Skip to main content

หากชีวิตของคนพิการที่นับย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อนเป็นละครชีวิตเรื่องหนึ่ง ก็คงมีเรื่องราวว่า เมื่อพ่อแม่มีลูกพิการขึ้นมา ก็จะถูกคนรอบข้างเห็นว่าเป็นเคราะห์กรรม แม้แต่ตัวคนพิการเองก็ถูกล้อเลียน เห็นเป็นสิ่งแปลกแยก พ่อแม่จึงเลือกที่จะเก็บลูกไว้ในบ้าน ไม่เห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนพิการ คนพิการที่ไม่รู้หนังสือ จึงไม่สามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองได้ กลายเป็นภาระของผู้ดูแลไปตลอดชีวิต แต่เมื่อสังคมไทยเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิตอล มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น ละครชีวิตเศร้า จึงถูกแทนที่ด้วยละครคนสู้ชีวิต เพราะนอกจากคนพิการจะได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสมตามประเภทความพิการแล้ว ยังออกจากบ้านมาทำงานหาเลี้ยงชีพตนเองไปตามความสามารถ คนพิการส่วนหนึ่งอาจเลือกทำงานใกล้บ้านตามต่างจังหวัด แต่ก็มีคนพิการจำนวนไม่น้อยที่เดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ

ดังนั้น การพบเห็นคนพิการในสถานที่ต่างๆ จึงกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว

และวันนี้...เราจะพาไปรู้จักกับ “อารีย์” ย่านที่มีคนพิการทำงานอยู่มากที่สุดอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ

สิ่งที่เจอเมื่อมาที่นี่

ทันทีที่ก้าวลงจากรถประจำทาง บริเวณด้านหน้าตึกใหญ่  ปากซอยพหลโยธิน 8 ก็จะเห็น

คนตาบอดจำนวนหนึ่ง กำลังเดินทางมาทำงานในบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือแห่งใหญ่

เดินต่อมาอีกไม่ไกล ก็จะพบศิลปินไม้เท้าขาวนั่งร้องเพลงอยู่หน้าอาคารพหลโยธินเพรส ถัดไปไม่ไกลก็จะเห็นซุปเปอร์เซลแมนหนุ่มตาบอด กำลังขายลอตเตอรี่อยู่ ยิ่งช่วงใกล้วันหวยออกด้วยแล้ว ก็จะมีทั้งสุดยอดมนุษย์ล้อหัวใจเหล็กอีกหลายคันมาขายลอตเตอรี่อยู่ใกล้ๆ กัน อีกจุดหนึ่งที่กลายเป็นตลาดลอตเตอรี่ย่อมๆ ของคุณมนุษย์ล้อก็คือ ด้านหน้าอาคารไอบีเอ็ม เดินมาถึงด้านหน้าศูนย์จำหน่ายรถยนต์โตโยต้า บริเวณทางขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอารีย์ ก็จะเห็นวงดนตรีของศิลปินไม้เท้าขาวแบบเต็มวง ครบเครื่องทั้งมืออีเล็กโทน มือกีต้าร์ นักร้องพลังเสียงระดับบอยแบนต์ กำลังขับขานบทเพลงแสนไพเราะ จนคนเดินผ่านไปแล้ว ต้องกลับมาให้รางวัล เพราะหลงในเสน่ห์เสียง

เดินข้ามฝั่งไปอีกนิดก็จะเห็นผู้หญิงตาบอดในชุดกระโปรงยาว ใส่ที่คาดผมหูกระต่าย กำลังขายลอตเตอรี่อยู่หน้าร้านสะดวกซื้อ บริเวณตลาดสหกรณ์ บางวันถ้าฝนไม่ตก ช่วงเวลาแดดร่มลมตก ก็จะเห็นวนิพกหนุ่มเล่นพิณกระแสเดียว ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีของชาวอีสานใต้ บางวันก็จะมีศิลปินไม้เท้าขาวอีกวง มาเปิดการแสดงสด อยู่ด้านหน้าสรรพากร ที่ไล่เรียงมานี่ ไม่รวมคนไม่พิการทั้งหญิงชาย ที่มาเล่นดนตรีเปิดหมวกหารายได้พิเศษอีกนะ

