Skip to main content

วันเด็กไปไหนดี’ เด็กหลายคนอาจชวนพ่อแม่ไปเที่ยวห้าง กินขนม ดูหนัง หรือแม้แต่ไปดูไดโนเสาร์ และมีอีกหลายคนเช่นกันที่เลือกทำบุญโดยมอบขนม เลี้ยงข้าวเด็กๆ ในสถานสงเคราะห์ แล้วเด็กในสถานสงเคราะห์ต้องการจริงหรือ? ขนม นม เนยสารพัดที่หลั่งไหลเข้าไป (ไม่เฉพาะเพียงแค่วันเด็ก) สามารถทดแทนความอบอุ่นจากครอบครัวได้จริงหรือไม่ และตอกย้ำการเป็นผู้รับของเด็กมากเกินไปหรือเปล่า<--break->

คุยกับ กอบกาญจน์ ตระกูลวารี หัวหน้างานพัฒนาบุคลากร สหทัยมูลนิธิ ผู้ซึ่งทำงานกับเด็กและข้องเกี่ยวกับสถานสงเคราะห์มากว่า 20 ปี เพื่อทำความเข้าใจ และรู้จักกับเด็กๆ ให้มากขึ้น

วันเด็กเป็นวันแห่งการ ‘ทำบุญกับเด็กยากไร้’ หรือเปล่า

กอบกาญจน์: ปัญหาเรื่องการให้ของในสถานสงเคราะห์ ไม่ได้มีแต่เฉพาะในวันเด็ก นานมาแล้วที่สถานสงเคราะห์เป็นที่ที่ให้คนมาบริจาค อีกทั้งมูลนิธิหลายที่ก็เชื่อว่า ถ้าเขาไม่มีโรงเรียน ไม่มีบ้านสำหรับเด็ก เขาจะอยู่ไม่ได้ คนจะไม่บริจาค เหล่านี้อาจเกิดขึ้นเพราะสังคมไทยก็รู้สึกว่า ตัวเองได้ทำบุญ ได้ให้ของ เพราะการให้ของนั้นเป็นรูปธรรม แต่จริงๆ แล้วความเข้าใจต่อปัญหาหรือความคิดที่จะแก้ไขอย่างเป็นระบบยังไม่ค่อยมี

บ้านเด็กกำพร้า จำเป็นต้องมีหรือเปล่า

เราเชื่อว่า เด็กทุกคนต้องโตในครอบครัว สภาพสถานสงเคราะห์หรือการอยู่โรงเรียนประจำนั้นไม่ใช่ชีวิตธรรมชาติ มนุษย์มีลูกครั้งละ 1 คน ไม่เหมือนกับช้างที่ตกลูกมาปุ๊บก็เดินเองได้ ไม่ต้องการการฟูมฟักเยอะ เพราะธรรมชาติเป็นแบบนั้น ในทางกลับกัน คนต้องใช้เวลายาวนานมากกว่าจะเติบโตหรือพัฒนา คิดดูตอนเราอยู่บ้าน มีพ่อแม่ปู่ย่าตายายเลี้ยงเยอะมากกว่าเราจะโต แต่สภาพสถานสงเคราะห์นั้นกลับกัน เด็ก 30 คน พี่เลี้ยง 1 คน ระบบแบบนี้จะทำร้ายเด็ก และไม่ทำให้เขาเติบโตอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องของความรักความอบอุ่น

สิ่งที่ดี เราต้องทำงานกับพ่อแม่ที่มีวิกฤต ช่วยเสริมส่วนที่เขาขาด ให้เลี้ยงลูกเองได้ เราเชื่อว่า ถ้าเขาได้รับการสนับสนุน เขาจะดูแลลูกเองได้ ไม่จำเป็นต้องยกให้คนอื่น ไม่จำเป็นต้องฝากใครเลี้ยง เพราะการฝากคนอื่นเลี้ยง ทำให้เด็กโตมาพร้อมความสงสัยว่า ทำไมฉันต้องมาอยู่ที่นี่ สงสัยในคุณค่าของตัวเองว่า ทำไมพ่อแม่ไม่รักเขา

ถ้าครอบครัวเลี้ยงดูไม่ไหวล่ะ

ถ้าไม่ไหวจริงๆ อยู่กับครอบครัวแล้วเด็กจะแย่มาก ก็ต้องพิทักษ์สิทธิเด็กด้วยการจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ หรือการจัดหาครอบครัวบุญธรรมถาวร

