Skip to main content

สะท้อนปัญหา ‘เปิดบัญชีธนาคารไม่ได้’ คนพิการชี้ไม่สามารถทำธุรกรรมเอง- ต้องมีญาติเปิดแทน/เปิดให้ เหตุเพราะมองไม่เห็น เซ็นชื่อไม่ได้ แนะจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเอื้อให้คนที่มีความแตกต่างเข้าถึงระบบการเงิน-เป็นเจ้าของกิจการได้

เซ็นชื่อไม่ได้ เท่ากับหมดโอกาสธุรกรรมการเงิน

โดยปกติ การเปิดบัญชีธนาคารจะใช้เพียงแค่เอกสารที่จำเป็นไม่กี่อย่าง ผู้รับบริการมีอายุไม่น้อยกว่าที่กำหนด  และรับรู้ข้อกำหนดค่าธรรมเนียมและอัตราดอกเบี้ย โดยไม่ได้ระบุข้อห้ามของบุคคลที่เปิดบัญชีไม่ได้ แต่คนพิการหลายคนกลับพบข้อจำกัดด้านร่างกายบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคารได้

รูปภาพของกฤชติณท์ ใส่เสื้อสีน้ำเงินและมีแว่นตากันแดดคาดอยู่บนหน้าผาก
กฤชติณท์ วสนาท

กฤชติณท์ วสนาทหนุ่มวัย 26 ปี เปิดขายเสื้อพิมพ์ลายภาพวาดสีน้ำ ที่เขาวาดขึ้นเอง หลังประสบอุบัติเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อแขน-ขานั้นอ่อนแรงทั้งสองข้างจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องผันตัวเองจากอาชีพในฝันอย่าง ‘ผู้กำกับ’ มาเป็นอาชีพที่ไม่คาดฝันอย่าง ‘ศิลปิน’ เขากล่าวว่า กิจการเสื้อยืดของเขานั้นเพิ่งเปิดได้ 2-3 อาทิตย์และค่อนข้างขายดี รายได้ที่ผ่านมาสูงถึงแสนบาท คนที่อุดหนุนส่วนมากเป็นคนวัยทำงาน และเพราะลายเสื้อที่เห็นเป็นลายที่เขาวาดขึ้นเอง จึงทำให้ไม่เคยมีการทำซ้ำขึ้นมาก่อน การขายเสื้อนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นการแสดงโชว์ผลงานของเขาไปด้วยในตัว

ด้วยเงินที่หมุนเข้าออกเป็นจำนวนมาก จึงทำให้กฤชติณท์คิดที่จะเปิดบัญชีอีกครั้ง หลังปิดไปเมื่อครั้งประสบอุบัติเหตุ

กฤชติณท์เดินทางไปยังธนาคารไทยพานิชย์ สาขาหนึ่งย่านชานเมืองเมื่อกลางเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา แต่กลับถูกปฏิเสธไม่ให้เปิดบัญชีเพราะเขาไม่สามารถเซ็นชื่อได้ โดยเจ้าหน้าที่ธนาคารได้แนะนำให้เขาเปิดบัญชีโดยใช้ชื่อน้องสาวที่ไปด้วยกันแทน เขาจึงตัดสินใจไม่เปิด เพราะเห็นว่า หากเขาจะเปิดกิจการที่เป็นของเขาเอง ก็ควรที่จะสามารถจัดการและบริหารการทำธุรกรรมทางการเงินเองได้ จากเหตุการณ์นี้ กฤชติณท์ได้โพสต์ข้อความเล่าลงเฟซบุ๊กส่วนตัวใจความว่า

