Skip to main content


ภาพจากเว็บไซต์ BlueRollingDot

ต้องยอมรับว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยพูดถึงการบูรณาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนางานคนพิการเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ และสามารถทำงานอย่างไหลเลื่อนไม่มีจุดสะดุด แต่ดูเหมือนเรื่องนี้จะเป็นวัฏจักรซ้ำซากที่พูดถึงแต่ไม่เคยเกิดขึ้นได้จริง แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีความพยายามเลย

อย่างเช่น การประชุมสมัชชาแห่งชาติ ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนธันวาคม 2553 โดยมีการรวบรวมภาคีองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรคนพิการ และหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ เข้ามาประชุมหารือ ซึ่งประเด็นหลักของการสนทนาคือ ‘ความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการ’ ก่อนที่จะมีข้อสรุปออกมาเป็นมติ 6 ข้อ

ข้อ 1 ขอให้คณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ ตระหนักถึงความสำคัญของความแตกต่างเหลื่อมล้ำของสิทธิประโยชน์ และกลไกการจ่ายค่าบริการในการดูแลสุขภาพคนพิการของระบบหลักประกันสุขภาพต่างๆ ที่ทำให้คนพิการไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ตามความจำเป็น ฯลฯ

ข้อ 2 ขอให้คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ พิจารณามอบหมายให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมฯ คนพิการประจำจังหวัด รวมถึงคณะอนุกรรมการส่งเสริมฯ คนพิการกรุงเทพฯ บูรณาการประเด็นการพัฒนาสุขภาพคนพิการเข้ากับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำจังหวัด โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ และให้บรรจุในแผนพัฒนายุทธศาสตร์ระดับจังหวัดโดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รวมทั้งพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อการลงทุนและดำเนินการพัฒนาสุขภาพคนพิการระดับจังหวัดอย่างเป็นระบบ

ข้อ 3 ขอให้สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ และสถาบันการศึกษา ดำเนินการพัฒนาศักยภาพการวิจัยเพื่อสร้างความรู้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้มากขึ้น

ข้อ 4 ขอให้กระทรวงสาธารณสุข จัดทำแผนพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทางการแพทย์เพื่อพัฒนาศักยภาพของสถานบริการในทุกสังกัด เร่งผลิตและกระจายกำลังคนอย่างเหมาะสม

ข้อ 5 ขอให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา พิจารณากำหนดตัวชี้วัดระดับกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี

ข้อ 6 ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสุขภาพคนพิการเพื่อทำหน้าที่เชื่อมประสานหน่วยงานและองค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยคนพิการ เพื่อขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนพิการไปสู่การปฏิบัติของฝ่ายต่างๆ อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง รวมถึงการสนับสนุนการสร้างและจัดการความรู้ที่เกี่ยวข้อง

ระยะเวลาเกือบ 4 ปีมานี้ พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ มองว่ามติดังกล่าวได้ผลในเชิงรูปธรรมเป็นหลัก เช่นมีบริการอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการเกิดขึ้น ทว่าในเชิงระบบนั้นยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร เพราะยังขาดคนที่จะมองในภาพรวมว่าจุดอ่อนของระบบอยู่ตรงไหน ควรแก้อย่างไร ดังนั้น ถ้าต้องการจะพัฒนาเรื่องนี้ ก็ควรจะมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงวิชาการเสียก่อน เพราะทุกวันนี้การพัฒนาของวงการคนพิการมีลักษณะแบบทำตามเสียงเรียกร้องหรือกระแสสังคมที่เกิดขึ้นมาอย่างไม่เป็นระบบ เช่นคนพิการบ่นถึงเรื่องต่างๆ ว่าทำไมถึงไม่มีสิ่งนั้นสิ่งนี้ โดยไม่ได้ชี้ว่าปัญหาเชิงระบบอยู่ตรงไหน ซึ่งการศึกษาเหล่านี้ต้องใช้ทุนเยอะ แต่การจัดสรรงบประมาณกลับมีข้อจำกัด ด้วยเหตุนี้หน่วยงานที่เป็นแหล่งทุนการวิจัยต่างๆ ควรจะต้องทำงานร่วมกัน และหาจุดเชื่อมต่อกันให้เจอ เพื่อให้การถ่ายทอด การส่งต่อ และการจัดสรรองค์ความรู้ร่วมกัน 