ใจจริงแล้วเราไม่ต้องการให้มีสถานสงเคราะห์ใหญ่ๆ สถานสงเคราะห์ต้องเป็นที่สุดท้ายของเด็ก แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในสภาพสังคมแบบนี้ ยังจำเป็นที่ต้องมีเด็กเข้าสถานสงเคราะห์ เช่น อยู่สถานสงเคราะห์แล้วคุณภาพชีวิตดีกว่าอยู่บ้าน ตอนนี้เหมือนกับว่า สถานสงเคราะห์กลับเป็นที่แรกที่ถูกคิดถึง ฉะนั้นเด็กก็จะมีพัฒนาการที่ล่าช้าและมีสภาวะสุขภาพที่เจ็บป่วยง่าย

เด็กๆ รู้สึกถูกทอดทิ้งไหม

ก็คงมีบ้าง เขาคงรู้สึกมีช่องว่าง เด็กทุกคนอยากจะอยู่กับครอบครัว พอไม่ได้อยู่ก็คงสงสัยว่าทำไมพ่อแม่ไม่เลี้ยงเขา

พวกเขาอยากได้อะไรมากที่สุด

จากการทำงาน 20 กว่าปี เราเห็นว่า คนชอบไปบริจาคสิ่งของที่สถานสงเคราะห์ ทั้งที่จริงแล้วเด็กไม่ได้ต้องการวัตถุ แต่พวกเขาต้องการความรู้สึกภาคภูมิใจ และถูกรัก แต่คนกลับเอาของไปให้ หนำซ้ำไปแล้วก็อยากจะแจกให้ถึงมือ ถ่ายรูป ฯลฯ หรือหากไปเลี้ยงข้าวก็ไปบังคับว่า เด็กต้องกินข้าวให้หมด เด็กเองก็จะถูกสั่งว่า ต้องกินให้หมด แม้อิ่มแค่ไหนก็ต้องกินเพราะเดี๋ยวแขกเสียใจ ด้วยระบบการทำงานแบบนี้ เจ้าหน้าที่หลายคนก็ไม่กล้าปฏิเสธแขก เพราะกลัวแขกเสียใจและรู้สึกไม่ดี

การให้เด็กรับของนั้นตอกย้ำการเป็นผู้รับของเด็ก สิ่งนี้ไม่ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า พอโตขึ้น ‘การรับของ’ ซึ่งเคยถูกมองว่าน่ารัก คลานเข่าเข้าไปกราบไหว้ผู้ใหญ่ ก็ไม่ได้น่ารักอีกต่อไป ผู้ใหญ่ก็ไปต่อว่าเด็ก ทั้งที่จริงๆ แล้วเราสอนเขามาแบบนั้น

แล้วน่าจะทำแบบไหน

ต้องพยายามทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ว่า ไม่จำเป็นต้องให้เด็กไปยืนรับของ หรืออาจให้แขกนำของที่จะแจกไปฝากกับเจ้าหน้าที่เพราะการมอบนอกจากจะตอกย้ำเรื่องการเป็นผู้รับแล้ว บางทีเด็กอิ่มก็ต้องกินหรือไม่ชอบก็ต้องรับ เป็นการทำลายอัตลักษณ์ของเขา ซ้ำยังไม่ได้ฝึกวินัย สร้างนิสัยที่ไม่ดีให้กับเด็ก บางคนกินอิ่มจนอ้วกก็มี

เด็กๆ ควรถูกเปิดโลกทัศน์ ด้วยการทำความเข้าใจในข้อจำกัดว่า ทำไมเขาถึงเป็นแบบคนข้างนอกไม่ได้ โดยต้องพยายามให้สังคมมีส่วนร่วม เช่น สนับสนุนให้เขาออกไปใช้ชีวิตในสังคมปกติ แน่นอนว่า หากมีคนทำอะไรดีๆ ให้ เด็กก็ควรจะขอบคุณ แต่มันยังขาดกระบวนการการทำงานทางความคิดกับเด็กว่า ที่คนมาช่วยช่วยเพราะเขาเห็นคุณค่าของหนูไม่ใช่เพราะหนูน่าสงสาร