"วันนี้ไปธนาคารเสียเวลาเกือบครึ่งวัน จับบัตรคิวรอโคตรนาน ไม่เท่าไหร่รอได้ พอถึงคิวเรา ดีใจมาก พอมาขั้นตอนทำบัญชีเท่านั้นแหละคือ เซ็นชื่อไม่ได้ อ๊ากกก! ไม่ยอมดิ พนักงานจะให้น้องสาวเปิดแทน (อ่ะเราจะมาทำเพื่อ) ให้น้องมาคนเดียวดีกว่ามั้ยเลยเกิดความสงสัยอย่างหนักคือ แล้วคนพิการล่ะ คำตอบคือ ก็ไม่เห็นมีใครมาเปิดนี่ค่ะ ผมเลยสงสัยต่อเลยถามว่า สรุปคนพิการจะเปิดบัญชีเองไม่ได้ใช่มั้ย ถ้าน้องโกงทำไง ถ้าน้องตายทำไง แม่งบอกให้เอาใบมรณะบัตรมาด้วย หืม!
ปัญหาคือ มันควรจะแก้ตรงไหน วันนึงญาติตายหมดทำไง มันควรจะแก้ที่ระบบมั้ยหรือแก้ทีคนพิการ วันนึงมีเงินหมุนเป็นสิบล้านทำไง ตรึงเครียดดิทีนี้ ตอนนี้ผมก็หน้าตึงล่ะ โทรศัพท์กันวุ่นธนาคาร ยาววววววว..... อันที่จริงผมไม่ได้มาเขียนต่อว่าพนักงานนะครับ เพราะเข้าใจว่าเป็นเพียงบุคคลตัวเล็ก แต่คนที่อยู่ในสายคือใครจึงมาตัดสิน ว่าเราไม่สามารถทำธุรกรรมได้ ผมถึงขั้นขอคุยกับคนที่ใหญ่ที่สุดในนั้น ก็ไม่มีคนมาคุยด้วย เป็นเพราะผมเป็นเพียงคนพิการเท่านั้นเหรอ จึงไม่มีโอกาสไม่มีสิทธิ ความเสมอความเท่าเทียมคืออะไร สรุปเปิดไม่ได้ ก็ไม่เปิด ฝากหาระบบรองรับนิดนึง

"จะให้แก้ที่คนพิการคงเป็นไปไม่ได้เพราะเราไม่สามารถหายพิการได้ อันที่จริงบุคลากรด้านการเงินนี่ผมยอมรับนะ น่าจะมีสมองให้มากกว่านี้ ไม่ใช้ให้หอบสังขารไปถึงแล้วบอกว่าเปิดไม่ได้ คนพิการทั้งโลกทำไงล่ะครับ แบบนี้เราก็หมดโอกาสเป็นเจ้าของกิจการใช่มั้ย ผมคิดว่ากรณีแบบนี้คือการตัดสิทธิ์เราอย่างรุนแรง ไม่ควรเพิกเฉย ถึงเซ็นชื่อไม่ได้ก็ต้องหาวิธีมาแก้ไข"

หลังจากเขาโพสต์ข้อความดังกล่าวลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวแล้ว เขายังได้นำเอาข้อความนี้ไปโพสในเฟซบุ๊กของธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่เพื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ โดยกฤชติณท์กล่าวกับประชาไทว่า หลังจากโพสต์ ผู้จัดการธนาคารได้เดินทางมาที่บ้านด้วยอาการตื่นตระหนกและมีท่าทีเปลี่ยนไป พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอในการเปิดบัญชีให้อีกครั้ง หลังซักถามจนแน่ใจว่ากฤชติณท์นั้นเปิดธุรกิจจริงๆ

กฤชติณท์ผู้ซึ่งเปิดบัญชีไม่ได้ในตอนแรก กลับได้รับการดูแลแบบวีไอพี เขาเล่าว่าเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวพูดว่า ถ้ารู้ว่าจะเป็นแบบนี้ วันนั้นก็คงทำให้เสร็จไปแล้ว และจะเดินทางมารับเพื่อไปเปิดบัญชีที่ธนาคารในอีกสองวันข้างหน้า โดยที่เขาก็ไม่รู้ว่าขั้นตอนและวิธีการในการเปิดบัญชีจะเป็นอย่างไร รู้แค่จะมีการเซ็นชื่อโดยไม่มีสมุดบัญชี เพราะเขาไม่มีแรงกดมากพอที่จะทำให้ชื่อที่เซ็นนั้นถูกก๊อปปี้ไปอีกหน้าของสมุด

“เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ มันควรมีระบบรองรับ ไม่ใช่ว่าต้องเซ็นชื่ออย่างเดียว ไม่งั้นคนพิการที่แขนใช้ไม่ได้จะทำยังไง ไม่มีแขนทำอย่างไร อาจต้องคิดถึงเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อทดแทนการเซ็นชื่อ ตามที่ธนาคารบอกคือเขาเป็นห่วงว่าเราจะถอนเงินไม่ได้เพราะเซ็นชื่อไม่ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วมันควรมีอะไรรองรับ ไม่งั้นเราก็ไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินได้ เหมือนตัดโอกาสการทำธุรกิจของเราไปเลย แทนที่จะเปิดบัญชีเป็นชื่อเราได้ กลายเป็นว่าต้องไปเปิดในชื่อคนอื่นทั้งๆ ที่เราก็ทำได้ สติปัญญาเราก็ครบถ้วน การเปิดบัญชีชื่อน้องเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ บัญชีเรามันก็ควรที่จะเป็นของเรา” เขากล่าว

สองวันต่อมา ผู้จัดการธนาคารสาขาดังกล่าวได้มารับกฤชติณท์ที่บ้านเพื่อเดินทางไปเปิดบัญชี กฤชติณท์ได้เซ็นชื่อด้วยตัวอักษรง่ายๆ แต่สุดท้ายก็สามารถใช้งานได้เพียงแค่อินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้งเท่านั้น กฤชติณท์เน้นย้ำว่า สุดท้ายแล้วแม้เจ้าหน้าที่จะขอโทษและเดินทางมาที่บ้านเพื่อยื่นข้อเสนอในการเปิดบัญชีให้ แต่เขาก็ยังยืนยันจะเดินหน้าถามความชัดเจน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบที่สามารถรองรับคนพิการทุกคนอย่างเท่าเทียมได้ โดยไม่ต้องออกมาเรียกร้องผ่านสื่อออนไลน์ดังเช่นเขา

จากเหตุการณ์ของกฤชติณท์ ประชาไทได้ติดต่อขอสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ธนาคารไทยพาณิชย์สาขาดังกล่าว แต่ถูกปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ทันที ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่สามารถให้คำตอบได้

เซ็นชื่อได้ แต่ ‘ตามองไม่เห็น’ ก็เปิดไม่ได้เช่นเดียวกัน

รูปภาพของบุญยฤทธิ์ จันทร ใส่เสื้อลายทาง สีขาว ดำ ยิ้มเห็นฟัน
บุญยฤทธิ์ จันทร

เพื่อนที่พิการทางสายตาของบุญยฤทธิ์ จันทร นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องการเปิดบัญชี เพื่อสมัครบัตรเดบิตสำหรับซื้อของออนไลน์ บุญยฤทธิ์ซึ่งพิการทางสายตาแบบบอดสนิทเช่นกันจึงได้พาไปเปิดบัญชีที่ธนาคารกสิกรไทยแห่งหนึ่งย่านกลางกรุง แต่กลับไม่สามารถเปิดได้ โดยเขาเขียนเล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ไว้ว่า

"ผมและเพื่อนเดินทางไปที่ธนาคารกสิกรไทยเพื่อเปิดบัญชี เมื่อถึงธนาคารก็ได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ และแจ้งความประสงค์เพื่อจะขอเปิดบัญชี ในตอนแรกพนักงานไม่แน่ใจว่าคนตาบอดจะสามารถที่จะเปิดบัญชีได้หรือไม่ จนกระทั่งผู้จัดการแจ้งว่า คนตาบอดไม่สามาถเปิดบัญชีได้เพราะคนตาบอดมองไม่เห็น หากจะเปิดก็ต้องมีญาติตาดีมาเซ็นรับรองให้ รวมทั้งบอกว่าผู้ที่ต้องการเปิดบัญชีจะต้องเซ็นลายเซ็นเพื่อเซ็นรับรองได้ ซึ่งแม้ว่าเพื่อนจะได้เน้นย้ำว่า ‘สามารถเซ็นได้’แล้วก็ตาม แต่ผู้จัดการธนาคารก็ยังคงไม่ให้เปิดเช่นเดิม

"ผมเลยเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ‘การมองไม่เห็น’ เป็นปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถทำธุรกรรมขั้นพื้นฐานจริงหรือ ทำไมสิ่งนี้จึงสามารถกำหนดว่าบุคคลสามารถกระทำสิ่งใดได้หรือไม่ จนบางครั้งก็เผลอคิดว่า เป็นความผิดของเขาที่เกิดมามองไม่เห็น เขาจึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของการสร้างความเท่าเทียมนี้ ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างการออม การใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการประกอบธุรกิจอีกด้วย"

โดยปกติแล้ว บุญยฤทธิ์ สามารถใช้ชีวิตและเดินทางไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง เขาอยู่หอของมหาวิทยาลัยคนเดียว และเหมือนกับนักศึกษาทั่วไป เขาชอบเที่ยว สังสรรค์กับเพื่อนและด้วยความที่เป็นหนุ่มคารมดี บุญยฤทธิ์เป็นที่รักของเพื่อนๆ และรู้จักคนมากมาย การเปิดบัญชีของเขาและเพื่อนจึงไม่น่าเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดอะไร

"ผมและเพื่อนตัดสินใจไปเปิดบัญชีที่ธนาคารกรุงไทย ย่านดินแดง ที่นั่นให้พวกเราเปิดบัญชี โดยมีธนาคารช่วยอำนวยความสะดวกในขั้นตอนต่างๆ พร้อมทั้งเสนอทางเลือกในการเปิดบัญชี 2 แบบคือ พิมพ์ลายนิ้วมือ หรือลงลายเซ็น และถึงแม้พวกเราจะไม่สามารถอ่านข้อตกลงในการทำบัญชีได้เพราะไม่ได้เป็นอักษรเบรลล์หรือไฟล์เอกสารที่จะสามารถใช้โปรแกรมอ่านอ่านได้ แต่พนักงานธนาคารก็ได้อำนวยความสะดวกด้วยการอ่านสัญญาคร่าวๆ ในการเปิดบัญชีให้ฟัง"

"ผมตั้งข้อสังเกตไว้ว่า หากคนที่มองไม่เห็นไม่ได้อยู่กับญาติและต้องการจะเปิดบัญชีจะต้องทำอย่างไร และการให้ญาติมาช่วยเซ็นรับรองในบัญชีส่วนตัวของเรา มันเป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้วจริงหรือ หากญาติโกงหรือไม่มีเวลาที่จะไปด้วยในกรณีที่บัญชีของเรามีปัญหาจะต้องทำอย่างไร การอ่านและเขียนไม่ได้เป็นตัวกำหนดความสามารถของคนขนาดนั้นเลยหรือ จนทำให้ถึงขั้นต้องเลือกปฏิบัติต่อเราซึ่งเป็นคนพิการแบบนี้

"การอ้างเรื่องมองไม่เห็นเพื่อตัดสิทธิในการทำธุรกรรมขั้นพื้นฐานนั้น เหมือนเป็นเพียงแค่คำอ้างที่จะเลือกปฏิบัติต่อพวกเรา มีวิธีแก้ปัญหาอีกเยอะแยะที่จะช่วยให้เราสามารถอ่านข้อตกลงในหนังสือสัญญาได้ เช่น การทำหนังสือข้อสัญญาเป็นอักษรเบรลล์ การทำเป็นอักษรตัวใหญ่สำหรับคนที่มองเห็นเลือนราง และแม้แต่ทำเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เพื่อคนพิการทางสายตาให้อ่านผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ก็ทำได้เช่นกัน" เขากล่าว

