Skip to main content

"..ถึงแนวคิด IL จะไม่ประสบความสำเร็จมากนักในเชิงปริมาณ แต่ในเชิงคุณภาพแล้ว ถือว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้คนพิการสามารถลุกขึ้นมาหยัดยืนได้อีกครั้งในฐานะมนุษย์"


ภาพจากเว็บไซต์ BlueRollingDot

ที่ผ่านมีแนวคิดหนึ่งที่ถูกพูดถึงในสังคม คือการดำรงชีวิตชีวิตอิสระ หรือ Independent Living (IL) ซึ่งเน้นการพึงตัวเองมากกว่าการจะรอคอยบริการจากสิ่งที่รัฐจัดหามาให้

“เราทำงานในลักษณะ Support Group ด้วยการเอาคนพิการมาล้อมวงพูดคุยกัน โดยหัวข้อจะมีตั้งแต่การเสริมสร้างกำลังใจ การปรับทัศนคติที่มีต่อความพิการ เรายังต้องทำให้เขามีความคิด ความฝัน มีการชวนคุยถึงเรื่องเป้าหมายในอนาคต เขาอยากทำงาน อยากมีรายได้ เราก็โยงว่าถ้าจะเป็นแบบนั้น แต่คุณยังเป็นแผลกดทับ นั่งไม่ได้ ต้องอยู่บนเตียงตลอดเวลา มันก็ไม่มีทางที่จะมีชีวิตอิสระ คุณก็จะถูกฝังอยู่บนเตียงบนห้อง ดังนั้นการดูแลสุขภาพตัวเองก็เป็นส่วนสำคัญ แต่ต้องยอมรับว่า การทำ IL ทำได้จำนวนจำกัด เหตุผลหนึ่งเพราะเราเน้นความพิการรุนแรง กลุ่มที่ด้อยโอกาสหรือมีทัศนคติที่ไม่ดีกับตัวเองมากๆ ยังปิดกั้นตัวเอง ซึ่งพอทำกับกลุ่มยาก การจะจัดกิจกรรมพูดคุยหรือสนับสนุน ให้กำลังใจก็เลยทำได้ยาก แล้วพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนหนึ่งก็ไม่ค่อยยอมปล่อยลูกหลานออกมา กลัวจะเป็นภาระ กลัวจะมีปัญหาด้านสุขภาพตามมา เป็นแผล กลับมาเป็นไข้ เพราะฉะนั้นปีๆ หนึ่งเราเลยทำได้ประมาณ 20 กว่าคนเท่านั้นเอง” ธีรยุทธ สุคนธวิท กล่าวในฐานะคนที่ทำงานเรื่อง IL มายาวนาน

แต่ถึงแนวคิดนี้จะไม่ประสบความสำเร็จมากนักในเชิงปริมาณ แต่ในเชิงคุณภาพแล้ว ถือว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้คนพิการสามารถลุกขึ้นมาหยัดยืนได้อีกครั้งในฐานะมนุษย์ โดยวิธีการทำงาน นอกจากจะเน้นการนั่งคุยแลกเปลี่ยนความฝันและความคิดแล้ว ต้องทำให้คนพิการเกิดความไว้วางใจก่อน ผ่านการพบปะพูดคุย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะคนพิการและคนรอบข้างหลายคนยังมีทัศนคติที่ไม่ดีกับความพิการ ทีมงานจึงใช้วิธีการสร้างโอกาสทดลองเพื่อให้ทุกคนได้เห็นว่าคนพิการคนนั้นทำอะไรได้หรือไม่ได้

ขณะเดียวกันก็จะนำต้นแบบคนพิการที่มีสภาพใกล้เคียงหรือหนักกว่ากลุ่มเป้าหมาย แต่สามารถดำรงชีวิตอิสระได้มาพูดคุยเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งพอคนพิการเริ่มเห็นก็จะเริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง ตรงนี้คนทำงานก็จะใช้กระบวนการผู้ให้คำปรึกษาเข้าไปพูดคุย และเริ่มชักชวนให้คนพิการออกจากบ้านมาร่วมกิจกรรมกลุ่มกับเพื่อนๆ คนพิการ คนพิการก็จะเริ่มเปิดตัวเอง เปิดมุมมองและความกล้าพอที่ก้าวสู่สังคม ซึ่งระยะเวลาตรงนี้อาจจะยาวนาน 3-6 เดือนหรือมากกว่านั้น แล้วแต่ความรุนแรงของปัญหา

