Skip to main content

"...จริงๆ แล้วคนที่ควรได้รับการฟื้นฟูมากที่สุด กลับได้รับการฟื้นฟูน้อยสุด เพราะเขามาไม่ได้ แต่คนที่พอเดินได้กลับเข้ามาฟื้นฟู นี่เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามสำหรับมุมมองที่เราเห็นในกระบวนการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยหรือบุคคลพิการ"


ภาพจากเว็บไซต์ BlueRollingDot

ไม่ใช่แค่คนพิการเท่านั้นที่อาจจะต้องช่วยเหลือตัวเอง ในยุคที่ระบบโครงสร้างส่วนบนยังมีปัญหามากมาย โครงสร้างระดับล่างโดยเฉพาะคนทำงานในพื้นที่ อย่างหน่วยบริการสาธารณสุขก็อาจจะต้องปรับตัวหรือหาช่องทางในการช่วยเหลือผู้คน แม้เส้นทางนี้จะไม่รับประกันความยั่งยืนก็ตาม

หนึ่งในโมเดลที่น่าสนใจและถูกพูดถึงมานานกว่า 7 ปีคือ ‘ทีมไม้เลื้อย’ แห่งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเริ่มจัดหน่วยบริการสุขภาพลงไปในพื้นที่ต่างๆ และดูแลปัญหาต่างๆ ของคนพิการ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพเท่านั้น หากแต่ยังขยายไปถึงสภาพแวดล้อม สภาพชุมชน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตในอนาคตของคนพิการอย่างมาก

ไพฑูรย์ ไชยนาเมือง หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ เล่าที่มาที่ไปของทีมไม้เลื้อยว่า ปัญหาอย่างหนึ่งของนักวิชาชีพไทยคือการถูกฝึกให้เรียนมาเฉพาะด้าน ทว่าปัญหาของคนไข้กลับมีรอบด้านและมีหลายมิติที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วย เมื่อ 2 สิ่งย้อนแย้งกันจึงทำให้บริการบางอย่างก็ไม่ตอบโจทย์ เช่นโรงพยาบาลฝึกออกกำลังกายให้แข็งแรงอยู่ที่โรงพยาบาล แต่พอกลับบ้านไปไม่มีอะไรกิน ซึ่งตรงนี้เป็นจุดอ่อนของการฟื้นฟู ที่สำคัญปัจจัยที่เอื้อต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขนั้นมีน้อยมาก เช่นมีคนพิการในพื้นที่มากถึง 2,000 ราย แต่เข้ามารับบริการเพียงแค่หลักร้อยราย คำถามคืออีกพันกว่ารายหายไปไหน คำตอบที่ง่ายสุดคือ คนที่มาได้เป็นคนมีเงิน มีคนพามา มียานพาหนะ มีปัจจัยที่เอื้อต่อการฟื้นฟูที่โรงพยาบาลได้ ตรงกันข้ามกับพันกว่ารายที่ลำพังแค่กินอาหารให้ครบยังทำไม่ได้ หรือจะมาโรงพยาบาลทีก็ต้องเหมารถมา ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ทำให้ทีมงานต้องกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะเหมาะสม

“เราไปหาเขาเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า ซึ่งทำให้เราสามารถมองเห็นชีวิตเขาได้มากกว่า ได้เห็นความลำบากของเขา ได้เห็นชีวิตในบ้านจริงๆ สิ่งเหล่านี้ถ้าเป็นในโรงพยาบาลเราไม่มีทางเห็นหรอก เพราะที่โรงพยาบาล หมอหรือบุคลากรทางการแพทย์จะมีอำนาจสูงสุด แต่ถ้าเราไปหาเขา เขาก็ยังต่อรองได้บ้าง เช่นขอฝึกแบบนี้ไหม คืออำนาจการตัดสินใจกลับกัน ตรงนี้ทำให้เรามองสะท้อนถึงกระบวนการดูแลฟื้นฟูว่าจริงๆ แล้วคนที่ควรได้รับการฟื้นฟูมากที่สุด กลับได้รับการฟื้นฟูน้อยสุด เพราะเขามาไม่ได้ แต่คนที่พอเดินได้กลับเข้ามาฟื้นฟู นี่เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามสำหรับมุมมองที่เราเห็นในกระบวนการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยหรือบุคคลพิการ

