Skip to main content

เขาผู้กลายเป็นคนพิการหลังจากประสบอุบัติเหตุรถชน ร่างกายตั้งแต่ราวนมลงไปใช้การไม่ได้ ซ้ำร้ายยังถูกคนรอบข้างลิดรอนสิทธิในการเลือกและตัดสินใจจนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง แต่โชคชะตากลับเล่นตลก เมื่อจู่ๆ เขาค้นพบวิธีที่จะทำให้ชีวิตของเขากลับคืนสู่สถานภาพเดิมอันปราศจากความพิการมาเป็นอุปสรรค และเมื่อความพิการรักษาได้ด้วยการรักษาใจ คนพิการจึงเป็นเจ้าของ‘ชีวิตอิสระ’ได้โดยไม่ต้องรอปาฏิหาริย์!

สันติ รุ่งนาสวน ผู้อำนวยการศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการพุทธมณฑล คนนั่งวีลแชร์ผู้ผลักดันและหนุนใจให้คนพิการก้าวออกจากบ้านไปใช้ชีวิตในสังคม ให้เกียรติกับทางเว็บไซต์ ThisAble.me มาร่วมเสวนาพูดคุยอย่างเปิดอกในฐานะวิทยากรรับเชิญในงาน ‘ThisAbleTalk’ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2560 ณ ร้าน Syrup The Space ซอย ทองหล่อ 55 ด้วยความยินดีอย่างยิ่งที่จะได้เป็นตัวแทนบอกเล่าทุกเรื่องราว ทุกความรู้สึกของคนพิการผ่านประสบการณ์จริงของตนเองซึ่งเคยเป็นคนพิการนอนติดเตียงและมีชีวิตอยู่อย่างไร้จุดหมายจนกระทั่งสามารถกลับมาใช้ชีวิตอิสระได้ตามใจต้องการอีกครั้ง ท่ามกลางความสนใจของสาธารณชนผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก

...

ย้อนไปเมื่อปี 2540 วันนั้นผมขับรถมอเตอร์ไซค์ค่อนข้างเร็วไปชนกับรถเก๋งเข้าทำให้กระดูกต้นคอแตกแล้วไปกดทับเส้นประสาท ทำให้เป็นอัมพาตตั้งแต่ราวนมลงไป ผมเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลากว่า 5 เดือน ในระหว่างนั้น เราไม่รู้สึกอะไรมาก เพราะเห็นคนข้างเตียงเราเขาก็นอนเหมือนกัน ในช่วงที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล มีผู้คนมาเยี่ยมมากมายทำให้เราไม่รู้ว่ามันมีความยากลำบากอย่างไร อยู่มาวันหนึ่ง เริ่มรู้สึกว่าอยากกลับบ้าน คิดถึงบ้าน คิดถึงพี่น้อง พอกลับไปถึงบ้าน ในตอนแรกครอบครัวยังคงรู้สึกว่ายังมีความหวังกับเรา หวังว่าเราจะลุกขึ้นมาเดินได้อีกครั้ง ถึงแม้หมอจะบอกว่าโอกาสที่จะลุกขึ้นมาเดินได้อีกครั้งนั้นไม่มีแล้ว อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาในปีนั้นครอบครัวยังคงดูแลเราเป็นอย่างดี แม่มีเวลามากพอที่จะช่วยเหลือเราทุกอย่าง จึงไม่มีความเดือดร้อนเกิดขึ้นแต่อย่างใด

