Skip to main content

เมื่อเพื่อนเจอกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างการพบว่า ลูกของตัวเองมีภาวะดาวน์ซินโดรม ในฐานะ "เพื่อน" แม้จะไม่มีความรู้ที่จะแนะนำ แต่การรับฟังก็ถือเป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่ “มึงมีอะไรแวะมาคุยกับกูได้ทุกเมื่อ”

หลายปีก่อน น้องนุ่งที่ออฟฟิศ WAY จะคุ้นกับภาพหนุ่มใหญ่ผมทรงสกินเฮด ตัดกับยูนิฟอร์มมนุษย์ออฟฟิศ แต่ดูแล้วก็รู้ว่าพิถีพิถัน ช่างเลือกสรรวิธีแต่งตัว ขับรถยนต์มาจอดหน้าสำนักงานเรา ในช่วงหลังเวลาเลิกงาน

บางวันเขาก็มาพร้อมเครื่องดื่มขวดสีเขียวประมาณครึ่งโหล

ถ้าผมมีงานติดพัน เขาก็จะนั่งคุยกับน้องคนนั้นคนนี้ที่เดินแวะเวียนผ่านโต๊ะประชุม โต๊ะกินข้าว และโต๊ะรับแขก ซึ่งเป็นโต๊ะเดียวกัน เหมือนกำลังนั่งพักผ่อนตามผับหลังเวลางาน

บางทีเราก็ปล่อยให้เขานั่งคนเดียว คิดอะไรเงียบๆ

เราเพิ่งกลับมาคบหาใกล้ชิดอีกครั้งประมาณปีสองปี ตั้งแต่เรียนจบชั้นมัธยมต้น

หลังปี 2528 วงโคจรของชีวิตเราห่างกันอย่างสิ้นเชิง ผมได้รับคำสั่งจากครอบครัวว่า ขึ้นชั้นมัธยมปลายต้องสอบเข้าโรงเรียนรัฐบาลที่ค่าเทอมถูกกว่าให้ได้ ส่วนเขายังปักหลักที่โรงเรียนชายล้วนลูกดก ที่ชอบไปพ่นสีสเปรย์ตามกำแพง เพื่อประกาศอาณาจักรว่าเป็นพ่อสถาบันนั้นสถาบันนี้

ตอน ม.ต้น เราสนิทกัน เขาตั้งฉายาผม 'ไอ้แตงโม' เพราะหัวโตตามประสาเด็กชายที่สัดส่วนร่างกายยังเติบโตไม่สมดุล ส่วนผมเรียกเขาว่า 'ไอ้เจ๊กขายถ่าน' ตามสัณฐานหน้าตาบวกกับภูมิหลังธุรกิจครอบครัวที่ทำสัมปทานปลูกไม้โกงกางเผาถ่านอยู่ทางภาคใต้

สมัยนั้นการเหยียดหมิ่นสังขารและชาติพันธุ์เป็นเรื่องสนุกปากอย่างหนึ่ง

เจอกันอีกที เขาพ่วงดีกรี MBA จากอเมริกา มีตำแหน่งประมาณรอง CEO บริษัทนำเข้าอุปกรณ์เครื่องเขียนรายใหญ่ ส่วนผมยังงมงายทำหนังสือแบบที่ตัวเองอยากอ่าน

ไม่เจอกันเกือบ 30 ปี แต่ละคนก็มีเรื่องเล่า เรื่องเล่าของผมอาจดูมีสีสันฉูดฉาดอยู่บ้าง เพราะล้มลุกคลุกคลานมีร่องรอยแผลเป็นเต็มร่าง ทั้งจากการงานและชีวิตส่วนตัว

ส่วนเรื่องเล่าของเขาฟังดูราบเรียบเป็นสูตรสำเร็จเหมือนคนทั่วไป แต่ลึกลงไปคือคลื่นใต้น้ำลูกใหญ่ รอวันส่งแรงสะเทือน

“ช่วงนั้นกูอยู่ระนอง ทำฟาร์มเลี้ยงกบเลี้ยงตะพาบ เมียกูอยู่กรุงเทพฯ โทรมาแจ้งข่าว หมอวินิจฉัยว่าลูกที่กำลังคลอดมีอาการผิดปกติ อาจเป็นดาวน์ซินโดรม วางโทรศัพท์กูขับรถบึ่งขึ้นมาเลย ถึงโรงพยาบาลฟังหมอบอกอาการ กูตัวชาทำอะไรไม่ถูกอยู่พักใหญ่

