Skip to main content

"...กองทุนคนพิการมีเงินไหลเข้าเป็นท่อขนาด 6 นิ้ว แต่เงินไหลออก 5 มิลลิเมตร มันก็โป่งพอขึ้นเหมือนอึ่งอ่าง และสุดท้ายท้องอาจจะแตกตายเสียก่อน"


ภาพจากเว็บไซต์ BlueRollingDot

ตลอด 7 ปีกว่าที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประกาศใช้ มีการสร้างเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงบริการทางสังคมต่างๆ มากขึ้น รวมไปถึงการสร้างมาตรการรองรับเพื่อให้เครื่องมือมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งมีภารกิจในการตอบสนองมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติฯ ที่ว่าด้วยสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่คนพิการพึงได้ให้เป็นจริง

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า กองทุนนี้มีศักยภาพสูงมาก โดยเฉพาะในเรืองเงินที่ไหลเวียนเข้ากองทุน เพราะมีการเก็บเงินจากผู้ประกอบการต่างๆ ที่ไม่ได้จ้างคนพิการเข้าทำงาน แต่ในทางกลับกันกองทุนนี้กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักโดยเฉพาะเรื่องประสิทธิภาพและการใช้เงิน ดังเช่นที่ มณเฑียร บุญตัน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเคยให้สัมภาษณ์กับ Blue Rolling Dot ว่า กองทุนเงินไหลเข้าเป็นท่อขนาด 6 นิ้ว แต่เงินไหลออก 5 มิลลิเมตร มันก็โป่งพอขึ้นเหมือนอึ่งอ่าง และสุดท้ายท้องอาจจะแตกตายเสียก่อน

ผู้อำนวยการ สสพ. อธิบายว่าจริงๆ แล้วกองทุนนี้มีประโยชน์มาก เพราะหน่วยงานใดๆ ก็ตามที่ต้องการเสนอโครงการซึ่งไม่ทับซ้อนกับภารกิจของตัวเองสามารถของบตรงนี้ทั้งสิ้น ทว่าที่ผ่านมากลับมีปัญหาในการบริหาร เพราะเงินส่วนใหญ่มักจะนำมาใช้กับเรื่องการให้คนพิการกู้ยืมเงินประกอบอาชีพ โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย รองลงมาก็เป็นเรื่องพัฒนาระบบผู้ช่วยเหลือคนพิการ การพัฒนาระบบการบริการปรับบ้านคนพิการ การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรคนพิการ โดยแต่ละโครงการไม่มีแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของคนพิการที่ชัดเจน เช่นให้กู้ไปแต่ก็ไม่มีคนที่จะไปแนะนำหรือช่วยวางแผนธุรกิจให้คน หรือเรื่องปรับสภาพบ้านก็ตั้งเป็นแค่เป้าหมาย แบ่งเงินไปตามโควตาจังหวัดต่างๆ เท่านั้น

“จุดอ่อนสำคัญคือการบริหารกองทุนยังอยู่ในระบบราชการ ยังเป็นการใช้เงินแบบระบบราชการ แต่ยังดีตรงที่เรามีผู้นำคนพิการที่เข้าไปมีส่วนในการผลักดันและกำกับจึงสามารถดึงได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในการผลักดันหรือสร้างแผนในการเคลื่อนระบบ ความจริงเรามีความตั้งใจมาตั้งแต่ช่วงที่ร่างพระราชบัญญัติ จากปี 2534 มาสู่ปี 2550 เป้าหมายสำคัญมี 2-3 อย่าง เรื่องแรกคือทำให้ พก. (สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ) ออกมาเป็นอิสระ ออกมาอยู่กำกับของรัฐ หรืออยู่ข้างในก็ต้องยกระดับให้เป็นกรม เพราะถ้าเป็นแค่ระดับกองจะทำอะไรที่เป็นนิติบุคคลไม่ได้ เรื่องที่ 2 คือเราควรจะเอากองทุนออกมานอกระบบ คือถ้าได้ตั้งแต่อันแรก กองทุนก็อยู่นอกระบบอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ได้ เราก็ต้องหาวิธีเอามาอยู่นอกระบบ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว แต่ปี 2550 เราทำสำเร็จแค่การยกสำนักงาน พก.ขึ้นเป็นกรม ขณะที่กองทุนยังอยู่ในสภาพเดิม ตอนนี้มีความพยายามจะแก้อีกรอบ เพื่อให้กองทุนออกมาเป็นนิติบุคคลของตัวเอง มีอิสระในการบริหารงาน โดยไม่จำเป็นต้องติดขัดกับกฎระเบียบการคลัง เพราะตอนนี้มีเงินเป็นพันล้านแล้ว

“แต่ทั้งนี้กลไกธรรมาภิบาลของการจัดสรร การติดตามผลลัพธ์ของการจัดสรร ก็เป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากต่อให้คุณออกนอกระบบได้ แต่ถ้ากลไกนี้ไม่ดี เงินก็ถูกใช้อย่างอีหลุยฉุยแฉก ดังนั้นเมื่อออกมาแล้วคุณต้องมีเป้าหมายที่ดี มีนวัตกรรมการพัฒนา ถ้าได้แบบนี้ ผลไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคนพิการเท่านั้น แต่ยังไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วย”

