Skip to main content

นานมาแล้ว ผมเคยสนทนากับมิตรสหายท่านหนึ่งถึงปัญหาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ไม่ใช่การออกแบบเพื่อทุกคน / การออกแบบเพื่อมวลชน / อารยสถาปัตย์ (Universal design) หนึ่งในนั้นคือระบบรถไฟฟ้า (ทั้งบนดินและใต้ดิน) ที่การออกแบบยังขาดๆ เกินๆ ในแทบทุกสถานี

“เหมือนว่าผู้บริหาร BTS และ MRT ปฏิบัติต่อคนพิการไม่เท่าเทียมเลยนะ” ผมตั้งคำถามกึ่งแสดงความเห็น

“เขาไม่ได้มองว่าคนพิการต้องเท่าเทียม และไม่ได้มองว่าที่ทำอยู่ไม่เท่าเทียมด้วย เขามองข้ามไปเลย ในสายตาพวกเขา คนพิการต้องได้รับการช่วยเหลือ แค่เข้าใช้บริการได้ก็พอ” เธอในฐานะคนพิการ ตอบไว้แบบนั้น

ทันทีที่ได้ยิน ผมพยักหน้าแล้วคิดตาม เป็นเรื่องที่ไม่เคยคิดมาก่อน พ้นไปจาก ‘ความเท่าเทียม’ คืออะไร การตัดสินใจในบางบริบทไม่แม้แต่จะหยิบประเด็นดังกล่าวมาคิดด้วยซ้ำไป

---

ทั้งที่สถาปนิกและวิศวกรเก่งๆ ก็เยอะ ความรู้ด้านการออกแบบก็เพียบพร้อม แต่กลายเป็นว่า รถไฟฟ้าของบ้านเรา กลับไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนใช้รถเข็นและวีลแชร์อย่างเหมาะสม (ทั้งคนพิการ เด็กเล็กที่ต้องใช้รถเข็น และผู้สูงวัยที่เดินไม่ค่อยไหว)

กล่าวโดยรวมๆ บางสถานีมีลิฟต์ แต่โผล่ขึ้นไปในจุดที่เดินทางต่อแทบไม่ได้ เช่น ไม่มีทางลาดให้ไปต่อ (พ้นไปจากพื้นที่รับผิดชอบ ก็ตัวใครตัวมันละกัน) หรือหนักหน่อย บางสถานีไม่มีลิฟต์สักตัว คนใช้วีลแชร์หนึ่งคนต้องอาศัยเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 3 คนเพื่อขึ้นไปด้านบนด้วยบันไดเลื่อน (ไม่ได้พูดเล่นนะ บันไดเลื่อนนี่แหละ) เจ้าหน้าที่ 2 คนจับวีลแชร์ให้มั่นคง โดยเจ้าหน้าที่อีก 1 คนมีหน้าที่หยุด-ปล่อยบันไดเลื่อน

ถ้าลองสืบค้นในกูเกิลโดยพิมพ์คำว่า ‘รถไฟฟ้า ลิฟต์ คนพิการ’ ข่าวสารแทบทั้งหมดคือการปะทะกันเรื่องถูกหรือผิดในทางกฎหมาย ฝ่ายหนึ่งอ้างว่าสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสเกิดขึ้นก่อนกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ (ใช่ เขาไม่ได้ทำผิดอะไร) แต่คนพิการกลุ่มหนึ่งมองว่า เมื่อกฎหมายระบุไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร สถานีที่ยังไม่มีลิฟต์ก็ควรมีได้แล้ว พวกเขาจึงรวมตัวกันฟ้องศาลปกครอง

