Skip to main content

ในชีวิตประจำวัน น้อยนักที่จะเห็นคนพิการออกมาจับจ่ายใช้สอยหรือออกมาเดินช็อปปิ้งบ่อยจนกลายเป็นภาพชินตาอย่างเช่นคนไม่พิการทำกัน ความยากลำบากเพราะความพิการที่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต ทำให้คนพิการหลายคนไม่สามารถใช้อำนาจของเงินในมือ แล้วจะมีทางใดบ้างหรือไม่ ที่ทำให้คนพิการกลายมาเป็น ‘ลูกค้าพิการ’ ที่มีอำนาจในการใช้จ่ายเงินในกระเป๋าของพวกเขาเองได้อย่างอิสระ

แคมเปญรณรงค์ที่มีชื่อว่า “Help Me Spend My Money” หรือ “ช่วยฉันใช้เงินที” ถูกนำกลับมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้งโดยบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ M&S (Marks & Spencer) และกรมการทำงานและเบี้ยเลี้ยงชีพ (DWP: Department for Work & Pensions) อย่างไรก็ดี การสนับสนุนให้ลูกค้าพิการออกมาจับจ่ายใช้สอยตามแคมเปญดังกล่าว ก็ยังเป็นที่เคลือบแคลงและน่ากังวลใจว่า จะเกิดขึ้นได้จริงมากน้อยเพียงใด?


ภาพจาก https://wearepurple.org.uk/help-me-spend-my-money/

Help me spend my money ช่วยฉันใช้เงินที

อาจจะฟังดูแปลกและไม่คุ้นหูนัก หากคิดว่า ควรมีแคมเปญรณรงค์ทางธุรกิจเช่นนี้ด้วยหรือ แต่ถ้าหากพิจารณาจากประสบการณ์การจับจ่ายใช้สอยของลูกค้าพิการแล้ว ไม่แปลกใจเลยว่า เพราะเหตุใดจึงมีการออกแคมเปญมาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของลูกค้ากลุ่มนี้

ในความเป็นจริง ลูกค้าพิการมีเงินในการจับจ่ายใช้สอย ทว่าร้านค้าและบริษัทต่างหากที่ขาดการอำนวยความสะดวก เพื่อการเข้าถึงบริการต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ลูกค้าพิการจึงมักจะถูกขับออกจากภาคธุรกิจ เพราะความไม่สะดวกทั้งหลายแหล่ ที่พวกเขาจะสามารถเข้าถึงได้

หากพิจารณาจากรูปการดังกล่าว ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ดังกล่าวควรจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีใช่ไหม?

แคมเปญรณรงค์ให้คนพิการออกมาช็อปปิ้งพร้อมกับเงินในกระเป๋าของพวกเขานี้ ได้ไอเดียมาจาก Purple ซึ่งเป็นองค์กรทางสังคมที่ทำงานกับทั้งคนพิการและภาคธุรกิจ ในการสนับสนุนโอกาสให้กับผู้ที่มีความพิการในสังคม

อันที่จริงแล้ว การที่แคมเปญควรได้รับการสนับสนุนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละฝ่าย หากเป็นทัศนะของผู้นำทางด้านคนพิการและผู้สร้างแรงจูงใจ มีแนวโน้มที่จะให้การสนับสนุน

ผลจากงานวิจัยของDWP พบว่า การช็อปปิ้ง การกิน การดื่ม ถือเป็น 3 อันดับแรกที่คนพิการประสบปัญหาในการเข้าถึงบริการเหล่านี้ เช่น เดียวกับ The Scope องค์กรด้านคนพิการที่เคยดูแลเรื่องการบริการในกลุ่มลูกค้าพิการ พบว่าร้อยละ 75 ของคนพิการและครอบครัวคนพิการ เดินออกจากร้านค้าต่างๆ ที่พวกเขาเลือกไปช็อปปิ้ง เพราะการบริการลูกค้าพิการของร้านนั้นๆ แย่มาก นอกจากนี้ ยังพบผลสำรวจอีกว่า ภาคธุรกิจต่างๆ ในสหราชอาณาจักรมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 420 ล้าน ยูโร ต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นผลจากการสูญเสียช่องทางในการขายนี้

สถานการณ์ที่ย่ำแย่เหล่านี้ หากได้รับการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ไม่เพียงแต่ลูกค้าพิการเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ แต่หมายรวมถึงภาคธุรกิจเองก็ได้รับประโยชน์ไปด้วย ถือว่าได้รับผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

