Skip to main content

“เราคุยกันทางโทรศัพท์ น้องชายเป็นคนคุย ผมไม่ได้คุยเอง (หัวเราะ) คุยกันมาอาทิตย์กว่าๆ ก็ไปรับมาอยู่ด้วย ขอเขามาแต่งงานเป็นเมีย ก็บอกไม่ถูกว่าเขาน่ารักตรงไหน ชอบเขาที่เขาขยัน ตื่นเช้าทำงานบ้าน ดูแลลูก ตอนพาไปให้อาดูตัว อาก็บอกว่าอยากได้ก็เอา ก่อนหน้านี้เคยพาไปให้อาดูหลายคน อาก็บอกว่า คนนี้ตื่นสายขี้เกียจล้างชาม กินข้าวแล้วเอาไปซ่อน ขี้เกียจ แต่ซิ้มมันขยัน ตื่นมาซักผ้าตีสี่ตีห้า อาเขาแอบมาดู”

สามีที่พิการ พูดถึงภรรยาที่พิการเมื่อเราถามว่า เขาทั้งคู่รักกันได้อย่างไร

คำตอบเหล่านี้อาจเป็นคำตอบที่แสนธรรมดา หากเราถามคนไม่พิการ แต่น้อยคนนักที่จะจินตนาการภาพชีวิตคู่ของคนพิการออก บ้างก็คงคิดว่า คนพิการคงไม่แม้แต่จะมีแฟน เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ‘เพศและความพิการ’ มักถูกแยกขาดออกจากกันโดยสิ้นเชิง คนไม่พิการส่วนมาก ไม่เข้าใจและไม่ได้อยู่ภาวะที่จะเข้าใจคนพิการ เพราะโลกของคนทั้งสองกลุ่มนั้นอยู่ห่างกันเสียเหลือเกิน

กระนั้น คนพิการเองก็ไม่เคยเรียนรู้เรื่องเพศ บ้างก็โดนกีดกันให้อยู่ห่างและถูกใส่ชุดข้อมูลแห่งความกลัว จนทำให้หลายคนเลือกที่จะอยู่ห่างจากเรื่องเหล่านี้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และมีจำนวนไม่น้อยที่หลีกหนีปัญหาด้วยการ ‘ทำหมัน’

แล้วการทำหมันนั้นร้ายแรงอย่างไรหรือ? ผู้หญิงพิการหลายคนถูกจับทำหมัน หลายคนทำไปโดยไม่รู้ข้อมูล รวมทั้งมีอีกหลายคนทำไปเพราะครอบครัวชักจูง และพบว่าเหตุการณ์เช่นนี้ยังคงมีอยู่กว้างขวาง เพราะเชื่อว่าจะช่วยตัดขั้นตอนการผลิตซ้ำความพิการจากการให้กำเนิดลูกพิการ

วัยรุ่นหญิงพิการบางคนถูกทำหมันตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เมื่อโตขึ้นเธอกลับสามารถใช้ชีวิตเละดูแลตัวเองได้ และอาจมีครอบครัวได้ในอนาคต แต่ก็น่าเศร้าที่เธอจะไม่มีวันเป็นแม่ที่ให้กำเนิดบุตรได้ด้วยตัวของเธอเอง

อ่านตอนที่ 1

 ‘รัก’

ท่ามกลางหลังคาบ้านที่เกยกันในชุมชนเล็กๆ บ้านสีฟ้าหลังหนึ่งแขวนเปลตะกร้าสานที่มีเด็กผู้หญิงผมสั้นนอนหลับอยู่ แม้ขนาดของเปลจะทำให้ขาของเธอนั้นไม่สามารถเหยียดยาว หรือยืดแขนขึ้นเหนือหัวได้อย่างสบายตัวนัก แต่เสียงเงียบและอากาศที่ร้อนของเวลาเที่ยงวัน ก็ทำให้เธอหลับใหลอย่างง่ายดาย

ครอบครัวของอรัญ
ครอบครัวของอรัญและประชุม

อรัญ นามาบ หรือซิ้ม หญิงสาววัย 39 นั่งแกว่งเปลเด็กไปมาด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ซิ้มเป็นแม่ของลูกสาว 2 คน หนึ่งคนที่นอนอยู่ในเปลและอีกหนึ่งคนที่วิ่งเล่นเห็นหลังอยู่ไวๆ

อรัญเป็นผู้หญิงร่างท้วม ผมสั้น หน้าตายิ้มแย้ม เธอพูดค่อนข้างช้าและใช้เวลานานเพื่อคิดคำตอบเมื่อเราถามคำถาม ดูผิวเผินเธออาจมีภาวะดาวน์ซินโดรมเล็กน้อยที่เห็นได้จากแววตาท่าทาง แต่มากไปกว่านั้น สายตาของอรัญนั้นเลือนรางจนแทบจะมองไม่เห็นและร่างกายซีกซ้ายก็เป็นอัมพาต จนทำให้เธอเดินเหินไปไหนมาไหนได้ไม่ถนัดนัก 

“ที่จริงหมอนครปฐมบอกว่า ไม่ให้มีลูกแต่ตัวเขาเองอยากมี พอหมอให้ฉีดยาคุม ฉีดไปได้สักพักก็เลิกฉีดเพราะอยากมีลูก ไปหาหมอแค่ครั้งเดียวตอนฝากท้อง ถ้าหมอรู้ว่าพิการเขาก็เอาออกแล้ว ลูกคนโตมันพิการ นั่งได้แป๊ปๆ ก็ล้มอีกแล้ว หงิกเกร็งตลอดเวลา ยืนก็ไม่ได้” เพื่อนบ้านของเธอกล่าวแทรกขึ้นมา เมื่อเราเริ่มบทสนทนาพูดคุยเกี่ยวกับชีวิตครอบครัวกับอรัญ

แม้อรัญและประชุม คงเข็ม สามีวัย 41 จะพอรับรู้ความเสี่ยงที่เพื่อนบ้านพูดถึง แต่เขาทั้งคู่ก็ยังยืนยันที่จะมีลูกและสร้างชีวิตครอบครัวของพวกเขาเอง “ก็ปล่อยกันมาแบบลูกทุ่งๆ จนสามสี่ปีก็มีลูกคนแรก ตอนมีลูกคนที่สอง ไม่ได้ตั้งใจจะมี กินยาคุมบ้าง ไม่กินบ้าง แต่ฉีดยาคุม ยังถามหมอที่เป็นเพื่อนกันว่า นี่มึงฉีดยาเหี้ยอะไรให้เมียกูเนี่ย สงสัยยาคุมหมดอายุ ก็เลยมีอีก หลังจากนั้นก็เลยจัดการทำหมัน” ประชุมกล่าว