“วิธีการสร้างเป้าหมายของชีวิตนั้น เราใช้วิธีโยนคำถามเข้าไปว่า คุณมีความฝันจะทำอะไรใน 3 เดือนจากนี้ไป แล้วก็ลองจัดโปรแกรมดูเพื่อเขาจะไปถึงความฝัน แต่ระหว่างทางผู้ให้คำปรึกษาก็จะช่วยพูด ช่วยคุย และตั้งคำถามกับเขาว่าจะเดินทางอย่างไร เงินทองจะหายังไง ให้เขาคิดตลอดเวลา คือเราไม่ได้สนับสนุนเขาทั้งหมด แต่ทำเฉพาะที่จำเป็น หลังจากนั้นเขาก็จะเริ่มทำตามโปรแกรมที่ออกแบบร่วมกัน และมีการสรุปความรู้สึกระหว่างทาง เช่นครึ่งทางแล้วเป็นอย่างไร จะไปถึงเป้าหมายร่วมกันอย่างไร ถ้าขาดความมั่นใจ หรือจะลดอะไรตรงนั้นต้องทำอย่างไร ซึ่งสุดท้ายเขาจะหารูปแบบการดำรงชีวิตชีวิตที่เหมาะสมด้วยตัวเองได้ อยากเรียนก็เรียนต่อ อยากทำงานก็หางานที่เหมาะสมทำ โดยมีการสอดแทรกเรื่องต่างๆ ลงไปด้วย เช่นถ้าคุณรักจะทำงานก็ต้องมีความรับผิดชอบ ต้องตรงต่อเวลา ถ้าจะตรงต่อเวลาก็ต้องมีสุขภาพที่ดีด้วย ไม่ใช่พอรับปากแล้วก็ป่วยไข้ ไม่สบาย”

ทั้งนี้ ธีรยุทธยังกล่าวเลยไปถึงกลุ่มคนพิการบางกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้ว่าน่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน เพราะถึงจะมีศักยภาพในการดูแลตัวเองมากกว่า แต่ก็ไม่ค่อยใส่ใจเท่าที่ควรเพราะมุ่งความสนใจไปที่เรื่องการทำมาหากินเท่านั้น

“ผมมีกรณีหนึ่งเป็นคนพิการนั่งมอเตอรไซน์ขายลอตเตอรี่ และด้วยความเป็นอัมพาตมีแผลกดทับเยอะ ฝนตกปอยๆ ก็ยังขี่อยู่ เราก็ถามว่าไม่พักผ่อนเหรอ ไม่ดูแลสุขภาพบ้างเหรอ เขาก็ตอบว่าไม่สนใจเพราะไม่เจ็บ กลัวอดมากกว่า คือเขาสนใจแต่ปัญหาปากท้องแล้วละเลยปัญหาสุขภาพ สุดท้ายก็เสียชีวิตเพราะติดเชื่อในกระแสเลือดจากแผลกดทับ ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาของคนพิการบางคนที่เริ่มช่วยตัวเองได้ เริ่มทำมาหากินได้ เริ่มมีรายได้ ก็จะเริ่มไม่เอาเพื่อนแล้ว จะเอาเงินอย่างเดียว เพราะเราชวนมาร่วมกิจกรรมเขาก็จะไม่ว่าง ติดขายลอตเตอรี่ ซึ่งก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งใหญ่ เพราะเมื่อเราช่วยให้หลุดจากเตียงได้ ก็ไปติดหวย ติดสังคม และติดกับเรื่องเงินทอง เพราะฉะนั้นผมคิดว่าต้องมีการรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่อาจจะใช้การประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง เหมือนกับคนทั่วไปให้เขาตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพมากกว่านี้”

คนพิการเล่นบาสเกตบอล
ภาพจากเว็บไซต์ BlueRollingDot

 

อ่านตอนอื่นได้ที่นี่
| 1: จากรักษาสู่การฟื้นฟู
| 2: ความเหลื่อมล้ำของหลักประกัน
| 3: ความพิการที่มองไม่เห็น
| 4: กองทุนคนพิการ เพื่อใคร?
| 5: ความพิการเรื่องเล็ก ในโครงสร้างใหญ่
| 6: เมื่อประเทศไทยเจริญไม่เท่ากัน
| 7: การดำรงชีวิตโดยไม่พึ่งพิง
| 8: สาธารณสุขเชิงรุก
| 9: เวลาแห่งการบูรณาการ

 

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่
'ระบบบริการสุขภาพคนพิการ' โจทย์ใหญ่ของสังคม สู่มาตรฐานความเป็นธรรม