Skip to main content

ชีวิตของเราทุกคนถูกหล่อเลี้ยงด้วยความหวังและความฝัน ขณะที่ความสมบูรณ์ของชีวิตมักถูกเติมเต็มด้วยการได้ลงมือทำในสิ่งที่รัก การท่องเที่ยวไปทั่วทีปทั่วแดนก็เป็นอีกหนึ่งความฝันยอดฮิตที่หลายคนไฝ่ฝัน สำหรับโสภณ ฉิมจินดาก็เช่นกัน เขาชื่นชอบการท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจ ก่อนที่โชคชะตาเล่นตลกใส่ด้วยการซัดตัวเขาลงจากไหล่เขาจนกลายเป็นคนพิการ ถึงแม้ร่างกายจะพิการแต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างหรืออุปสรรคที่จะทำให้เขาหยุดฝัน เขาไม่อาจทำใจปล่อยฝันและสิ่งที่รักให้หลุดมือไปได้ จึงตัดสินใจออกเดินทางด้วยตนเองอีกครั้งด้วยวีลแชร์ โอกาส และหัวใจ จนกระทั่งได้พบคำตอบว่า แท้จริงแล้วเขาไม่ได้ชอบเที่ยวแต่กลับหลงรักชีวิตในขณะเดินทางเสียมากกว่า

โสภณ ฉิมจินดา พิธีกรรายการล้อ เล่น โลก ไอดอลของคนพิการหลายต่อหลายคน ผู้หลงรักชีวิตแบบนักเดินทาง แม้ในวันที่ไม่สามารถก้าวเดินได้อีก แต่ใจยังเฟี้ยวลุกขึ้นฉายเดี่ยวเที่ยวอีกครั้งด้วยวีลแชร์

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2560 ณ ร้าน Syrup The Space ซอยทองหล่อ 55 โสภณ ฉิมจินดา เป็นหนึ่งในวิทยากรรับเชิญของงาน ‘ThisAbleTalk’ เพื่อมาบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์การใช้ชีวิต และเป็นแรงใจให้กับคนพิการทุกคนให้ลุกขึ้นมาทำตามความฝันของตน  ท่ามกลางบรรยากาศอบอุ่นที่โอบล้อมไปด้วยผู้เข้าชมมากมายที่มารอฟังเสวนาในวันนี้

---

"ผมชอบเดินทางด้วยการโบกรถไปเที่ยว" คือคำพูดแรกที่เขาพูดขึ้น

ย้อนไปเมื่อ 16 ปีก่อน การเดินทางครั้งนั้นเปลี่ยนชีวิตผมไปอย่างสิ้นเชิง ทันทีที่รถของผมเสียการควบคุมแล้ววิ่งจากไหล่เขาลงมาตามทางด้านหน้าซึ่งเป็นทางโค้ง จังหวะนั้นรถไม่ได้เลือกที่จะโค้งตามถนนแต่วิ่งตรงไปชนบริเวณที่กั้นขอบทางพุ่งลงจากไหล่เขา ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แต่บอกกับตัวเองว่า ถ้าเมื่อไหร่มันหยุด ทุกสิ่งทุกอย่างจะหยุดและถ้าผมมีสติหยุดพร้อมกับมันได้แปลว่า ผมไม่ตาย

เวลานั้นภาพความทรงจำในอดีตเริ่มวนเข้ามาในหัว ผมเห็นภาพสะพานที่ทอดยาวสุดลูกหูลูกตา หมอกขาวปกคลุม ด้านหลังเป็นภูเขา ด้านล่างมีลำธารเล็กและทุ่งหญ้าสีเขียว ซึ่งผมอยากจะพาตัวเองไปอยู่ ณ ที่แห่งนั้น มันเป็นภาพของปกนิตยสารท่องเที่ยวที่ปลุกวิญญาณการเดินทางของเด็กชายโสภณ วัย 14 ปี ให้ลุกขึ้นมาโบกรถเที่ยว และที่นั่นเอง สะพานไม้สังขละบุรีถือเป็นจุดหมายแรก ผมเลือกที่จะโบกรถไปเที่ยวที่นั่น หลังจากนั้นผมกลายเป็นคนที่เสพติดการเดินทางและชอบการโบกรถเดินทางมาโดยตลอด เพราะมันตอบโจทย์นักเดินทางกระเป๋าแบนอย่างผมได้ดี มันเป็นการเดินทางที่ส่งต่อน้ำใจของผู้คนตลอดระยะทาง