ลูกสาวสองคนของเธอ อายุ 5 และ 3 ขวบ ‘แสง’ คนโตเป็นเด็กผู้หญิงผิวขาว ผมสั้น ดูเผินๆ คล้ายเด็กผู้ชายเสียมากกว่า เธอตัวเล็ก แขนขาเล็ก และผอมแห้งกว่าเด็ก 5 ขวบทั่วไป นั่งไม่ได้และมีภาวะหงิกเกร็งตลอดเวลา มือและเท้าทั้งสองข้าง เกร็งบิดเข้าหาลำตัวและไม่สามารถสื่อสารได้ มีเพียงปฏิกิริยาเล็กน้อยเท่านั้นที่เธอสามารถแสดงออก เช่น อ้าปากเมื่ออยากกินหรือร้องไห้เมื่อไม่ชอบ นั่นทำให้แสงต้องนอนอยู่ในเปลตะกร้าสานเกือบทั้งวัน ในขณะที่ลูกคนเล็กของอรัญ ‘โดนัท’ อายุ 3 ขวบ สามารถเดินและวิ่งได้ มีท่าทางฉลาดเป็นกรด แม้ดูเผินๆ แล้วโดนัทจะสามารถเดินเหินได้ปกติ แต่ขาสองข้างก็โก่งออกอย่างเห็นได้ชัดและมีแนวโน้มที่จะโก่งมากขึ้นเรื่อยๆ ตามคำบอกเล่าของอรัญ

อย่างไรก็ดี โดนัทเป็นเด็กผู้หญิงที่ร่าเริง พูดเก่ง ฉลาด ออกจะไฮเปอร์แอคทีฟหน่อยๆ และมักแสดงความรักต่อพี่สาวตลอดเวลาด้วยการหยิบขนมหนึ่งชิ้นเข้าปากตัวเอง แล้วหยิบอีกชิ้นเข้าปากพี่สาว เมื่อพี่สาวของเธอร้องไห้ เธอก็ไม่รีรอที่จะเข้าไปสวมกอด พร้อมกับตบเบาๆ ที่บริเวณหน้าอกของพี่สาว และในระหว่างการสัมภาษณ์ เธอวิ่งไปวิ่งมาตลอดเวลา ทั้งพยายามเข้ามาเล่น ขอขนม รื้อกระเป๋า ฯลฯ ไม่ต่างอะไรกับเด็ก 3 ขวบทั่วไป

เส้นทางความรักของอรัญและประชุม เริ่มต้นเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ประชุมเล่าว่า ตัวเองอายุค่อนข้างมากตอนเจอกับอรัญครั้งแรก ก่อนหน้านี้เคยมีภรรยาแล้ว แต่ก็เลิกรากันไปหลังประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ชนรถสิบล้อและกลายเป็นคนพิการกระดูกข้อเท้าผิดรูปใช้งานไม่ได้ ขณะที่ตนอยู่ในช่วงเหงาเศร้าจากการเลิกรา ก็มีญาติแนะนำให้รู้จักกับอรัญผ่านทางโทรศัพท์ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตคู่ที่ยาวนานกว่า 10 ปี

“ก่อนหน้านี้มีแฟนเป็นคนยโสธร แต่พอโดนรถชนขาขาด เงินหมดแล้วเขาก็หนี หลังจากเลิกกับคนนั้นก็อยู่คนเดียวกับหมาตัวหนึ่ง พอหมาตายก็พอดีมาได้ซิ้มเนี่ย

“เราคุยกันทางโทรศัพท์ น้องชายเป็นคนคุย ผมไม่ได้คุยเอง (หัวเราะ) คุยกันมาอาทิตย์กว่าๆ ก็ไปรับมาอยู่ด้วย ขอเขามาแต่งงานเป็นเมีย ก็บอกไม่ถูกว่าเขาน่ารักตรงไหน ชอบเขาที่เขาขยัน ตื่นเช้าทำงานบ้าน ดูแลลูก พาไปให้อาดูตัว อาก็บอกว่าอยากได้ก็เอา ก่อนหน้านี้เคยพาไปให้อาดูหลายคน อาก็บอกว่า คนนั้นตื่นสาย ขี้เกียจล้างชาม กินข้าวแล้วเอาไปซ่อน  แต่ซิ้มมันขยัน ตื่นมาซักผ้าตีสี่ตีห้า อาเขาแอบมาดู

“ตอนนี้ทำงานกลับมากลางคืนก็ปวดไปหมด เพราะกระดูกที่ขาหายไปจากอุบัติเหตุเกือบสิบปีที่แล้ว ไหปลาร้าก็ไม่เหลือ ทำงานไม่ได้ก็ต้องได้ ปวดแค่ไหนก็ต้องทนทำเพื่อลูก มันใกล้จะเข้าโรงเรียนแล้ว” ประชุมเล่า

ระหว่างนั้นเอง เพื่อนบ้าน 4-5 คนที่นั่งฟังอยู่ด้วย ก็แย่งกันพูดแทรกขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตของอรัญ

“เหมือนแม่กับพ่อมันไม่เต็มร้อย เรียนก็เรียนไม่จบ ป.1 สมองมันไม่ดี บางทีลูกมันขี้เต็มผ้าอ้อม มันยังไม่รู้เรื่องเลย” ป้าข้างบ้านกล่าว

“ถึงทุกคนจะบอกว่า ลูกมีภาวะเสี่ยงนะที่จะผิดปกติ ก็ตัวเขาเองก็ยันยืนยันว่าจะมี ก็เห็นอนามัยจะแวะมาเยี่ยมอยู่บ่อยๆ แต่ก็ไม่เคยแนะนำเรื่องการเลี้ยงลูกเลย” เพื่อนบ้านอีกคนกล่าว

“มันหวงพี่มัน เวลาใครทำท่าจะมาเอาพี่มันไป อุ๊ย มันร้อง ใครเอาพี่ไปไม่ได้ ใครมาอุ้มก็วิ่งตามบอกไม่ไห้ๆ เราก็บอกมันนะว่า ใครเขาจะเอาไปทำอะไรได้ อย่างพี่มันเนี่ย พวกฉันอยู่แถวนี้ทั้งวัน บางทีมันเป็นอะไรก็คอยมาดูแลตลอด ไม่ได้ทำงานทำการ ก็คอยอยู่ใกล้ๆ มัน บางทีมันนั่งอยู่หาลูกไม่เจอ ก็มาตามเราไปช่วยหาลูก มันมองไม่เห็น ขี้เต็มยังไม่รู้เรื่องเลย” เพื่อนบ้านอีกคนเสริม

"ก่อนหน้านี้มีคนเคยขอแสงไปเลี้ยงเพราะไม่มีลูก แต่เราก็ไม่ไห้ อดตายก็ไม่ให้ แต่ก็ยังมีคนมาถามอยู่บ่อยๆ โดนัทเองคงได้ยินบ่อยเข้าก็เลยกลัวและหวงพี่มาก”

