Skip to main content

การออกแบบพื้นที่สาธารณะและที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับทุกคน ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุและคนพิการ หรือ Universal design ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด และมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งหลักการของการออกแบบเพื่อประโยชน์ใช้สอยของคนได้ทั้งหมดจำเป็นต้องคำนึงถึงการใช้งานให้ครบทุกมิติ ความเท่าเทียม มีความยืดหยุ่นต่อการใช้งานได้หลายรูปแบบ เรียบง่าย สามารถเข้าใจได้ทันที ยอมรับในความแตกต่าง ใช้พลังทางกายภาพต่ำ และมีขนาดกับพื้นที่ที่รองรับต่อการใช้งานได้จริง

ลองมาดูกันว่า พื้นที่สาธารณะที่ต้องรองรับการใช้งานของคนจำนวนมาก ทั้งยังมาจากหลากหลายที่มา พวกเขารับมือกับความแตกต่างเหล่านี้และออกแบบเพื่อให้ผู้ใช้งานทุกคนได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการต่างๆ ได้อย่างไร

เว็บไซต์ the matter รายงานว่า หากลองนึกถึงผู้สูงอายุที่อยากเดินทางโดยรถสาธารณะ แต่กลับไม่มีลิฟต์ให้บริการหรือขั้นของบันไดรถเมล์ที่สูงเกินจะก้าวถึง ผู้พิการที่ไปพักผ่อนในโรงแรมแต่กลับไม่มีทางสำหรับวีลแชร์ ไปจนถึงห้องน้ำในห้างสรรพสินค้าที่ไม่มีอ่างล้างมือสำหรับเด็กเล็ก

ประเด็นเหล่านี้กำลังเน้นย้ำให้เราเห็นความสำคัญของการออกแบบเพื่อมวลชน หรือ Universal design หรือในชื่ออื่นที่หลายคนอาจคุ้นหูกันมาบ้างอย่าง Inclusive design ความคิดในการออกแบบในการสร้างอาคาร ผลิตภัณฑ์ และสภาพแวดล้อมที่ทุกคนเข้าถึงและเข้าใช้งานได้ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะมีความแตกต่างกันทั้งทางอายุ ความสามารถ สถานะ หรือความพิการ ประเทศไทยของเราที่เป็นสังคมผู้สูงอายุในวันนี้ ยิ่งทำเรื่องของการออกแบบเพื่อมวลชนนั้นเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง โดยคอนเซปต์ง่ายๆ ของการออกแบบนี้ก็คือการ “กำจัดอุปสรรค” ออกไป เพื่อให้การเข้าถึง การเคลื่อนไหว และการปรับใช้ นั้นเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

หลักการของการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลนั้นจำเป็นที่ต้องคำนึงถึงการใช้งานให้ครบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นใช้งานได้อย่างเท่าเทียม, ยืดหยุ่นต่อการใช้งานได้หลายรูปแบบ, เรียบง่ายและเข้าใจได้ทันที, ยอมรับในความแตกต่าง, ใช้พลังทางกายภาพต่ำ และมีขนาดกับพื้นที่ที่รองรับต่อการใช้งานได้จริง

เพราะความแตกต่างของบริบทที่รายล้อมเวลาเราเข้าไปใช้งานในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่เช่น สวนสาธารณะ อาคารทางประวัติศาสตร์ ถนนหนทาง แหล่งท่องเที่ยว สถานีรถไฟ พิพิธภัณฑ์ ความแตกต่างของผู้ใช้งานจำนวนมากที่มาจากหลากหลายที่มา ทำให้แนวคิดเรื่องการออกแบบเพื่อมวลชนนั้นเข้ามาตอบโจทย์ และเป็นการสร้างประชาธิปไตยในการเข้าถึงและเข้าใช้บริการของพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งบริบทที่แตกต่างกันของผู้ใช้งานนั้นก็มีตั้งแต่ ภาษา (ทำไมป้ายห้องน้ำถึงไม่เขียนเป็นคำ แต่ใช้รูปภาพที่เป็นพิกโตแกรมแทน เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคทางภาษานั่นเอง) วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ระดับของการให้คุณค่า สิ่งเหล่านี้ทำให้พื้นที่สาธารณะและนักออกแบบต้องทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าใช้งานให้ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้ใช้ได้จริง

 

พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MoMA : The Museum Of Modern Art)