“พอเขาคลอดออกมา กูกับปลา (ภรรยา) ปลอบโยนกันอยู่นาน สุดท้ายคุยกันสองคนว่า เขาคงเลือกแล้วที่จะมาเกิดเป็นสมาชิกครอบครัวของเรา - - มันไม่มีทางให้คิดเป็นแบบอื่น”

ฟังเรื่องเล่าจากปากเขา ผมจะไปมีสติปัญญาหาข้อมูลอะไรมาแลกเปลี่ยน ได้แต่บอกกับเพื่อนไปสั้นๆ ว่า

“มึงมีอะไรแวะมาคุยกับกูได้ทุกเมื่อ”

ที่ไม่ได้พูดออกไปเพราะคิดว่าเป็นถ้อยคำล้นเกินที่ผู้ชายจะพูดกันก็คือ...กูอาจไม่มีความรู้พอที่จะตอบคำถามมึงได้ทุกข้อ แต่กูน่าจะรับฟังมึงได้ทุกเรื่อง

. . .

เขาทำอย่างที่ผมบอก

บางวันแวะเวียนเข้ามาทั้งที่ไม่ได้มีธุระปะปังเร่งด่วน บางวันมานั่งดูผมตีปิงปองหลังเลิกงานกับพรรคพวก บางวันนั่งคุยสัพเพเหระหลังแก้วเบียร์

เหมือนจะผ่อนคลาย แต่เบื้องลึกคือการครุ่นคิดตัดสินใจจัดการภาระบนไหล่บ่า

คนเป็นพ่อที่รับผิดชอบการเงินคนเดียว ภรรยาต้องเป็นแม่บ้านเต็มเวลา ทำหน้าที่ขับรถฝ่าการจราจรในกรุงเทพฯรับส่งลูกระหว่างบ้านกับโรงเรียน อยู่ร่วมแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากับเด็กพิเศษทุกนาที...เด็กพิเศษที่กำลังเติบโตเป็นวัยรุ่น

ทั้งหมดนี้จึงพอเข้าใจได้ว่า เหตุใดหัวข้อคุยในช่วงหลังของเขาวนเวียนกับปัญหาในออฟฟิศ และคุณภาพชีวิตครอบครัวที่ห่างไกลความพึงพอใจ

ฟังบ่อยเข้าผมจึงเปรยกับเพื่อนว่า – คนวัยเราไม่ควรทำงานด้วยความทุกข์

“กูก็อยากทำงานที่ไม่ต้องคอยดูสีหน้าใครอย่างที่มึงบอก แต่กูควรทำอะไรดีวะ” เพื่อนหันมาถามราวกับคู่สนทนาเป็นนักสร้างแรงบันดาลใจโค้ชแนะแนวอาชีพ

ผมไม่ได้ตอบอะไรไปตอนนั้น แต่ใช้เวลาสังเกตพฤติกรรมเขาต่อราวสองสามเดือน

ระหว่างสองสามเดือน ทุกเช้าผมจะเห็นข้อความใน Line มีคำถามเกี่ยวกับจักรยานจากเขาส่งมาเป็นชุด ก้มหน้าก้มตาเพียรตอบอยู่พักใหญ่จนมีอาการปวดคอนิ้วล็อค และที่สำคัญเริ่มหมดภูมิปัญญาที่จะตอบ เพราะช่วงหลังๆ เป็นคำถามลงลึกเชิงเทคนิคและธุรกิจ

คนเราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง แต่ถ้ามีเพื่อนอยู่บ้างปัญหาบางอย่างก็จะแก้ง่ายขึ้น

ผมพาเขาไปหาเพื่อนรุ่นน้องเจ้าของร้านจักรยานทัวริ่งย่านนางเลิ้ง ร้านถูกผู้คนนินทาว่าเป็นร้านขั้นเทพ เนื่องจากเจ้าของหน้าตาไม่ค่อยรับแขก ลูกค้าเดินเข้าร้านก็ไม่สนใจไต่ถาม ปล่อยให้ยืนเก้ๆ กังๆ อยู่อย่างนั้น แถมถามอะไรก็ไม่ค่อยมีคำตอบสำเร็จรูปให้ ชอบถามกลับเรื่องแนวคิดการใช้งานด้วยสำนวนกวนๆ ค่อนไปทางปากคอเราะร้าย ตรงตามฉายาที่คนในวงการตั้งให้ว่าร้านหมาเห่า เพราะเจ้าของร้านชื่อ ‘หมา’