บ้านของอรัญใช้น้ำบาดาลสีแดงในการกินอาบและมีสุขอนามัยที่ไม่ค่อยดีนัก ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่จากอนามัยอำเภอเข้ามาเยี่ยมอาทิตย์ละครั้ง และนำยาที่จำเป็นมาให้ ตอนท้องลูกทั้งสองคน อรัญไม่ได้เดินทางไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล เพราะไม่มีเงิน แต่สุดท้ายครรภ์เป็นพิษจนทำให้ต้องผ่าคลอดลูกทั้ง 2 คน ประชุมเองแม้จะทำงานได้ แต่ก็ไม่ถนัดนักเนื่องจากขาที่ใช้งานไม่ได้ข้างหนึ่ง ที่จนทุกวันนี้ก็ยังต้องพันไว้เพราะยังเป็นแผลเนื้ออ่อนอยู่

ประเภทความพิการของอรัญนั้นถูกระบุในบัตรประจำตัวคนพิการว่า สายตาเลือนราง เพียงอย่างเดียวนั่นทำให้ความพิการด้านอื่นของเธอไม่ได้รับการดูแลและพัฒนาอย่างถูกวิธี รวมทั้งไม่ได้ถูกวินิจฉัยโดยแพทย์อย่างถูกต้อง ตัวอรัญและสามีเองก็ไม่ได้มีความรู้และกำลังทรัพย์มากพอที่จะติดต่อโรงพยาบาลหรือเข้าใจมากพอ

หลังจากนั่งคุยกันสักพัก เพื่อนบ้านที่นั่งล้อมวงอยู่ก็ค่อยๆ กระจายหายตัวกันไปทีละคนสองคนจนหมด ทั้งสองคนมีท่าทีผ่อนคลายมากขึ้นและเริ่มเล่าเรื่องของตัวเองในอีกมุมหนึ่ง

“เมื่อก่อนนี้ครอบครัวพอมีเงิน แต่ก็โดนแม่ก็ยึดไปหมด แต่เพราะต้องอาศัยเขาอยู่บ้านนี้ มันใกล้โรงพยาบาลที่ลูกหาเลยไม่มีทางเลือกมากนัก พอทวงเข้าเขาก็ถามกลับว่า ‘เอาของมึงไปตอนไหน’ พี่น้องคนอื่นมีก็ไม่เลี้ยง เราอยากย้ายกลับไปราชบุรี แต่เงินไม่มีเพราะขายทุกอย่างเพื่อแต่งงานมาอยู่ที่นี่ รอให้มีตังอีกหน่อย อยากกลับไปจะแย่แล้ว นี่เดี๋ยวจะย้ายไปทำงานก่อสร้าง ว่าจะเอาลูกเมียไปอยู่แค้มป์ด้วยเพราะถ้าอยู่ที่นี่แล้วให้เราวิ่งไปวิ่งมากลับมาดู มันไม่ไหว” ประชุมกล่าว

เกือบทุกวันประชุมต้องออกไปทำงานก่อสร้างนอกบ้าน และปล่อยให้อรัญอยู่กับลูกสองคนเพียงลำพัง เธอป้อนข้าวไม่ตรงปากลูก เข้าจมูกเข้าหูเพราะมองไม่เห็น ประชุมจึงเป็นห่วงมากและมักกลับบ้านในระหว่างวัน เพื่อหาข้าวหาน้ำให้เมียและป้อนข้าวลูกทั้งสองคน

“ตอนที่เขาเกิดแล้วเข้าตู้อบนะ ตัวเขาเขียวมากเลย ผมต้องกลับมาป้อนนมลูกทุกกลางวัน แม้ตอนนี้แสงจะพอจับขวดนมกินเองได้ แต่มันก็เลอะเทอะ ไหลย้อย เข้าหูเข้าตาไปหมด โดนัทคนน้องก็จะคอยเฝ้าพี่ตลอดเวลา เพราะกลัวจะมีคนเอาไป ก่อนหน้านี้มีคนเคยขอแสงไปเลี้ยงเพราะไม่มีลูก แต่เราก็ไม่ไห้ อดตายก็ไม่ให้ แต่ก็ยังมีคนมาถามอยู่บ่อยๆ โดนัทเองคงได้ยินบ่อยเข้าก็เลยกลัวและหวงพี่มาก” ประชุมเล่าต่อ

แต่ก่อนนี้ แสงมีสายให้อาหารทางหน้าท้อง แต่สายเจ้าปัญหานั้นก็แตกและหลุดอยู่บ่อยๆ จนทำให้ต้องเดินทางเข้าออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น ประชุมจึงตัดสินใจดึงสายให้อาหารออก ทำแผลและปิดไว้ และเปลี่ยนมาให้อาหารทางปากแทน

“บางทีแสงเขาก็เกร็งหยุดหายใจ จนทั้งหน้าทั้งตาเขียวปี๋ไปหมด พอหายเขาก็หัวเราะต่อ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหนื่อยนะ แต่ก็สู้ เคยเอาลูกไปทำกายภาพบำบัด เขาต่อต้าน ไม่ยอมทำกลั้นหายใจจนเขียว ถ้าต้องหาหมอทุกวันก็คงไม่มีเงิน ไม่มีค่าน้ำมันรถ แม้ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ก็ไม่มีโรงพยาบาลใกล้บ้าน ที่จะเดินทางไปได้

“เราเห็นลูกเราดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้แย่ลง จากนั่งไม่ได้ก็นั่งได้ การพูดการจาก็ดีขึ้น คุยอ้อแอ้ได้ เราก็มีกำลังใจทำงาน ผมอยากอยู่ในบ้าน เพราะยิ่งออกนอกบ้านยิ่งเรื่องเยอะ อยู่บ้านใครบ้านมันดีกว่า ไม่อยากยุ่งกับใคร ทำงานเก็บตังค์หน่อยรอให้ลูกเข้าโรงเรียนแล้วจะย้ายจากที่นี่ไปอยู่ราชบุรีบ้านเก่าของผม” ประชุมกล่าว

‘ห่วง’

ขยับเข้าเขตตัวเมือง ทะลุผ่านซอกซอยหลายต่อหลายซอย บ้านแถวนี้เป็นบ้านชั้นเดียวสีสันสดใสเสียส่วนใหญ่ บ้านส่วนมากมีพื้นที่ด้านหน้า บ้างก็ไว้นั่งเล่น บ้างก็ขายของ บ้านของวริศรา อุปทะ เปิดกิจการตัดเย็บเสื้อผ้า เสียงจักรสลับกันดังไม่หยุดประกอบภาพของผ้าสีต่างๆ ที่วางระเกะระกะอยู่ทั่วห้อง


วริศรา เป็นผู้ถูกสัมภาษณ์ที่อายุน้อยที่สุดในการคุยครั้งนี้ เธอผมสั้น ใส่เสื้อยืดสีฟ้าและกางเกงขายาวสีดำ เป็นสาวน้อยหน้าตาน่ารักและมีอารมณ์ขัน เธอนั่งวีลแชร์เพราะกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากโรคซีรีบรัล พัลซี่