การเดินทางที่สำคัญครั้งนั้นเปลี่ยนทุกสิ่งในชีวิตผม จุดหมายของการเดินทางครั้งนั้นถูกปักเอาไว้ว่า เราจะไปที่หมู่บ้านแม่ละมาด อำเภอแม่สองยาง จังหวัดตาก โดยมีความตั้งจะทำโครงการอาหารกลางวันให้กับเด็กด้อยโอกาสที่นั่น และเลือกเดินทางด้วยการโบกรถ แต่รถก็ตกเหว อุบัติเหตุครั้งนั้นส่งผลให้ร่างกายของผมตั้งแต่เอวลงไปถึงช่วงล่างไม่มีความรู้สึก

ณ วันหนึ่งที่เราตื่นขึ้นมาจากที่เคยเดินได้ มีอิสระกับชีวิต ได้เดินทางไปในที่ต่างๆ และเราตื่นมากลายเป็นคนพิการในอีกวัน เราไม่สามารถทำอะไรได้เลยนั่นหมายถึงต้องมีคนรอบข้างคอยช่วยเหลือ มีคำถามเกิดขึ้นกับตัวเองมากมาย ว่าจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร จะทำมาหากินอย่างไร และจะช่วยเหลือตัวเองอย่างไร ทุกคำถามที่เกิดขึ้นไม่มีคำตอบ ต้องเข้าใจว่าองค์ความรู้ต่างๆ เมื่อพูดถึงคนพิการ ณ ช่วงเวลานั้น ไม่มีองค์ความรู้ใดๆ ที่บอกว่า ‘คนพิการ’ คืออะไร นอกจากคนขายสลากกินแบ่งรัฐบาล บุคคลที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ บุคคลที่ต้องรอการสงเคราะห์-การช่วยเหลือ หากพูดถึงคนพิการเราอาจจะลงลึกไปถึงคนที่ไม่มีศักยภาพ รวมถึงการไม่หลงเหลือคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ส่วนในสื่อละครหรือภาพยนตร์ บทบาทของคนพิการก็มิได้มีมากมายเท่าใดนัก อาจเป็นภาพของคนมือหงิกงอนั่งอยู่ข้างนางเอก ทำให้นางเอกดูเป็นผู้ดี

หรือตามรายการที่นำเสนอภาพคนพิการพร้อมเพลงประกอบที่สร้างอารมณ์ร่วม อันที่จริงคนพิการอาจยังไม่รู้สึกเลยว่าตนเองเศร้าขนาดนั้น ท้ายที่สุดก็จบด้วยการมีเลขบัญชีขึ้นด้านล่างหน้าจอให้บริจาคช่วยเหลือ

