Skip to main content

หลายครั้งที่คนพิการมักถูกมองเป็นตัวตลก หรือถูกทำท่าทางล้อเลียนให้เกิดความขบขัน หรือบางครั้งคนไม่พิการก็ทำท่าทางเลียนแบบความพิการเพื่อแสดงตลก แต่กลับกัน หากให้ถึงนักแสดงตลกที่เป็นคนพิการ ทำไมเราจึงนึกกันไม่ค่อยออก

เว็บไซต์ BlueRollingDot เล่าถึง ชายผู้ประสบความสำเร็จในวงการเดี่ยวไมโครโฟน ที่หลายคนอาจคุ้นชื่อ ‘นิค วูจิซิค’ ซึ่งพิการไร้แขนขาที่เดินสายพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมาแล้วทั่วโลก นิคสร้างปรากฏการณ์ที่ทำให้คนหลายล้านคนทั้งหลั่งน้ำตาและยิ้มได้ในเวลาเดียวกันด้วยการสวมกอดผู้ชมของเขาคนแล้วคนเล่า เขากลายเป็นหนึ่งในนักพูดเพื่อให้กำลังใจที่โด่งดังที่สุดในโลก

นิค วูจิซิค

แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากนี้ นิคแล้ว ในวงการนักพูดยังมีคนพิการที่โดดเด่นไม่แพ้กันอีกหลายคน และครั้งนี้จะขอยก 2 ยอดนักพูดที่มีเอกลักษณ์ในการพูดไม่เหมือนใคร เพราะไม่เน้นแนวให้กำลังใจ แต่เน้นใช้เรื่องตลก พร้อมสอดแทรกสาระที่แท้จริงของชีวิตคนพิการในสังคม

นักพูดพิการคนแรกที่อยากจะแนะนำให้รู้จัก เธอชื่อ ‘สเตลลา ยัง’ เธอเป็นหญิงพิการร่างเล็กชาวออสเตรเลีย ซึ่งหลายคนเรียกเธอว่า คนแคระ แถมเธอยังมีปัญหากระดูกไม่แข็งจนต้องรถเข็นตั้งแต่เด็กๆ แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคต่อกาสร้างรอยยิ้มให้โลกใบนี้แม้แต่น้อย

สเตลลา ยัง

นอกจากเป็นนักพูดแล้ว เธอยังเป็นบรรณาธิการของนิตยสารออนไลน์ และเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิคนพิการ สำหรับสาเหตุที่เธอออกมาแสดงบทบาทเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ เพราะช่วงที่เธออายุได้ 15 ปี สเตลลาถูกคนรอบข้างดูถูกว่าคงไม่มีปัญญาทำกิจกรรมใดๆ ในชีวิตได้ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เมื่อออกไปเที่ยวกับเพื่อน ไปดูหนัง หรือไปสมัครทำงาน Part-time มีเพื่อนบ้านคนหนึ่งเสนอให้พ่อแม่ของเธอหารางวัลมามอบให้แก่เธอ คำพูดนั้นเองที่ทำให้เธอรู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ รวมทั้งพยายามปลูกฝังคนในสังคมไม่ให้เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะกับคนที่มีความต่าง และตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมาเธอก็เริ่มหาเวทีออกไปตระเวนพูดตามโรงเรียน หน่วยงาน สมาคม องค์กรต่างๆ

ความพิเศษในการพูดของเธอก็คือ การสอดแทรกเรื่องตลกที่ได้เธอพบเจอในชีวิต เพื่อให้ผู้ฟังได้เห็นว่าคนพิการอย่างเธอต้องเจอกับอะไรมาบ้าง ทั้งความลำบาก การดูถูกเหยียดหยาม หรือการเลือกปฏิบัติบางอย่างที่อาจดูเหมือนเป็นเรื่องตลกร้าย แต่มันคือเรื่องจริง โดยสาเหตุที่เธอต้องเล่านั้น ไม่ใช่ว่าสเตลลาต้องการความเห็นใจแต่อย่างไร แต่เธอต้องการนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นเครื่องมือในการกระตุกต่อมความคิดของคนในสังคมมากกว่า โดยหวังว่ารอยยิ้มและเสียงหัวเราะเมื่อเธอปรากฏตัวจะค่อยๆ พังทลายกรอบที่สังคมตีไว้ให้คนพิการ