แต่ที่พนักงานออฟฟิศ ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาบริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานแห่งหนึ่งพบเห็นเป็นประจำก็คือ ภาพลุงพิการทั้งทางสายตาและร่างกายที่นั่งขายขนมอยู่ด้านหน้าอาคาร เห็นขนมปั้นสิบ หน้าตาน่ากินของลุงแล้ว ก็อดที่จะเดินเข้าไปอุดหนุนไม่ได้ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า ลุงเป็นคนพูดจาสุภาพมาก และไม่เคยรับเงินทอนที่ลูกค้าให้นอกเหนือจากค่าขนม เพียงเพราะความเวทนาสงสาร เป็นที่ชื่นชมของผู้คนในย่านนี้  ไม่เพียงเท่านั้นความเป็นสุดยอดคนสู้ชีวิตของลุงยังกระจายไปตามสื่อสังคมออนไลน์อีกด้วย นี่ถ้าลุงมีแฟนเพจ มีช่องยูทูปเป็นของตนเองอาจกลายเป็นเน็ตไอดอลไปแล้วก็ได้

ลุงสุขสันต์ อายุ 58 ปี นำขนมที่ภรรยาทำมาขายที่นี่นานกว่า 15 ปีแล้ว

ทุกๆ วัน ลุงสุขสันต์จะออกจากบ้านตั้งแต่ตีห้า มาถึงหน้าตึกตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า ด้วยความที่ลุงป่วยเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม จึงอาศัยการฟังเสียงว่า ลูกค้ามาซื้อขนมหรือยัง แล้วหยิบขนมให้ตามที่ลูกค้าต้องการ

 

จากคนไม่พิการ สู่คนพิการ

ตอนหนุ่ม ลุงสุขสันต์ ประกอบอาชีพช่างเชื่อมเหล็ก ทำให้ลุงป่วยเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม วันหนึ่งขณะตัดไม้มาทำเล้าไก่ ลุงถูกต้นไม้ล้มทับขา ทำให้กลายเป็นคนขาขาด ต้องใส่ขาเทียม เมื่อเกิดความพิการขึ้นใหม่ๆ ลุงเองเกิดความท้อแท้ สิ้นหวัง ไม่รู้จะหาเลี้ยงครอบครัวอย่างไร เคยคิดฆ่าตัวตาย แต่ก็ล้มเลิกเพราะดูโทรทัศน์แล้วเห็นสุนัขพิการที่ยังใช้ชีวิตต่อไป โดยไม่เคยคิดอยากตาย  

ลุงเริ่มนั่งรถออกจากบ้านมาหาลู่ทางทำกิน กระทั่งเห็นขนมปั้นสิบ จึงชวนภรรยาทำขาย หาเลี้ยงครอบครัว ส่งเสียลูกสาวให้เรียนหนังสือ จนปัจจุบัน “น้องเบล” ลูกสาวคนเดียวของลุงอายุ 17 ปีแล้ว  เป็นเด็กเรียนดี สร้างความภาคภูมิใจให้ลุงอยู่เสมอ

 

ความฝันของนักขายปั้นสิบ

ลุงสุขสันต์อยากขายขนมให้ได้มากขึ้น เพื่อนำเงินไปสานฝันให้ลูกสาวได้เรียนแพทย์ และทำให้ครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่เนื่องจากข้อจำกัดทางร่างกายอย่างโรคประจำตัว ทั้งโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ในแต่ละสัปดาห์จึงมาขายขนมได้เป็นบางวันเท่านั้น

           

จากนักขายสู่นักคิด

เวลาที่ลุงนำขนมไปฝากขายตามร้านค้า เจ้าของร้านค้ามองว่า ขนมปั้นสิบในกล่องพลาสติกดูไม่น่าสนใจ  จึงไม่รับซื้อ ทำให้ลุงไม่สามารถนำขนมไปฝากขายได้ ลุงจึงพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สินค้ามีความน่าสนใจ นำมาสู่การเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น