 วีรชาติ อุปทะ พ่อของวริศรากล่าวว่า วริศราเป็นคนคุยเก่ง ฉลาด ก่อนหน้านี้ลูกสาวเคยเรียนที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ แต่ปัจจุบันเรียนที่บ้านโดยใช้อุปกรณ์การเรียนจากที่โรงเรียน

“ผมและเมียเคยได้รับคำแนะนำให้ทำหมันตั้งแต่ลูกสาวเพิ่งเริ่มมีประจำเดือน แต่ตอนนั้นก็คิดแค่ว่าอยากให้ลูกได้ทำหมันด้วยวิธีที่เจ็บน้อยที่สุด ถึงตั้งใจทำงานเก็บเงินก่อนเพราะค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าปกติ ก็คุยกับน้อง น้องก็บอกว่าทำก็ทำ พ่อเคยไปอบรมนั่นนี่มา ก็รู้ว่าเรื่องแบบนี้จะตัดสินใจโดยพ่อกับแม่ไม่ได้

“หมอก็แนะนำให้ทำซะ ทำเถอะ เหตุผลเป็นเรื่องของการดูแลและการป้องกันตัวเอง เผื่อพ่อแม่ญาติพี่น้องไม่อยู่ ก็อาจเป็นการป้องกันระดับหนึ่ง แต่ถามว่ามันร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ก็คงไม่ใช่ เราเปลี่ยนใจเพราะพอเรามาคิดดูดีๆ โอกาสในการทำมันก็ไม่ได้มีแค่ตอนนี้ โอกาสข้างหน้าก็ยังมี แต่ถ้าเราทำ มันก็ไม่มีโอกาสแก้ตัวแล้ว

“บางทีมันก็เป็นแค่ความสะดวกสบายของพ่อกับแม่ มองๆ ดูแล้วมันก็แค่นั้น” พ่อกล่าว

ตัววริศราเองก็กล่าวว่า อยากทำหมันเพราะกลัวแม่ลำบาก เมื่อแม่ถามว่าจะทำไหม เธอจึงตกลงจะทำ แม้จะกลัว และไม่เคยรู้ว่าการทำหมันนั้นทำอย่างไร เธอก็ยังยืนยันที่จะทำ ส่วนหนึ่งมาจากการที่เธอเห็นเด็กพิการหลายคนแถวบ้านทำ แล้วหายดี เหลือเพียงรอยแผลเล็กๆ รวมทั้งเพื่อนที่ศูนย์การศึกษาพิเศษที่เธอเคยเรียนก็ทำกัน วริศราเองจึงมองเห็นแต่ข้อดีและประโยชน์ของการทำหมัน

“การทำหมันเป็นการแก้ปัญหาในวงแคบๆ ข้างนอกมันกว้าง ถ้าไม่ออกไปเราก็ไม่รู้หรอกว่าอะไรคืออะไร เราเคยไปอบรมเรื่องสิทธิของสตรีพิการ รู้ว่าจริงๆ แล้วต้องถามเจ้าตัวด้วย ครอบครัวด้วย การทำหมันไม่ได้แก้ไขปัญหา 100 เปอร์เซ็น มันก็ยังมีปัญหา แค่ปัญหาจะน้อยลง ทุกวันนี้พ่อกับแม่ก็ไม่ได้ลำบาก ความคิดที่จะทำหมันมันแว๊บเข้ามาเป็นพักๆ” พ่อกล่าว


วริศรา อุปทะ

แม้พ่อกับแม่ของวริศราจะมีจุดยืนค่อนข้างชัดเจนในเรื่องการทำหมัน แต่ทั้งสองก็ยังอดเป็นห่วงไม่ได้ ยิ่งเมื่อเห็นข่าวล่วงละเมิดทางเพศคนพิการอยู่บ่อยๆ ก็ยิ่งทำให้พวกเขาเป็นกังวลกับอนาคตของลูกสาวมากขึ้น

“มีหมอจากนครชัยศรีฯ มาบ้านแล้วถามว่าทำหมันหรือยัง เราบอกเขาไปว่า ยัง เขาก็มาเซ็นต์ใบให้ไปทำเลย แล้วยังเขียนในใบว่า ‘สติปัญญาอ่อน’ อันนี้พ่อแอนตี้มาก ลูกกูไม่ได้ปัญญาอ่อน แต่พิการทางด้านเคลื่อนไหว”

“เราเห็นข่าวก็อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าต่อไปพ่อกับแม่ไม่อยู่จะทำยังไง ถ้าฐานะเราดีกว่านี้ก็คงเป็นกังวลน้อยกว่านี้ เคยเอาลูกไปเข้าโรงเรียนศรีสังวาลฯ เราก็ไปแอบดู ลูกเรามีครบหมดแต่ช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย คนอื่นขาขาด แขนขาดเขาแปรงฟัน ขึ้นบันไดกันปุ๊ปๆ

“เราบอกกับตัวเองว่า ยังไงก็ไม่เอาลูกไปอยู่ตรงนั้น มีนักเรียนสามร้อยคน มีพี่เลี้ยงสามคน คิดดู เวลาเขาดื้อเรายังตีเลย ยังปล่อยให้อยู่คนเดียวชั่วโมงสองชั่วโมง ถ้าไปอยู่กับเขามันก็คงมีแบบนี้ ก็เลยหอบลูกกลับมา ยิ่งถ้าอยู่แล้วผู้ปกครองคนใดคนหนึ่งต้องอยู่ด้วย ค่าใช้จ่ายก็ต้องออกเอง ก็เลยตัดสินใจได้แค่ไหน เอาแค่นั้นนะลูก” พ่อกล่าว

ข้อมูลจากสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษระบุว่า โรงเรียนเฉพาะความพิการที่มีอยู่ทั่วประเทศทั้งหมดนั้นมีไม่ถึง 50 แห่งส่วนมากกระจายอยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งแม้ว่าการมีโรงเรียนพิเศษเหล่านี้จะช่วยให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษได้เข้าถึงระบบการศึกษาเช่นเด็กคนอื่นๆ กระนั้นมาตรฐานการเรียนในหลายที่ก็ยังต่ำกว่าเกณฑ์มากและไม่ได้ถูกปรับให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคนอย่างแท้จริง

ด้วยโรคที่วริศราเป็น กล้ามเนื้อทั่วร่างกายจะหงิกเกร็ง เธอไม่สามารถหยิบจับหรือพูดได้ถนัดนัก แม้จะสามารถกินข้าวได้เองด้วยมือข้างหนึ่ง แต่มืออีกข้างก็หงึกเกร็งเกินที่จะทำอะไร พ่อและแม่เคยชินกับสภาพนี้เป็นอย่างดี และเข้าใจคำที่หมอบอกวนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า อย่าคาดหวังอะไรมากกับลูกคนนี้

