Skip to main content

รู้จัก "มีดี" หุ่นยนต์มนุษย์ช่วยพัฒนา-ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เชื่อช่วยให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษมีพัฒนาการการสื่อสาร-สมาธิในการเรียนดีขึ้น



ภาพจากเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์พาไปทำความรู้จักกับ "หุ่นยนต์มีดี" หุ่นยนต์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็ก ซึ่งรวมถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เเละเด็กที่ต้องการเสริมทักษะด้านการสื่อสาร ด้วย หุ่นยนต์นี้มีเอกลักษณ์คือความคล้ายมนุษย์ มาพร้อมกับกล่องบังคับหุ่นยนต์เเละตัวฝึกพูด โดยผู้ใช้สามารถควบคุมหุ่นยนต์ เเละอัดเสียงคำสั่งต่างๆ ที่ต้องการให้หุ่นยนต์สื่อสารออกมา เช่น ครูอัดเสียงการสอนวิชาภาษาไทยลงไป เเล้วนำไปเปิดให้เด็กๆฟังเพื่อช่วยในการเสริมทักษะการเรียนรู้



ภาพจากเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


รศ.ดร.ปัณรสี ฤทธิประวัติ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ริเริ่มโครงการหุ่นยนต์มีดี เล่าจุดเริ่มต้นในการสร้างว่า หุ่นยนต์มีดีถูกพัฒนาต่อยอดจากหุ่นยนต์เสริมการกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติก ซึ่งพัฒนามากว่า 6 ปี โดยโครงการวิจัยนี้มุ่งพัฒนาหุ่นยนต์ในการเสริมการกระตุ้นพัฒนาการหรือจัดกิจกรรมบำบัดที่โรงเรียน โรงพยาบาลหรือที่บ้าน ที่ผ่านมา หุ่นยนต์รุ่นก่อนจะเน้นการฝึกเลียนแบบท่าทางและการฝึกพูด ส่วนหุ่นยนต์มีดีนั้นเน้นให้ผู้ใช้สามารถพัฒนาโปรแกรมการสอนได้ด้วยตนเอง ตัวหุ่นยนต์สามารถตั้งโปรแกรมได้ง่าย ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกปรับการเรียนการสอนให้เหมาะกับเด็กแต่ละรายได้ อีกทั้งมีขนาดเล็กสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ทำให้การนำไปใช้งานจริงทำได้ทั่วถึงกว่าหุ่นยนต์รุ่นที่ผ่านๆมา

"อุปสรรคในการพัฒนาหุ่นยนต์นั้นมีอยู่บ้างเนื่องจากเป็นการทำหุ่นยนต์ให้ใช้งานได้กับคนทั่วไป ที่ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านเทคโนโลยีมาก่อน ทำให้การออกแบบและพัฒนาวิธีการใช้งานนั้นต้องง่ายที่สุด เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะถ้าทำออกมาไม่ดี คนใช้ก็อาจจะไม่อยากใช้อีก ทำให้ต้องศึกษาและพัฒนาวิธีการไปด้วย"

หุ่นยนต์มีดีนั้นได้รับการสนับสนุนจากทุนวิจัย 3 แห่งด้วยกัน คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) โดยสนับสนุนทุนวิจัยตั้งแต่การศึกษาและพัฒนาหุ่นยนต์ ทดสอบการใช้งานทั้งในโรงเรียนและโรงพยาบาล



ภาพจากเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


รศ.ดร. ปัณรสี เล่าถึงการนำหุ่นยนต์ไปใช้กับเด็กๆ ว่า เมื่อเอาหุ่นยนต์ไปใช้ในโรงเรียนเฉลิมไฉไลวิทยา จ.สมุทรปราการ ศูนย์พัฒนาการเด็กพิเศษพระมหาไถ่ พัทยา  จ.ชลบุรี และบ้านเรียนชวนชื่น จ.ปทุมธานี เป็นเวลา 3 เดือน และโรงพยาบาลดอนตูม เป็นเวลา 2 เดือน โดยใช้สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 30-60 นาที พบว่า เด็กๆ ปรับตัวกับการใช้หุ่นยนต์ในการเรียนการสอนได้ดี ครูและนักกิจกรรมบำบัดให้ความเห็นว่า หุ่นยนต์สามารถใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนให้กับเด็กได้ โดยมีการติดตามประเมินผลด้วยทีมนักกิจกรรมบำบัดเพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการก่อนและหลังการใช้หุ่นยนต์ด้วย

"เด็กที่เข้าร่วมโครงการกว่า 60% มีพัฒนาการที่ดีขึ้นในด้านต่างๆ บางคนให้ความร่วมมือดีขึ้น บางคนให้ความสนใจในกิจกรรมการสอนนานขึ้น หรือเข้าใจคำศัพท์มากขึ้น ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีพัฒนาการที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ดี เด็กบางรายมีพัฒนาการคงที่ บางรายก็มีความสนใจเพียงระยะแรกๆ เมื่อคุ้นชินก็เริ่มสนใจทำกิจกรรมอย่างอื่นมากกว่า ทำให้ครูต้องพยายามปรับรูปแบบการสอนให้หลากหลายไปด้วย ผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นแนวโน้มที่ดีของการนำหุ่นยนต์ไปใช้เสริมการสอนในโรงเรียนและโรงพยาบาลร่วมกับการจัดการเรียนการสอนด้านอื่นๆ"



ภาพจากเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


สำหรับอนาคตการต่อยอดหุ่นยนต์ ทีมวิจัยได้รับทุนต่อยอดจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)ในการพัฒนาหุ่นยนต์รุ่นใหม่ที่มีรูปลักษณ์สวยงาม และสามารถทำงานได้ตอบโจทย์ผู้ใช้มากยิ่งขึ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในสิ้นปีนี้ โดยมีลักษณะคล้ายมนุษย์เช่นเดิม แต่จะทำงานได้หลากหลายขึ้นและสวยงามกว่าเดิม

แม้ปัจจุบันจะยังไม่ได้จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ แต่ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาแผนธุรกิจและหานักลงทุน รวมถึงมีแผนขยายกลุ่มผู้ใช้งานไปยังกลุ่มผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุต่อไป ซึ่งผลตอบรับหุ่นยนต์มีดีรุ่นนี้ค่อนข้างดี เวลาไปจัดแสดงงานตามนิทรรศการต่างๆ มักได้รับความสนใจมากทั้งจากเด็กๆ ทั่วไปหรือผู้ปกครองของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