ต่อมา แม่เริ่มมีความจำเป็นต้องออกไปทำมาหากิน คนในครอบครัวแต่ละคนต่างมีหน้าที่เป็นของตนเอง ทำให้ความยากลำบากทยอยเข้ามาหาเราทีละน้อย มีความกดดันเพิ่มเข้ามา เมื่อวันเวลาผ่านไป คนเหล่านั้นเริ่มมีเวลาที่จะดูแลเราน้อยลง ขณะที่ตัวเราเองยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เราจึงได้แต่นอนรอความช่วยเหลือ ซึ่งก็มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง คือ ช่วงเวลานั้นเราไม่ต้องคิดอะไรเลย เขาจัดการให้เราเสร็จสรรพ ถึงเวลาตื่นมาล้างหน้า แปรงฟัน กินข้าว เย็น กินข้าว ล้างหน้า แปรงฟัน มีกิจวัตรแค่นี้ ชีวิตไม่ต้องคิดอะไรแล้ว แต่ก็มีบางช่วงบางเวลาเช่นกันที่อยากกินแต่ไม่ได้กิน ร้อนจนอยากอาบน้ำแต่ไม่ได้อาบ หนาวไม่อยากอาบน้ำแต่ก็ต้องอาบ เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่เขาว่าง วนเวียนอยู่อย่างนั้นประมาณ 5 ปี ซึ่งในช่วงเวลเหล่านั้นก็ไม่ได้มีแค่ความรู้สึกหดหู่ของเราเพียงอย่างเดียว  เรายังคงรู้สึกว่า ยังมีคนที่คอยห่วงใยแต่มีหลายครั้งเช่นกัน ที่นอนอยู่ในห้องแล้วได้ยินเสียงคนมาเยี่ยมแว่วมาว่า ‘เห้ย ไอ้ง่อยหลานกูเป็นยังไงวะ’ น้ำตาซึมทุกครั้งที่ได้ยิน แต่ง่อยก็ง่อย เราไม่มีสิทธิปฏิเสธความง่อยของเรา หรือมีแบบ ‘เออ เวรกรรมว่ะ เดี๋ยวก็หาย’ ซึ่งในความเป็นจริงเรารู้อยู่แล้วว่าไม่มีทางหาย และรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่าเสมอที่ได้ยินเช่นนั้น

บางทีเรารู้สึกว่าชีวิตของเรามีค่า เพราะมีผู้คนแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเราเยอะมาก มีทั้งนักวิชาการมาพร้อมเอกสารมากมายมาสอบถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง ทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง มีหมอที่เข้ามาแนะนำให้ ลองทำอย่างโน้นอย่างนี้ ซึ่งเราคิดในใจว่า ‘ก็หมอไม่ได้เป็นกูนี่หว่า’  หรือเวลาใครมาแนะนำให้ลองยกขาขึ้น ก็คิดว่า ‘ก็ขากูยกไม่ได้มันจะยกยังไงวะ’ ซึ่งประโยคเหล่านี้ฝังอยู่ในใจเราตลอด เราได้แต่คิดอยู่ในใจแต่ไม่กล้าบอกใคร

ต่อมา มีผู้นำชุมชนแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยียน โดยแต่ละครั้งที่มาก็มักนำของฝากที่คล้ายกับเครื่องถวายสังฆทาน ทั้งข้าวสาร-อาหารแห้ง สบู่ ยาสีฟัน ติดมาด้วย และก่อนกลับก็จะขอถ่ายรูปเสมอโดยให้เราทำท่าชูสองนิ้ว แม้เราจะชูสองนิ้วไม่ได้แต่ก็พยายามทำ บางทีมีขอให้ยิ้มด้วย ซึ่งจะเป็นเช่นนี้อยู่บ่อยครั้ง

แต่แล้ววันหนึ่ง มีคนพิการเข้ามาพบเรา มาชวนเราคุยและเล่าเรื่องราวของเขาให้ฟัง พอได้ฟังดังนั้นก็รู้สึกว่าน่าจะเข้ากันได้ดีเพราะมีหลายอย่างเหมือนกัน โดยเขาจะเข้ามาสัปดาห์ละหนึ่ง ในครั้งที่ 3 เริ่มเปลี่ยนเป็นชวนเราออกไปข้างนอก ถามเราว่าสถานที่ที่อยากไปที่สุดตอนนี้คือที่ไหน ตอนนั้นตอบไปว่าไม่รู้จะไปไหน จนสุดท้ายเขาพาออกไป ก่อนไปครุ่นคิดต่างๆนานาว่าจะไปได้อย่างไร จะเข้าห้องน้ำอย่างไร พอไปถึงเขาก็ตั้งคำถามกับเราอีกว่า เป้าหมายอยากทำอะไร คือผมคิดอะไรไม่ออกเลยเพราะไม่เคยต้องคิด  ท้ายที่สุดจึงตอบกลับไปว่าอยากเลี้ยงไก่ชน เขาก็ชวนคิดอีก จะเลี้ยงอย่างไร ผมจึงตอบไปว่า ทำเท่าที่ทำได้ สักหนึ่งชั่วโมงต่อวันก็พอแล้ว เขาจึงแนะนำเพื่อนคนหนึ่งของเขาซึ่งเป็นเหมือนเราให้รู้จัก และพยายามชวนให้เราไปลองพูดคุยทำความรู้จัก ผมก็ไป