“แต่ผมก็บอกหมอนะ เขาจะเป็นอย่างไรไม่เป็นไร ยังไงก็ขอให้สวยไว้ก่อน (ยิ้ม)” พ่อกล่าว


วริศราและครอบครัว

“พ่อไม่เคยอายเลยนะที่พาลูกไปไหนต่อไหน พ่อหวังว่า ถ้าเขารู้จักคนเยอะๆ วันใดวันหนึ่งถ้าพ่อแม่ไม่อยู่ ก็อาจมีคนอื่นมาถามไถ่ มีลู่ทางที่จะหาคนที่มาซัพพอร์ทเขาได้

“ตอนนี้วันดีคืนดีก็มีหน่วยงานราชการเอาของมาให้ ยิ้มสวย ถ่ายรูป แล้วก็ทิ้งไป แต่ลูกเราไม่ได้เข้าใกล้สิทธิมากขึ้นเลย น้องเขาโชคดีอย่าง ได้เจอสิ่งแวดล้อมดีๆ พ่อ แม่ พี่ ป้า น้า อา ก็ไม่มีใครรังเกียจมาพาไปเที่ยวบ่อยๆ ยิ่งตอนเขาเด็กๆ ยิ่งไปบ่อย แต่ตอนนี้ตัวใหญ่ แม่อุ้มไม่ไหวก็ไม่ค่อยได้ไป” พ่อและแม่ช่วยกันเล่าเรื่องราวของวริศรา

อ่านมาถึงตรงนี้ เราอาจแปลกใจว่า เหตุใดเราถึงเลือกสัมภาษณ์ครอบครัวของวริศรา ทั้งที่ครอบครัวของเธอก็ดูไม่ได้มีปัญหาอะไรกับทั้งเรื่องลูกสาวและปัญหาเรื่องเพศ หากไม่มีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่อนามัยเข้ามาที่บ้านเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

“มีหมอจากนครชัยศรีฯ มาบ้านแล้วถามว่าทำหมันหรือยัง เราบอกเขาไปว่า ยัง เขาก็มาเซ็นต์ใบให้ไปทำเลย แล้วยังเขียนในใบว่า ‘สติปัญญาอ่อน’ อันนี้พ่อแอนตี้มาก ลูกกูไม่ได้ปัญญาอ่อน แต่พิการทางด้านเคลื่อนไหว” พ่อกล่าว

สังคมพ่อแม่เด็กพิการเป็นสังคมที่รู้จักกันดี ยิ่งโดยเฉพาะในพื้นที่เล็กๆ ภายในหมู่บ้านเช่นนี้ พ่อแม่ของวริศราเอง ก็มีโอกาสได้พูดคุยกับครอบครัวอื่นอยู่บ่อยครั้ง และพบว่า เกือบทุกครอบครัวให้ลูกทำหมัน บางครั้งตั้งแต่ 9 ขวบ บางครอบครัวก็รอให้เด็กมีประจำเดือนสักครั้งสองครั้ง แล้วก็ทำ จนเรื่องนี้กลายเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ ไปโดยปริยาย

“มุมมองของหมอคือถ้าพิการก็ให้ทำหมด แต่ถ้าหมอใหญ่ๆ เขาจะไม่พูดเรื่องพวกนี้ถ้าผู้ปกครองไม่ถาม หมอระดับล่างๆ อย่างอนามัยอำเภอ เขาจะตัดปัญหาไปเลยว่า ต้องทำหมัน คิดว่าปัญหาที่เขากลัวคือท้อง ถามว่าพ่อแม่ลำบากไหมเรื่องการดูแลส่วนนี้ มันก็ไม่ลำบาก แต่ก็คิดนะว่าถ้าพ่อแม่อายุมากแล้วจะทำยังไงต่อ” พ่อกล่าว

ปัจจัยหลักที่พ่อแม่ห่วงเกี่ยวกับวริศราคือ หากทั้งคู่ไม่อยู่ และวริศราต้องอยู่กับพี่ชาย ซึ่งถึงแม้จะไว้ใจได้เพราะเคยช่วยดูแลน้องมาตั้งแต่เล็กๆ ทั้งคู่ก็ยังคงไม่แล้วใจและไม่รู้สึกวางใจเท่ากับตัวเองเป็นคนดูแล

“ถ้าแม่ไม่อยู่ พ่อทำได้ทุกอย่าง อาบน้ำ แต่งตัว เปลี่ยนแพมเพิร์ส เปลี่ยนผ้าอนามัย ตอนพาลูกไปเข้าค่าย แล้วลูกต้องถูกแยกไปอยู่กับคนอื่น พ่อก็ไปแอบดูตลอด คิดในใจว่า เฮ้ย ทำแบบนี้ได้ยังไง เราห่วงนะ (หัวเราะ) แต่พอเห็นเขามีสังคมเราก็รู้สึกดี เพราะลูกดูมีความสุข สนุก พ่อก็ดีใจไปด้วย” พ่อกล่าว

แม้แต่วันที่สุขสุดๆ ก็ยังอาจแฝงไปด้วยความทุกข์ ด้วยเพราะยังมองไม่เห็นลู่ทางในอนาคต ซ้ำร้ายระบบการดูแลคนที่มีความแตกต่างในสังคมไทยก็ยังไม่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนนักว่าพวกเขาจะสามารถมีชีวิตกันอยู่ได้อย่างไร เมื่อไม่มีครอบครัวให้พึ่งพิง แม่เคยพูดกับวริศราหลายครั้งว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เธอจากไปก่อน เพราะแบกรับความหนักใจไม่ไหว หากเพียงคิดว่าวริศราจะอยู่อย่างไรเมื่อไร้พ่อแม่

“กลัว ตอนพ่อแม่บอกว่า ตายก่อนพ่อก่อนแม่ก็ดีนะ กลัวเขาจะไม่ดูแลหนู”

“ถ้าอนาคตเราไม่อยู่ แต่ลูกยังอยู่ ก็คงต้องจัดการกันไป ลูกหลานพี่น้องคนไหนที่พอจะพึ่งพาได้ ก็ต้องฝากเขาไป เราก็จะยกที่ ยกบ้านให้ แต่ถ้าเป็นไปได้ ให้เขาไปก่อนก็ดี เวลาอาบน้ำให้บางครั้งตัวเขาเองก็พูดขึ้นมาว่า ขอหนูตายก่อนแม่กับพ่อนะ ฟังแล้วก็เศร้า

“บางทีเขาดื้อ เราก็ตี เขาก็พูดขึ้นมาว่า ตีหนูให้ตายไปเลยพ่อ พอได้ยินเขาพูดแบบนั้น มันก็ชนเราดังอึกเลย” พ่อเสริม

