Skip to main content

กลิ่นขนมปังไส้หมูหยองอบอวลไปทั้งคันรถตู้

ระหว่างทางหลังกลับจากขายเบเกอรี่ของร้านตัวเอง คนทั้งคันรถก็เห็นตรงกันว่า ควรแวะซื้อเบเกอรี่ของร้านคนอื่นบ้าง ไหนร้านเขาจะให้ไส้เยอะ ไหนกองทัพจะต้องเดินด้วยท้อง ไหนจะต้องรอกว่าจะถึงวันพุธ ทุกอย่างดูสมเหตุสมผลขนาดนี้ ผ่านมาแล้วทั้งทีก็ไม่ควรพลาดขนมปังไส้หมูหยองร้านทางผ่าน

“มันอร่อยค่ะ จุ๊บแจงชอบกินค่ะ”

หนึ่งในเพื่อนร่วมทางของพวกเราพูดถึงรสชาติขนมปังไส้หมูหยองไว้อย่างนั้นตั้งแต่ยังแปะสติกเกอร์โลโก้ลงบนกล่องขนมไดฟุกุไส้ถั่วแดงในร้านเบเกอรี่ของตัวเอง และยังพูดถึงมันแบบเดิมเป็นระยะ ๆ กระทั่งพวกเราช่วยกันขนเบเกอรี่สองกระบะใหญ่ ๆ ใส่รถตู้ออกไปขายพนักงานออฟฟิศบนตึกเอ็กซ์เชนจ์ ทาวเวอร์ แถวอโศก กันจนหมดเกลี้ยง


ภาพ ชนากานต์ ตระกูลสุนทรชัย

- ไปขายเบเกอรี่กันเถอะ -

นับตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอกัน

จุ๊บแจง หรือธนัญญา วรรณประเสริฐ ผู้หญิงผิวขาว ตัวอ้วนน่ากอด ผมสั้นเท่าติ่งหูและมีหน้าม้า ตาตี่ ๆ (แกนนำให้พวกเราจอดรถแวะซื้อขนมปังไส้หมูหยองร้านทางผ่าน) ก็เอ่ยปากชวนฉันนั่งรถตู้ออกไปขายเบเกอรี่ กำลังจะหลุดบอกไปว่าฉันกลัวทำตัวไม่ถูกเพราะไม่เคยทำอะไรทำนองนี้มาก่อน เธอก็พูดต่อทันทีว่าเดี๋ยวจะสอนงานให้หมดทุกอย่าง

“ไม่ยาก ง่ายนิดเดียว พอถึงแล้ว เดี๋ยวจุ๊บแจงจะสอนให้ค่ะ”

เธอบอกฉันตั้งแต่ยังไม่ขึ้นรถตู้ แถมแอบขู่ด้วยประโยคเดิมซ้ำ ๆ ตลอดทางว่า

“จุ๊บแจงจะสอนแค่ครั้งเดียวนะคะ”

ฉันคิดถูกที่ไม่กลัวตัวเองทำตัวไม่ถูกและตัดสินใจรับคำชวนของเธอ เพราะแม้จากร้านเบเกอรี่ แถวสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี กรุงเทพฯ ไปตึกเอ็กซ์เชนจ์ ทาวเวอร์ แถวอโศก จะเป็นระยะทางสั้น ๆ และฉันเองได้ใช้เวลาแค่ครึ่งค่อนวันร่วมกับพวกเขา--เพื่อนใหม่, พนักงานร้าน 60 พลัสเบเกอรี่ แต่ก็ทำให้เห็นอีกด้านของคนกลุ่มหนึ่งที่ผิดไปจากภาพจำก่อน ๆ