ดังนั้น เพื่อยุติเหตุการณ์เช่นนี้ จึงได้มีการออกกฎข้อตกลงซึ่งเรียกร้องให้ห้างร้านหรือบริษัทต่างๆ สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความพิการ ด้วยการฝึกอบรมให้กับพนักงานภายในองค์กร ซึ่งถือเป็นข้อเสนอที่ดี หากการฝึกอบรมทำให้เกิดผลได้จริง และมีการสร้างเว็บไซต์ ที่มีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการอย่างอิสระ เช่น การจัดทำข้อมูลเพื่อรองรับลูกค้าพิการในหลายรูปแบบอย่างการพิมพ์เป็นอักษรตัวใหญ่ อักษรเบรลล์ หรือรูปแบบข้อมูลที่ง่ายต่อการอ่าน เช่น ภาพ

อย่างไรก็ดี ข้อตกลงดังกล่าวยังได้เรียกร้องให้มีขั้นตอนในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนพิการ เช่น จ้างงานพนักงานที่มีความพิการ และยังคงเป็นที่สงสัยในแวดวงคนพิการว่าทำได้จริงหรือไม่

หากจะวิเคราะห์กันอย่างจริงจัง นโยบายเหล่านี้ถูกนำมาใช้และควบคุมโดยรัฐบาล ซึ่งต้องการให้ดูเหมือนว่า รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจและกำลังทำบางสิ่งบางอย่างอยู่ แต่ทว่าไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเกิดขึ้นจริง รวมไปถึงการขจัดช่องว่างของอัตราการจ้างงานคนพิการก็อยู่ในสถานการณ์นี้เช่นกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันคือร้อยละ 49 ของคนพิการอยู่ในสถานภาพมีงานทำ ในขณะที่ในคนไม่พิการมีอัตราการจ้างงานสูงถึงร้อยละ 80 สิ่งนี้บ่งชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จของนโยบายได้เป็นอย่างดีว่าเป็นอย่างไร สำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้จริงหรือ

แคมเปญรณรงค์ดังกล่าวให้ความสำคัญกับการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐด้านสังคมสงเคราะห์และการวางนโยบายด้านงบประมาณ DWP ซึ่งให้ความสำคัญกับคนพิการจำนวนมากที่ได้รับผลของการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมที่พวกเขาได้รับ เช่น จากในที่ทำงาน หรือการเข้าถึงได้สำหรับบริการฟิตเนส เป็นต้น

และแน่นอน ปัญหาที่พบคือ DWP และองค์กรอื่นมักใช้กลไกเรื่องสปอนเซอร์และการสนับสนุนแคมเปญรณรงค์ต่างๆ เกี่ยวกับคนพิการ เพื่อให้สังคมเห็นว่า พวกเขาได้ทำกิจกรรมช่วยเหลือคนพิการอย่างเช่น การสนับสนุนกีฬาพาราลิมปิค เป็นช่องทางในการพยายามทำให้เห็นว่า  พวกเขาได้แสดงจุดยืนให้สังคมได้เห็นแล้ว

แต่เมื่อกลับมาพูดถึง M&S หรือแม้แต่องค์กรอื่นๆ ในเรื่องพื้นฐาน เช่น การมีห้องน้ำคนพิการก็ยังเป็นหัวข้อที่ยังอยู่ในกระบวนการการเรียกร้องให้เกิดขึ้น มีการเรียกร้องให้ M&S สร้างห้องน้ำที่คนพิการสามารถใช้งานได้และสิ่งอำนวยความสะดวกเ เช่น เครื่องช่วยยกตัวหรือโต๊ะเปลี่ยนเสื้อ แต่กลับได้คำตอบว่า อุปกรณ์เหล่านี้ราคาไม่แพง แต่เงินจำนวนถูกนำไปเปลี่ยนเป็นโบนัสแก่บรรดาผู้บริหารองค์กรต่างๆ เสียมากกว่า

นอกจากนี้ ยังมีแคมเปญรณรงค์อื่นๆ อย่าง Changing Place ที่นับว่าประสบความสำเร็จในด้านการเพิ่มจำนวนสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกในห้างสรรพสินค้าที่มีจำนวนมากขึ้น

 

แปลและเรียบเรียงจาก

http://www.independent.co.uk/news/business/comment/businesses-need-to-serve-disabled-customers-better-but-is-campaign-to-get-them-to-do-that-being-used-a7828886.html