ช่วงหลังมีโครงการ อาสาสมัครสายสัมพันธ์ คือการพยายามบอกแขกที่มาว่า เด็กไม่ได้ต้องการของ เขามีจนล้นเหลือแล้ว สิ่งที่เขาอยากได้คือความรัก ฉะนั้น หากคุณสามารถมาเยี่ยมเด็กคนเดียวทุกๆ อาทิตย์อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เขารู้สึกดีกับตัวเอง รู้สึกว่าเขามีเจ้าของ เขามีคนที่รักเขา ‘เป็นหลานของป้าณี’หรือ ‘เป็นน้องของพี่จูน’ อะไรแบบนี้ เป็นเรื่องของความรู้สึกเป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก

ป้ามล (ทิชา ณ นคร) เคยพูดว่า เด็กกำพร้าไม่ใช่บันไดไปสู่สวรรค์ เขาไม่ได้มาเพื่อให้เราทำบุญแล้วได้บุญ


กอบกาญจน์ ตระกูลวารี

แจกของ ต้องดูด้วยว่าเขาต้องการอะไร

เมื่อก่อนนี้ สถานสงเคราะห์บางแห่งนอกจากจะมีการแจกของแล้วยังมีการจัดกิจกรรมให้เด็ก โดยกลุ่มนักศึกษาบางกลุ่มก็ไปในวันที่เด็กไม่ได้พร้อม เช่น เสาร์-อาทิตย์ เด็กเขาอยากมีเวลาส่วนตัว ได้ทำความสะอาด ซักผ้า ทำธุระ แม้เจ้าหน้าที่ไม่ได้อยากรับทุกงาน แต่ด้วยระบบการฝากมา เกรงใจนาย ส่วนมากจึงมีความจำเป็นต้องรับทุกงาน โดยปัจจุบัน บ้านราชวิถีงดไม่ให้มีกิจกรรมในวันอาทิตย์ เพื่อให้เด็กได้ทำธุระส่วนตัวในสิ่งที่พวกเขาชอบ

บางคนมาจัด ก็จัดไม่สนุก นึกถึงเด็กๆ แล้วก็สงสารเขา ต้องไปนั่งฝืนใจ หลังๆ มานี้เขาก็เรียนรู้และใช้วิธีส่งสายสืบไปก่อน ถ้ากิจกรรมสนุกค่อยไปตามเพื่อนมาเข้ากิจกรรม แต่พอไม่มีเด็กเข้ากิจกรรม เจ้าหน้าที่ก็จะว่าว่าทำไมไม่เข้าร่วมกิจกรรม ทำไมไม่ช่วยรับแขก

แสดงว่า ของแจกมีจนล้นแล้ว

มีคนเข้าไปทำเยอะมากและไม่มีการจัดระบบว่า เดือนหนึ่งควรมีกี่หน กรณีของเด็กโตน่าจะถามเขาได้ว่า อยากมีกิจกรรมประเภทไหน เวลาไหน ฯลฯ เพราะเด็กต้องการภาวะการเคารพตัวเอง การค้นหาคุณค่าในตัวเอง การถูกถามความเห็น ซึ่งเราควรรับฟังตรงนี้

เด็กนะ บางครั้งไม่อยากได้ของแต่ก็ต้องรับมา แล้วก็เอาไปทิ้งถังขยะ ตุ๊กตาสวยมากก็เอาไปทิ้งหมด เพราะมันเยอะมากจนเขารู้สึกไม่มีคุณค่า เขาไม่รักษาของเลยเพราะได้มาง่ายมาก ตอนบริจาคควรถามไปด้วยว่าเขาต้องการอะไร

แจกมากๆ เด็กรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่ด้อยกว่าหรือเปล่า

สถานสงเคราะห์อยากฝึกให้เด็กอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งแน่นอนเวลาเราเอาของไปให้เด็ก เราย่อมอยากให้เด็กรู้สึกว่า คุณป้าเขาใจดีที่ช่วยเหลือเรา แต่ก็ต้องมีกระบวนการที่ทำให้เด็กรู้สึกว่า ไม่ใช่เรื่องของบุญคุณหรือรู้สึกแย่ ไม่ได้ช่วยเขาเพราะความยากจนหรือน่าสงสาร

เคยมีผู้ปกครองเด็กบางบ้านเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนแขกชอบไปเดินดูเด็กตามตึก จึงเสนอให้ยกเลิกเพราะเด็กควรมีความเป็นส่วนตัว และแขกน่าจะเข้าใจ ไม่รบกวนด้วยการไปเดินดูเสมือนเป็นของแปลก เหมือนไปดูสวนสัตว์

