Skip to main content
ภาครัฐ-เอกชนหลายหน่วยงานเร่งผลักดันการออกแบบเพื่อทุกคน มุ่งให้ไทยเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนที่สะดวก และเข้าถึงได้สำหรับคนทุกกลุ่ม รมว.ท่องเที่ยวเผย ทำมาตรฐานแล้ว แต่ยังไม่มีแหล่งท่องเที่ยวผ่านเกณฑ์
 
 
1 ก.ค. 2559 วานนี้ (30 มิ.ย.) มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน ‘เมืองไทย เมืองอารยสถาปัตย์ การท่องเที่ยวไทยเพื่อคนทั้งมวล’ โดยมีการเสวนาในหัวข้อ "วาระชาติ-ติวเข้มผู้นำเครือข่ายทูตอารยสถาปัตย์ประเทศไทย ครั้งที่ 1" และทูตอารยสถาปัตย์พบเมล็ดพันธุ์ใหม่ ปี 2559 ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อหลายสำนัก อีกทั้งมีผู้เข้าร่วมกว่า 180 คน จากตัวแทนองค์กรคนพิการกว่า 40 คน นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งภาคเอกชนที่สนใจในการจัดการตามแนวทางอารยสถาปัตย์ดังกล่าว
 
 
‘อารยสถาปัตย์’” ตามความหมายของกฤษนะ ละไล ผู้จัดการโครงการทูตอารยสถาปัตย์ และประธานคณะทำงานอารยสถาปัตย์ไทย สู่ประชาคมอาเซียนนั้น ประกอบไปด้วยคำ 2 คำ คือ “สถาปัตยกรรม” (การออกแบบก่อสร้าง) และคำว่า “อารยะ” (ความเจริญก้าวหน้า) อารยสถาปัตย์จึงหมายความว่า การออกแบบที่เจริญก้าวหน้าตามยุคสมัยหรือตามความจำเป็นของทุกคนในสังคม” หากจะแปลโดยยึดตามคำภาษาอังก ฤษอย่าง ‘Friendly Design’ ก็จะหมายถึงการออกแบบบ้านเรือน ตึกอาคาร สถานที่ สิ่งของเครื่องใช้ ตลอดจนบริการสาธารณะต่างๆ ให้เป็นมิตรกับคนทุกคน” โดยมีเป้าหมายสำคัญ“เพื่อให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย สามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์ได้ โดยสะดวก ปลอดภัย ทันสมัย เป็นธรรม ทั่วถึง และเท่าเทียม”กัน 
 
กฤษนะ กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้จึงเสมือนเป็นการประกาศว่าประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นต้นแบบของการออกแบบเพื่อทุกคน รวมทั้งเป็นการบ่มเพาะผู้นำเยาวชนและตัวแทนคนพิการให้ออกมามีบทบาทในการผลักดันนโยบายดังกล่าวร่วมกัน
 
สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดงาน และระบุเป้าหมายของการจัดงานในครั้งนี้ว่า เกิดขึ้นจากคำถามที่ว่า เราจะทำอย่างไร ให้การออกแบบเข้าถึงคนทุกคนได้ ซึ่งหลังจากการทำงานระยะหนึ่งที่ผ่านมา ผลสำเร็จนั้นค่อนข้างน่าพอใจ มีการปรับสภาพแวดล้อมในบ้านคนพิการกว่า 20 หลัง ปรับสภาพสถานที่ท่องเที่ยวให้เอื้อแก่คนทุกกลุ่มได้ไม่น้อยกว่า 10 แห่ง รวมทั้งเข้าไปพัฒนาแยกดัง ที่เป็นแหล่งสัญจรอย่างแยกปทุมวัน และสามย่าน จนปัจจุบันบริเวณดังกล่าวมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้งานของคนทุกสภาพร่างกาย
 
กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขึ้นกล่าวในหัวข้อ“อารยสถาปัตย์-การท่องเที่ยวไทย เพื่อคนทั้งมวล” ว่า ในปีนี้ประเทศไทยได้รับมอบหมายจากองค์การการท่องเที่ยวโลก (United Nation World Tourism Organization – UNWTO) ให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ‘งานวันท่องเที่ยวโลก’ หรือ Tourism for All ซึ่งมีธีมหลักคือการท่องเที่ยวเพื่อทุกคน จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยต้องขับเคลื่อน และพัฒนาปัจจัยในการท่องเที่ยวต่างๆ ให้ได้มาตรฐานและเข้าถึงได้สำหรับทุกคน
 
นอกจากนั้นเธอเสริมว่า สังคมไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้มีผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 17.5 หรือประมาณ 12 ล้านคน แนวทางอารยสถาปัตย์จึงไม่ได้จำเป็นแค่เพียงกับคนพิการเท่านั้น ผู้สูงอายุที่กำลังจะกลายเป็นสังคมขนาดใหญ่ของไทย ก็จะได้ใช้ประโยชน์จากการสร้างสิ่งเหล่านี้เช่นกัน โดยแนวทางการจัดสร้างจะต้องไม่อิงแผนงานที่สวยงาม แต่ต้องเน้นแผนงานที่จะสามารถปฏิบัติได้จริงตามจำนวนเม็ดเงินที่มี
 
