Skip to main content

เปิดตัว "เว็บไซต์พจนานุกรมภาษามือไทย ฉบับราชบัณฑิตยสภา" เชื่อทำให้ภาษามือไทยมีมาตรฐานและสร้างความเข้าใจให้คนหลายกลุ่ม เช่น ล่ามภาษามือ ครู ครอบครัวและตัวคนพิการ

ผศ.ดร.พิมพา ขจรธรรม คณบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่มาของโครงการ "เว็บไซต์พจนานุกรมภาษามือไทย ฉบับราชบัณฑิตยสภา" เกิดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา ปัจจุบันประเทศไทยมีคนพิการทางการได้ยินมากถึง 329,437 คน ทั่วประเทศ ตามฐานข้อมูลทะเบียนกลางคนพิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ วันที่ 25 มิ.ย. 2560 ภาษามือนับเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารและใช้ในการถ่ายทอดความหมายเมื่อเทียบกับการพูดคุย

หากอ้างอิงตามที่พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2558 มาตรา 8 กล่าวถึงการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดทำพจนานุกรม สารานุกรม อักขรานุกรม อนุกรมวิธาน การบัญญัติศัพท์วิชาการสาขาต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทยแล้วนั้น เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้ขยายขอบข่ายงานให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคนพิการ พจนานุกรมภาษามือไทยสำหรับคนพิการทางการได้ยิน จึงเกิดขึ้น นอกจากจะเชื่อว่าเป็็นประโยชน์ทางการศึกษา ยังช่วยให้คนพิการทางการได้ยินมีภาษามือไทยที่ตรงกันและนำไปใช้ในการสื่อสารได้

การนำเสนอเนื้อหามี คำศัพท์  ลักษณนามทั้งแบบแสดงท่ามือแต่ละแบบ ตัวอย่างประโยค 4 แบบ ได้แก่ ประโยคบอกเล่า ประโยคคำถาม-คำตอบที่ 1 ประโยคคำถาม-คำตอบที่ 2 และประโยคคำสั่ง/ ขอร้อง/ ชักชวน/ อื่น ๆ มีการนำเสนอและแสดงผล แบบสื่อประสม (multimedia) ซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือ (1) รูปภาพ (2) อักษรไทย (3) ภาษามือไทย และ (4) เสียงประกอบ ทำให้พจนานุกรมภาษามือไทยเป็นประโยชน์หลายด้าน เช่น ล่ามภาษามือ ครูที่สอนในโรงเรียนโสตศึกษา/ โรงเรียนที่มีคนพิการทางการได้ยินเรียนร่วม ครอบครัวของคนพิการทางการได้ยิน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับคนพิการทางการได้ยิน และผู้สนใจ