Skip to main content

"..ที่ผ่านมา คนพูดส่วนใหญ่มักจะพูดแต่เรื่องกว้างๆ แต่ไม่เคยลงมาสัมผัสเชิงลึก ไม่มีใครเคยวิเคราะห์โครงสร้างปัญหาของคนพิการในกระทรวงสาธารณสุขอย่างจริงจัง บางคนก็พูดว่ามีกรมการแพทย์แล้วไง กรมการแพทย์ก็ไปทำ หรือให้หมอเข้าไปทำ แต่เขาไม่รู้เลยว่างานคนพิการนั้นเป็นแค่งานเล็กๆ ในกระทรวงสาธารณสุข และเป็นหน่วยเล็กๆ ในกรมการแพทย์เท่านั้นเอง"


ภาพจากเว็บไซต์ BlueRollingDot

เงินกับนโยบายถือเป็นประเด็นที่มีความสัมพันธ์กันยิ่งยวด หลายๆ กรณีที่เงินมีแต่นโยบายไม่ตามมาก็ไม่สามารถจัดการอะไรได้ ปัญหาของคนพิการก็เช่นกัน ภาพจำในสังคมไทยเวลาพูดถึงความพิการก็มักจะนึกถึงโรงพยาบาล การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูต่างๆ มากมาย ทว่าเมื่อไปพิจารณาโครงสร้างของระบบราชการไทย โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคนพิการแล้วต้องถือว่าน่าประหลาดใจมาก

โดยหน่วยงานหลักในปัจจุบันก็คือ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่าค่อนข้างจำกัดบทบาทตัวเอง ยิ่งหากเป็นงานที่มีเกี่ยงเนื่องกับกระทรวงอื่นๆ เช่นงานด้านการศึกษา และงานด้านสุขภาพ อีกทั้งปัจจุบัน 2 งานนี้มีหน่วยงานเข้ามาดูแลเป็นกิจจะลักษณะแล้ว แต่ปัญหาคือ งานเหล่านี้กลับไปซุกอยู่ในภายใต้หน่วยงานใหญ่ซึ่งมีภารกิจไม่ครอบคลุมนัก เช่นสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ซึ่งมีภารกิจดูแลการศึกษาของคนพิการทุกภาคส่วน ทว่าอยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งดูแลการศึกษาภาคบังคับเท่านั้น

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเองมีศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ อยู่ภายใต้กรมการแพทย์ ทว่าปัญหาคนพิการนั้นกระจายไปทั่ว ดังเช่นที่ชูศักดิ์อ้างถึงกรมสุขภาพจิต จึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญการพัฒนากระบวนการเข้าถึงระบบสุขภาพคนพิการ เพราะศูนย์สิรินธรฯ เองก็ไม่มีอำนาจพอที่จะไปสั่งการข้ามหน่วยงานแม้จะอยู่ในสังกัดเดียวกันก็ตาม