“กลัว ตอนพ่อแม่บอกว่า ตายก่อนพ่อก่อนแม่ก็ดีนะ กลัวเขาจะไม่ดูแลหนู” วริศราพูดแทรก

แม้พ่อกับแม่ยังพอมีความเชื่อว่า วริศราจะสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเองในอนาคต แต่ด้วยอายุที่มากขึ้นจนเกินเกณฑ์ของสถานฝึก หรือโรงเรียนต่างๆ ความคิดนี้จึงถูกพับเก็บเมื่อสองสามปีก่อน และมีพ่อเป็นผู้ฝึกให้นับแต่นั้นมา

เท่าที่เราเห็น วริศราเป็นคนขี้เกรงใจ เธอไม่กล้าที่จะไหว้วานคนอื่นนอกจากพ่อแม่ให้ช่วยหยิบนั่นหยิบนี่ให้ อาจเป็นเพราะเธอไม่ค่อยได้ออกไปพบเจอกับคนอื่นมากนัก รวมทั้งพ่อเองก็มักปราม เมื่อเธอจะเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากใคร เธอจึงไม่คุ้นชินหากจะได้รับการช่วยเหลือจากคนอื่น และหลายครั้ง เมื่อเธออยากทำกิจกรรมอะไร คำพูดที่มักได้ยินจากพ่อก็คือ ‘อย่าไปกวนพี่เขาสิ’ ซึ่งนั่นนอกจากจะทำให้วริศราไม่ได้เรียนรู้การปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นแล้ว รสชาติของการถูกปฏิเสธการร้องขอจากผู้อื่น ก็เป็นสิ่งที่เธอไม่เคยได้รับเช่นเดียวกัน

ระหว่างพูดคุยกันเรื่องนี้ วริศราก็พยักหน้าเป็นระยะๆ และพูดว่า ใช่ ตลอดเวลาเมื่อคุยกันเรื่องพ่อ ผู้ไม่ยอมปล่อยเธอจากบ้านด้วยตัวเอง

“เวลาพ่อไปไหน จะชอบมีคนบอกว่า ผู้ชายคนนี้มันเก่งว่ะ ทำโน่นทำนี่ให้ลูก แต่จริงๆ แล้วพ่อแค่อยากให้เขาได้เจอกลุ่มของเขา ให้เขาได้ใกล้หมอ ใกล้สิทธิต่างๆ ดีกว่าไปหงิกไปงอนอนเฉยๆ ไม่มีการพัฒนาอะไร ให้ลูกเราได้มีสังคม เวลาเราไปเจอกับพ่อแม่คนอื่นที่ลูกเขาสามารถใช้ชีวิตเองได้ ใจเราก็ฮึดสู้ มีแรง คิดว่าลูกเราก็ต้องทำแบบนั้นได้

“ตัวเขาเองเป็นคนขี้เกรงใจ ถ้าไปอยู่กับคนอื่นก็กลัวเขาเกรงใจ แต่เราก็คิดนะว่า เขาจะจัดการตัวเองได้ถ้าปล่อยเขา คนในครอบครัวเราไปกำหนดกฎเกณฑ์เขา แต่ทำไงได้ พ่อยังทำใจไม่ได้ แต่ผมน่าจะทำใจปล่อยได้แล้วตอนนี้ (ยิ้ม)” พ่อกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

‘หวง’

เดินทางต่อเข้าไปยังท้องทุ่งเขียวของตำบลศรีษะทอง บ้านของนวลพรรณ บัณฑิต ตั้งอยู่ข้างบ้านหลังใหญ่อีกสองหลัง บ้านของเธอเป็นบ้านไม้เตี้ยๆ มีที่จอดรถอยู่ด้านข้าง และซ่อนตัวอยู่ด้านในสุดของพื้นที่นั้น เราหาที่นั่งกันหน้าบ้าน ที่ที่พัดลมโรงงานตัวใหญ่กำลังส่ายไปมาเสียงดังอื้ออึง

นวลพรรณ หญิงพิการรูปร่างผอม เธอผมยาวและมีผิวคล้ำ แม้จะไม่มีใครสามารถระบุได้ว่าเธอพิการด้วยสาเหตุอะไร ท่าทางของนวลพรรณก็ทำให้ดูออกได้อย่างไม่ยากนักถึงความผิดปกติ เธอทำอะไรช้า โต้ตอบ พูดคุยช้า โดยแม่ของเธอเล่าว่า นวลพรรณเพิ่งจะเริ่มเดินได้เมื่ออายุเจ็ดขวบ

สุนัน กัญญาวงศ์ แม่ของเธอเล่าว่า นวลพรรณถูกทำหมันเมื่ออายุ 10 กว่าขวบ เพราะในตอนนั้นพ่อและแม่ต้องออกไปทำงานและทิ้งเธออยู่บ้านเพียงลำพังกับน้องชายซึ่งมีอาการใกล้เคียงกัน

“เราทำเพราะกลัวจะเกิดเรื่องท้องขึ้นมา แม่กับพ่อทำงานข้างนอก เขาอยู่กับคนอื่นเราก็ไม่ไว้ใจเขา แม่เห็นคนที่เป็นคล้ายๆ กันทำ ก็เลยเอาลูกไปทำมั่ง จะได้ปลอดภัยกับตัวเขา ถ้าเขาท้องขึ้นมาก็ลำบาก ลำบากตัวเราเองด้วย” แม่กล่าว


สุรศักดิ์ บัณฑิต (ซ้าย), สุนัน กัญญาวงศ์ (กลาง) และนวลพรรณ บัณฑิต (ขวา)

แม้นวลพรรณจะสามารถสื่อสารช้าๆ ได้อย่างเข้าใจ แต่เธอกลับไม่เคยได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง หรือแม้แต่ในขณะทำหมัน เธอก็ไม่เคยได้รับรู้ขั้นตอน หรือผลกระทบที่จะตามมาใดๆ เลย

“เรากลัวคนอื่นมารังแกเขา แต่เราก็ไม่รู้จะทำยังไงดี ตอนทำหมันเราก็บอกเขา เขาก็รู้ แต่ไม่ได้ตัดสินใจเอง เรื่องนี้เขาไม่รู้เรื่อง อย่างตอนนั้นเคยมีคนมาทำอะไรต่ออะไร เขาก็กลัว ไม่กล้าบอก เราต้องรู้เอง

“เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง ลูกน้องอู่ซ่อมรถล่วงละเมิดเขา เราจับได้ก็ดำเนินคดี ติดคุกไป น้องชายเขาเป็นคนเห็น พอเราไปถามก็รู้ว่าเป็นเรื่องจริง คนงานคนนั้นก็รีบออกจากบ้านไป แต่ตำรวจก็ตามไปจับ เขาก็เลยรับสารภาพ หลังจากนั้นเราก็ระแวง จับทำหมันเลย” แม่กล่าว

