Skip to main content

เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา เวทีพูดให้กำลังใจเกิดขึ้นเยอะมากในทัศนะของกฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ แต่จะทำอย่างไร ให้คนที่ได้รับแรงบันดาลใจเหล่านั้น ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง? เขาเชื่อว่า กระบวนการละคร จะช่วยให้คนพิการลุกขึ้นมาลงมือทำ และเรียกความมั่นใจในตัวเองออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ

คนแต่ละคนมีหลายบทบาทหน้าที่ คนแต่ละคนอาจมีรูปแบบความเป็นธรรมชาติได้หลายแบบแตกต่างกันไป และนี่คือสิ่งที่ กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ พยายามจะสื่อสาร ผ่านการเป็นนักละคร และครูสอนละครเวที ที่ตั้งต้นความฝันเล็กๆ ไปกับเพื่อนตาบอด ด้วยความเชื่อที่ว่า ทุกคนสามารถมีธรรมชาติที่ 2 3 หรือ 4 ได้ เช่นเดียวกับที่คนพิการสามารถสร้างธรรมชาติใหม่ หรือความมั่นใจได้เช่นกัน

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2560 ณ ร้าน Syrup The Space ซอยทองหล่อ 55 กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ เป็นหนึ่งในวิทยากรรับเชิญของงาน ‘ThisAbleTalk’ เพื่อมาบอกเล่าบทบาทของนักละครเวที ธรรมชาติที่สร้างขึ้น และธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองแตกต่างกันอย่างไร และเพราะอะไร คนเราจึงควรมีธรรมชาติมากกว่า 1 แบบ ที่ช่วยทำให้เกิดความสมดุลทั้งความรู้สึก และความเข้าใจ

---

ผมเป็นนักแสดงละครเวทีและครูสอนละครเวที ด้วยสถานภาพนี้ทำให้เข้าใจแต่ละบทบาทที่เกิดขึ้นว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนคนหนึ่งแสดงบทบาทนั้นๆ ได้ อะไรคือธรรมชาติของมนุษย์ หน้าที่ของผมไม่ใช่แค่หาวิธีการสื่อสาร แต่ต้องหาวิธีใหม่ไปเรื่อยๆ เพื่อค้นพบวิธีที่ดีที่สุดสำหรับคนที่มองไม่เห็น คือการหาและการปรับทั้งในแง่ความรู้สึกและความเข้าใจ

สมัยก่อนสื่อบันเทิงเริ่มต้นจากละครวิทยุ แล้วพัฒนามาเป็นสื่อโทรทัศน์หรือโรงฉายภาพยนตร์ แต่สำหรับคนตาบอดสิ่งเหล่านี้หยุดพัฒนาตั้งแต่ละครวิทยุ แม้ว่าปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีเสียงบรรยายภาพก็ตาม การตั้งใจคิดอะไรบางอย่างที่สามารถใช้ร่วมกันได้ตั้งแต่แรกจึงเป็นสิ่งที่ผมต้องการจากสังคม ไม่ใช่แค่การแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการสร้างภาพยนตร์ขึ้นมาแล้วค่อยใส่เสียงบรรยายภาพ หรือการสร้างทางเท้าแล้วค่อยมาใส่เบรลล์บล็อกทีหลังเพราะตระหนักว่ามีคนพิการมาร่วมใช้ด้วย สิ่งต่างๆ ควรถูกสร้างภายใต้เงื่อนไขของการอยู่ร่วมกันไม่ใช่สร้างจนเสร็จแล้วค่อยพยายามหาทางอยู่ร่วมกันที่บั้นปลาย และจากแนวคิดดังกล่าวจึงทำให้เกิด The Blind Theater Thailand ขึ้นมา

---

ในการชมละครเวทีของคนตาบอด คนทุกคนมีสิ่งที่เหมือนกันคือ ทุกคนมีความมืดเหมือนกัน ซึ่งมันเป็นรูปแบบของละครเวทีที่ให้ผู้ชมทุกคนปิดตาและพามาอยู่บนเวที เราพัฒนาวิธีเหล่านี้จากละครวิทยุซึ่งเดิมมีแต่เสียง ก็เพิ่มมาเป็นมีเสียง มีกลิ่น และมีสัมผัส ผมรู้สึกว่า นี่คือการไปต่อของละครเวที แต่เมื่อทำไป 3 - 4 ปี ก็หยุดไม่ทำต่อ ทั้งๆ ที่รายได้สูงมาก ด้วยความไม่แน่ใจถึงเหตุและผลที่เราต้องทำร่วมกันของคนตาบอดและตาไม่บอด ถึงคนดูจะชอบมากเพราะเป็นประสบการณ์ใหม่ แต่ถ้าลองเปิดตามาดู คนตาบอดแทบจะเล่นอะไรในละครนี้ไม่ได้เลย และต้องฝึกซ้อมนานมาก รูปแบบมันแย่ในแง่คนทำ ความตั้งใจบางอย่างที่คุยกันไว้แต่แรกไม่สัมฤทธิ์ผล