21 มกราคม 2558 ศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินให้กรุงเทพมหานครและรถไฟฟ้า BTS ดำเนินการติดตั้งลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกทั้ง 23 สถานีภายใน 1 ปี สิ้นคำตัดสิน โครงเหล็กค่อยๆ สร้างอย่างเนิบช้า และค้างคาเช่นนั้น เมื่อครบกำหนด สถานีเหล่านั้นยังไม่มีลิฟต์พร้อมใช้งาน กลุ่มคนพิการรวมตัวฟ้องอีกครั้ง แต่ถึงปัจจุบันก็ยังไม่เกิดผลลัพธ์ที่น่าพอใจ นับจากคำพิพากษาครั้งแรกสุด กว่าสองปีแล้วที่คนใช้วีลแชร์ยังต้องอาศัยบันไดเลื่อนเพื่อขึ้นและลงชานชาลา

ฟากรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่จรดปากกาทำสัญญาหลังกฎหมายเดียวกันออกระเบียบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ทุกสถานีจึงมีลิฟต์ แต่กลายเป็นว่าบางสถานียังมีเพราะต้องมีไปอย่างนั้น ผู้โดยสารต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนใช้ (เกิดการช่วยเหลืออีกแล้ว) ลิฟต์อยู่ในตำแหน่งที่มืดและเปลี่ยว (ใช้บริการตอนกลางคืนเพียงลำพังช่างน่ากลัวจับใจ) ไปจนถึงโผล่มาแล้วไปต่อแทบไม่ได้ 

ใช้สายตาแบบคนมองโลกในแง่ร้าย ผู้บริหารรถไฟฟ้าคงมองว่ากลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ คือคนที่เดินเหินได้คล่องแคล่ว ลิฟต์จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญลำดับแรกๆ (เจ้าหน้าที่ประจำสถานีเคยบอกว่า แต่ละวันมีคนพิการมาใช้แค่ไม่กี่คน) แน่นอนว่าจำนวนผู้ใช้บริการมีผลต่ออำนาจการต่อรอง เพราะหากจินตนาการถึงโลกคู่ขนานที่เมืองหนึ่งๆ มี ‘คนพิการ’ มากกว่า ‘คนไม่พิการ’ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ คงออกแบบให้เอื้อต่อคนส่วนใหญ่ --- ซึ่งคือคนพิการนั่นเอง

แต่นั่นคงเป็นโลกในทางความคิด เพราะความจริงคือ คนพิการเป็นคนส่วนน้อยของสังคม

พูดก็พูดเถอะ ปริมาณคนอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ผู้มีอำนาจมองเห็น เพราะสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจก็ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองได้ด้วย แต่ก็นั่นแหละ คงไม่มีดารา-พิการ ผู้มีอันจะกิน-พิการ หรือแม้แต่เจ้าขุนมูลนาย-พิการที่ไหนพาตัวเองมาปะปนในขนส่งสาธารณะ รถหรูหราและการบริการอย่างดี

ดังนั้น บนพื้นที่สาธารณะ คนพิการจึงกลายเป็นคนที่ถูกลืมไปโดยปริยาย

---

ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม เวลาพูดถึง ‘ความเท่าเทียม’ คนจำนวนไม่น้อยมักจินตนาการถึงแนวคิดจากต่างประเทศที่หรูหรา นามธรรม และเข้าใจยาก (ประชาธิปไตยบ้างล่ะ สิทธิมนุษยชนบ้างล่ะ) ความเท่าเทียมจึงกลายเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่ความจริงเป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างมาก

ยิ่งเมื่อลงรายละเอียดของความหมาย ‘ความเท่าเทียม’ มักถูกเข้าใจว่า คือการได้รับถูกปฏิบัติในปริมาณเท่าๆ กัน เช่น ครอบครัวที่มีลูก 2 คน ถ้าลูกๆ มาขอเงินไปซื้อขนม แล้วพ่อให้เงินคนละ 112  บาท หรือถ้าลูกๆ ทำผิดในเรื่องเดียวกัน แล้วแม่ตีคนละ 9 ที (แต่จริงๆ อย่าลงไม้ลงมือเลย พูดดีๆ ก็ได้) นั่นคือการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ซึ่งมองแบบไม่อิงทฤษฎีอะไรเลย ผมว่าก็เท่าเทียมดีนะ 

