Skip to main content

เมื่อพูดถึง  “ผู้ป่วยจิตเวท” หลายคนคงนึกถึงคนที่พูดจาด้วยไม่รู้เรื่อง สติสตังไม่ครบสมประกอบ หรือติดภาพการเป็น “คนบ้า” อย่างที่เห็นในสื่อบันเทิง ตัวแสดงที่รับบทโรคจิต แสดงท่าทางงุนงง สับสน เดี๋ยวก็จำญาติได้ เดี๋ยวก็จำไม่ได้ บางครั้งก็ทำท่าทางเซ่อซ่า ไม่ประสีประสาราวกับเป็นเด็ก

การฉายภาพคนที่มีภาวะทางจิตเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ผู้ป่วยหลายคนไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่าง ‘ปกติ’ ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ หรือหากรู้ตัวว่า มีภาวะทางจิตเภท ก็เลือกที่จะปิดบัง และมักมองว่าเป็นปมด้อยที่ทำให้พวกเขาถูกกีดกันออกจากสังคม

ผู้ป่วยจิตเภทคือใคร

โรคจิตเภท (Schizopheria) [1]จัดอยู่ในกลุ่มโรคจิตเวช ไม่ใช่โรคซึมเศร้า (Depression) หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) ที่เรามักได้ยินกันบ่อยๆ แต่รู้หรือไม่ว่า โรคจิตเภทมีโอกาสเกิดขึ้นได้เยอะถึง 1 ใน 100 คนและในทุกๆปี จะมีผู้ป่วยใหม่ที่มีอาการ 1 คน ต่อประชากร 10,000 คน

เยอะจนอาจกล่าวได้ว่า ผู้ป่วยจิตเภทก็คือคนที่เดินสวนกับเราในทุกๆ วันนั่นแหละ

แม้ฟังแล้วจำนวนเยอะ แต่อาการของโรคจิตเภทของแต่ละคนก็ไม่ได้เหมือนกันจนสามารถระบุได้ว่าคนนี้เป็น หรือคนนี้ไม่เป็น โดยส่วนมาก เราแบ่งอาการเป็น 3 ระยะได้แก่ ระยะเริ่มมีอาการ ระยะอาการกำเริบ และระยะอาการหลงเหลือ เมื่อเริ่มมีอาการ การเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป ต้องเป็นคนที่สนิทและใกล้ชิดจริงๆ จึงจะเห็นว่า ผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น เก็บเนื้อเก็บตัว ขลุกอยู่แต่ในบ้าน เปลี่ยนเรื่องที่ตนเองสนใจ หรือหันไปหมกมุ่นอยู่กับบางอย่างมากเป็นพิเศษ หรือกลายเป็นคนขี้เกียจ เมื่อก้าวเข้าสู่สเต็ปถัดไป หรือระยะอาการกำเริบ ไม่จำเป็นจะต้องมีสิ่งเร้าเท่านั้นที่ทำให้เกิดอาการ แต่การหลงผิด หูแว่ว วุ่นวาย ว้าวุ่น ฯลฯ สามารถเกิดขึ้นได้เอง เช่น การนำเรื่องของตนโยงเข้ากับเรื่องภูตผีปีศาจ มีคนจะทำร้าย หรือได้ยินเสียงแปลกๆ

อาการที่เราเคยขบขันเมื่อเห็นในละครอย่างการหลงลืม กลัวว่าคนอื่นรู้ว่าเราคิดอะไร หรือมโนเอาเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน มาเกี่ยวกันอย่างดื้อๆ หรือจู่ๆก็หัวเราะขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยนั้น จริงๆ แล้วเป็นอาการทางจิตเภท ซึ่งไม่ได้น่าขนขัน เพราะหากไม่รักษาอาการเหล่านี้มีสิทธิจะเรื้อรัง จนยืดเยื้อเข้าสู่ระยะอาการคงเหลือ แม้อาการกำเริบจะน้อยลงมากๆ แล้วในช่วงนี้ แต่ก็ยังมีโอกาสเป็นขึ้นมาอีกได้ ส่วนใหญ่คนที่เป็นมีอายุอยู่ในช่วง 20-30 ปีเศษ และมักพบน้อยลงเมื่ออายุ 45 ขึ้นไป