“ไม่รู้ว่าทำหมัน รู้แต่ว่านอนโรงพยาบาล หมอไม่ได้บอก (แล้วอยากทำไหม?) อยากทำ เพราะเราดูแลตัวเองไม่ได้ เราจะถูกทำร้าย (ใครบอก?) ไม่มีใครบอกพี่เลย พี่ก็ไม่รู้เหมือนกัน (เธอทำหน้าเหมือนจะร้องไห้) อยู่สามคนแม่ลูกสบายดี”

ตอนนวลพรรณยังเป็นเด็กเล็กๆ เธอเคยเข้าโรงเรียน แต่ด้วยท่าทางและการคิดอ่านที่ช้าของเธอ หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ครูจึงบอกให้เธอลาออกไปฝึกทำงานฝีมือที่บ้านแทน แม้เรื่องเรียนจะดูไม่ใช่ทางของเธอสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นเรื่องงานบ้านงานเรือน เธอกลับทำมันได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ

“ปัจจุบันเขาช่วยเหลือตัวเองได้ทุกอย่าง ตื่นตอนเช้าก็จะช่วยแม่ทำงานบ้าน กวาดบ้าน ล้างถ้วย ล้างชาม ทำงานบ้านได้ทุกอย่าง แต่เขากลัวไฟช๊อต เลยไม่ค่อยกล้าหุงข้าว อาจเพราะเขาอยู่แต่บ้าน เดือนๆ หนึ่งออกจากบ้านน้อยมาก ก็เลยทำได้ดี

“ตอนนี้มันก็ไปเรียน กศน. ที่ใกล้ๆ บ้าน เพิ่งเริ่มเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น” แม่กล่าว

แม้ในตอนนี้นวลพรรณจะทำหมันเรียบร้อย และแม่ก็รู้สึกสบายใจขึ้นมาก แต่แม่ก็ยังไม่กล้าปล่อยให้เธออยู่เพียงลำพัง ตั้งแต่พ่อเสียเมื่อหลายปีก่อน สามคนแม่ลูกก็ตัวติดกันตลอดเวลานับแต่ตื่นนอน จนกระทั่งเข้านอนอีกรอบ และแม่ก็ไม่เคยปล่อยให้สองคนพี่น้องอยู่ด้วยกันเพียงลำพัง

นั่งคุยสักพัก นวลพรรณที่นั่งเงียบฟังเราสนทนากับแม่อยู่นาน ก็พูดขึ้นมาว่า

“ไม่รู้ว่าทำหมัน รู้แต่ว่านอนโรงพยาบาล หมอไม่ได้บอก (แล้วอยากทำไหม?) อยากทำ เพราะเราดูแลตัวเองไม่ได้ เราจะถูกทำร้าย (ใครบอก?) ไม่มีใครบอกพี่เลย พี่ก็ไม่รู้เหมือนกัน (เธอทำหน้าเหมือนจะร้องไห้) อยู่สามคนแม่ลูกสบายดี”

เมื่อมองอนาคตแล้วช่างริบหรี่ ผู้เป็นแม่ก็ยังมองไม่ออกว่า หากตัวเองไม่สามารถอยู่ดูแลลูกได้แล้วในอนาคต ลูกทั้งสองคนจะสามารถอยู่กันได้อย่างไร เพราะตัวเธอเองก็ไม่กล้าแม้แต่จะปล่อยให้ลูกได้ลองใช้ชีวิต เธอได้พูดถึงศูนย์บริการคนพิการในชุมชนอยู่หลายครั้ง และต้องการที่จะเข้าร่วมการก่อตั้งศูนย์ที่ยังไม่เกิดขึ้นนี้ เพราะหวังว่าเมื่อเธอไม่อยู่แล้วลูกทั้งสองจะยังมีชุมชนที่คอยอุ้มชู

“อยู่ได้ อยู่กับพี่ สองคนพี่น้อง ทำงานเลี้ยงใส้เดือน ไม่ก็ไปหาที่อื่นรับจ้าง อยากขับรถแท็กซี่ ตอนนี้ยังขับรถไม่เป็น แต่เดี๋ยวก็เป็น” สุรศักดิ์ บัณฑิต น้องชายของนวลพรรณกล่าว

“สุรศักดิ์เขาอยากเป็นช่างซ่อม นวลพรรณก็ทำงานได้ แต่ไม่เรียบร้อย ถ้าจะทำงานก็ต้องทำให้เรียบร้อย ต้องอดทน ไม่ใช่เหนื่อยแล้วก็ไม่เอา” แม่เสริม

“กวาดบ้าน ถูบ้าน หนูทำงานได้” นวลพรรณกล่าว

หากเราถามว่า อะไรคือความแตกต่างของ ‘คนปกติ’ และนวลพรรณกับน้องชาย ก็คงจะนึกออกแค่ ทั้งคู่พูดช้า นอกจากนั้นแล้วเธอก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่มีร่างกายครบถ้วนสมบูรณ์ และก็คงไม่แปลกนัก ถ้านวลพรรณจะมีคนชอบพอและสร้างครอบครัวของตัวเองในอนาคต

“ถ้าเขามีเมีย ก็กลัวเขาจะไปกันไม่รอด ถ้าเกิดมีลูก มีเต้า แล้วเอามาทิ้งไว้ที่เรา ก็คงลำบากแม่ตาย เขาจะไปทำอะไรกิน ยิ่งถ้านวลพรรณมีคนมาขอ มาชอบ เราก็ต้องดูก่อน จะมีใครมาชอบเขาจริงๆ เหรอ” แม่กล่าว

‘เสียดาย’

เขยิบจากเขตท้องทุ่ง ข้างหน้ามีบ้านหลังคาสีๆ เรียงกันเป็นทิวแถว บ้านส่วนมากเป็นบ้านชั้นเดียวแบบที่นิยมกันในเขตชนบท บ้านของ ยุ้ย (นามสมมติ) แม้ไม่ได้อยู่ไกลจากบ้านสีๆ เหล่านั้นนัก แต่ก็นับได้ว่ามีพื้นที่ส่วนตัวค่อนข้างมาก และดูเป็นสัดเป็นส่วน เมื่อเทียบกับบ้านอื่นๆ

ยุ้ยเป็นสาวแรกรุ่นวัย 17 ปี เธอมีใบหน้ากลม ผมสีดำขลับ และดูเด็กกว่าเด็กสาวในรุ่นเดียวกัน สำเริง ชื่นกลิ่นธูป แม่ของยุ้ยกล่าวว่า ยุ้ยถูกทำหมันเพราะอาการทางประสาทที่เกิดขึ้นหลังจากตกเตียงเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก จนทำให้เธอพูดจาไม่ค่อยเป็นภาษา กระบวนการทำหมันเริ่มตั้งแต่ยุ้ยแตกเนื้อสาว เมื่ออายุ 14 หลังมีประจำเดือนอยู่ปีกว่าๆ และไม่สามารถดูแลความสะอาดเองได้ ด้วยเพราะกังวลถึงเหตุการณ์ในอนาคต แม่จึงคิดว่าการทำหมันน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนั้น เพื่อไม่ให้ยุ้ยเป็นภาระของคนที่มาดูแลต่อจากเธอ ด้วยความกังวลนี้ ยุ้ยจึงไม่เคยไปไหน และไม่เคยออกห่างจากพ่อแม่เลยแม้แต่ครั้งเดียว