แต่ปัญหาคือในบางบริบท ‘ความเท่ากัน’ อย่างตรงไปตรงมา (ในเชิงปริมาณ) อาจไม่ได้หมายถึง ‘ความเท่าเทียม’ เสมอไป

ประชากรในเมืองมีความหลากหลายในทางกายภาพ (เดินเร็ว เดินช้า ไปจนถึงเดินไม่ได้) การสร้างบันได หรือบันไดเลื่อนให้คนเกือบทุกคนขึ้นลงชานชาลารถไฟฟ้าได้ โดยลืมไปว่ามีคนกลุ่มหนึ่งไม่สามารถใช้บริการได้เลย ผมว่าแบบนี้ไม่ใช่ความเท่าเทียมหรอก

หากอยากให้สภาพแวดล้อมเอื้อต่อทุกคน การอยู่ร่วมกันมีความเท่าเทียม ความหลากหลายของมนุษย์เรียกร้องการปฏิบัติที่ใส่ใจรายละเอียดของความแตกต่าง ไม่ใช่แค่ทำเหมือนๆ กัน ทำเท่าๆ กัน

 

คุณว่า ‘คนพิการ’ มีอยู่จริงไหม - ถึงไม่ค่อยได้เห็น แต่เราต่างรู้ว่ามีอยู่แน่นอน

 

คุณว่า ‘คนพิการ’ อยากใช้ขนส่งสาธารณะไหม (ถ้าเขาไม่มีรถยนต์เป็นของตัวเอง) - ตอบแบบไม่ต้องคิดซับซ้อน เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่คนๆ หนึ่งจะขึ้นแท็กซี่ทุกวัน ข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจทำให้เราทั้งอยากใช้และต้องใช้ขนส่งสาธารณะ

 

แต่ ‘ความเท่าเทียม’ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าเราไม่ได้มองเห็นทุกๆ คนอย่างมีชีวิตจิตใจ

 

โครงสร้างพื้นฐานจะเป็นมิตรกับทุกคนได้ ก็ต่อเมื่อตระหนักใน ความเท่าเทียม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จาก การมองเห็นคนทุกคน เพราะวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ย่อมเกิดจาก วิธีคิดที่ถูกต้อง

กล่าวอย่างตรงไปตรงมา การออกแบบเพื่อทุกคน / การออกแบบเพื่อมวลชน / อารยสถาปัตย์ (Universal design) คือการใส่ใจ ‘คุณค่า’ ที่ทุกคนพึงได้รับ หาได้จำกัดเฉพาะคนพิการใช้วีลแชร์ เด็กเล็กที่ต้องใช้รถเข็น และผู้สูงวัยที่เดินไม่ค่อยไหว ถ้ารูปธรรมคือ ‘ทางลาด’ หรือ ‘ลิฟต์’ (ในทางทฤษฎีคงมีรายละเอียดพอสมควร) คนเดินเหินได้คล่องแคล่ว ย่อมใช้ทางลาดได้เช่นกัน ไปจนถึงบางวันที่เขาปวดขาจนไร้เรี่ยวแรง การใช้ลิฟต์ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

ถ้าคุณรู้ว่าคนพิการมีอยู่จริง ถ้าคุณรู้ว่า ณ ปัจจุบัน โครงสร้างพื้นฐานไม่ได้ออกแบบเพื่อทุกคน บางทีจุดเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดของ ‘ความเท่าเทียม’ อาจหมายถึงคุณ-ผู้เป็นคนส่วนใหญ่จะมองเห็นทุกๆ คนอย่างมีชีวิตจิตใจ

เมื่อขึ้นรถไฟฟ้าแล้วมองคนผ่านไปมาด้วยสายตาอีกแบบ คุณจะเห็นถึงรายละเอียดใหญ่-เล็กที่ไม่เหมือนเดิม ‘เรา’ และ ‘เขา’ จะค่อยๆ กลายเป็นเพื่อนกัน เมื่อถึงวันนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนส่วนน้อย ย่อมเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ และถือเป็นเรื่องของทุกคน