แต่ถ้าได้คบหากันจริงๆ จะพบว่ามิตรรุ่นน้องรายนี้เป็นคนอีกแบบ

มีเสียงหัวเราะดังเจี๊ยวจ๊าวอยู่พอสมควร เมื่อผมพาเพื่อนใหม่มาแนะนำ แจ้งวัตถุประสงค์ว่าอยากพามาฝึกงานเรียนรู้เรื่องจักรยาน

“ส่วนใหญ่คนที่จะเปิดร้าน มักจะเริ่มจากความรักความสนใจจักรยานมากๆ แล้วค่อยทำร้านนะครับ แต่พี่นี่เล่นไม่รู้อะไรมาก่อนเลย แล้วคิดจะเปิดร้าน...ผมว่ามันแปลกๆ อยู่นะ” หลายคนพูดสิ่งที่คิดอย่างตรงไปตรงมา

เวลาเจอข้อสังเกตทำนองนี้ เขามักก้มหน้า ยิ้มรับข้อสงสัย ไม่ค่อยต่อปากต่อความอธิบาย

ใช่ – เจ้าของร้านจักรยานส่วนใหญ่มักเป็นแบบนั้น เริ่มจากความรักจักรยาน จากนั้นความรักและความหลงใหลจึงลากจูงชีวิตให้ลาออกจากงานประจำมาทำธุรกิจของตัวเอง เพื่อที่จะมีเวลาให้กับสิ่งที่รักอย่างเต็มที่

ลึกๆ แล้วเขาเองก็ตัดสินใจเรื่องนี้ด้วยความรัก เพียงแต่มันอาจไม่ใช่ความรักพาหนะสองล้อเหมือนคนอื่น

ผมเล่าความนัยนี้ให้หมาฟัง บอกเงื่อนไขชีวิตว่าเพื่อนมีลูกชายเป็นเด็กพิเศษ กำลังย่างเข้าวัยรุ่น และคงเรียนในระบบได้อีกไม่นาน สิ่งที่เขาต้องการคือการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อรองรับคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ที่ดีให้กับลูก ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัว

ถ้าเด็กได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ต้องบีบรัดดิ้นรนเหมือนอยู่ในกรุงเทพฯ พ่อแม่ลูกมีเวลาใช้ชีวิตพร้อมหน้า มีโรงเรียนที่ยินดีรับเด็กพิเศษเรียนร่วมกับเด็กทั่วไป ฝึกฝนให้ลูกเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิต เมื่อถึงเพดานวัยที่ไม่สามารถศึกษาในระบบร่วมกับเด็กวัยเดียวกัน นั่นคงเป็นเป้าหมายสูงสุดของเขาแล้ว

ร้านจักรยานคือสะพานข้ามไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

คนไอคิวสูงแบบหมาฟังครั้งเดียวก็เข้าใจ สิ่งที่ทำถัดจากนั้นคือถ่ายทอดวิชาจักรยานให้ทุกแง่มุมโดยไม่ปิดบัง ตั้งแต่ความรู้เชิงเทคนิคเกี่ยวกับรถ ด้วยการให้ลงมือปฏิบัติจริงทุกขั้นตอน เริ่มต้นขันน็อต ปะยาง ล้างโซ่ ไล่ไปถึงเรื่องศาสตร์และศิลป์ในการขึ้นล้อ กระทั่งลงลึกถึงเหลี่ยมคูทางธุรกิจในวงการจักรยาน

ระหว่างนั้นก็จะมีพรรคพวกนักจักรยานผลัดหน้าแวะเวียนเข้ามาให้กำลังใจและให้วิชา ตัวละครเหล่านี้ผูกเครือข่ายกันอย่างเป็นธรรมชาติ

ไม่กี่เดือนถัดมา อำเภอปากช่องก็มีร้านจักรยานร้านหนึ่งถือกำเนิดขึ้น ชัยภูมิแห่งนี้คือบ้านเกิดของภรรยาเขา

ครอบครัว พี่น้อง เครือญาติ ได้กลับมาอยู่ใกล้ชิดอีกครั้ง

และด้วยฐานความรู้ด้านการจัดการ ความคิดสร้างสรรค์ ความกระตือรือร้น ช่างสังเกต ทำงานประณีตเป็นนิสัย ทุกวันนี้หากใครมีโอกาสขับรถผ่านไปมาย่านนั้นแล้วสังเกตเห็นร้านแห่งนี้ คงไม่มีใครกล้าพูดว่ามันเป็นแค่ร้านเล็กๆ

เขากลายเป็น ‘เถ้าแก่ฮุย’ แห่งปากช่อง ส่วนผมขยับฐานะจากไอ้หัวแตงโมเป็น ‘ลุงคม’ ของหลานไทคูน

. . .

