Skip to main content

อาจมีคนมากมายที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นล่ามได้ ยิ่งกับคนที่มีความบกพร่องทางการเห็นอย่างเราแล้ว ถือได้ว่างานนี้มีความท้าทาย มีหลายภารกิจที่ทำให้เราต้องพยายามก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองเพื่อให้งานสำเร็จบรรลุเป้า

แต่เชื่อไหมว่า สิ่งที่ยากที่สุดในการเป็นล่าม คือการตกลงใจกับตัวเองว่า

‘เอาล่ะ...ฉันจะลองลงสนามงานล่ามกับเขาบ้างแล้วนะ’


ภาพประกอบโดย อิศเรศ เทวาหุดี

เมื่อวันที่ 23-25 เมษายน ที่ผ่านมา มีการจัดงานประชุมสมัชชาคนตาบอดแห่งชาติครั้งที่ 20 และการประชุมนานาชาติ the 5th ASEAN Community Blind Forum ในปีนี้มีความพิเศษคือ เป็นการจัดงานเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี ของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย

ภายในงานประชุมดังกล่าวนอกจากจะมีคนตาบอดและคนสายตาเลือนรางชาวไทยมาร่วมงาน ประชุม แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างคับคั่งตั้งแต่ระดับเยาวชนจนถึงระดับผู้อาวุโสแล้ว ยังมีทีมงานจาก 7 ชาติในภูมิภาคอาเซียนอย่าง กัมพูชา พม่า ลาว เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ รวมไปถึงประธานสหภาพคนตาบอดโลก (World Blind Union: WBU) จากประเทศสหรัฐอเมริกา และประธานสหภาพคนตาบอดโลกเขตภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (World Blind Union Asia Pacific: WBUAP) จากประเทศญี่ปุ่นมาร่วมงานนี้อีกด้วย แต่ละท่านล้วนเป็นตัวแทนจากหน่วยงานที่ทำงานด้านคนพิการทางการมองเห็นในประเทศของตนเอง และมีความตั้งใจที่จะสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานคนตาบอดในแต่ละประเทศ เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตาบอดและผู้พิการทางการเห็นสู่ระดับนานาชาติ  

แน่นอนว่า เมื่อมีชาวต่างชาติมาร่วมงานกันมากมายขนาดนี้ ล่ามจึงเป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่มีความสำคัญในการสื่อสารทำความเข้าใจระหว่างกันทังในห้องประชุมและในการต้อนรับนอกเวลางาน

----

บ่ายวันหนึ่งในเดือนมีนาคม เราได้รับโทรศัพท์จากรุ่นพี่ตาบอดที่นอกจากจะโทรมาถามสารทุกข์สุกดิบกันแล้ว รุ่นพี่คนนี้ยังมาพร้อมกับคำชักชวนที่เราเองก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อน

“เดือนหน้าจะมีงานประชุมนานาชาติเกี่ยวกับแวดวงคนตาบอดเราจัดที่กรุงเทพ ทิพย์สนใจมาเป็นล่ามไหม”

ความรู้สึกแรกหลังจากที่ได้ยินคำชักชวนนี้คือแปลกใจ ทั้งแปลกใจที่พี่เขาเลือกที่จะชวนเรา และแปลกใจว่าตัวเราจะทำงานล่ามได้จริงหรือ ทว่าความรู้สึกที่ตามมาติดๆ กันคือความยินดี ที่รุ่นพี่ให้โอกาสและยินดีที่เราจะได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะอาชีพทางภาษา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชื่นชอบมาแต่ไหนแต่ไร จึงตกลงรับปากไปด้วยความตื่นเต้นแกมกลัวหน่อยๆ ว่าตัวเองจะทำได้ไหม

เตรียมความพร้อมก่อนเริ่มงาน ล่าม

ในที่สุด เราก็ได้รับอนุมัติให้เป็นหนึ่งในทีมล่ามอย่างเป็นทางการของงานประชุม ก่อนถึงวันทำงานจริง ก็คือขั้นตอนการเตรียมความพร้อม ซึ่งขั้นตอนนี้มีความสำคัญมากสำหรับงานล่าม หลายคนอาจคิดว่า การเป็นล่ามนั้นแค่สามารถพูดและเข้าใจภาษาต่างประเทศและถ่ายทอดออกมาเป็นอีกภาษาหนึ่งได้ก็พอแล้ว อย่างในกรณีนี้คือมีภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศและภาษาไทยเป็นภาษาของชาติเจ้าภาพ แต่ในความจริงแล้วงานล่ามมีอะไรที่ลึกซึ้งและต้องใส่ใจในรายละเอียดมากกว่านั้น