“ศูนย์สิรินธรฯ ทำหน้าที่คล้ายกับเป็นหน่วยวิชาการในกรมการแพทย์ ซึ่งต้องรับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขให้ดูแลเรื่องมาตรฐานการฟื้นฟู โดยในปีนี้จะเน้นไปในงานกลุ่มเวชกรรมฟื้นฟูต้องมีมาตรฐานต่างๆ กิจกรรมแต่ละกิจกรรมต้องมีการประเมินตัวเองว่าสิ่งที่ขาดคืออะไร สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมมีอะไรบ้าง และในอนาคตก็คาดหวังว่าคู่มือฉบับนี้จะเข้าไปอยู่ร่วมในบริการต่างๆ แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าการที่เราอยู่ภายใต้กรมการแพทย์ก็เป็นความลำบากเหมือนกัน เพราะคนพิการมีตั้ง 7 ประเภท ตอนนี้ดูแลระหว่างกรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต และกรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เราก็เหมือนตัวประสานงานด้วย ซึ่งอุปสรรคก็คือข้อมูลต่างๆ นั้นขอยากพอสมควร เพราะปัจจุบันฐานะเราเท่ากอง แถมกองที่เราอยู่เป็นหน่วยวิชาการผสมกับงานบริการ แล้วก็ดูงานทุกประเภท ไม่ใช่แค่งานประสานงานเท่านั้น ซึ่งถ้าประสานงานราบรื่นก็คงไม่เป็นไร แต่ตอนนี้ก็ยังติดขัดอยู่ ดังนั้นถ้าเราเป็นสำนักขึ้นมา เหมือนที่ พก.เป็น อาจไมต้องเป็นกรมก็ได้ เป็นแค่สำนักฟื้นฟู แล้วก็รวมงานคนพิการทุกประเภทมาไว้ที่นี่ ทุกกิจกรรมไว้ที่นี่ ก็จะดีขึ้น เพราะทุกวันนี้มาตรฐาน นโยบาย ตัวชี้วัด คู่มือเราทำหมดอยู่แล้ว แต่ถามว่าเรามีปัญหามากไหม ก็ลดทอนไปได้ระดับหนึ่ง เพราะกรมเองก็มีความเข้าใจมากขึ้น รวมไปถึงการประสานงานก็ง่ายขึ้นกว่าเดิม เพราะเริ่มมีคนชี้มาแล้วว่าตรงไหนที่เป็นหน้าที่ของเรา” พญ.ดารณี สุวพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติอธิบาย

ข้อดีอย่างหนึ่งของการยกระดับคือการอุดช่องโหว่ต่างๆ เพราะด้วยสภาพปัจจุบันของศูนย์สิรินธรฯ มีลักษณะคล้ายๆ โรงพยาบาล คือมีแพทย์ มีนักกายภาพบำบัด มีพยาบาล ส่วนนักวิชาการสาธารณสุขมีเพียง 3 ตำแหน่ง ทั้งๆ ที่ความพิการมากถึง 7 ประเภทจึงไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ซึ่งการยกฐานะขึ้นมา อย่างแรกเลยก็ต้องขยายขอบเขตงาน ขอบเขตอำนาจให้กว้างขึ้น รวมไปถึงงบประมาณและบุคลากรภายในที่จะต้องตอบโจทย์ของสถานการณ์กว่านี้ เพราะอย่างน้อยๆ ในกรมหรือสำนักก็จะมีการแบ่งงานย่อยๆ เป็นกอง ซึ่งจำแนกตามแต่ประเภทความพิการ และภายในก็จะมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง นักสาธารณสุข นักสังคมสงเคราะห์ หรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีหรือเครื่องอำนวยความสะดวกของคนพิการสังกัดอยู่ เพื่อต่อไปศูนย์สิรินธรฯ จะได้ทำงานได้ตามภารกิจที่สังกัดคาดหวังเอาไว้

“การมีฐานะเป็นเพียงกอง มีผลต่อเรื่องงบประมาณมาก เวลาทำอะไรทุกบาทต้องผ่านขึ้นไปยังกรม แล้วกรมเองก็ไม่ได้ถือว่าเรื่องเราเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเขาก็ต้องดูแลโรงพยาบาลทุกโรง ดังนั้นงบประมาณเขาให้เราเยอะไม่ได้หรอก ก็ต้องแบ่งปันกัน เราจะไปเอาเงินทำเรื่องคนพิการทางสายตาก็โดนโยนกลับมาว่าไม่ได้เกี่ยวอะไรกับศูนย์ฯ เลย เรื่องหูหนวก ก็ไม่เกี่ยวกับศูนย์ฯ พอจะทำเรื่องจิตก็บอกไม่เกี่ยว ไปให้กรมสุขภาพจิตทำ ดังนั้นปัญหาก็เลยหมักอยู่ใต้พรม แล้วก็กระทบกับคนพิการค่อนข้างเยอะ เพราะยิ่งลงลึกไปในระดับโรงพยาบาลก็ยิ่งไม่เห็นความสำคัญเลย