เมื่อรับรู้ว่าผมจะพาน้องๆ ไปสัมมนาประจำปีที่ปากช่อง เขาจัดแจงสรรหาที่พัก ประสานงานติดต่อ และจัดเลี้ยงอาหารมื้อใหญ่ให้พวกเรา

เจอหน้าเด็กชายไทคูน พบร่างกายเริ่มบึกบึนสูงใหญ่ แต่พฤติกรรมก็ยังเหมือนเดิม ทักทาย สวมกอด พูดคุยในสิ่งที่ไทคูนสนใจ หนึ่งในนั้นคือวรรณคดีรามเกียรติ์ ผมงัดความรู้เก่าๆ สนทนาสาธยายบทบาทตัวละครในรามเกียรติ์กับไทคูนอย่างออกรส

หลังมื้ออาหาร จู่ๆ ไทคูนก็ยื่นข้อเสนอว่า ไทคูนขออนุญาตแสดงโขนรามเกียรติ์ให้ดูได้ไหม

เอาสิๆ – ผมตอบไปทั้งที่แอบหวั่นใจว่า สิ่งที่ไทคูนพยายามแสดงจะกลายเป็นภาพตลกขบขัน

เด็กชายปล้ำอยู่กับสมาร์ทโฟนเข้ายูทูบเปิดหาดนตรีประกอบโขนอยู่นาน เข็มวินาทีผ่านไปอย่างเชื่องช้า ทุกคนเงียบกริบ จนผมต้องโอบไหล่ไถ่ถามว่า – ไทคูนอยากให้ลุงช่วยหามั้ยลูก

“ไม่เป็นไรครับ ไทคูนหาเอง”

รอจนกระทั่งเสียงเพลงดัง เด็กชายขยับร่างกาย ร่ายรำท่วงทำนองโขน ทุกการเคลื่อนไหวแสดงความตั้งอกตั้งใจอยากให้เพอร์ฟอร์มานซ์ครั้งนี้สมบูรณ์แบบที่สุด

ถึงตอนนั้น พวกเราที่นั่งดูการแสดงของเด็กชาย ก็ไม่อายที่จะหลั่งน้ำตา

. . .

ก่อนขึ้นรถร่ำลากัน ไทคูนกระโดดเข้าสวมกอด ขาสองข้างคีบอยู่ที่เอวของผมเหมือนเด็กตัวเล็กๆ ผมเหลือบไปมองแววตาคนเป็นพ่อแวบหนึ่ง - - แวบสั้นๆ

เมื่อทุกคนขึ้นรถแยกย้าย เขาส่งไลน์ตามมาขอบคุณทุกคนที่ช่วยประกอบสร้างบรรยากาศประสบการณ์พิเศษที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของลูกชาย

“กูไม่เคยเห็นไทคูนเป็นแบบนี้มาก่อน

"แต่กูแปลกใจ ทำไมไทคูนถึงได้กล้าที่จะเข้าหามึง กล้าคุยกล้าเล่น ทั้งที่ไม่ได้เจอกันบ่อย มึงเองไม่ได้มีบุคลิกขี้เล่นแบบไอ้หมา"

"ที่ผ่านมา มึงไปเล่าอะไรให้ลูกพี่เขาฟังหรือเปล่าล่ะ"

"เปล่า กูถึงว่าแปลกไง ถามปลา ปลาก็บอกว่าลูกคงมีเซนส์บางอย่าง"

"เป็นเซนส์ที่ดี...รู้จักจำแนกแยกแยะว่าใครเท่"

นาทีนั้น การพูดจาให้น่าหมั่นไส้ เป็นเครื่องมือกลบเกลื่อนอารมณ์ความรู้สึกที่ดีที่สุดเท่าที่ผมนึกออก

ทำไมจึงต้องกลบเกลื่อนก็ไม่รู้

ทุกวันนี้ เวลาผมเห็นเขาเล่าเรื่องครอบครัวและร้านจักรยาน แล้วมีการเอ่ยชื่อถึงผมในฐานะนั้นฐานะนี้ ผมมักจะบอกว่า คนคนเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง แต่ถ้ามีเพื่อนบ้าง ปัญหายากๆ บางข้อก็จะแก้ง่ายขึ้น