Skip to main content

เพราะในความมืดและความเงียบ ความรักยังสามารถผลิบานด้วยความรู้สึกสื่อสารกันด้วยใจ แต่ก็มีผิดหวังสมหวังบ้างกันไป เช่นเดียวกับคนไม่พิการ เพียงแต่คนพิการที่จะสมหวังในรักไม่ค่อยถูกมองเห็น และไม่ได้มีคนตาบอดหูหนวกจะมีชีวิตที่ดีอย่างในภาพยนตร์ “ผู้ชายชื่อต้น ผู้หญิงชื่อนุช” นุชและต้นเป็นลูกคนรวย อาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่ พ่อแม่มีเวลาว่างมากมายในการที่อยู่บ้าน ต้นเองก็มีคนรับใช้ และก็คงไม่มีชนชั้นล่างต้องหาเช้าเลี้ยงค่ำที่ไหน มานั่งประดิษฐ์ประดอยบุหงารำไป ปักผ้าเช็ดหน้าราวแม่พลอยสี่แผ่นดิน มอบให้กัน

และทั้งนุชกับต้นก็เป็นชาติพันธุ์ไทยในตัวเมืองเชียงใหม่ ไม่ได้มีชีวิตเหมือนชาวดอยชาติพันธุ์อื่นๆ ขณะที่ทั้งคู่นั่งรถจี๊ปขึ้นดอยไปพักผ่อนหย่อนใจกับเพื่อนๆ ก็มีฉากสวนทางกับชาวดอยใส่ซ้าเดินเท้าลงเขามาทำมาหากิน เพราะคุณภาพชีวิตคนพิการในเมืองแตกต่างไปจากชนบท คนในเมืองส่วนใหญ่มีบัตรประจำตัวคนพิการออกโดยกรมประชาสงเคราะห์

นับตั้งแต่กระทรวงมหาดไทยเปิดรับจดทะเบียนคนพิการทั่วประเทศปี 2537 แต่ด้วยการเดินทางลำบาก เข้าไม่ถึงข้อมูล และมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง คนพิการในชนบทจึงขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในบางสาขาอาชีพ ไม่สามารถพัฒนาความสามารถได้เท่าในเมือง

แต่ก็ไม่วาย ชนชั้นกลางรายได้ดีในเมืองใหญ่อย่างต้นก็ต้องเผชิญคุณภาพขนส่งมวลชนอันย่ำแย่ ที่ต้องทำให้คนพิการ (และไม่พิการ) ต้องดิ้นรนกันเองในระดับปัจเจก ความยากลำบากในการเดินทางจนทำให้ต้นประสบอุบัติเหตุเกือบถึงกับชีวิต

จากสำนวนเก่า “ความรักทำให้คนตาบอด” แต่คนตาบอดก็มีความรักได้ เพราะไม่ว่าใครก็รักกันได้ทั้งนั้น และการที่ตาบอดก็ใช่ว่าจะต้องด้อยกว่า มีค่าน้อยกว่า มี “ความเป็นคน” น้อยกว่า แค่ทัศนวิสัยมีข้อจำกัดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม สื่อต่างๆมักนำเสนอชีวิตรักของคนตาบอดเฉพาะความรักบริสุทธิ์ใสซื่อ มองไม่เห็นความใคร่ ตัณหาราคะ ทั้งๆที่อันที่จริงแล้ว พวกเขาและเธอเพียงแค่มีข้อจำกัดทางการมองเห็นเท่านั้น ไม่ได้มีข้อจำกัดต้องการทางกายและกิจกรรมทางเพศ

แต่เนื่องจากผู้ที่ไม่พิการมักตีตราว่า ผู้พิการไม่มีความรู้สึก ความปรารถนาและความรื่นรมย์ทางเพศ ความสามารถในการร่วมเพศ หรือไม่ก็มองว่าผู้พิการไม่มีเพศไปเลย ครอบครัวมักสอนให้ลูกพิการหวาดกลัวการมีเพศสัมพันธ์ บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุขเอง ก็เพิกเฉยต่อการให้บริการด้านเพศศึกษา อนามัยทางเพศ กระบวนการวางแผนครอบครัวได้อย่างเท่าเทียมตามสิทธิที่คนพิการควรจะได้รับ[1]