เธอแลกเปลี่ยนว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการวางมาตรฐานของแหล่งท่องเที่ยวและบริการ ในแนวทางของคู่มือหลักปฏิบัติ เช่น การสร้างทางลาด ห้องน้ำ หรือการใช้อักษรเบรลล์ ซึ่งจะมีการมอบใบรับรองแก่สถานประกอบการที่ทำได้ตามมาตรฐานนั้นๆ อย่างไรก็ดี กลับพบว่า ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวแม้แต่ที่เดียวที่ถึงเกณฑ์มาตรฐานและได้รับใบรับรองดังกล่าว แต่ก็เห็นได้ว่ามีความพยายามที่จะปรับปรุงพัฒนาเพื่อให้สถานที่ต่างๆ เข้าถึงได้สำหรับทุกคน เช่น เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ที่มีการทำท่าเรือ แผนที่ ห้องน้ำคนพิการ ฯลฯ ก็นับได้ว่า เป็นต้นแบบทีดีแห่งหนึ่งของสถานที่ท่องเที่ยว
 
 
 
บุษฎี สันติพิทักษ์ เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำอาเซียน กล่าวว่า การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ นอกจากจะอาศัยภาครัฐแล้ว ประชาชนเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญอย่างมากต่อการพัฒนา โดยต้องให้คนทุกกลุ่มได้เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนโยบายและแผนงาน และคำนึงถึงสิทธิที่ทุกคนพึงมีอย่างเท่าเทียมในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งควรมีการจัดเวทีหารือระดับภูมิภาค เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเธอหวังว่า การมีส่วนร่วมนี้จะช่วยผลักดันการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิต่อไปในอนาคต
 
นอกจากนี้ มิเคล เหมนิธิ วินเทอร์ เอกอัครราชทูตเดนมาร์ก ประจำประเทศไทย กล่าวถึงปัจจัยความสุขของคนในประเทศเดนมาร์ก ที่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียมโดยชี้ 3 ปัจจัยได้แก่ 1.เงิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ 2.การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับสังคม และ 3.การได้ทำงานที่มีประโยชน์และรับใช้สังคม 
 
เขาเสริมด้วยว่า นอกจากปัจจัยความสุขแล้ว เมื่อต้องร่างกฎหมายที่มีสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ก็จะต้องเชิญตัวแทนจากกลุ่มนั้นๆ เข้าร่วมเสมอเพื่อที่จะทำให้มั่นใจว่า หากกฎดังกล่าวถูกนำไปใช้ปฏิบัติ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง รวมทั้งเน้นย้ำว่า ผู้นำไม่ควรนั่งจินตนาการไปเองว่า กฎหมายที่มีนั้นควรเป็นอย่างไร 
 
เขากล่าวต่อว่า หลังจากเดนมาร์กปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว จากค่านิยมรู้สึกสงสารคนพิการที่เคยมี กลับกลายเป็นแรงขับเคลื่อนและ พลังแห่งความเท่าเทียม และทำให้คนตระหนักได้ว่า การเข้าถึงสิ่งต่างๆ เช่น สิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ นั้นไม่ใช่เรื่องของความสงสาร แต่มันคือสิทธิที่คนทุกคนควรจะได้อย่างเท่าเทียมไม่ว่าร่างกายจะเป็นอย่างไร 
 
ต่อมา ในช่วงบ่ายมีการแสดง และขับร้องเพลง “ทูตอารยสถาปัตย์“ โดย เจ้าของฉายา มนุษย์ตู้เพลง เบิร์ด-พงษ์ศักดิ์ หมื่นไฉน ตัวแทนผู้พิการทางสายตา และเสวนาวาระชาติ หัวข้อ “เมืองต้นแบบอารยสถาปัตย์ สะดวก ปลอดภัย ทันสมัย ทั่วไทย เดินหน้าสู่เมืองศูนย์กลางอารยสถาปัตย์ในภูมิภาคอาเซียน” โดยวิทยากรจากหลายภาคส่วน ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ บริษัทเอกชนและผู้ประกอบการหลายราย
 
นิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี
 
นิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีกล่าวว่า นนทบุรีเป็นเมืองที่อยู่อาศัย โดยมีเป้าหมาย 7 ข้อที่ต้องการผลักดันได้แก่ 1.เป็นเมืองที่รองรับการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต 2. เป็นเมืองที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจในระดับฐานรากของชุมชน 3. มีความมั่นคงปลอดภัยสำหรับทุกคน และยิ่งตอนนี้รถไฟฟ้าสายสีม่วงกำลังจะเปิดใช้งาน จึงต้องยิ่งมีแผนเพื่อรองรับการเข้ามาของคนจำนวนมาก 4. เป็นเมืองครอบครัวอบอุ่น มีบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมให้เลือกอย่างหลากหลาย 5.สืบสานมรดกวัฒนธรรม 6.เป็นเมืองแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ7. เป็นเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
 
ด้านพินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่กล่าวว่า กระบี่ได้ออกโครงการ ‘Krabi Global City’ ซึ่งเป็นโครงการผลักดันยูนิเวอร์แซลดีไซน์ หรือการออกแบบเพื่อคนทุกคน เพราะจังหวัดกระบี่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก จึงทำให้การออกแบบต้องเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายให้กระบี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมอีกด้วย