“ที่สำคัญเวลาเกิดคนพิการ มันสะท้อนกลับไปที่ครอบครัวทันที โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจในครัวเรือน ซึ่งเห็นได้ชัดในกลุ่มเด็กสมองพิการ ร้อยทั้งร้อยแม่หรือยายจะต้องหยุดงานทุกอย่างเพื่อดูแลเด็กคนนั้น แทบจะไม่มีอาชีพอื่นเลย และยิ่งเด็กสมองพิการโตขึ้นภาระก็ยิ่งมากขึ้น และเด็กกลุ่มนี้ก็มีโอกาสจะถูกสังคมทำร้ายมากขึ้น ตั้งแต่คำพูดหรือร้ายแรงสุดคือโดนข่มขืน กลายเป็นปัญหาสังคม เป็นทุกข์ซ้ำซ้อน ทีมงานเราถึงไม่ใช่คำว่าฟื้นฟูสมรรถภาพ เพราะมันไม่พอแต่เราต้องฟื้นฟูชีวิต เราเยี่ยมแค่คนไข้ไม่ได้ แต่ต้องเยี่ยมทั้งครอบครัว เพราะบางทีกว่าเขาจะเข้าถึงคำแนะนำที่ถูกได้ก็ยากมาก บางคนอาการไม่เท่าไหร่ก็ปล่อยให้ตัวเองป่วยหนัก เช่นบางคนเป็นกระดูกทับเส้นแต่ปล่อยจนเป็นอัมพาตครึ่งท่อน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้แค่อาการชา รักษาให้หายขาดได้ด้วยซ้ำ นี่ก็เป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งของชีวิต ซึ่งรวมไปถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมด้วย อย่างผู้สูงอายุยิ่งเห็นชัด เพราะเขาจะกลัวเป็นภาระของคนดูแล บางคนก็ยอมทำในสิ่งที่คาดไม่ถึง เช่นทำให้ตัวเองตายให้เร็วที่สุด เพราะฉะนั้นโจทย์หนึ่งที่ต้องทำให้ได้คือทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า”

การใช้ทุกข์หรือปัญหาของคนไข้เป็นตัวตั้งเป็นหนึ่งในทฤษฎีที่ไพฑูรย์ย้ำเสมอ โดยเฉพาะการสร้างทีมงานให้มีความแข็งแกร่ง ซึ่งการจะเห็นทุกข์ได้ก็ต้องผ่านการสัมผัสก่อน ทีมงานจะต้องลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้าน ไปพูดคุย ไปรับทราบความทุกข์ของคนไข้ที่ขาดแคลน ซึ่งพอเห็นโจทย์ร่วมกันทีมงานก็จะค่อยซึมซับความรู้สึกอยากช่วยเหลือหรืออยากช่วยหาหนทางที่จะทำให้เขาสามารถดำเนินชีวิตได้สะดวกขึ้น

เช่นเดียวกับ การใช้ระบบส่งต่อจากพี่สอนน้องก็สำคัญ โดยรุ่นพี่จะปลูกฝังให้รุ่นน้องซึมซับเรื่องนี้ ด้วยการชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่ทำให้ชาวบ้านทุกข์ พร้อมกับแนะแนววิธีการแก้ไข เช่นการใช้หลักธรรมเข้ามาช่วยเสริม