ไม่เพียงจะถูกกีดกันไม่ให้สร้างครอบครัว มีลูก เพราะสิ่งแวดล้อมมักคิดแทนว่า เอาตัวเองยังไม่รอดเลยจะเลี้ยงลูกยังไงไหว ไม่ว่าจะอาบน้ำ ชงนม ป้อนข้าว ซักผ้า เปลี่ยนผ้าอ้อม หรือไม่ก็กลัวว่าลูกจะพิการไปด้วย หรือลูกจะโตมามีปมด้อยที่พ่อแม่พิการ แม้แต่คนพิการทางสายตาจะจดทะเบียนสมรสก็ยังกลายเป็นเรื่องยาก เพราะเจ้าหน้าที่มักเข้าใจว่าคนตาบอดเป็นบุคคลไร้ความสามารถ ต้องมีคนตาไม่บอดเป็นผู้พิทักษ์ทำให้ ถูกจำกัดสิทธิทางกฎหมายและสังคม ทำนิติกรรมใดๆ ภายใต้เงื่อนไขจำกัด[2]

การมองไม่เห็นเรื่องเพศในคนพิการก็เท่ากับการมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ที่ก็ต้องกินขี้ปี้นอนเหมือนกัน

จากการศึกษาเพศวิถีของชายตาบอดรักต่างเพศอายุ 20 ปีขึ้นไป ในรูปแบบสังคมวิทยามานุษยวิทยาของ ศราวุฒิ  อินทพนม[3] พบว่า ขณะที่หนังสือเกี่ยวกับเรื่องเพศที่เป็นอักษรเบรลล์มีน้อยและเข้าถึงได้ยาก คนตาบอดจึงอาศัยการฟังผ่านวิทยุ ทีวีรายการตอบคำถามปัญหาทางเพศ การบริการทางโทรศัพท์ “Hot Line คลายเครียด” ของกรมสุขภาพจิตที่ให้ข้อมูลวิชาการ ขณะเดียวกันก็สำเร็จความใคร่ด้วยตนเองด้วยหนังสือโป๊เพื่อคนตาบอดที่มีทั้งภาพนูนต่ำพร้อมอักษรเบรลล์ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไปแล้วในยุคดิจิทัล เพราะมีโปรแกรมอ่านออกเสียงให้ และพวกเขาและเธอสามารถฟังเสียงจากหนังโป๊ เรื่องเล่าประสบการณ์เสียว นิยายเรื่องสั้นแนวอิโรติคตามอินเตอร์เน็ต ที่พรรณนาเรื่องราวทางเพศอย่างละเอียดลออ จนช่วยให้คนตาบอดสามารถสร้างจินตนาการในการบําบัดความใคร่ได้

นอกเหนือจากฟังประสบการณ์ทางเพศของเพื่อนทั้งตาบอดและไม่บอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนในพื้นที่ออนไลน์ ที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรืองเพศได้อย่างเปิดเผยและรู้สึกสบายใจและเป็นส่วนตัว ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้ค่านิยม มายาคติทางเพศในสังคม เช่น “ความ sexy” “ความหล่อ” “ความสวย” ไปพร้อมกัน

บางคนที่มีแฟน ก็มีเพศสัมพันธ์ในรูปแบบ phone sex ที่ให้แฟนช่วยส่งเสียงครางช่วยกระตุ้น ฟังไปพร้อมกับบําบัดความใคร่ด้วยตัวเอง และหลายครั้งที่พวกเขาและเธอก็มีเพศสัมพันธ์กันเมื่อโอกาสอำนวย บางคนไปสถานบันเทิงและบริการทางเพศในฐานะลูกค้าเพื่อบำบัดความใคร่ บางคนต้องการเพศสัมพันธ์เพียงเพื่อบำบัดความใคร่เท่านั้น บางคนก็เพื่อแสดงออกความรัก ต้องการสืบพันธุ์ สร้างครอบครัว[4]

และจากการศึกษาชีวิตรักของหญิงตาบอดรักต่างเพศ ของจุฑารัตน์ อภิวัฒน์ธนกุล[5] ยืนยันว่า เพศวิถีของคนตาบอดนั้น เสียงกับกลิ่นที่ต้องสัมผัสทุกเมื่อเชื่อวัน คือความงามอันเป็นปัจจัยในการเลือกคู่ครอง และแม้จะยอมรับว่าคนตาบอดและไม่บอดสามารถรักและใช้ชีวิตคู่ร่วมกันได้ หากเข้าใจกัน แต่หญิงตาบอดหลายคนก็จะเชื่อว่า คนตาบอดด้วยกันมีประสบการณ์เดียวกันย่อมเข้าอกเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกันได้ดีกว่า เพราะเมื่อคบกับชายตาไม่บอดแล้วกังวลหวาดระแวง เพราะเชื่อว่าผู้ชายมีทางเลือกมากกว่าในการเลือกผู้หญิงตาไม่บอดมาเป็นคู่ชีวิต มาร่วมสุขร่วมทุกข์ การที่ผู้ชายตาไม่บอดมาชอบผู้หญิงตาบอดเป็นเรื่องที่ยาก คบด้วยพาให้เขาลำบากเวลามีใครเข้ามาดูแลเอาใจใส่ ก็จะพยายามบอกตัวเองว่าคนนั้นมีน้ำใจ ไม่ใช่จะมาชอบ ผู้หญิงตาบอดก็มีอำนาจในการตัดสินใจในการเลือกคู่ครอง เธอสามารถเปลี่ยนคนรักได้ เมื่อพบว่าความสัมพันธ์ไปกันไม่รอด [6]