ต่อมาเกิดคำถามใหม่ขึ้นมาว่า ‘ละครที่เหมาะกับคนพิการควรจะเป็นไปในรูปแบบไหน’ และตั้งคำถามต่อไปว่า ‘ศิลปะสำหรับคนพิการคืออะไร’ การแสดงต้องเล่นเป็นตัวเองหรือเล่นเป็นคนอื่น เมื่อผ่านมา 10 ปี  ผมพบคำตอบว่า คุณจะเล่นเป็นตัวเองหรือคนอื่นก็ได้ อยู่ที่ว่าคุณเล่นเป็นธรรมชาติหรือไม่ เพราะเวลาเราดูละคร เราดูที่ความเป็นธรรมชาติของนักแสดง ไม่ได้ดูว่าเขาแสดงเป็นใครหรือใครเป็นคนแสดง

เคยมีครั้งหนึ่ง ในกระบวนการละครเวที มีบทบาทของโจ๊กเกอร์ แต่กลับพบว่า หลังจากแสดงจบ คนคนนี้ไม่สามารถออกจากตัวละครได้ และนั่นทำให้เขาตาย เพราะยังคงทำพฤติกรรมแบบในเวที

ผมสนใจประเด็นของการเปลี่ยนแปลง เกิดมีคนพิการมาหาผมและบอกว่าไม่มีความมั่นใจ  วิธีที่ง่ายที่สุดคือ ผมเขียนบทบทหนึ่งให้เขาเล่นเป็นคนที่มีความมั่นใจ จะไม่มีการหลอกลวงเมื่อละครจบ เพราะมันคือการฝึกฝนอย่างหนึ่ง ระหว่างทางที่เขาฝึกเขาจะเชื่อว่าเขาเป็นคนที่มั่นใจ แต่เมื่อเล่นละครเสร็จเขาไม่รู้หรอกว่า เขามั่นใจเพราะอะไร ไม่รู้ว่าความมั่นใจสร้างได้อย่างไร เพราะสังคมไทยพยายามบอกว่า คนเราเกิดมาแล้วต้องมีธรรมชาติเดียว ซึ่งขัดแย้งกับกระบวนการละคร

แต่ในทางละครบอกว่าไม่ใช่ สิ่งที่เราฝึกคือเราพยายามจะฝึกเพื่อให้เกิดธรรมชาติที่สอง สาม สี่ หรือมากกว่านั้น มันน่าสนใจที่คนพิการลุกขึ้นมาฝึกตัวเอง

---

ช่างชุ่ยเคยถามว่า ละครที่คุณทำจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร? ผมตอบว่า ละครที่ทำไม่ต่างจากหนัง คนดูเสร็จเกิดแรงบันดาลใจในการดูละครของผม มีความคิดอะไรบางอย่างและตกตะกอนความคิด และในแง่ที่เป็นรูปธรรมคือ มีคนเอาเทคนิคละครไปทำธีสิส

แล้วไงต่อ?
ช่างชุ่ยบอกยังไม่พอ

เราก็บอกว่าหมดแล้ว เฮ้ย! เราทำละครเป็นชีวิต มันคืออาชีพ อาชีพหมายถึงมันต้องช่วยเหลือคนได้สิ แล้วฉันช่วยคนให้สร้างแรงบันดาลใจ เฮ้ย มันก็พอแล้ว แต่ถ้ามีคนมาบอกว่าไม่พอเค้าก็ไม่ผิด

3 ปีก่อนเวทีสร้างแรงบันดาลใจเกิดขึ้นมากมาย ผมคิดว่า ก็ 3 ปีแล้วนะที่มีแต่แรงบันดาลใจ มันเพียงพอแล้ว ผมก็ได้พิสูจน์ว่า วันนี้คนไทยทุกคนมีแรงบันดาลใจ และความฝัน ละครเวทีเป็นสิ่งเดียวที่ผมสามารถรวบรวมคนจากหลากหลายอาชีพ เพื่อลงมือทำอะไรสักอย่างร่วมกัน ซึ่งมันจะพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงหลังจากนั้น