“ตอนเล็กๆ เขาตกเตียง ร่างกายไม่มีแรงไปซีกนึงคล้ายอัมพาต หลังจากนั้นก็ชักมาตลอด ที่เห็นตอนนี้ไม่ชักเพราะกินยากันชัก เมื่อก่อนแม่ทำงานก็ต้องออกมาเลี้ยงเอง ตอนที่เขาเพิ่งเป็น เขาไม่รู้เลยว่าใครเป็นพ่อเป็นแม่ ตอนนี้ก็รู้มากขึ้นเรื่อยๆ

“เรื่องทำหมัน หมอเขาจะคอยถามตลอดว่า คุณแม่พร้อมจะทำหรือยัง หากเกิดพลาดพลั้งไป นอกจากเลี้ยงลูกแล้ว ยังจะต้องมาเลี้ยงหลานอีก” แม่กล่าว

แม้ที่ผ่านมาจะยังไม่เคยมีปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นกับยุ้ย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธออยู่กับแม่ตลอดเวลา ก่อนหน้านี้ ยุ้ยมีโอกาสได้ไปเรียนในห้องเรียนพิเศษในละแวกชุมชนอยู่บ่อยครั้ง ที่ที่เด็กที่มีปัญหาทางด้านพัฒนาการจะมาร่วมกันเรียนรู้ แต่ด้วยค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ค่อนข้างสูง บวกค่ารถในการเดินทางไป-กลับแต่ละครั้ง จึงทำให้การไปเรียนถูกหยุดไปโดยปริยาย

“ถึงบอก (เรื่องทำหมัน) เขาก็คงไม่รู้หรอกเพราะไม่เข้าใจ ใจนึงแม่ก็ไม่อยากให้เขาทำ สงสาร อยากให้เขาเป็นไปตามธรรมชาติ แต่เราก็กลัว กังวลเรื่องวันข้างหน้า เลยลังเลว่า ถ้าต่อไปไม่มีแม่แล้วอาจจะลำบาก กลัวไปอยู่กับคนอื่นแล้วจะมีเรื่องอะไรเกิดขึ้น ก็เลยตัดสินใจทำ

“ที่โรงเรียนไม่เคยสอนเรื่องเพศเลย เราไม่เคยปล่อยให้เขาไปกับใคร ปกติถ้าแม่ออกข้างนอกแล้วเขาไม่ไป แม่ก็จะใส่กุญแจ ให้เขาอยู่ในบ้าน

“แม่ก็เครียด ถ้าคิดเรื่องวันข้างหน้า เราไม่รู้จะทำยังไง พี่น้องเขาก็ไม่มี ทุกวันนี้เขาช่วยเหลือตัวเองได้เยอะนะ อาบน้ำแต่งตัว ใส่เสื้อผ้า หาข้าวกินเองได้ เข้าห้องน้ำเองได้ บางครั้งเขาก็จะมาถามว่า ใส่เสื้อผ้าแบบนี้ถูกไหม เมื่อก่อนต้องใส่ให้แต่งตัวให้ตลอด หน้าหลังเขายังไม่รู้เลย แต่เดี๋ยวนี้เขาทำเองได้ รู้หน้า รู้หลัง รู้ว่าตะเข็บเข้าหรือออก

“แม่สอนเขานะ อย่างเข้าไปอาบน้ำต้องนุ่งกระโจมอก ก่อนจะออกจากห้องน้ำต้องใส่กระโจมอกไม่ให้โป๊ เขาจำและรู้เยอะขึ้นมากจากเมื่อก่อน เข้าใจเมื่อสอนและก็จำได้ว่าเราเคยบอกอะไร” แม่กล่าว

“ที่โรงเรียนไม่เคยสอนเรื่องเพศเลย เราไม่เคยปล่อยให้เขาไปกับใคร ปกติถ้าแม่ออกข้างนอกแล้วเขาไม่ไป แม่ก็จะใส่กุญแจ ให้เขาอยู่ในบ้าน"

แม้ยุ้ยจะเก่งขึ้นมากจากเมื่อก่อน แต่แม่ก็ยังมองว่าเธอยังเป็นเด็กเสมอ แน่นอนว่า ไม่เพียงเฉพาะครอบครัวคนพิการ ในสายตาของพ่อแม่หลายๆ คนก็ยังมองว่า ลูกเป็นเด็กที่ต้องคอยโอบอุ้ม นั่นจึงทำให้แม่ของยุ้ยไม่ เคยวางแผนสำหรับอนาคตของยุ้ยและตัวเธอไว้เลย

“ถ้าเราไม่อยู่แล้ว ก็อาจจะมีพี่สาวเรา ฝั่งพ่อก็มีแค่น้องสาวและน้องชายพ่อ ดูเผินๆ แล้วก็เข้ากันได้ แต่ถ้าให้ดูแลก็คงไม่ใช่ บางทีแม่คิดนะ ถ้าเกิดรู้ตัวก่อนว่าจะเป็นอะไรไป เราก็คงเอาเขาไปด้วย

“อีกใจก็เชื่อว่า เขาต้องอยู่ได้ บางทีเขาถามแม่ว่า แม่กินเหมือนไหม (แม่กินข้าวไหม) ถ้าเราบอกกินเขาก็จะหาจานมา 2 ใบ ของเขาใบหนึ่ง ของแม่อีกใบหนึ่ง แต่ถ้าแม่บอกยังไม่กิน เขาก็เอาของเขามาใบเดียว

“ถ้ามีโอกาสเราก็อยากพาลูกออกไปข้างนอก แต่ก็กลัวเขาโวยวาย กลัวคนอื่นรำคาญ บางคนเขาก็มองแปลกๆ แต่ก็ต้องพยายาม ถ้าตอนนั้นเขาช่วยเหลือตัวเองได้ ทำเองได้แบบทุกวันนี้ แม่ก็คงจะไม่ให้น้องทำหมันหรอก” แม่กล่าวทิ้งท้าย

“ถ้ามีโอกาสเราก็อยากพาลูกออกไปข้างนอก แต่ก็กลัวเขาโวยวาย กลัวคนอื่นรำคาญ บางคนเขาก็มองแปลกๆ แต่ก็ต้องพยายาม ถ้าตอนนั้นเขาช่วยเหลือตัวเองได้ ทำเองได้แบบทุกวันนี้ แม่ก็คงจะไม่ให้น้องทำหมันหรอก”