ความเชื่อที่ว่า “ต้องครอบครัวแตกแยกแน่ๆ เลยโตมาโรคจิต”

เดิมทีเชื่อกันว่า การเลี้ยงที่ไม่ถูกต้อง ทำให้โตไปเป็นโรคจิตเภท (?)

แต่จริงๆแล้ว ไม่จริงเลยสักนิด สาเหตุหลักของโรคจิตเภทมาจากความผิดปกติของระบบในร่างกาย อย่างเช่น กรรมพันธุ์ ญาติของผู้ป่วยมีโอกาสเป็นโรคจิตเภทสูงกว่าคนอื่น ยิ่งใกล้ชิดทางสายเลือดมากยิ่งมีโอกาสสูง กลับกันคู่แฝดที่มีไข่ใบเดียวกัน (แฝดที่มีหน้าตาเหมือนกันเพศเดียวกัน) หากคนหนึ่งเป็น ก็ไม่ได้แปลว่าอีกคนจะเป็น แสดงให้เห็นว่าแม้กรรมพันธุ์จะมีส่วนในการเกิดโรคแต่ก็ไม่ใช่ไปทั้งหมด นอกจากรรมพันธุ์แล้ว ยังมีการกล่าวว่า ภาวะนี้เกิดจากการหลั่งที่มากไปของสารเคมีในสมองที่ชื่อโดปามีน (dopamine) ยารักษาโรคจึงต้องออกฤทธิ์ยับยั้งการออกฤทธิ์ของสารโดปามีนนี้

นอกจากสารโน้นนี้แล้ว ความผิดปกติของสมอง ก็เป็นสาเหตุหนึ่ง อย่างช่องในสมอง (ventricle) โตกว่าปกติ จนเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนหน้าลดลง การทำงานจึงไม่เต็มที่

ไม่ใช่ทุกคนที่มีปัญหาทางจิต เป็นอาชญากร[2]

ไม่ว่าภาวะจิตเภทจะเกิดจากสารเคมีในสมองผิดปกติ ความผิดปกติของสมอง หรือกรรมพันธุ์ แต่ตามสถิติกลับพบว่า ผู้ป่วยไม่ได้ก่ออาชญากรรมมากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าผู้ป่วยจิตเวชนั้นก่ออาชญากรรมต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปมาก ประวัติการอยู่โรงพยาบาลโรคจิต และการวินิจฉัยโรค จึงไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับอัตราการเกิดพฤติกรรมรุนแรง

หากจะบอกว่าน้อยเพียงใด ตามสถิติแล้วมีผู้ป่วยจิตเวชเพียง 3% เท่านั้น ที่มีพฤติกรรมรุนแรง หากแต่สื่อต่างๆ แสดงภาพว่าผู้ป่วยนั้นอันตราย ทั้งๆ ที่มีคดีน้อยมากเมื่อเทียบกับคดีอาชญากรรมที่เกิดจากการกระทำของคนทั่วไป

นอกจากนี้สถิติยังพบว่า ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะเป็นเหยื่อของความรุนแรงมากกว่าเป็นผู้ก่อความรุนแรง แต่มักไม่เป็นที่จดจำเท่ากับเมื่อผู้ป่วยก่อเหตุความรุนแรง หากดูเมื่อปี 2548 ผู้ป่วยโรคจิตเภทชื่อจิตรลดา ใช้มีดแทงเด็ก ซึ่งหลายคนอาจจะยังจำได้ แต่ในช่วง12ปีที่ผ่านมา เราอาจจำกันไม่ได้ว่า คนป่วยที่โดนทำร้ายนั้นมีใครบ้างและพวกเขาทำอะไร