สมัยก่อน บางที่พอมีแจกเงิน ก็ชอบให้เด็กคลานไปรับ มองดูแล้วมันมีระบบศักดินา เด็กก็ดูต่ำต้อยมาก เราก็ต้องไม่ให้แจก และอธิบายว่าไม่อยากได้ภาพแบบนั้น ซึ่งตอนนี้ก็ไม่มีอีกแล้ว

คิดว่าคนบริจาคต้องการเพิ่มคุณค่าให้ตัวเองไหม

ก็เป็นไปได้ คนเราก็พยายามมีคุณค่าในแบบที่เชื่อ เราเองไม่ได้แอนตี้ และคิดว่าการช่วยเหลือกันเป็นสิ่งที่ดี เพียงแต่ว่า คนที่ถูกช่วยจะต้องรู้สึกตัวเองมีศักดิ์ศรี ไม่ถูกรุกราน บางคนหวังดีมากเกินไป ถึงขั้นเสาะหาที่อยู่และตามไปให้ของ จนเกิดภาวะพึ่งพิง เราหวังดีมากเกินไปโดยไม่คิดถึงคนที่รับ คนทุกคนอยากมีคุณค่า เพียงแต่ว่าเราต้องทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายที่เราจะเข้าไปช่วยทั้งระยะสั้นและระยะยาว

จะทำให้เด็กรู้สึกตัวเองมีคุณค่าได้ยังไง

ที่บ้านราชวิถี เด็กตั้งแต่ป. 1 ขึ้นไป จะต้องช่วยดูแลน้อง ทำงานบ้าน รับผิดชอบของของตัวเอง มีวินัย หรือแม้แต่ฝึกอาชีพ เช่น ทำขนม ปลูกผัก ฯลฯ เพื่อให้เด็กรู้สึกพึ่งตัวเองได้และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

 

อยู่รวมกันเป็นร้อยๆ ทำยังไงให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง

ตอนแรกๆ ที่เราทำงาน เด็กไม่มีของส่วนตัวเลย เสื้อผ้าก็ใส่รวมหมด เราก็เข้าไปทำงานกับเด็ก เช่น ทุกคนต้องมีสัญลักษณ์ประจำตัว สัญลักษณ์นี้จะเขียนที่รองเท้า ที่ของใช้ของเขา เวลาเขาระบายสีส่งงาน ก็จะมีสัญลักษณ์ประจำตัว เพื่อให้รู้ว่าตัวเขาเองมีเอกลักษณ์ และต้องรู้จักดูแลรักษาเอกลักษณ์นั้น

ถึงตอนนี้บางที่ เสื้อผ้าของเด็กก็ยังคงเป็นเสื้อผ้าที่ใช้ร่วมกัน เนื่องจากเด็กมีจำนวนเยอะและมีเจ้าหน้าที่น้อย การทำแบบนี้ทำให้เด็กไม่สามารถแยกได้ว่า ขอบเขตของของส่วนตัว และของคนอื่นคืออะไร ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องในเรื่องการรักษาของของตัวเองด้วย เพราะเขาไม่เคยมีของของตัวเอง ไม่เคยต้องฝึก ไม่เคยต้องดูแล

เด็กบางคนเมื่อได้ครอบครัวอุปถัมภ์ ไปโรงเรียนวันแรกก็ขี่จักรยานของคนอื่นกลับมา เพราะเขาไม่เข้าใจ เขาไม่ได้ขโมยและเคยใช้ได้หมดทุกอย่าง ไปจับไก่บ้านนั้นบ้านนี้ สนุกสนาน วุ่นไปหมดทั้งหมู่บ้าน

เด็กๆ มีสิทธิตัดสินใจในเนื้อตัวร่างกายตัวเองแค่ไหน

ก็มีกรอบเยอะ ยิ่งถ้าตอนเล็กๆ ก็ไม่มีสิทธิเลย โตมาหน่อยก็มีกรอบโรงเรียนเหมือนเด็กบ้านทั่วไป

เขาชอบกิจกรรมแบบไหน

เด็กเขาถูกทำให้ชอบแบบที่เป็นอยู่ คือมีรางวัล มีขนมมาจูงใจ

ฝึกทักษะการใช้ชีวิตของเด็กยังไง

เด็กเล็กเริ่มด้วยการให้เขาได้เลือกเสื้อผ้าใส่เอง พี่เลี้ยงอาจแนะได้ว่า ถ้าใส่กางเกงปั่นจักรยานหกล้มจะไม่เจ็บ