---

วินาทีที่กลายเป็นคนพิการเดินไม่ได้ ผมรู้สึกว่า ตนเองไม่มีต้นทุนอะไรในชีวิตที่จะทำให้ผมกล้าท้อ กล้าทุกข์ หรือแม้แต่กล้าเศร้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะในช่วงเดียวกันธุรกิจที่บ้านก็ล้มละลาย ผมคิดว่า ชีวิตลบกับลบเวลามาเจอกันมันต้องกลายเป็นบวก เพราะถึงฟูมฟายก็กลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้ ผมยังจำได้ว่า ภาพแรกที่ผมอยู่ในห้องไอซียูที่โรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่ คุณแม่มาเยี่ยม พอลืมตาขึ้นมาเห็นสายต่างๆ เต็มตัวไปหมด ภาพที่เห็นคือคุณแม่ยืนเกาะกระจกอยู่ แม่แทบไม่ได้ร้องไห้ พอท่านเดินเข้ามา ประสาทอัตโนมัติสั่งว่า อย่าเศร้า อย่าทุกข์ เพราะวินาทีนั้นถ้าผมแย่ คนที่แย่กว่าคือคนในครอบครัว ผมพยายามสื่อสารกับท่านว่า ผมไม่เป็นอะไรมากและขอกอด นี่คือแรงผลักดันที่ทำให้ผมสามารถผ่านวิกฤตของตัวเองมาได้ และโจทย์สำคัญในการใช้ชีวิตร่วมกับความพิการ คือการไม่เอาความพิการมาเป็นข้ออ้างหรือเงื่อนไขในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เมื่อก่อนเคยใช้ชีวิตอย่างไรก็จะเลือกที่จะทำแบบนั้นต่อไป ดังนั้นเมื่อผมรู้ตัวว่าเป็นคนรักการเดินทาง ผมก็ต้องเที่ยวให้เหมือนเดิม

ประมาณ 1 ปี ผ่านไป ผมเริ่มวางแผนกับตัวเองใหม่โดยตั้งใจโบกรถเที่ยวจากกรุงเทพฯ ไปเขาใหญ่ มีผู้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน 3 คน ได้แก่ ผม เพื่อนที่พิการครึ่งซีก และเพื่อนที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นครั้งแรกที่ผมเดินทางร่วมกับความพิการ ร่วมกับล้อที่เป็นขาใหม่ และมันไปถึงได้

ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญของคนพิการ ก้าวแรกที่กล้าก้าวออกมาเปรียบเสมือนบันไดขั้นแรกที่สำคัญที่สุด โลกทั้งโลกเปิดรับ หลังจากนั้นผมใช้ชีวิตสนุกและกล้ามากกว่าเดิม เริ่มโบกรถเที่ยวคนเดียวไปทั่วกับเป้หนึ่งใบ กล้อง และโน้ตบุ๊ก การเดินทางสอนอะไรหลายอย่างให้กับชีวิต นอกจากการออกไปร่วมใช้พื้นที่ในสังคมและชื่นชมความงดงามของโลกใบนี้ เรื่องราวระหว่างทางก็ทำให้เรียนรู้ที่จะมีความสุขกับสิ่งเล็กๆรอบตัวได้ง่ายยิ่งขึ้น มาม่าหนึ่งถ้วยในปั๊มน้ำมันหรืออาหารหรูในโรงแรม ต่างก็คือหนึ่งสุขกับหนึ่งอิ่มเท่ากัน การนอนด้วยการผูกเปลนอนในปั๊มน้ำมันกับโรงแรมห้าดาว มันก็คือหนึ่งสุขหนึ่งตื่นเท่ากัน มันสอนให้ผมรู้จักรอในสิ่งต่างๆ และที่สำคัญการเดินทางยังเปิดโอกาสให้กับชีวิต ผมรู้สึกขอบคุณตัวเอง และรู้สึกว่าบางครั้งเราอาจต้องขอบคุณความพิการด้วยซ้ำ ถ้าผมไม่พิการผมยังจะมีโอกาสดีๆแบบนี้ไหม เราไม่มีทางรู้หรอกว่าช่วงชีวิตจะพัดพาเราไปในทิศทางไหน แต่ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์มันคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรามีโอกาสได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ถ้าเรามีความฝันต้องกำมันไว้ให้แน่น รักษามันไว้ ที่สำคัญต้องลงมือทำ อย่าปล่อยให้มันหลุดมือ ผมเชื่อว่าวันหนึ่งถ้าคุณกำมัน รักษามัน และทำกับมันอย่างเต็มที่จริงจังและจริงใจ วันหนึ่งฝันมันจะหล่อเลี้ยงชีวิตคุณเอง