เมื่อได้รับกำหนดการในการทำงานของแต่ละวันมาแล้ว ลำดับต่อไปคือการเตรียมตัวด้านเนื้องาน ถึงจะสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ แต่ในบริบทของการทำหน้าที่ล่ามนั้น เราจะต้องเจอศัพท์ยากๆ ที่เป็นศัพท์เฉพาะในแวดวงต่างๆ อย่างงานนี้ ศัพท์เฉพาะที่ต้องพยายามทำความเข้าใจเป็นพิเศษคือ ศัพท์เฉพาะด้านกฎหมาย พระราชบัญญัติสถานประกอบการด้านธุรกิจสปาและการนวด สนธิสัญญาหรืออนุสัญญาต่างๆ รวมไปถึงชื่อเฉพาะขององค์กรทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความลื่นไหลในการทำงาน

นอกจากการเตรียมตัวด้านเนื้อหาแล้ว การเตรียมสุขภาพให้พร้อมกับการทำงาน โดยเฉพาะการดูแลถนอมเสียงนั้นยิ่งสำคัญ อีกทั้งรูปลักษณ์บุคลิกภาพที่ดีในการทำงาน เสื้อผ้า รองเท้า ทรงผม หรือแม้แต่การแต่งหน้าเอง ก็ล้วนสำคัญ  งานที่จัดในโรงแรมเช่นงานนี้ การสวมชุดกระโปรงทับด้วยเสื้อสูทสีสุภาพเป็นสิ่งที่เราเลือก เพราะนอกจากจะสุภาพ เหมาะกับงานแล้ว ยังสามารถป้องกันความหนาวเย็นจากอุณภูมิของเครื่องปรับอากาศได้อีกด้วย

และแล้ววันปฏิบัติงานจริงก็มาถึง

งานล่ามและงานแปลมีความเหมือนกันตรงที่ต้องถ่ายทอดความหมายจากภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่ง แต่ลักษณะของสารที่ได้รับจะมีความแตกต่างกันคือ งานแปลรับสารและถ่ายทอดเป็นตัวอักษร ส่วนงานล่ามจะรับสารและถ่ายทอดเป็นคำพูด ดังนันความกดดันในเนื้องานจะแตกต่างกันไป

ในงานประชุมครั้งนี้เรามีโอกาสได้ทำงานล่ามทั้งสองแบบคือ การล่ามแบบแปลตาม โดยผู้พูดหยุดให้ล่ามแปลเป็นระยะ (consecutive) และ การล่ามแบบแปลทันที โดยผู้พูดพูดไปเรื่อยๆ ไม่ได้หยุดให้ล่ามแปล (simultaneous)

ในช่วงแรกที่ได้รับมอบหมายเป็นการล่ามแบบแปลทันที เกี่ยวกับกฎหมายและพ.ร.บ.ธุรกิจสถานประกอบการสปาและการนวด ทางทีมงานจะแจกเครื่องพูดสำหรับล่ามและหูฟังสำหรับชาวต่างชาติ วิทยากรในห้องนี้จะพูดเป็นภาษาไทยและล่ามต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งนอกจากเราแล้วยังมีเพื่อนร่วมทีมที่เป็นผู้พิการทางสายตาอีกหนึ่งคนที่มาเป็นล่ามร่วมกัน

ในช่วงของการทำงานจริงเราพบว่า การทำงานล่ามนั้นใช้พลังงานเยอะมาก เพราะเมื่อเราแปลไปได้สักระยะหนึ่งคือเกือบๆ 20 นาที สมองเราจะเริ่มล้า ดังนั้นเวลาในการล่ามประมาณ 30 นาทีจึงเป็นเวลาที่เนื้องานจะมีประสิทธิภาพสูงสุด นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมจึงต้องมีล่ามหลายคนมาทำงานร่วมกัน เพราะจะได้เปลี่ยนให้อีกคนหนึ่งพักและสลับกันล่ามต่อได้

อีกปัญหาที่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับล่ามทุกคนคือ เรื่องของสำเนียงภาษาอังกฤษของคนแต่ละชาติ แน่นอนว่าประเทศในแถบเอเชียนั้นมักมีภาษาแม่เป็นของตนเอง ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาที่สองของท่านทั่งหลายเหล่านี้ โดยส่วนตัวแล้ว สำเนียงภาษาอังกฤษที่ฟังยากสำหรับเราคือสำเนียงภาษาอังกฤษของตัวแทนจากฟิลิปปินส์ เราต้องพยายามตั้งสมาธิฟังเป็นพิเศษ แต่ต้องยอมรับว่าตัวแทนจากฟิลิปปินส์นั้นมีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีมากทั้งในการฟัง พูด อ่าน เขียน ซึ่งปัญหาเรื่องสำเนียงนี้มีรุ่นพี่ตาบอดที่เป็นล่ามหลายๆ คนบอกเราว่า ต้องอาศัย ‘ชั่วโมงบิน’ ในการสร้างความเคยชิน