ปัจจุบัน มีความพยายามผลักดันให้เด็กที่บ้านราชวิถีมีตู้เสื้อผ้าของตัวเอง เก็บของของตัวเอง ซักเสื้อผ้า รีดผ้าเอง เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของและดูแลรักษาของใช้ของตัวเอง

มีครั้งหนึ่งให้เด็กๆ ทำกิจกรรม ‘วันซื้อขนม’ มีร้านขนม 6 ร้านแต่มีเหรียญแค่ 3 เหรียญ เด็กต้องเลือกเพื่อสร้างทักษะการตัดสินใจให้เขา ช่วงแรกจะมีเด็กที่ใช้เหรียญหมดไปแล้ว 3 เหรียญ พอถึงร้านที่ 4 แล้วก็นั่งร้องไห้ เพราะเขาไม่เคยตัดสินใจ พอครั้งหลังเขาก็รู้ว่า จะต้องเดินดูก่อนว่าอยากกินอะไรมากที่สุด ต้องคิด ต้องค้นหา ซึ่งเราต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เขา

เท่าที่เห็นเวลาไปสถานสงเคราะห์ เด็กๆ ก็ดูพึ่งตัวเองได้ แถมดูแก่นแก้วมาก ทำไมเด็กที่สถานสงเคราะห์ถึงเปรี้ยวจังเลย

อาจเป็นเพราะเขามีชีวิตที่อยู่ในกรอบ กฎเกณฑ์เยอะ ต้องทำอะไรพร้อมกันหมด คนข้างนอกถึงแม้ต้องไปโรงเรียน ก็ยังมีชีวิตที่ยืดหยุ่น กำหนดได้ อยากกินข้าวตอนนี้ ไม่อยากกินตอนนี้ แต่เด็กที่นั่น ชีวิตต้องทำอะไรตลอดเวลา จะอยู่คนเดียวในห้องก็อยู่ไม่ได้ มีอะไรก็ต้องกิน กดดันพอสมควรโดยไม่รู้ตัว

หลายคนเรียนจบ ก็ออกไป บางคนเรียนไม่ได้ก็ฝึกอาชีพ เสริมสวย ตัดเย็บ ปลูกผัก และบ้างก็กลับไปอยู่กับครอบครัว

เจ้าหน้าที่จัดการเรื่องเหล่านี้ยังไง

เจ้าหน้าที่ที่อยู่บ้านเด็กพิการจะต้องใจรัก เพราะงานที่นี่หนักกว่าบ้านเด็กทั่วไป อีกทั้งต้องคอยทำกายภาพให้เด็ก เพื่อให้อาการไม่แย่ลง แต่เพราะมีคนน้อย ปัจจุบันการกายภาพก็ทำได้ไม่ทั่วถึง

เมื่อก่อนตอนอยู่บ้านเด็กอ่อน เด็กบางคนโตขึ้นมาแล้วถึงรู้ว่าพิการ เราไม่อยากให้ส่งเขาไปบ้านเด็กพิการ เพราะตอนเขาอยู่ที่นี่พี่เลี้ยงมีเวลาดูแลเขา บางครั้งเขาเห็นเพื่อนเดิน เขาก็พยายามเดิน เจ้าหน้าที่เองก้ต้องเรียนรู้ เด็กเองก็มีความสุขมากที่ได้อยู่กับเพื่อน ถ้าไปอยู่กับเด็กพิการด้วยกันก็อาจจะนอนทั้งวัน  ทั้งไม่มีตัวแบบสำหรับเขาและไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะดูเแล

โดยทั่วไปมีการสอนเด็กๆ เรื่องเพศไหม

ไม่ทั่วถึง พี่เลี้ยง ครู นักสังคมสงเคราะห์เองมีจำนวนน้อย และไม่มีเวลาทำงานเจาะลึกกับเด็ก ทุกคนทำงานหนักอีกทั้งขาดทักษะในเรื่องเหล่านี้ ชีวิตของเด็กค่อนข้างต่างจากเด็กบ้าน ไม่ค่อยรู้ข่าวสารความเป็นไปของโลก อยู่ก็อยู่รวมกัน ดูทีวีก็ต้องดูรายการเดียวกัน  อย่างในบ้านเด็กพิการซึ่งอาจจะต้องมีคนดูแลตลอดเวลา เด็กก็ยากที่จะมีชีวิตส่วนตัว และเวลาของการติดตามข่าวสาร คนข้างนอกถึงเราไม่ได้ดูข่าว แต่เราก็ยังมีการสื่อสารพูดคุยกับคนอื่น ชีวิตในสถานสงเคราะห์ไม่ค่อยมีเรื่องพวกนี้

