Skip to main content

ในมุมมองของเธอในฐานะของผู้ประสบอุบัติเหตุจนได้รับความพิการ เธอคิดว่ามีคนพิการอีกหลายคนที่อยากกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างที่เคย แต่พวกเขาไม่สามารถทำได้เนื่องจากสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนพิการในประเทศไทยยังมีไม่เพียงพอ และที่มีอยู่ก็ถูกออกแบบมาอย่างหละหลวมไม่สามารถใช้งานได้จริง เสาวลักษณ์ ทองก๊วย จึงขออาสามาบอกเล่าประสบการณ์ความยากลำบากที่เธอเจอเมื่อได้ลองกลับเข้าสู่สังคมเป็นครั้งแรกในฐานะของคนพิการ รวมทั้งเสนอแนะและชี้จุดพลาดในการออกแบบซึ่งเป็นรากเหง้าแห่งอุปสรรคให้ทุกคนได้รับรู้ เพื่อช่วยกันเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดียิ่งขึ้นอันจะช่วยให้คนพิการกลับคืนสู่สังคมได้อย่างแท้จริง

เสาวลักษณ์  ทองก๊วย นักสิทธิคนพิการ สำนักงานองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ DPI-AP (Disabled Peoples' International Asia-Pacific Region) ผู้ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะมีสถานภาพอย่างไรก็ตาม ได้ให้เกียรติกับทาง ThisAble.me มาร่วมเป็นวิทยากรรับเชิญในงาน “ThisAble Talk” ที่จัดขึ้น เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2560 ณ ร้าน Syrup The Space ซอย ทองหล่อ 55 ท่ามกลางบรรกาศผู้เข้าชมที่มารอรับฟังกันอย่างเนืองแน่นจนเต็มพื้นที่ร้าน ซึ่งในงานนี้เธอขออาสาเป็นตัวแทนของคนพิการทุกคนมาชี้แจงปมปัญหาสำคัญที่ซ่อนอยู่ภายใต้การออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคหมายเลขหนึ่งต่อการออกมาใช้ชีวิตของคนพิการ... และต่อจากนี้คือคำบอกเล่าของเธอ

...

เพียงแค่เวลา 10 วินาทีเรายังมองคนอื่นและมองตัวเองไม่เหมือนกันเลย แล้วการที่เรามองตัวเองแบบนี้ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเรามีแค่อัตลักษณ์เดียว อีกหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้าเราอาจจะมองเป็นอย่างอื่นก็ได้ หรือไม่ก็วินาทีถัดไปเราอาจจะเป็นคนอื่น

พี่เป็นเด็กเกิดวันเสาร์ Saturday Child ซึ่งแข็งแกร่ง เข้มแข็ง หัวดื้อ หัวรั้น มีความมั่นอกมั่นใจ ไม่ได้เกิดมาพิการ และใช้ชีวิตแบบคนทั่วไป เข้าเรียนในระบบปกติ จนกระทั่งเรียนจบในระดับมหาวิทยาลัย พี่มีความมั่นใจสูงเพราะเป็นเด็กกิจกรรม มีเพื่อนเยอะ เป็นคนที่ไม่อยู่นิ่ง แต่เราไม่รู้หรอกว่าชีวิตของเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต ถึงแม้ว่าเราจะเชื่อมั่นในตัวเองและคิดว่าจะออกแบบชีวิตของเราให้ดีที่สุดว่าอยากจะทำอะไร อยากจะเป็นอะไร โดยตั้งความหวังเอาไว้ มุ่งมั่นและศรัทธาในตัวเองเพื่อนำตนไปให้สู่สิ่งที่ใฝ่ฝันไว้

แต่ไม่เคยคาดคิดเลยว่าระหว่างทางของชีวิตเราที่กำลังเดินทางอยู่ อาจมีบางสิ่งที่ทำให้เราต้องหยุดคิด จนเมื่ออายุครบ 27 ปี หลังจากทำงานที่ธนาคารกรุงไทย ก็คิดว่าชีวิตราบรื่นดี แต่ไม่ทันไรก็เกิดอุบัติเหตุขึ้นกับตนจนได้ ทำให้บาดเจ็บที่ไขสันหลังข้อที่ 2 น้องๆ หลายคนเวลาเห็นพี่นั่งรถเข็นก็อาจจะคิดว่าพี่เดินได้แน่นอน คิดว่าพี่นั่งรถเข็นแค่เพียงชั่วคราว หรือคิดว่าพี่ขี้เกียจเดิน ถ้าดูรูปพี่จากชุดแรกที่พี่ยังเดินอยู่กับตอนนี้พี่ไม่เดินแล้ว ไปไหนด้วยล้อ มีอะไรเปลี่ยนไปไหมคะนอกจากการนั่งรถเข็น บรรยากาศมันดูเศร้าหมองไหม มันน่าสงสารไหม ไม่ว่าพี่จะเดินหรือนั่งรถเข็นแต่จิตวิญญาณก็ยังเป็นเหมือนเดิม