เพราะเชื่อในพลังของศิลปะว่าสามารถเป็นตัวกลางที่เชื่อมต่อผู้คนเข้าหากันได้ และสิทธิ์ในการเข้าถึงศิลปะควรจะเป็นของคนทุกคนอย่างเท่าเทียม พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MoMA) จึงคำนึงถึงการใช้งานของคนทุกๆคน ตั้งแต่เรื่องของการเข้าถึง สถานที่ตั้งด้านหน้ามีทางเข้าสำหรับรถเข็นโดยเฉพาะ จากทางเข้าจนถึงห้องน้ำที่เชื่อมต่อกับน้ำพุส่วนกลาง ก็เป็นมิตรกับทั้งรถเข็นทั่วไปและรถเข็นไฟฟ้า ครอบคลุมไปจนถึงสัตว์นำทางอย่างสุนัขสำหรับคนตาบอดก็ยินดีต้อนรับ นอกจากนี้ยังมีทัวร์ โปรแกรม และกิจกรรมสำหรับผู้พิการในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องช่วยฟังมีพร้อมให้บริการสำหรับงานเสวนา ล่ามแปลภาษามือมีรองรับเพียงแจ้งความต้องการล่วงหน้า นอกจากนี้แผนที่พิพิธภัณฑ์และสูจิบัตรงานแสดงนิทรรศการยังมีให้บริการในรูปแบบอักษรเบรลล์ แผ่นพิมพ์ขนาดใหญ่ และมีตัวหนังสือใหญ่ สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางสายตา พร้อมมีเครื่องออดิโอสำหรับผู้พิการทางสายตาบอกเล่าเรื่องราวของแต่ละส่วนจัดแสดงอย่างละเอียดอีกด้วย

สวนสาธารณะบรู้คลินบริดจ์

Michael Van Valkenburgh Associates คือหน่วยงานที่รับหน้าที่ออกแบบสวนสาธารณะบรู้คลินบริดจ์แห่งนี้ ด้วยการเลือกใช้แนวคิดการออกแบบเพื่อมวลชนเข้าไปเป็นหัวใจสำคัญตั้งแต่วันแรก เมื่อใครๆ ที่มาแลนด์มาร์กแห่งนี้ก็อยากจะขึ้นไปเดินเล่นบนสะพาน มองเห็นวิวได้ทั้งเมือง ไหนจะได้เห็นเทพีเสรีภาพหรือแมนฮัตตันสกายไลน์ การออกแบบพื้นที่ส่วนกลางสำหรับคนในเมืองแห่งนี้จึงคำนึงถึงการเข้าถึงของคนทุกกลุ่มทุกวัย ด้วยการมีพื้นที่ทางลาดความกว้าง 8 ฟุต สำหรับรถเข็นวีลแชร์ทั้งจาก 2 ฝั่งคือฝั่งบรู้คลินและฝั่งแมนฮัตตัน ปลายทางที่เชื่อมสวนสควิบบ์ พาร์ก (Squibb Park) ผ่านสะพานสควิบบ์บริดจ์ (Squibb Bridge) ก็ถูกออกแบบให้เป็นทางลาดที่มีราวจับ เพื่อให้ผู้ที่นั่งวีลแชร์ข้ามสะพานนี้ได้ด้วยตัวคนได้ โดยสะพานที่มีความยาว 395 ฟุตนี้จะค่อยๆ ลาดลงอย่างช้าๆ จากหัวสะพานสู่ปลายสะพานซึ่งมีความสูงต่างกันถึง 30 ฟุต

ไม่ใช่แค่เพียงพื้นที่สาธารณะจากต่างประเทศเท่านั้น แต่ในประเทศไทยของเราก็มีหน่วยงานหรือธุรกิจต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อมวลชนเช่นนั้น นั่นเป็นเพราะวิสัยทัศน์ในการเข้าใจผู้ใช้งาน และให้การออกแบบเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การเข้าถึงบริการต่างๆ นั้นเป็นของทุกคนอย่างเท่าเทียม

สถานีบริการน้ำมัน ปตท. (PTT Friendly Design)

ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา มีโอกาสได้แวะสถานีบริการน้ำมัน ปตท. เริ่มเห็นการปรับปรุงสถานีบริการน้ำมันให้เป็นรูปแบบ Friendly Design ซึ่งเป็นสถานีบริการน้ำมันแห่งแรกในประเทศไทยที่เป็น Truly Friendly Life โดยโครงการนี้เป็นการยกระดับการบริการให้เป็นมากกว่าสถานีบริการน้ำมัน ภายใต้แนวคิด ‘อารยสถาปัตย์’ โดยมุ่งเน้นไปที่การรองรับ การอำนวยความสะดวก-ปลอดภัย และตอบสนองความต้องการของลูกค้า ปตท. ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย โดยมีการทำ Sign Icon และ Highway Sign ที่เป็นสัญลักษณ์บอกให้ทุกคนรับรู้ว่าสามารถเข้ามาใช้บริการที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ได้อย่างสะดวกสบาย ด้วยเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการเป็น One of A Good CSR  ที่ต่อยอดจากโครงการ PTT Life Station (Station for life) ที่เป็นบริการครบวงจร (One stop service) คือสถานีเดียวครอบคลุมครบทั้งไลฟ์สไตล์ ความสะดวก ความปลอดภัย ในการใช้บริการคนทุกสภาพร่างกาย

จากการที่ ปตท. ได้รับมอบหมายจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ให้ออกแบบสร้างห้องน้ำและที่จอดรถให้ผู้พิการ ทาง ปตท. จึงนำภารกิจนี้มาต่อยอดเป็นสถานีบริการน้ำมันที่สะดวกต่อการใช้บริการของคนทุกคน โดยเฉพาะกับคนพิการที่ก็สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้อย่างสะดวก เพราะมีทั้งพื้นยกระดับทางลาดสำหรับรถเข็นวีลแชร์ที่เชื่อมโยงทุกร้านค้า (ร้านสะดวกซื้อ – ร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน), ห้องน้ำสำหรับคนพิการ คนชรา สตรีมีครรภ์, ที่จอดรถสำหรับคนพิการ-ผู้หญิง โดยเฉพาะ, ปุ่มกดฉุกเฉินสำหรับคนพิการ, ทางลาดขึ้นทางเดินที่ควบคู่กับบันได และกล้อง CCTV เพื่อความปลอดภัยทุกจุด สามารถให้ทุกคนเข้ามาใช้บริการได้

 

บ้านทาวน์เฮ้าส์ใจดี

บ้านต้นแบบที่มาพร้อมคอนเซปต์ในการออกแบบอย่าง Dial Free กับ Trans Generation ที่คำนึงถึงการอยู่ร่วมกันของสมาชิกในครอบครัวที่มีความหลากหลาย ทั้งช่วงวัย เพศ และรูปแบบการใช้ชีวิตเป็นสำคัญ ภายใต้การร่วมมือกันของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ออกแบบบ้านให้เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการช่วยเหลือตนเองได้

บ้านทาวน์เฮ้าส์ใจดีเริ่มตั้งแต่ทางเข้าบ้าน ด้วยการสร้างที่จอดรถขนาดกว้าง 2.40 ยาว 6 เมตร เว้นพื้นที่ประมาณ 1 เมตร สำหรับผู้พิการที่ขับรถยนต์ได้ ทางเข้าบ้านสร้างเป็นทางลาดเอียง 1 ต่อ 12 สำหรับการใช้วิลแชร์ได้ด้วยตนเอง พร้อมทำปุ่มเตือนตรงจุดเริ่มทางลาดขึ้น และเมื่อสุดทาง (braille block) เพื่อให้ผู้พิการทางสายตา โต๊ะกินข้าวใช้โต๊ะทรงกลมขาเดียว ไม่มีเหลี่ยมเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ พื้นบ้านไม่มีระดับ เตียงนอนเว้นระยะหมุนวีลแชร์ได้โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร ตู้เสื้อผ้ามีความสูงที่ผู้นั่งวีลแชร์เอื้อมหยิบเองได้

จากตัวอย่างการนำหลักการออกแบบเพื่อมวลชนไปปรับประยุกต์ใช้ในโครงการต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่แม้เป็นต่างสถานที่กันแต่เป้าหมายปลายทางนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน นั่นคือการยกระดับการเข้าถึงสินค้าและบริการต่างๆ ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้จริง โดยไม่มีอุปสรรคเรื่องความสามารถ อายุ เพศ เพื่อเป็นก้าวแรกของการสร้างสังคมที่น่าอยู่  ไม่มีการจำกัดการเข้าถึง สร้างความเท่าเทียมในการใช้งานสินค้าและบริการได้อย่างแท้จริง