จริงๆ แล้ว สถานการณ์เรื่องพวกนี้ แม้แต่ในโรงเรียนเด็กทั่วไปก็ไม่ค่อยได้เรียนอย่างเข้าใจนัก

ในกรณีเด็กพิการวัยรุ่น แม้แต่พ่อแม่เองก็มักตกใจว่า จะจัดการกับเรื่องทางเพศของลูกอย่างไร เช่น การช่วยตัวเองของเด็กผู้ชาย พ่อแม่ไม่เข้าใจว่าเด็กมีความต้องการเหมือนคนทั่วไป เราต้องทำอย่างไร จึงต้องมีหลักสูตรเกี่ยวกับเรื่องเพศให้พ่อเเม่ เพื่อให้พวกเขาเข้าใจและปฏิบัติกับเด็กอย่างเหมาะสม ไม่ห้ามหรือไม่ตีเด็กบางทีเด็กที่เป็นซีพี (CP: Cerebral Palsy) กล้ามเนื้อนั้นจะหงิกเกร็ง และบางคนพูดไม่ได้ก็มีความอัดอั้นเพราะเขาสื่อสารไม่ได้ เราจะช่วยเด็กได้ยังไง

 

ไม่กล้ารัก ไม่กล้าสนิทสนมเพราะคนรักมักหายไปทีละคน สองคน

เนื่องจากสถานสงเคราะห์ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานราชการ ผู้อำนวยการ (หรือที่เด็กๆ เรียกแม่) ก็ต้องเปลี่ยนไปตามวาระ เด็กๆ มีความรู้สึกยังไง

เป็นปัญหาต่อการปรับตัวมาก ตอนแม่ย้ายทั้งเด็กและเจ้าหน้าที่ก็เสียใจ การแยกจากของเด็กในสถานสงเคราะห์นับว่าเป็นบาดแผลในจิตใจอย่างหนึ่งของเขา เขาถูกเปลี่ยนตลอดจนเฉยชากับการสร้างความสัมพันธ์ ไม่กล้าคาดหวังว่าจะรักคนนั้น คนนี้เพราะเดี๋ยวรักไปแล้วจะเสียใจ

แสดงว่า การมีครอบครัวถาวร เป็นผลดีกับเด็กมากที่สุด

กัญญา สาวพิการที่ถ่ายแบบชุดว่ายน้ำ ตอนเล็กๆ ถูกทิ้งที่ปากช่อง ทางโรงพยาบาลก็ผลัดกันเลี้ยงเขาไว้ จนเขา 2-3 ขวบ คนดูแลจึงต้องการหาครอบครัวให้กัญญา เธอจึงได้ครอบครัวบุญธรรมที่สหรัฐอเมริกา เมื่อไปถึงที่โน่น ทุกคนในหมู่บ้านรู้ว่าเธอจะมา ก็มีการติดป้ายแจ้งคนในหมู่บ้านว่า ต่อไปนี้จะมีคนใช้วีลแชร์มาอยู่ในหมู่บ้านเรา มีเจ้าหน้าที่รัฐมาถามว่า ต้องการอะไรบ้าง แม้จะค่อนข้างยากและต้องฝ่าฟันกับการเปลี่ยนคนเลี้ยง เปลี่ยนที่อยู่ ซ้ำยังต้องเรียนภาษาใหม่แต่เธอก็ผ่านมันมาได้

ครอบครัวแบบไหนที่มักรับบุตรบุญธรรม

ต่างชาติเยอะกว่า คนไทยเวลาขอเด็กจะเลือกเด็กน่ารัก เด็กปกติ เด็กพ่อแม่ไม่มีปัญหา เพราะคนไทยเชื่อเรื่องกรรมพันธุ์ว่า ถ้าพ่อแม่ไม่ดีเด็กจะไม่ดี โดยไม่มองการเลี้ยงดู

บ้านเราหากขอเด็กพิการไปเลี้ยง ค่าใช้จ่ายก็จะค่อนข้างเยอะเพราะไม่มีอะไรสนับสนุนจากรัฐเลย