Before & After

สิ่งที่ไม่คาดฝัน คือ ในความเป็นจริงเวลาเราเปลี่ยนสถานภาพ เรื่องความเชื่อต่างๆ จากคนรอบข้างจะเข้ามา ตั้งแต่ความเชื่อว่าต้องพาเราไปหาพระ ไปอาบน้ำมนตร์ เพราะอาการที่แสดงออกมาหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังยังคงเป็นความเชื่อปรัมปราอยู่ ทำให้หลายคนคิดว่ามันมีโอกาสหาย เพราะในข่าวก็มีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา เราอยู่กับคำทำนายและสุภาษิตต่างๆ สำหรับคนที่รักเราและอยู่เคียงข้างเราอาจไม่เคยรับรู้มาก่อนเลยว่าคนที่บาดเจ็บไขสันหลังเป็นอย่างไร แล้วต้องทำอะไรบ้าง ไปหาข้อมูลได้จากแหล่งใด หรือเข้ารับความช่วยเหลือได้ที่ไหน เมื่อพวกเขาไม่รู้ จึงเลือกทำไปตามแนวความเชื่อที่คุ้นเคยแทน

ความเชื่อที่ยังคงอยู่ในสังคม มักอยู่ในตัวคนที่อยู่รอบข้างเรา ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดที่เขาจะมาเยี่ยมเราพร้อมตะกร้าผลไม้ ตะกร้าของขวัญ แต่หลายตะกร้าที่เขาให้มามันคือสินค้าหมดอายุหรือเป็นของที่ไม่ได้ใช้แล้ว บางคนเอาหนังสือเก่ามาบริจาค เราก็เข้าใจได้ว่า เพราะเขารักเรา แต่อีกสิ่งที่เกิดขึ้นคือการตั้งคำถามกับตัวเองว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับเรา โดยเฉพาะเสื้อผ้าเก่าพี่ได้รับมาเยอะมากจากเพื่อนที่ทำงานด้วยกันซึ่งคนละไซส์กับเรา เราไม่สามารถใส่ได้ แต่ถึงอย่างไร เราก็ไม่มีสิทธิที่จะตอบปฏิเสธเพราะเขามาด้วยความรัก เราทำได้แค่รับไว้ และมานั่งคิดว่าต่อไปจะทำอย่างไรกับเสื้อผ้าชุดนี้ดี เราอยู่กับวัฒนธรรมเรื่องการให้จนชิน เมื่อเห็นคนที่ดูน่าสงสาร เรามักหยิบยื่นความช่วยเหลือด้วยการสรรหาการให้ในรูปแบบต่างๆ

หลังจากผ่านกระบวนการการให้มาจึงเริ่มรู้สึกตัวว่า จะต้องทำอะไรกับตนเองสักอย่าง เริ่มจากหนีออกจากสิ่งแวดล้อมแบบเดิม พี่ตัดสินใจไปอยู่พัทยาเพื่อเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่ เพราะที่นั่นนอกจากจะได้เรียนภาษา ยังทำให้พี่ได้หัดโดดเรียน ได้หัดทำอะไรที่เสี่ยงเหมือนนักเรียนทั่วไป หนีเข้าเวร เขาให้ล้างจานก็ไม่ล้าง ให้เข้าห้องโฮมรูมตอนกลางคืนก็ไม่มา แกล้งบอกว่าป่วย แต่แอบเล่นไพ่อยู่ในห้อง เขาบอกว่าเป็นนักเรียนต้องรู้จักประหยัด เราก็หนีไปกินสุกี้เอ็มเคเพราะมีเงิน แม่พาไปบิ๊กซีเพื่อซื้อของ เวลาไปบิ๊กซีก็มักเจอคนมาไล่ให้ไปจ่ายเงินเพราะเขากลัวว่าเราจะขโมยของ ซึ่งเขาก็ไม่ผิด เพราะมีคนที่เดือดร้อนและไม่มีทางไปทำแบบนี้จริงจนกลายเป็นภาพจำไปโดยปริยาย