นอกจากเครือข่ายจะมีความเคลื่อนไหวแล้ว ในส่วนของภาครัฐเองก็มีความพยายามจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ ผ่านคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ทว่า พญ.ดารณี สุวพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติกลับมองว่า กลไกนี้ไม่เคยทำงานได้จริง เพราะองคาพยพเยอะไป ทำให้เวลาประชุมแต่ละคนครั้งก็มักจะไม่ได้ข้อสรุปอะไรที่เป็นรูปธรรม ภายหลังศูนย์สิรินธรฯ จึงมาจัดเป็นคณะกรรมการชุดเล็ก โดยมีกรมการแพทย์เป็นเจ้าภาพ ผลิตแผนและแนวนโยบายการพัฒนาสุขภาพคนพิการออกมา โดยแผนนี้จะดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2559 ตามตัวชี้วัดที่กำหนดเอาไว้

แต่ทั้งนี้จะสำเร็จแค่ไหนก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าจะคุยกัน เพื่อทำให้งานที่แต่ละภาคส่วนนั้นเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะระหว่างกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งดูแลเรื่องนโยบายกับสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ดูเรื่องงบประมาณ ไม่เช่นสุดท้ายนโยบายก็จะไปทาง งบประมาณไปอีกทาง และสุดท้ายก็ปัญหาก็ไม่ได้รับการสะสางเสียที

“ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ อย่างแรกทุกฝ่ายต้องลดอคติลง หรือไม่ก็เป็นการสั่งการจากผู้บริหารสูงสุด โดยเอาปัญหาเป็นตัวตั้งว่าเราก็ทำมานานขนาดนี้แล้ว ทำไมปัญหาถึงยังอยู่ ที่สำคัญเราต้องรับความจริงให้ได้ว่า สถานการณ์เป็นแบบนี้แล้วเราจะยังยืนยันที่จะทำแบบเดิมต่อหรือไม่ บางทีเราอาจจะต้องมีเวทีเพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้พูด เพราะส่วนใหญ่คนพูดมีแต่ผู้บริหารแล้วก็ไปคิดเองเออเอง พอออกมาก็เลยบังคับเราทำ สุดท้ายก็จะเกิดความไม่เข้าใจ ล้มเหลว เบื่อท้อแท้กันไป ดังนั้นเวลาจะทำอะไร โดยเฉพาะเรื่องคนพิการก็ต้องทำแบบสหวิชาชีพ และทำแบบมีส่วนร่วม คือให้เกียรติเขาได้ร่วมคิดตั้งแต่แรก ไม่ใช่คุณนับไปถึง 10 จะให้เขานับตาม ต้องนับพร้อมๆ กัน นโยบายถึงจะเกิดได้” พญ.ดารณีกล่าวทิ้งท้าย

 

อ่านตอนอื่นได้ที่นี่
| 1: จากรักษาสู่การฟื้นฟู
| 2: ความเหลื่อมล้ำของหลักประกัน
| 3: ความพิการที่มองไม่เห็น
| 4: กองทุนคนพิการ เพื่อใคร?
| 5: ความพิการเรื่องเล็ก ในโครงสร้างใหญ่
| 6: เมื่อประเทศไทยเจริญไม่เท่ากัน
| 7: การดำรงชีวิตโดยไม่พึ่งพิง
| 8: สาธารณสุขเชิงรุก
| 9: เวลาแห่งการบูรณาการ

 

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่
'ระบบบริการสุขภาพคนพิการ' โจทย์ใหญ่ของสังคม สู่มาตรฐานความเป็นธรรม