ลุงสุขสันต์สานต่อแนวคิดด้วยการออกรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง และได้รับคำแนะนำ ตลอดจนความช่วยเหลือจากทางรายการในการออกแบบโลโก้บรรจุภัณฑ์ ได้รับคำแนะนำให้เปิดแฟนเพจขายปั้นสิบ ทำให้ปัจจุบันลุงสุขสันต์ สามารถขายปั้นสิบออนไลน์ที่บ้านได้ โดยมีลูกสาวช่วยดูแลแฟนเพจ รับออเดอร์จากลูกค้าผ่านช่องทางใหม่อีกแรง

แม้จะไม่รู้ว่า ภาพลุงขายปั้นสิบจะมีให้เห็นบ่อยครั้งดังแต่ก่อนอีกหรือไม่  แต่คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คนพิการหลายคนยังคงเดินทางมาที่นี่  ด้วยปัจจัยต่อไปนี้

  1. ความพร้อมของสถานประกอบการ ย่านอารีย์ เป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานสาขาสำนักงานใหญ่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเอกชนด้านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ธนาคารรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานราชการด้านโทรคมนาคมขนาดใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งสถานประกอบการเหล่านี้มีความพร้อมในการจ้างงานคนพิการ โดยเลือกสรรงานให้เหมาะสมกับความสามารถ ศักยภาพของคนพิการ และจากจำนวนพนักงานคนปกติที่ต้องจ้างงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการจ้างงานคนพิการเพิ่มขึ้นตามสัตส่วนที่กฎหมายแรงงาน (พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) กำหนด ย่านอารีย์จึงกลายเป็นตลาดแรงงานคนพิการอีกแห่งหนึ่ง อีกทั้งในช่วงเช้า กลางวัน เย็น มีผู้คนเดินผ่านไปมาค่อนข้างคึกคัก เหมาะแก่การหารายได้ของวนิพก ศิลปินเปิดหมวก และขายลอตเตอรี่ในช่วงวันหวยออก
  2. สิงอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ หากสังเกตดีๆ จะพบว่าบนทางเท้าด้านหน้าอาคารสำนักงาน มีช่องทางเดินปูด้วยอิฐตัวหนอน ในลักษณะคล้ายเบรลส์บล็อกอยู่ อีกทั้งทางขึ้นลงระหว่างทางเท้าก่อนข้ามถนนตรงหน้าปากซอยในแต่ละซอยยังมีความลาดเอียงที่พอเหมาะ แม้จะไม่ถึงมาตรฐานความลาดเอียงที่ทางลาดควรจะเป็น แต่ก็ทำให้คนตาบอด และคนใช้วีลแชร์สามารถเดินทางได้สะดวก
  3. การคมนาคม  เนื่องจากย่านอารีย์ อยู่ติดถนนพหลโยธิน ซึ่งตัดผ่านไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ใจกลางกรุงเทพ จึงเป็นทางผ่านของรถประจำทางหลายสาย อีกทั้งอยู่ในเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งไม่ไกลจากสถานีต้นทางหมอชิด สามารถเชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจตุจักรได้ ทำให้คนพิการสามารถเดินทางมาได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
  4. ทัศนคติของผู้คน จากการพบเห็นคนพิการจนเกิดความเคยเชิน ทำให้ทัศนคติที่มีต่อคนพิการไม่ได้มีความแปลกแยกไปจากผู้คนปกติที่เดินผ่านไปมาแต่อย่างใด การใช้ชีวิตในย่านนี้ จึงเป็นไปในทางถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างคนไม่พิการกับคนพิการคือ คนพิการเองก็ได้รับความช่วยเหลือ ขณะที่คนไม่พิการเองก็กลายเป็นลูกค้าประจำแผงลอตเตอรี่ เป็นแฟนเพลงของศิลปินไม้เท้าขาวเช่นกัน

นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ย่านอารีย์ กลายเป็นนิคมคนสู้ชีวิตขนาดใหญ่ที่รอการมาเยือนจากคนพิการทุกประเภทอยู่เสมอ ลองก้าวเข้ามาสัมผัสดูสักครั้งเถอะ...แล้วคุณจะพบว่า ที่นี่มีความพิเศษหลายสิ่งซุกซ่อนอยู่