ไม่มีระบบที่เป็นมาตรฐาน คนพิการก็ต้องลองผิดลองถูก

ปัญหาข้างต้นไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดในปัจจุบัน แต่ปัญหาการเปิดบัญชีของคนพิการนั้นมีมาตั้งแต่สิบกว่าปีที่แล้ว หรืออาจนานกว่านั้น ใหญ่ พงศาสนองกุล กรรมการสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ และอดีตนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า ตนได้เคยทดลองเปิดบัญชีในธนาคารกว่า 10 ที่ จากทั้งหมดนั้นมี 2 ที่ที่ยังใช้การพิมพ์ลายนิ้วมือแทนการเซ็นลายเซ็นคือธนาคารกรุงเทพสาขาบางยี่ขัน และธนาคารไทยพาณิชย์สาขาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยสองที่นี้เป็นธนาคารที่แรกๆ ที่เขาเปิดบัญชี ซึ่งมีอายุยาวนานกว่า 15 ปีแล้ว

แต่การเปิดบัญชีโดยพิมพ์รอยนิ้วมือกลับทำให้ใหญ่ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินในธนาคารสาขาอื่นๆ ได้ และจำเป็นจะต้องกลับมาใช้บริการในสาขาที่เปิดบัญชีเท่านั้น ซึ่งสร้างความยุ่งยากและเสียเวลาเป็นอย่างมาก เขาจึงได้ยื่นขอเปลี่ยนรอยนิ้วมือเป็นลายเซ็น และได้รับคำตอบว่าต้องเสีย 100 บาทเพื่อเปลี่ยน ใหญ่จึงไม่ทำและลองไปเปิดบัญชีในธนาคารอื่นแทน

ใหญ่ตระเวนเปิดบัญชีที่ธนาคารอื่น เช่น กรุงศรี กสิกรไทย กรุงไทย ธนชาติ รวมทั้งธนาคารเดียวกันอย่างไทยพาณิชย์ ในสาขาที่อยู่ตรงข้ามกับสาขาที่เคยเปิดด้วยรอยนิ้วมือ และพบว่าทุกธนาคารที่เข้าไปอนุญาตให้เขาเปิดบัญชีโดยใช้การเซ็นลายเซ็นทั้งสิ้น นี่จึงทำให้เขาสามารถเบิก ถอน โอน ฯลฯ เงินของเขาที่ธนาคารสาขาไหนก็ได้ โดยไม่ติดปัญหาเรื่อง ‘มองไม่เห็น’ อย่างที่เคยพบในการเปิดสองครั้งแรก

“พนักงานจะเป็นคนอ่านเงื่อนไข รวมทั้งพูดย้ำจำนวนเงินเมื่อมีการถอนหรือเบิก และจัดการเบิกให้ทันที บางสาขาที่กังวลว่าจะเกิดปัญหา ก็จะหาบุคคลที่สามมาช่วยดู ซึ่งพบเหตุการณ์แบบนี้ไม่มาก โดยรวมแล้วเรียกได้ว่าเรียบร้อยดี

“สมัยก่อนบัญชีธนาคารนั้นเปิดยากเป็นทุนเดิม เขาไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไมต้องพิมพ์รอยนิ้วมือ รวมทั้งเราเองก็ไม่ได้ขอเหตุผลด้วย อาจเพราะกลัวว่า เซ็นไม่เหมือนเดิมแล้วจะไม่ได้เบิก ผมลองไปเปิดหลายที่ ทั้งแบบแกล้งเปิด และเปิดจริงเพื่อลองดูว่าทำได้ไหม เปิดเสร็จก็รีบไปลองถอนที่สาขาอื่นเพราะอยากรู้ว่าการเซ็นลายเซ็นมันใช้ได้จริงหรือเปล่า เช่น ไปเปิดที่ธนาคารธนชาติตรงแจ้งวัฒนะ แต่ลองไปถอนที่สาขางามวงศ์วานหรือเซนทรัลปิ่นเกล้าก็ถอนได้ หนำซ้ำตอนเปิดบัญชี ก็ใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียวและยังเปิดเองได้โดยไม่ต้องมีคนอื่นไปเป็นเพื่อน” เขากล่าว

