมแซม หรือจัดหาวีลแชร์ที่ออกแบบพิเศษชดเชยให้กับเธอ

“ฉันจ่ายเงินกว่า 200 ปอนด์ต่อสัปดาห์เพื่อวีลแชร์ที่ใช้งานไม่ค่อยจะได้ จนต้องหันกลับมาใช้วีลแชร์ธรรมดา ที่ต้องออกแรงทั้งดันและผลัก” เธอกล่าว

ก่อนหน้านี้ เธอพยายามที่จะทำประกันวีลแชร์ของเธอ แต่ไม่มีผู้รับประกันเจ้าไหนตกลงยอมรับ เนื่องจากมีวีลแชร์ลักษณะนี้เพียง 500 คันทั่วโลกจึงทำให้ค่าซ่อมอาจพุ่งสูงกว่า 30,000 ปอนด์ อย่างไรก็ดี บริติช แอร์ไลน์คืนเงินค่าตั๋วเครื่องบินจำนวน 680 ปอนด์ ให้แก่เธอและผู้ติดตาม และเสนอเงิน 1,000 ปอนด์เพื่อเป็นค่าแท็กซี่ให้แก่เธอ ตามข้อกำหนดของอนุสัญญามอลทรีออลที่ให้จ่ายค่าชดเชย 1,131 SDRs หรือประมาณ 1,500 ปอนด์ ก่อนที่เธอจะออกมาเคลื่อนไหวทางกฎหมายดังกล่าว

“ปีที่แล้ว มีคนพิการกว่า 426,000 คนเดินทางด้วยเครื่องบิน และพวกเราก็ทำงานหนักมากเพื่อตอบสนองสิ่งที่พวกเขาต้องการ” บริติชแอร์เวย์กล่าวกับสำนักข่าวเดอะการ์เดียน

โฮมส์ได้ตั้งคำถามแก่สายการบินว่า หากมีนักกีฬาพิการมาขึ้นเครื่อง สายการบินจะดูแลนักกีฬาพิการที่ต้องเดินทางไปแข่งกีฬาพาราลิมปิก เหมือนกับผู้โดยสารพิการคนอื่นๆ หรือไม่

“คนพิการมักต้องบินพร้อมความกลัวว่าจะเกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์ของพวกเขาเสมอ นโยบายที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ทำให้คนพิการตกอยู่ในสภาวะการถูกเอาเปรียบ ผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการบินควรมีจริยธรรมพอที่จะหยุดการกระทำดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์ต่างๆ ของผู้โดยสารพิการ เพราะนี่ไม่ใช่การกระทำที่เหมาะสม”

“สตีเวนส์ถูกทิ้งไว้กับวีลแชร์ที่ไม่ได้ซ่อมนานถึง 8 เดือน นี่เราไม่ได้กำลังพูดถึงกระเป๋าเดินทาง หรือกระเป๋ากอล์ฟ แต่นี่คือการเดินทาง และความมั่นใจในการใช้ชีวิตของคนๆ หนึ่งเลยทีเดียว และเพราะบริติชแอร์เวย์เป็นสปอนเซอร์หลักของทีมพาราลิมปิกของบริเตนใหญ่ ปีนี้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราถามว่า การปฏิบัติเช่นนี้จะเกิดขึ้นกับคนพิการทุกคนหรือเปล่า เพราะถ้าใช่ ทีมพาราลิมปิกก็คงต้องระวังตัวหากสายการบินไม่ชดเชยค่าใช้จ่ายอย่างครอบคลุมเมื่อเกิดกรณีความเสียหาย” เขากล่าว
นอกจากนั้น โฮมส์ยังกล่าวว่า สายการบินพยายามที่จะหลบอยู่หลังอนุสัญญามอลทรีออล ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกฎการบิน เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายชดเชยหากมีอุปกรณ์เสียหาย โดยคำนวณค่าชดเชย ตามน้ำหนักของมันมากกว่ามูลค่าสิ่งของ

ในสหรัฐอเมริกา ข้อปฏิบัติในการเข้าถึงการบิน (ACAA- Air Carrier Access Act) ได้กำหนดบรรทัดฐานว่า สายการบินจะต้องจ่ายเงินชดเชยเท่ากับมูลค่าของวีลแชร์หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่สูญหาย เสียหาย หรือถูกทำลาย


แปลและเรียบเรียงจาก
https://www.theguardian.com/business/2016/jun/13/airlines-criticised-over-payouts-for-damaged-wheelchairs
https://www.theguardian.com/society/2016/may/08/playwright-ba-london-city-airport-wheelchair-athena-stevens