Skip to main content

ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลพัฒนามือกลโดยใช้เทคโนโลยี AI เลียนแบบการทำงานของมือจริงและสามารถประเมินการหยิบจับได้ในเสี้ยววินาทีโดยไม่ต้องใช้สมองสั่งการ และไปสู่การพัฒนาแขนขาเทียมในอนาคต

เว็บไซต์บีบีซีไทย รายงานเมื่อวันที่ 8 พ.ค.2560 ว่า ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ ได้พัฒนามือกลชีวภาพที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) เลียนแบบการทำงานของมือจริงโดยไม่ต้องมีคนบังคับ ซึ่ง AI จะมองผ่านกล้องเพื่อสำรวจรูปร่างและขนาดของวัตถุ เพื่อประเมินการเคลื่อนไหวที่เหมาะสมในการหยิบจับวัตถุโดยใช้เวลาในเสี้ยววินาทีในการตอบสนอง นักวิจัยชี้ว่ามือกลนี้จะช่วยเปิดทางไปสู่การพัฒนาแขนขาเทียมรุ่นใหม่ในอนาคต ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถหยิบจับวัตถุได้โดยอัตโนมัติ

ผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Neural Engineering โดย ดร.เคียนูช นาซาปูร์ ผู้บรรยายอาวุโส ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ระบุว่า มือกลชีวภาพสามารถ "ตอบสนองได้โดยอัตโนมัติ" ทีมนักวิจัยได้ตั้งโปรแกรมให้มือกลชีวภาพตอบสนองได้ภายในเวลามิลลิวินาที หรือส่วนหนึ่งในพันของหนึ่งวินาที และให้มือกลสามารถหยิบจับวัตถุได้ 4 รูปแบบที่เหมาะสมกับวัตถุที่มีขนาดและรูปทรงต่าง ๆ เช่น แก้วน้ำ รีโมททีวี รวมทั้งวัตถุขนาดเล็กที่ต้องจับด้วยปลายนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้

ทีมนักวิจัยระบุว่า มือกลชีวภาพนี้อาจช่วยเปิดทางไปสู่แขนขาเทียมรุ่นใหม่ที่ช่วยให้ผู้สวมใส่สามารถหยิบจับวัตถุได้อัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้สมองสั่งการ

ดร.นาซาปูร์ กล่าวว่า แขนขาเทียมมีพัฒนาการเพียงเล็กน้อยในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา และการตอบสนองถือเป็นปัญหาสำคัญของแขนขาเทียมมาโดยตลอด เพราะสำหรับผู้พิการแขนขา พวกเขาต้องการแขนขาเทียมที่ทำงานได้เหมือนของจริง ดังนั้นแขนขาเทียมในปัจจุบันจึงถูกมองว่ายังทำงานได้ค่อนข้างช้าและเทอะทะ

"ตอนนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบศตวรรษ" ที่เราได้พัฒนา "มือที่ทำงานได้อัตโนมัติ" และตอบสนองได้เป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องคิด