จากประสบการณ์การเปิดบัญชีในหลายต่อหลายที่ของใหญ่ เขาคิดว่าเหตุที่ทำให้หลักเกณฑ์ในการเปิดบัญชีของธนาคารแต่ละที่นั้นไม่เหมือนกันเกิดจากพื้นฐานของผู้จัดการแต่ละคน เขายกตัวอย่างการทำเทเลแบงค์กิ้ง ซึ่งเป็นการให้บริการการเงินผ่านทางโทรศัพท์และตอบข้อซักถามของผู้ใช้ ซึ่งเมื่อเขาติดต่อขอทำในครั้งแรกที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาหนึ่ง ก็กลับถูกปฏิเสธโดยให้เหตุผลที่ว่า ต้องมีบุคคลที่สามมารับรอง เขาจึงเปลี่ยนจากสาขาดังกล่าวไปที่อีกสาขาหนึ่งที่อยู่ฝั่งตรงข้าม และพบว่าสามารถทำได้ด้วยการเซ็นชื่อ และไม่ต้องมีบุคคลที่สามมารับรอง

 “ผมเอาสมุดบัญชีเล่มนั้นมาอวดที่สาขาแรกที่ไป ว่าเนี่ยไง สามารถเปิดได้ แถมทำเทเลแบงค์กิ้งได้ด้วย โดยไม่ต้องมีพยาน ไม่ต้องมีญาติมารับรอง หลังรู้แบบนั้นสาขาแรกนั้นจึงอนุญาตให้ผมทำเทเลแบงค์กิ้งได้ แต่ยังคงเป็นแบบพิมพ์นิ้วมือตามเดิม” เขากล่าว

หลังพยายามติดต่อธนาคารไทยพาณิชย์สาขาใหญ่อยู่หลายครั้งเพื่อขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับการเปิดบัญชีและการทำธุรกรรมทางการเงินของคนพิการ ก็พบว่า พนักงานคอลเซ็นเตอร์บางคนไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ เพียงแค่ถามหลักเกณฑ์การเปิดบัญชีของคนพิการจะต้องรอโอนสายระหว่างเจ้าหน้าที่มากกว่า 3 คน จนในที่สุดก็ได้คำตอบที่ว่า การเปิดบัญชีจะต้องใช้บัตรประจำตัวคนพิการที่ออกโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหลักฐานและต้องมีพยานร่วมรับรู้ในการเปิดบัญชีของคนพิการด้วย

เขากล่าวว่า หากตาบอดก็จะไม่สามารถเปิดบัญชีด้วยตัวเองคนเดียวได้ ต้องมีการอ่านเอกสาร ซึ่งคนตาบอดจะไม่รู้ว่าเอกสารนี้คืออะไร เพราะในตอนนี้ยังไม่มีนโยบายที่จะทำไฟล์อิเล็กทรอนิกส์หรืออักษรเบรลล์เพื่อให้คนพิการได้อ่านเอง

“ยังไงก็อาจจะต้องขอปรึกษาทางทีมโปรดักส์ก่อน แต่ทั้งนี้ยังไม่เห็นมี อย่างน้อยหากลูกค้ามาเปิดบัญชี ก็ต้องเป็นลูกค้าที่สามารถเซ็นชื่อได้ ถ้าเป็นคนพิการที่ไม่สามารถใช้งานมือได้ ก็เสมือนเป็นผู้พิการที่ไร้ความสามารถ ซึ่งไม่สามารถเปิดบัญชีได้ และแสดงว่าต้องมีผู้อภิบาล ส่วนการพิมพ์รอยนิ้วมือจะทำได้ต่อเมื่อเป็นลูกค้าที่เคยเปิดบัญชีปกติไว้แล้ว ในแต่ละสาขามีระเบียบปฏิบัติเหมือนกัน ที่ตอบต่างกันอาจจะเป็นน้องใหม่ๆ อันนี้ยังไงผมไม่แน่ใจ”

เมื่อถามถึงการอำนวยความสะดวกคนพิการด้านอื่นๆ พนักงานที่ถือสายก็กล่าวว่า ให้ติดต่อไปที่ทีมกิจกรรมเพื่อสังคมเพื่อตอบคำถาม แต่เมื่อโทรไปกลับถูกโอนสายและโยนไปทีมประชาสัมพันธ์เช่นเดิม