ขณะที่ชูศักดิ์ในฐานะกรรมการกองทุนนี้ด้วยอธิบายเสริมในเชิงเห็นด้วยถึงข้อจำกัดดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่านโยบายของกองทุนแปรผันไปตามความสนใจของรัฐบาลหรือผู้ใหญ่ในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เช่นปี 2557 เน้นไปที่เรื่องอาชีพก็จะมุ่งไปที่เรื่องนี้เป็นหลักหรือบางปีที่เน้นไปการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกก็จะทำเรื่องนี้อย่างเดียว ซึ่งพอเน้นก็จะเกิดการทิ้งบางเรื่องไป และนำมาสู่การเกี่ยงให้กองทุนอื่น ทำให้เกิดการไขว้กันของการเข้าถึงในแต่ละกองทุน

“เราต้องเข้าก่อนว่าแต่ละกองทุนก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจหลักของเขา อย่างกองทุน สปสช.ก็จะมีกองทุนย่อยๆ อย่างกองทุนฟื้นฟูสุขภาพซึ่งไม่ใช่แค่คนพิการ ผู้สูงอายุก็ใช้กองทุนนี้ได้ ซึ่งตอนนี้ก็งานร่วมกับจังหวัดต่างๆ จำนวน 35 แห่ง ขณะเดียวกัน กองทุน พก.ก็กระจายไปตามจังหวัดเหมือนกัน แต่ 2 กองทุนนี้ไม่ไปเจอกันในจังหวัด ต่างคนต่างทำ ที่ผ่านมาเลขาธิการ สปสช.ก็มาคุยจะทำอย่างไรให้กองทุน 3-4 แห่งนี้เข้าหากันให้ได จะมาบูรณาการกันได้อย่างไร ซึ่งถ้าพิจารณาจะพบว่าเรามีโครงสร้างอยู่แล้ว อย่างของคนพิการก็มีผู้ว่าฯ เป็นประธานคนพิการจังหวัด ส่วนของ สปสช.ก็มี อบจ.เป็นประธานกองทุนฟื้นฟูสุขภาพจังหวัด ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นคนคณะเดียวกันเพียงแต่สลับหัว เราจะทำยังไงให้ทั้งสองส่วนเข้าหากันและทำงานด้วยกันได้ หรือเราจะใช้วิธีแยกส่วนงานของคนพิการออกมาต่างหากก็ได้ เพราะจากประสบการณ์เวลาเราไม่แยก มันจะถูกกินเนื้อ เพราะทุกคนก็อยากได้เงิน ผมจำได้ว่า เมื่อปี 2545 ตอนนั้นสุดารัตน์ (คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เราไปเรียกร้องให้กันงบคนพิการ (ของ สปสช.) ไว้ 10 บาทต่อหัว แต่เขาให้ 4 บาท ตรงนี้เป็นที่ของกองทุนฟื้นฟูฯ เหตุผลก็คือตอนนั้นรัฐบาลก็เห็นด้วยว่าถ้าไม่เขียนไว้ คนพิการอดแน่นอน เพราะเวลาเขียนงบประมาณเราต้องมองภาพหลักก่อนใช่ไหม ซึ่งคนพิการตอนนั้นเป็นแค่กลุ่มน้อย มีประมาณ 200,000 กว่าคน แต่เดี๋ยวนี้เป็นล้านแล้ว”

เพราะฉะนั้น นี่อาจะถึงเวลาแล้วที่แต่ละกองทุนจะต้องบูรณาการตัวเองว่า ควรจะดูแลเรื่องอะไรบ้าง หรือมีด้านไหนที่คาบเกี่ยวจะต้องจัดระบบและฐานข้อมูลเพื่อให้ทำงานต่อเนื่องกันได้ เพื่อลดปัญหาความซ้ำซ้อนและความเหลื่อมล้ำในระบบ เพราะต้องยอมรับว่านี่เป็นปัญหาใหญ่มากของระบบ เช่นคนพิการคนเดียว แต่ได้รถเข็นถึง 3 คันจาก 3 กองทุน ขณะที่บางคนอาจจะไม่ได้เลยสักคัน ซึ่งถือเป็นการสะท้อนการจัดการของภาครัฐได้ดีว่าถึงเวลาของการขจัดปัญหา เพื่อไม่ให้สุดท้ายต้องกลายเป็นดินพอกหางหมูต่อไปเรื่อยๆ และที่สำคัญยังเป็นการสิ้นเปลื้องเงินโดยไม่จำเป็นอีกต่างหาก

 

อ่านตอนอื่นได้ที่นี่
| 1: จากรักษาสู่การฟื้นฟู
| 2: ความเหลื่อมล้ำของหลักประกัน
| 3: ความพิการที่มองไม่เห็น
| 4: กองทุนคนพิการ เพื่อใคร?
| 5: ความพิการเรื่องเล็ก ในโครงสร้างใหญ่
| 6: เมื่อประเทศไทยเจริญไม่เท่ากัน
| 7: การดำรงชีวิตโดยไม่พึ่งพิง
| 8: สาธารณสุขเชิงรุก
| 9: เวลาแห่งการบูรณาการ

 

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่
'ระบบบริการสุขภาพคนพิการ' โจทย์ใหญ่ของสังคม สู่มาตรฐานความเป็นธรรม