“เราทำงานมา 8 รุ่นแล้ว ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ซึ่งก่อนไปเราจะมีการคุยกันก่อน เตรียมใจ เตรียมทีมงาน พอกลับมาก็มาคุยกันอีกรอบ ถึงแนวทางที่จะดูแลกันต่อ วันนี้เราไปเยี่ยมที่นี่ เราเห็นทุกข์อะไรไหมที่จะเข้าไปช่วยเหลือเขา เช่น คนไข้คนนี้ต้องอยู่บ้านคนเดียว บ้านนี้ขาดยานะ หรือบางคนมีปัญหากับการแกะซองยา เพราะร่างกายใช้ได้แค่ซีกเดียว เอาทุกข์มากองเอาไว้ แต่อย่าเก็บทุกข์กลับบ้าน แล้วเวลาไปเยี่ยมพื้นที่ อุปกรณ์ไหนที่จำเป็นต่อการฝึกเราให้เขาไปด้วย รถเข็น วอล์กเกอร์ ไม้ค้ำยัน ซัพพอร์ต ชุดทำแผล เราพกเต็มกระเป๋า นอกจากยาเฉพาะทาง ถ้าเราไปเจอเราค่อยเบิกไปให้ แต่อุปกรณ์อื่นมีในรถหมดเลย ฝึกปุ๊บให้เลยแล้วมาเคลียร์ทีหลัง คือเราเน้นหลักทำทันที ซึ่งที่เราทำแบบนี้ได้เพราะเราสั่งสมประสบการณ์กันมาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว เราเลยรู้กระบวนการหลายอย่างที่ต้องปรับ เพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้น เข้าถึงได้มากขึ้น ตอบโจทย์ได้มากขึ้น และคนไข้เองก็ไม่ต้องรอเพราะเขาต้องเจอเราทุกอาทิตย์อยู่แล้ว”

ส่วนข้อจำกัดในเรื่องความรู้ความสามารถของบุคลากร ไพฑูรย์บอกว่า การสร้างเครือข่ายเป็นสิ่งจำเป็น ในแต่ละพื้นที่จะมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของกลุ่มรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ คอยประสานงานระหว่างคนพิการกับภาคส่วนต่างๆ เช่นถ้าต้องการปรับสภาพบ้าน เจ้าหน้าที่คนนั้นก็จะต้องประสานงานกับผู้นำท้องถิ่นเพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือ หรือต้องการเข้าเรียน เจ้าหน้าที่ก็อาจจะต้องเป็นคนช่วยติดต่อให้

“การทำงานสมัยเก่า เวลาลงไปเยี่ยมทุกคนก็จะทำงานตามวิชาชีพของตัวเอง คนนี้เข้ามาตรวจ ตรวจเสร็จก็ถอยออกมา ให้คนต่อมาตรวจอีกทีเข้าไปแทน เวลาจ่ายยาก็จ่ายกันคนละถุง แต่มิติใหม่เราให้คนๆ หนึ่งเป็นคนดูแลเลย เขาจะรู้ว่าจะจัดยาอย่างไร ทุกข์จากการกินยามีไหม เช่นคนไข้กินยายาก เราก็จัดยาเป็นชั้นให้เลย ไม่ต้องมานั่งแกะ นั่งอ่าน เพราะถ้าเป็นแบบเก่ากินไม่ได้หรอก หรือทุกข์จากการฟื้นฟูเราก็หาอุปกรณ์ให้ เพื่อเขาจะได้มีออกมาใช้ชีวิตได้ ออกมาปลูกผัก ทำอาชีพนอกบ้าน ปรับสภาพบ้านให้ ทำให้ตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง มากกว่าจะแค่เดินเข้ามารักษาแล้วกลับไป”

ทว่าการลงพื้นที่ในเชิงรุกเช่นนี้ก็มีอุปสรรคอยู่บ้าง โดยเฉพาะระเบียบราชการ ตั้งแต่จำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีคนสนใจค่อนข้างมากแต่กลับไม่มีการบรรจุเลย รวมไปถึงปัจจัยที่ไม่เอื้อ เช่นไม่มีรถเยี่ยมบ้าน ขาดสวัสดิการในการดูแลคนที่จะลงพื้นที่ หรือแม้แต่ความเข้าใจของคนในชุมชนบางแห่งที่ยังไม่เห็นความจำเป็นของการทำงานร่วมกัน เพราะยังไม่เห็นความสำคัญของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเพราะมองว่าไม่มีผลต่อคะแนนเสียง

“ปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดกระบวนการเชิงรุกยังน้อย เช่นถ้าผู้อำนวยการที่ไม่ให้ความสำคัญเรื่องเชิงรุก ก็ทำไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นนโยบายระดับบนต้องชัด เพราะคนพิการที่ยังไม่เข้าถึงบริการมีมาก แต่ผู้ใหญ่จะเอาข้อมูลต้องไปสะท้อนอะไรต้องทบทวนกันอีกเยอะเลย หรือแม้แต่การตั้งศูนย์เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานร่วมกัน ตรงนี้ก็ยังไม่ชัด เพราะเอาเข้าจริงนิยามคำว่า ‘ส่วนร่วม’ เองก็ยังไม่ชัด อย่างเป็นเกียรติมาเปิดป้ายแบบนี้คงไม่ใช่ หรือแม้กระทั่งระดับจังหวัด อบจ. สสจ. อบต. เวลาไปเยี่ยมคนพิการก็ไปเยี่ยมกันคนละรอบ ทั้งที่เงินก็ออกจากก้อนเดียวกัน แต่ต่างคนต่างทำ เวลาจัดมารวมกัน แค่ชื่อก็ผิดกันแล้ว สุดท้ายทะเลาะกันเรื่องชื่อ ทั้งๆ ที่ทุกคนควรจะหันหน้ามาพูดคุยกัน เพราะทุกคนอยากแอ็กชัน การทำงานเลยไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”

ถึงจะมีอุปสรรคไปบ้าง แต่ทีมไม้เลื้อยก็ยังถือเป็นต้นแบบที่หลายๆ พื้นที่เดินทางเข้ามาขอดูงานและศึกษาแนวทางการทำงานเพื่อกลับไปปรับปรุงในพื้นที่ของตัวเอง  อย่างไรก็ดีไพฑูรย์บอกว่ากำลังมีแนวคิดจะสร้างโมเดลขึ้นใหม่ ซึ่งใช้บุคลากรน้อยกว่า ชื่อว่า ‘ศูนย์โฮมสุข’ ซึ่งเน้นสร้างแนวร่วมจากภาคชุมชนเป็นหลัก

โดยชุมชนจะทำหน้าที่ประเมินคนไข้แล้วส่งต่อไปยังศูนย์โฮมสุข ซึ่งทำหน้าที่รับฟื้นฟู เยี่ยมบ้านหรือกระบวนการใดๆ จนคนไข้ดีขึ้น โดยอาจจะมีกำหนดอัตราค่าบริการอยู่ที่ 50 บาทต่อคนต่อกรณี ซึ่งเงินตรงนี้ สำนักงานหลักประกันสังคมแห่งชาติควรจะเป็นผู้รับผิดชอบไป ขณะที่อาสาสมัครก็มีสิทธิ์ที่จะเบิกจ่ายงบประมาณในศูนย์ได้ โดยมีข้อกำหนดว่าศูนย์นั้นจะต้องผ่านการประเมินมาตรฐานของนักวิชาชีพ

“ถ้าที่อื่นจะทำโมเดลนี้ ต้องไม่เน้นที่ปริมาณ แต่ทำไปที่ละกรณีแล้วทำให้เขาดีขึ้นทีละรายๆ จากน้อยไปมาก ชุมชนก็จะเริ่มเห็นว่าคนไข้ดีขึ้นจริงๆ ไม่ใช่แค่ลงไปเยี่ยมบ้านเฉยๆ หรือเน้นการเยี่ยมให้ครบ แต่เราทำทีละราย ทุ่มกำลังลงไปจนแน่ใจว่าเขาดีขึ้น เพื่อสะท้อนคุณภาพการรักษาของเรา” ไพฑูรย์กล่าวสรุปการทำงานในฝัน

 

อ่านตอนอื่นได้ที่นี่
| 1: จากรักษาสู่การฟื้นฟู
| 2: ความเหลื่อมล้ำของหลักประกัน
| 3: ความพิการที่มองไม่เห็น
| 4: กองทุนคนพิการ เพื่อใคร?
| 5: ความพิการเรื่องเล็ก ในโครงสร้างใหญ่
| 6: เมื่อประเทศไทยเจริญไม่เท่ากัน
| 7: การดำรงชีวิตโดยไม่พึ่งพิง
| 8: สาธารณสุขเชิงรุก
| 9: เวลาแห่งการบูรณาการ

 

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่
'ระบบบริการสุขภาพคนพิการ' โจทย์ใหญ่ของสังคม สู่มาตรฐานความเป็นธรรม