การปรากฏตัวครั้งล่าสุดของสเตตลา ก็คือในงานตลกนานาชาติที่เมืองเมลเบิร์น  ประเทศออสเตรเลียซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2557 โดยมีผู้ชมเข้ามาฟังเรื่องเล่าของเธออย่างล้นหลาม ก่อนกลับบ้านไปพร้อมรอยยิ้มเหมือนเช่นทุกครั้ง

นอกจากสเตลลาแล้ว นักพูดอีกคนที่ขอแนะนำเป็นพิเศษคือ ‘เจมี่ แม็กโดนัล’ หนุ่มตาบอดวัย 34 ปี ชาวสกอตแลนด์

เจมี่เป็นชาวเมืองกลาสโกว์ เขาเผชิญกับปัญหาจอประสาทตาเสื่อมลงเมื่อช่วงอายุก่อนเข้า 30 ปี ก่อนที่จะบอดสนิทในอีกไม่กี่ปีต่อมา แน่นอนว่าช่วงนั้นเขาลำบากสุดๆ เพราะเป็นช่วงที่กำลังเรียนปริญญาอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอาเบอร์ดีน แต่ด้วยความไม่ยอมแพ้ เขาจึงผ่านมันมาได้พร้อมกับการเริ่มปรับตัวเพื่อเข้าสู่การเป็นคนพิการ เริ่มจากการใช้ไม้เท้าช่วย เมื่อเรียนจบ เขาได้เข้าทำงานที่บริษัทด้านการเงินแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะถูกปลดออกในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ

และในช่วงที่ชีวิตเคว้งคว้างอยู่นี่เอง เขาได้รับคำแนะนำจากคนรู้จักว่า ทำไมไม่ลองไปเป็นนักแสดงตลกดูล่ะ เพราะด้วยบุคลิกและลีลาการพูดที่แพรวพรายและมักสร้างอารมณ์ขันให้แก่ผู้ฟังได้เสมอๆ เจมี่จึงพลิกฐานะตัวเองมาเป็นนักพูดพิการแทน โดยมีไม้เท้าคู่ใจเป็นอุปกรณ์ในการแสดงบนเวที

สำหรับเรื่องเล่าส่วนใหญ่ของชายผู้นี้มักจะไปในแนวทางหรรษา โดยเขามักนำเหตุการณ์ช่วงที่ตาบอดใหม่ๆ มาเล่าให้ฟัง ซึ่งเรื่องที่เรียกเสียงหัวเราะได้เสมอ คือข้อดีของการเป็นคนตาบอด โดยเขาเล่าว่าเมื่อคุณตาบอด คนจะเปลี่ยนจากการช่วยเหลือธรรมดาเป็นการอุปถัมภ์ ดูแลคุณอย่างดีเป็นพิเศษ เช่นเคยมีชายคนหนึ่งวิ่งไล่ตามเขาเพียงเพราะต้องการจะบอกเขาว่า เขาไม่ได้มัดเชือกรองเท้า แถมชายผู้นั้นถึงกับถามเขาว่าจะให้ผูกเชือกรองเท้าให้ไหม ซึ่งพอเขาปฏิเสธ ชายคนนั้นก็ไม่ว่าอะไรแถมยังทำท่าจะมาแปะมือกับเขาเพื่อให้กำลังใจด้วย

“ผมว่าถ้าคุณตาดี คุณไม่มีทางเจอมิตรภาพอันล้นเหลือแบบนี้หรอก” เจมี่พูดทิ้งท้ายไว้พร้อมรอยยิ้ม

แม้เรื่องเล่าที่สเตลลาและเจมี่เล่าส่วนมากจะเป็นเรื่องตลก แต่ในอีกบทบาทหนึ่งเรื่องเล่าเหล่านี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของสังคมที่มีต่อคนพิการที่มักจะถูกปฏิบัติแบบไม่มีความพอดี ทั้งเกินความจำเป็นหรือบางทีก็ด้อยจนน่าใจหาย เพราะฉะนั้นนี่อาจถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องมาเรียนรู้ร่วมกันเพื่อให้ทั้งคนพิการและไม่พิการสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียม

 

ที่มา ‘เดี่ยวไมโครโฟน’ ความพิการไม่ใช่แค่เรื่องตลก