“ที่ผ่านมา คนพูดส่วนใหญ่มักจะพูดแต่เรื่องกว้างๆ แต่ไม่เคยลงมาสัมผัสเชิงลึก ไม่มีใครเคยวิเคราะห์โครงสร้างปัญหาของคนพิการในกระทรวงสาธารณสุขอย่างจริงจัง บางคนก็พูดว่ามีกรมการแพทย์แล้วไง กรมการแพทย์ก็ไปทำ หรือให้หมอเข้าไปทำ แต่เขาไม่รู้เลยว่างานคนพิการนั้นเป็นแค่งานเล็กๆ ในกระทรวงสาธารณสุข และเป็นหน่วยเล็กๆ ในกรมการแพทย์เท่านั้นเอง แล้วเดี๋ยวก็มีเรื่องอีโบล่ามา มีเรื่องนั้นมา เขาก็วิ่งไปทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ ส่วนคนพิการก็เป็นลำดับท้ายๆ การที่จะให้กระแสคนพิการเกิดขึ้นมาได้ คนพิการต้องเข้มแข็ง กล้าต่อสู้และรู้ปัญหา ที่สำคัญการต่อสู้ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่สู้เพื่อส่วนรวม ทุกวันนี้กลุ่มคนพิการสู้เพื่อตัวเอง ไม่มีใครขึ้นมาสู้เพื่อคนพิการทั่วประเทศเท่าใด เพราะงานพวกนี้ทำคนเดียวไม่สำเร็จ แต่ต้องมีทำเป็นเครือข่าย ต้องช่วยกันรวมไปถึงการดูว่าโครงสร้างแบบไหนที่เหมาะสมหรือรับได้”

อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีการยกระดับโครงสร้างขึ้นมา พญ.ดารณีก็ชี้ว่าควรจะมีการจัดระเบียบโครงสร้างใหญ่ด้วยการกำหนดให้ชัดว่าไปเลยว่าใครเป็นเจ้าภาพในประเด็นไหน โดยจะต้องดูว่าศักยภาพของหน่วยงานนั้นมีเป็นเช่นใด เพื่อจะได้จัดสรรงานที่เหมาะสม และเดินหน้าภารกิจที่ได้รับไปอย่างมีทิศทาง

“ในปีนี้เริ่มเห็นชัดเพราะมีการแบ่งพื้นที่เป็นเขตสุขภาพในพื้นที่จังหวัดต่างๆ แต่สุดท้ายจังหวัดจะทำหรือไม่ก็อยู่ที่นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขว่าจะเอาจริงหรือเปล่า เพราะงานในจังหวัดมันมีเป็นกระบุง การที่เขาจะมานึกถึงงานคนพิการ นโยบายต้องออกมาให้ชัด ตอนนี้ศูนย์สิรินธรฯ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำนโยบายก็ต้องทำให้ชัด มีการติดตามและถ่ายทอด งบประมาณก็จะตามออกมา เราคิดว่าภายในรูปแบบเช่นนี้งานก็น่าจะเข้าทีเข้าทางได้ ส่วนการปรับโครงสร้างก็ต้องเป็นเรืองของอนาคต แต่เราคิดว่าภายใน 4-5 ปีก็น่าจะเห็นผล”

 

อ่านตอนอื่นได้ที่นี่
| 1: จากรักษาสู่การฟื้นฟู
| 2: ความเหลื่อมล้ำของหลักประกัน
| 3: ความพิการที่มองไม่เห็น
| 4: กองทุนคนพิการ เพื่อใคร?
| 5: ความพิการเรื่องเล็ก ในโครงสร้างใหญ่
| 6: เมื่อประเทศไทยเจริญไม่เท่ากัน
| 7: การดำรงชีวิตโดยไม่พึ่งพิง
| 8: สาธารณสุขเชิงรุก
| 9: เวลาแห่งการบูรณาการ

 

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่
'ระบบบริการสุขภาพคนพิการ' โจทย์ใหญ่ของสังคม สู่มาตรฐานความเป็นธรรม