บางทีดูเหมือนว่า ชายพิการสามารถก้าวข้ามความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางเพศ ที่ผู้ชายต้องเป็นผู้นำในโลกปิตาธิปไตย ได้ง่ายกว่าผู้ชายที่ไม่พิการ ในสังคมที่เชื่อว่าผู้ชายต้องเลี้ยงเมีย ปกป้องผู้หญิง แต่คนพิการถูกเชื่อว่าอยู่ในภาวะพึ่งพิง เลี้ยงตัวเองไม่ได้ ต้องได้รับการปกป้องคุ้มภัย เหมือนที่พ่อแม่ต้นและนุชพูดในภาพยนตร์ ซึ่งเท่าที่ต้นพอจะทำได้ในการแสดงออก “ความเป็นชาย” ก็คือ ด้วยการชกหน้าชายที่ล้อเลียนนุชเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของเธอ และถามอาหารกับบริกรแทนนุช ขณะเดียวกันนุชก็เป็นผู้นำทางคอยจูงมือต้นตลอด พาเดินสมัครงานตามที่ต่างๆ แต่ก็ถูกปฎิเสธ ซึ่งเธอคอยให้กำลังใจต้น และพาต้นรีบรุดไปแข่งขันประกวดเปียโนได้ทันท่วงที และเมื่อเกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาท เธอก็ได้ช่วยต้นฝ่าฝูงชนอันชุลมุนไม่ให้โดนลูกหลง ระเบิดปิงปองและถูกเหยียบตาย ขณะเดียวกันต้นเองก็ได้ช่วยเด็กผู้หญิงให้ปลอดภัยจากความอันตราย ทั้งคู่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เติมเต็มทดแทนให้กัน

เพศวิถีของคนตาบอดก็เหมือนคนตาไม่บอด ต่างเรียนรู้ ประกอบสร้าง ทดลอง มีประสบการณ์เรื่องเพศจากแหล่งที่มาและช่วงวัยเหมือนกันจุดประสงค์เหมือนกัน  อาจจะไม่ได้ด้วยตา ก็ด้วยประสาทสัมผัสในการรับรู้ทางเพศอื่นๆ ผ่านได้ทั้ง หู จมูก ลิ้น และผิวกายเหมือนกับที่รับรู้เข้าใจสัมพันธภาพกับคนรักผ่านการสัมผัสและเสียงแทนสายตา

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ส่วนตัวของคนตาบอดคนก็ถูกละเลยและไม่ได้รับการเคารพ และคนตาบอดเองก็อาจไม่ทราบได้ว่าในพื้นที่ส่วนตัวของเขาและเธอกําลังมีใครมองเห็นอยู่บ้าง เรื่องเพศที่เป็นเรื่องส่วนตัวจึงถูกรุกล้ำได้ง่าย ไม่ว่ามีเพศสัมพันธ์หรือบำบัดความใคร่ด้วยตนเอง พอๆกับที่คนตาบอดยังต้องเผชิญกับคำถาม “จะเอาเป็นมั๊ย” “เสียบถูกหรอ”

ซึ่งไม่ใช่แค่ความสงสัย ไม่ว่าผู้ถามจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม มันคือการสบประมาท

 

อ่านตอน 1 ได้ที่นี่

[1] ศราวุฒิ  อินทพนม. (2556). การตระหนักรู้เรืองเพศของชายตาบอด. กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

[2] จุฑารัตน์ อภิวัฒน์ธนกุล. (2546). หญิงตาบอด : วิถีชีวิต การสร้างพลังอำนาจและกระบวนการต่อสู้เพื่อพัฒนาโอกาสทางสังคม. กรุงเทพฯ : สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

[3] ศราวุฒิ  อินทพนม, 2556.

[4] เรื่องเดียวกัน.

[5] จุฑารัตน์ อภิวัฒน์ธนกุล, 2546.

[6] เรื่องเดียวกัน.