ก่อนรับ เราจะถามเขาว่า รับเด็กประเภทไหนได้บ้างแบบกว้างๆ เพศ ผิว ตัวเล็กตัวใหญ่ ฯลฯ ทั้งนี้การจัดเด็กก็ต้องจัดให้สอดคล้องกับสมาชิกในครอบครัว มีครั้งหนึ่งที่ผู้อุปการะเป็นคนแคระ พอดีกับตอนนั้นมีเด็กเป็นโรคนี้กำลังหาครอบครัว เราก็ส่งให้ เด็กก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่แปลกแยก ไม่โดดเดี่ยว

เด็กอยากไปไหม

เด็กส่วนใหญ่อยากไป เพราะเขามีความหวังมากกว่าอยู่ในสถานสงเคราะห์ เขาอยากมีครอบครัว มีบ้าน ได้เรียน ถึงจะล้มเหลว ก็ยังดีกว่าไม่เคยมีอะไรเลย

ด้านตูน อายุ 39 ปี ซึ่งพิการด้วยโรคโปลิโอที่ขาทั้งสองข้าง เธออยู่ที่สถานสงเคราะห์ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ จนกระทั่งเรียนจบ แม้เธอจะมีครอบครัว แต่ปัญหาด้านการเรียนเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เธอมาอยู่ที่นี่ เราสัมภาษณ์เธอในฐานะของผู้ที่เคยมีประสบการณ์วันเด็กกว่า 9 ปีในสถานสงเคราะห์

เท่าที่จำได้ วันเด็กในสถานสงเคราะห์มีกิจกรรมอะไรบ้าง

ก็มีคนมาจัดกิจกรรมให้ มีจัดการแสดง ฉายหนัง ตอนเด็กๆ จะชอบดูหนังและซื้อของในงานออกร้าน เพราะเด็กจะได้เลือกซื้อของ ได้เลือกว่าจะกินอะไรดี

ชอบอะไรมากที่สุด

เขาจัดอะไรก็ชอบหมด นึกไม่ออกว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร แต่บางทีถ้ามีของเยอะเกินไปอยู่แล้ว เช่น ของกิน แล้วยังต้องมาร่วมกิจกรรมอีกก็จะไม่ค่อยอยากออกมาร่วมกิจกรรม

เวลาคนให้ของ เขาบอกให้ทำยังไง

เวลาคนมาแจกของ ก็จะเดินแจกตามโต๊ะ เราก็ต้อง สวัสดี กล่าวขอบคุณ ตอนเด็กไม่ได้รู้สึกอะไร ด้วยความเป็นเด็กก็ทำตามเขา พอโตมาเราก็รู้สึกว่านี่เป็นเรื่องปกติ แต่คนที่เขามองเราอาจมองแบบสงสารมากกว่าปกติ ตัวอย่างเช่น คนอื่นร้องเพลงขอบคุณก็อาจจะรู้สึกอีกแบบ แต่เราร้องก็รู้สึกสงสารไปอีกแบบ

บางทีคนในสังคมก็มองว่าเป็นเรื่องการทำบุญเป็นเรื่องปกติ ตอนนั้นไม่รู้สึกอะไรด้วยความเป็นเด็ก แต่ถ้าตอนนี้เราอยู่ในอีกสถานะหนึ่ง มีงานทำ เลี้ยงตัวเองได้ เราก็ไม่ต้องการอะไรแบบนั้นแล้ว ถ้ามาทำแบบนั้นเราก็ไม่รับ

ต้องการให้คนอื่นมองยังไง

เราอยากเปลี่ยนภาพที่ทุกคนมองเราแบบสองเท่าซะ การทำอะไรที่ทำให้เขารู้สึกว่า น่าสงสารก็อยากให้ลด ภาพที่ต้องไปร้องเพลงก็อาจจะไม่ต้อง เหลือแค่คำขอบคุณธรรมดาเวลาเขาให้ของ เหมือนเป็นการช่วยเหลือกัน แต่ถ้าต้องมีตัวแทนออกไปกล่าวขอบคุณ เพื่อทำให้รู้สึกสงสารเพิ่มมากขึ้นก็คงต้องลดลง

 

หมายเหตุ- มีการแก้ไขข้อมูลเมื่อวันที่่ 15 ม.ค.2560 เวลา 22.30 น.