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน มีข่าวการทำร้ายร่างกายหนุ่มที่มีภาวะทางจิต “น้องบูม” โดยคนที่เห็นเหตุการณ์เล่าว่า บูมมีการไม่พูดจากับใคร และมักมานั่งหน้าเซเว่นและซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกินประจำ วันนั้นได้ยินเสียงวัยรุ่นทำร้ายร่างกายกัน และพบว่าเป็นบูม ด้านแม่ของบูมกล่าวว่า บูมรักษาตัวมาได้สักพัก แต่ก็หยุดไป เขามีอาการเดินไปทั่ว และไม่พูดไม่จากับใคร วันเกิดเหตุลูกชายออกมาเที่ยวงานเทศกาลผลไม้ และตนไม่ทราบว่ามีการเข้าใจผิดหรือเรื่องอะไรกัน จนถูกทำร้ายร่างกายบริเวณศีรษะจนเกิดเลือดคั่งในสมอง

จิตเภท = ความพิการประเภทหนึ่ง ไม่ใช่บุคคลไร้ความสามารถ

แม้ภาพที่สังคมมองผู้ป่วยกลุ่มนี้ ค่อนข้างหลุดออกไปจากคำว่าคนพิการที่คุ้นเคย แต่ภาวะทางจิตเภทนั้นก็ถือว่าเป็นความพิการประเภทหนึ่ง คนพิการทางจิตหลายคนเคยพูดไว้ว่า การมีบัตรคนพิการที่ระบุว่าพวกเขานั้นมีความบกพร่องทางจิต ทำให้หลายคนตัดสินไปแล้วว่าพวกเขาเป็นบุคคลไร้ความสามารถ ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับคนในสังคม หรือเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างคนอื่นๆ

นุชจารี สว่างวรรณ นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต เคยกล่าวไว้ในเว็บไซต์ประชาไทว่า ทุกวันนี้สังคมยังไม่เข้าใจผู้ป่วย คนพิการทางจิตมีสองแบบ คือคนที่จดทะเบียนเป็นคนพิการ กับคนที่ไม่ได้จดทะเบียน บางครอบครัวไม่ให้ผู้ป่วยจดทะเบียนคนพิการทางจิตเพราะกลัวว่าสังคมจะไม่ยอมรับ เสียหายต่อชื่อเสียงวงศ์ตระกูล

นอกจากนี้ เธอเสริมว่า สำหรับคนพิการทางจิต ทุกคนจะเข้าใจว่าเป็นบุคคลไร้ความสามารถ ไม่สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือทำนิติกรรมใดๆ ได้ ทั้งที่จริงๆแล้ว บุคคลจะไร้ความสามารถต้องให้ศาลสั่งเท่านั้น คนพิการทางจิตถ้าหาหมอรักษาสม่ำเสมอ กินยา ชุมชนให้การสนับสนุนเขาก็สามารถใช้ชีวิตได้ ในทุกๆ 8 ปี พวกเขาต้องกลับมาให้หมอประเมินความพิการใหม่ เพราะอาการอาจหายได้ รวมทั้งหลายคนอาจไม่ต้องจดทะเบียนคนพิการ เพราะเป็นแค่ผู้ป่วยที่ต้องกินยาเท่านั้น

“คนพิการมีสิทธิตั้งแต่เกิดเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป คนพิการไม่ใช่คนผิดปกติ เราบกพร่องบางอย่าง คำบางคำที่เกี่ยวข้องกับคนพิการอยากให้สังคมเรียนรู้ด้วยกัน ใช้คำที่เราเข้าใจเหมือนกัน เช่น อย่าใช้คำว่าคนปกติกับคนผิดปกติ ควรใช้คำว่าคนทั่วไปกับคนพิการ” นุชจารีกล่าว



[1] http://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-0855

[2] http://www.healthcarethai.com