หลังจากนั้นก็ย้ายกลับมาอยู่กรุงเทพฯ ความท้าทายที่แท้จริงมันเกิดขึ้นตรงนี้เอง เริ่มจากการออกจากบ้าน เมื่อเปิดประตูบ้านออกไปเราต้องเดินออกไปที่ถนนก่อนเพราะทางเดินหน้าบ้านไม่มีทางลาด เลยต้องขอความช่วยเหลือจากคนแถวนั้นให้เขากระดกรถเข็นเราขึ้นไปหน่อย หรือเข็นไปจุดที่เรียกแท็กซี่ ซึ่งบริเวณดังกล่าวก็มีรถจอดขวางเต็มไปหมด เข็นไปได้อีกหน่อยก็ต้องลงจากทางเท้า ครั้งแรกที่เรียกแท็กซี่จำได้ว่าเขาถามว่า ‘เอารถเข็นไปไหม’ เราตอบกลับ ‘เอาไปด้วย’ อยู่ดีๆเขาก็พูดขึ้นว่า ‘ไม่รับหรอก มันซวย’ ซึ่งทำให้เราเสียใจมาก แต่เราโกรธเขาไม่ได้

แล้วที่พูดมาทั้งหมดนี้มันเกี่ยวอะไรกับการออกแบบ มันเกี่ยวกันระหว่างการออกแบบและทัศนคติความคิด มันจะดีกว่าถ้าเราเรียนรู้คุณค่าความเป็นมนุษย์ เอาความเป็นมนุษย์ ความรัก และความเชื่อมั่นใส่ไว้ด้วยกันในการออกแบบโดยมองว่าทุกคนมีศักยภาพที่เท่าเทียมกัน หากเราออกจากบ้านมาแล้วเจอทางเท้า ทางลาด เพื่อไปเรียกแท็กซี่ ไปต่อ MRT หรือ BTS เราก็สามารถเดินทางไปที่ต่างๆด้วยตนเองได้

ยกตัวอย่างเมื่อก่อนเวลาโดยสารเครื่องบินสองคน เขาจะถามผู้ชายว่า ‘จะดื่มอะไรดีคะ’ มีตัวเลือก ระหว่างชากับกาแฟ แต่พี่จะโดนถามประจำว่า ‘ดื่มกาแฟได้ไหมคะ’ ก็คิดว่าแล้วถ้าพี่จะดื่มชาพี่จะถามได้ไหม มันจะเป็นชุดคำถาม คือเขาบอกว่า ระหว่างหญิงกับชาย ผู้ชายก็จะแข็งแรงกว่า บางคนก็จะถามว่า ‘เดินได้ไหม’ อย่างแท็กซี่จะถามประจำ ‘เดินได้ไหม’ ‘เอารถเข็นไปไหม’ คือถ้าพี่เดินได้โดยไม่ต้องเอารถเข็นไป พี่จะนั่งรถเข็นมาทำไมคะ อีกกรณีคือ พี่ไปเบิกเงินที่ธนาคาร ซึ่งกว่าจะขึ้นบันไดได้ก็ต้องเรียกให้ รปภ. ช่วยยก พอเข้าไปได้แล้วก็ต้องกดบัตรคิว มีอยู่ครั้งหนึ่ง พนักงานถามว่า ‘พี่มาทำไมครับ’ พี่ก็บอกว่า ‘มาถอนเงินค่ะ’ เขาก็ถามต่อ ‘ถอนไปทำไมครับ’ เราก็บอกว่าเอาไปใช้ เขาก็ถามว่า ‘แล้วพี่เป็นอะไรครับทำไมต้องนั่งรถเข็น’ คือคำถามมาเป็นชุด

มันจะดีกว่าไหม ถ้าเราทำอะไรแล้วคิดถึงความเป็นมนุษย์ก่อน อย่างเวลาเราจะออกแบบ ออกแบบในที่นี้ไม่ใช่เฉพาะรถไฟฟ้า หรือทางลาด แต่หมายถึงทุกการออกแบบต้องคำนึงอยู่เสมอว่าทุกคนมีศักยภาพความเป็นมนุษย์อันจะช่วยให้คนสามารถร่นระยะเวลาที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเอง เติบโตขึ้นมา และสามารถกลับคืนสู่สังคมได้ อย่างพี่ใช้เวลากว่า 5 ปี แต่ถ้าหากสังคมมีทัศนคติที่เปิดกว้างกว่านี้ ไม่อยู่กับความเชื่อดั้งเดิมมากเกินไป พี่อาจจะใช้เวลาแค่เพียงปีเดียวในการออกมาทำงาน จนสามารถกลับคืนสู่สังคมได้ในรูปแบบภาษีที่เป็นประโยชน์ให้ชุมชนต่อไป

พี่เชื่อในตัวเราทุกคนในที่นี้ พี่เชื่อในพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง เราทุกคนในทีนี้เป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่จะช่วยกันขจัดอุปสรรคและทำให้การออกแบบชีวิตของมนุษย์และการออกแบบสิ่งของต่างๆ คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ เชื่อมั่นและศรัทธาในความเป็นมนุษย์ก่อน