อีกประเด็นคือวิทยากรชาวต่างชาติที่พูดภาษาอังกฤษแบบชนิดที่เรียกได้ว่าเร็วกว่าจรวด อันนี้ทำให้เราและเพื่อนล่ามด้วยกันเหงื่อตกเลยทีเดียว เพราะในขณะที่เราพูดคำแปลผ่านเครื่องล่ามออกไปเป็นภาษาไทยให้ผู้ฟังชาวไทยได้ทราบความหมาย วิทยากรก็พูดเลยจากนั้นไปหลายประโยคแล้ว จึงต้องพยายามช่วยกันประคองการแปลไปให้ได้จนจบการรายงานของวิทยากรท่านนั้น ซึ่งไม่รู้ว่าล่ามแต่ละคนจะขำหรือจะเหนื่อยดี กับการแปลภาษาที่ต้องไวปานจรวดของพวกเรา

การมีทีมที่เข้าใจนั้นถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะหากล่ามคนหนึ่งติดขัดตรงไหน ล่ามอีกคนก็สามารถมาช่วยรับช่วงต่อได้ ยิ่งเป็นงานประชุมที่มีการจัดงานต่อกันหลายวันเช่นนี้แล้ว เพื่อนร่วมทีมล่ามที่สามารถทำงานเข้ากันได้จึงเป็นอะไรที่ช่วยเราได้มาก

นอกจากนี้ยังมีในส่วนของพิธีเปิด การกล่าวรายงานต่างๆ และการเสวนาบนเวทีที่เราจะต้องแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ หรือจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ร่วมกับทีมงานล่ามด้วยกันอีก 3 คน ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตาด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสนธิสัญญามาร์ราเคชที่เอื้อประโยชน์ต่อการผลิตสื่อที่คนตาบอดหรือคนพิการทางสื่อสิ่งพิมพ์สามารถเข้าถึงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายลิขสิทธิ์ แอพลิเคชั่นของธนาคารกสิกรไทยและแอพลิเคชั่นนำทางบนโทรศัพท์มือถือที่คนตาบอดสามารถใช้งานได้ซึ่งได้รับการออกแบบจากทีมงานของครูชาวอเมริกันที่ชื่อโจ คอร์ฟ หรือการกล่าวรายงานสถานการณ์ของผู้พิการทางสายตาในแต่ละประเทศที่มาร่วมงานในครั้งนี้ โดยมีด๊อกเตอร์ เฟรดริก เค โชรลเดอร์ ประธานสหภาพคนตาบอดโลก, มิชิโกะ ทาบาตะ ประธานสหภาพคนตาบอดโลกในเขตภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มณเฑียร บุญตัน สมาชิกสภานิติบัญญัติและตัวแทนจาก 7 ชาติอาเซียนร่วมรายงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ที่สนใจเข้าฟังการประชุม

ทว่า ช่วงที่ถือว่าหินที่สุดสำหรับเราคือ ช่วงหัวข้อ ‘สถานการณ์ปัจจุบันของสตรีตาบอดในระดับนานาชาติสู่โอกาสในการพัฒนาสตรีตาบอดในประเทศไทย’ ซึ่งวิทยากรในหัวข้อนี้คือคุณมิชิโกะ ประธานสหภาพคนตาบอดโลกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เธอเองเป็นผู้พิการทางสายตาประเภทสายตาเลือนราง เรื่องที่ว่าหินนั้นไม่ใช่เพราะเรื่องสำเนียง เพราะคุณมิชิโกะสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี แต่ในการล่ามครั้งนี้ เราต้องทำงานประกบกับคุณมิชิโกะเพียงลำพัง เพราะเพื่อนล่ามต้องแยกไปห้องอื่นๆ ที่จัดขึ้นในเวลาเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้นการเป็นล่ามในช่วงนี้ยังจะต้องล่ามแบบแปลเป็นระยะ ซึ่งผู้พูดจะหยุดให้เราพูดเป็นระยะ ต้องแปลแบบประโยคต่อประโยคเลยทีเดียว สำหรับเราถือว่าค่อนข้างยากและกดดันพอดู ยิ่งต้องนั่งอยู่ข้างๆ วิทยากรในเวลาพูด โดยมีสายตาของคนฟังจับจ้องด้วยแล้ว ถึงเราจะมองไม่ค่อยเห็นแต่รู้สึกได้เลยว่าตัวเองค่อนข้างตื่นเต้นกับบรรยากาศ แต่ก็พยายามรวบรวมสมาธิในการฟัง ประมวลผล และแปลออกมาเป็นคำพูดให้ได้ครบถ้วนตามที่วิทยากรต้องการนำเสนอ ซึ่งเวลากว่า 40 นาทีที่ต้องล่ามคนเดียวนั้นถือว่าเป็นงานยากสำหรับมือใหม่อย่างเราเลยทีเดียว