เมื่อไปถึงนอกจากจะได้พูดคุยกันแล้ว เรายังได้เห็นการใช้ชีวิตของเขาเวลาอยู่บ้าน ทำให้เราเริ่มตระหนักว่าทำไมเขาทำได้แต่เราทำไม่ได้ และตัดสินใจลองยกตัวขึ้นดู พอยกแล้วมันก็ขึ้น หลังจากนั้นมาก็เริ่มกลับมาใช้ชีวิตอีกครั้ง เรื่อยมาจนเกิดความคิดว่าน่าจะลองเลี้ยงไก่ได้แล้ว จึงคิดต่อไปอีก ตั้งแต่เอาทุนที่ไหน เลี้ยงไก่ชนต้องลงทุนอะไรบ้าง เราก็คิดในใจ ผู้นำชุมชนหรือนักวิชาการเหล่านั้นที่เข้ามาเขาก็พยายามทำให้เรามีเงินยังชีพเดือนละ 500 บาท ไปๆ มาๆ เขาเรียกเงินจำนวนนั้นคืน ชวนเราไปเป็นหนี้ให้ไปกู้เงิน สุดท้ายก็หลงกลและตัดสินใจกู้เงินแล้วก็เลี้ยงไก่ จนค้นพบว่า เราทำได้!

เมื่อย้อนกลับไปคิดถึงเหตุการณ์ จากคนพิการคนหนึ่งที่เข้ามา แล้วไม่ได้ให้อะไรเราเลย คอยชักชวนเราให้ลงมือทำ แทนที่จะคิดให้เขากลับให้เราเป็นฝ่ายคิดและจัดการทุกอย่างเอง ซึ่งแตกต่างจาก นักวิชาการที่เข้ามาเพื่อบอกให้เราทำโน่นทำนี่เท่านั้น อันที่จริงคนพิการเข้ามาแล้วทำให้เราเป็นหนี้ด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่เราได้รับคือเราสามารถที่จะกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านได้

จากการที่เมื่อก่อนเราไม่เคยเลือกเลย  เสื้อผ้าเราไม่เคยเลือกว่าเราจะใส่อะไร เขาจัดเตรียมให้เราเสร็จ กลับกันพอเราผ่านการที่พี่ๆ เขาเข้ามาหาเรา มาช่วยเรา มันทำให้เราได้คิดเอง ได้เลือกเอง เราก็รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าความเป็นมนุษย์มากขึ้น คุณค่าความเป็นมนุษย์ของเราคือ อย่างน้อยแค่ได้เลือก ได้เลือกทำในสิ่งที่เราอยากทำ ได้เลือกกินในสิ่งที่เราอยากกิน ได้บอกความต้องการของตัวเองได้ มันเป็นความเป็นมนุษย์แล้ว เรารู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นผักเหมือนแต่ก่อนที่ใครจะทำอะไรกับเราก็ได้ มันทำให้เรารู้สึกว่ากระบวนการที่พี่เขาเข้ามาหาเรามันทำให้เรากลับมาเป็นมนุษย์ได้อีกครั้งหนึ่ง เลยทำให้เราอยากกลับไปช่วยคนอื่นบ้าง

ปัจจุบันเราก็เลยลองไปทำกับเพื่อนคนพิการที่อยู่ในชุมชน แม้คนในบ้าง ชุมชน สังคมบอกว่าเขาไม่สามารถแล้ว แต่เราเชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง ฉะนั้นเราก็เลยเป็นแค่เพื่อนที่ชวนเขาคุยชวนเขาคิด แล้วให้เขาแก้ไขปัญหาต่างๆ เราเชื่อว่าคนพิการมีศักยภาพและจะกลับมามีชีวิตในสังคมได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราที่เป็นคนคิดให้เขาทุกอย่าง แต่เราก็ต้องระวังในการไม่ใช้เขาเป็นเครื่องมือในการสร้างคุณค่าให้กับตัวเรา ไม่ใช่เราไปบอกว่าเราภาคภูมิใจมากเลยที่ทำให้คนคนนี้ออกมาใช้ชีวิตในสังคมได้ เพราะเราต้องเชื่อว่าเขามีศักยภาพในตัวเองอยู่แล้ว