สิ่งที่ล่ามตาบอด มืออาชีพ บอกกับล่ามตาบอด มือใหม่

ทักษะส่วนใหญ่ของการทำงานล่ามคือการฟังจากภาษาต้นทาง ประมวลผลแปลในสมอง และพูดออกมาเป็นภาษาปลายทาง ซึ่งจะเห็นว่าเป็นงานที่แทบไม่ได้ใช้สายตาเลย เราเลยคิดว่าอาชีพล่ามเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคนตาบอดหรือคนสายตาเลือนรางที่มีความรัก ความชอบในด้านภาษา จะมีบ้างในส่วนของรายละเอียดปลีกย่อยบางอย่างที่ต้องใช้สายตาร่วมด้วย อย่างเช่นการจับปฏิกิริยาท่าทางของผู้พูดที่อาจส่งผลต่อการแปลความหมายในประโยคนั้นๆ เราเองก็คิดไว้แต่แรกว่าอาจเจอปัญหาแบบนี้บ้าง แต่พอถึงหน้างาน แล้ว สิ่งที่เรากังวลกลับไม่เป็นปัญหาอย่างที่คิด เราพบว่า เรามีความสามารถในการฟังน้ำเสียงของผู้พูดที่มีมากกว่าแค่คำพูด ว่าเนื้อเสียงของผู้พูดนั้นแสดงออกถึงอะไรบ้าง อาจบอกได้ถึงพลัง แรงบันดาลใจ ทัศนคติแง่บวก ความประหม่า หรือความไม่มั่นใจมากบ้างน้อยบ้างตามแต่บุคคล มันอาจจะเป็นทักษะพิเศษที่มีในตัวคนตาบอดหลายๆ คนก็เป็นได้  เพราะในขณะที่เรา ‘สูญเสียการมองเห็นด้วยตา’ สิ่งที่เราได้รับทดแทนกลับมาคือ ‘การมองเห็นได้ด้วยใจ’

อยากบอกหลายคนว่า อาชีพทุกอาชีพย่อมมีคุณค่าและความยากง่ายต่างกันไป งานล่ามเองก็เช่นกัน อาจมีคนมากมายที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นล่ามได้ ยิ่งกับคนที่มีความบกพร่องทางการเห็นแล้ว ถือได้ว่างานนี้มีความท้าทาย มีหลายภารกิจที่ทำให้เราต้องพยายามก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองเพื่อให้งานสำเร็จบรรลุเป้า

แต่เชื่อไหมว่า สิ่งที่ยากที่สุดในการเป็นล่ามคือการตกลงใจกับตัวเองว่า ‘เอาล่ะ...ฉันจะลองลงสนามงานล่ามกับเขาบ้างแล้วนะ’  เพราะพอเราตัดสินใจทำแล้ว กระบวนการต่างๆ ที่จะทำให้เราทำงานออกมาได้ดีนั้นก็จะตามมาเอง ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมตัว การหาความรู้เพิ่มเติม หรือการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การทำงานล่ามอย่างเป็นทางการครั้งแรกของเรานี้ เรายอมรับว่าตัวเองยังมีข้อบกพร่องที่จะต้องแก้ไขและพัฒนา เพื่อให้งานออกมาดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการเป็นล่าม ทักษะทางภาษาอังกฤษที่ต้องการเพิ่มเติมให้มีประสิทธิภาพขึ้นไปอีก หรือแม้แต่การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง การออกเสียงตัว ร ล หรือคำควบกล้ำ

อย่างไรก็ดี คุณมิชิโกะ ผู้ที่นอกจากจะทำงานในองค์กรนานาชาติอย่าง World Blind Union Asia Pacific แล้ว เธอยังเป็นคนหนึ่งที่มีใจรักในด้านภาษา และเคยเป็นล่ามอังกฤษ-ญี่ปุ่นมาก่อนด้วย เธอได้ให้ข้อคิดกับเราไว้อย่างหนึ่งที่น่าสนใจและเราจดจำได้เป็นอย่างดี มีใจความโดยรวมว่า

“ถ้าเธอพยายาม 100 ผลที่ได้กลับมาคือ 80 เพราะงั้นอย่ากังวลถ้าผลมันจะออกมาน้อยกว่าที่เธอพยายามไป ให้เธอโฟกัสไปในจุดที่ว่าเธอทำเต็มที่ เพราะถ้าเธอพยายามที่ 80 ไม่มีทางที่เธอจะได้ผลตอบกลับมาเท่ากับ 80 อย่างในกรณีแรก เข้าใจใช่ไหมคะ” มิชิโกะกล่าว