วันนั้นพวงมาลัยรถตู้ถูกควบคุมโดย ‘คุณดุ๋ย’ ผู้ชายวัยสี่สิบห้าที่ไม่ค่อยได้ยินอะไรมาตั้งแต่เกิด เบาะด้าน หน้าข้างเขา คือ คริสโตเฟอร์ เบญจกุล อดีตนักแสดงชายที่ประสบอุบัติเหตุจากการช่วยเหลือคนอื่นจนร่างกายและสมองของตัวเองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างหนัก ส่วนฉันนั่งอยู่เบาะด้านหลังคริส ข้าง ๆ ฉัน คือจุ๊บแจง เธอมีภาวะออทิสซึมถัดไปอีกเป็นแม่ของเธอ เบาะด้านหลังสุดคือ ‘พี่แอม’ ผู้ชายวัยสามสิบห้าที่บอกว่าตัวเองเริ่มป่วยเป็นโรคจิตเภทมาตั้งแต่มัธยมปลาย เพราะเล่นเกมส์มากเกินไปจนประสาทหลอน และ ‘พี่เอื้อ’ ผู้หญิงวัยสามสิบแปด เทรนเนอร์ฝ่ายขายที่รับมือได้ดีกับทุกคนทุกสถานการณ์

ในรถตู้คันเดียวกันนี้ พวกเรานั้นหลากหลาย แต่ถ้าจะมองย้อนกลับไปยังจุดร่วมพื้นฐานก็แทบจะไม่ต่างเพศสภาพ เชื้อชาติ ภาษา ศาสนา สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เหล่านี้ทำให้เติบโตมาคล้าย ๆ กัน ยิ่งมีเลือด มีเนื้อ มีหัวใจ ก็ยิ่งย้ำว่า ทั้งฉัน เธอ เขา พวกเราเป็นคนเช่นเดียวกัน แม้แท้จริงแล้วคนเราจะไม่เหมือนกันอีกก็เถอะ

คริสกดลิฟต์ชั้นสิบสองแล้วสั่งให้ฉันออกไปด้วยกันกับเขาโดยไม่บอกสักคำว่า หน้าที่ของเด็กใหม่คนนี้คืออะไร แถมคนที่เหลือก็ยิ้มขำชิงอวยพรขอให้ฉันโชคดีก่อนจะกดลิฟต์ต่อไปยังชั้นสามสิบเอ็ด เพื่อจัดของแสตนด์บายรอลูกค้า ที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น หรือ ‘ไจก้า’

“ยามาซากิ มาขายที่ไจก้า ชั้นสามสิบเอ็ดนะครับ ฝากบอกต่อ ๆ กันด้วยนะครับ”

คริสเดินเข้าไปบอกพนักงานต้อนรับของออฟฟิศแต่ละบริษัทนับสิบกว่าชั้น ก่อนจะเฉลยว่าชวนฉันมากระจายข่าวว่าพวกเขาเอาเบเกอรี่มาขาย และบางชั้นก็มอบหมายให้เด็กใหม่คนนี้ทำหน้าที่นั้นแทน

เขาว่าถึงเป็นที่รู้กันของคนที่นี่ว่าพวกเขาจะเอาเบเกอรี่มาขายทุกวันพุธตอนบ่ายสอง แต่บางคนก็ชอบลืมวันลืมคืน จนไม่ได้ละจากงานมาซื้อเบเกอรี่

“วันนี้มีขนมมาขาย ช่วยซื้อคนพิการได้บุญนะครับ”

คริสพูดชวนคนที่เดินผ่านหน้าว่าอย่างนั้น แม่บ้าน ยาม เขาก็ไม่มีเว้น

“ได้บุญยังไง”

ฉันถามเขาเชิงทีเล่นทีจริง ไม่ใช่เพราะอยากรู้วิธีได้มาซึ่งบุญ แต่ด้วยที่ผ่านมาไม่เคยคาดหวังบุญจากเบเกอรี่ของใคร นอกไปจากความอร่อยให้คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป

เขาไม่ตอบอะไรกลับมา เอาแต่อมยิ้มแล้วเดินขากะเผลกออกจากลิฟต์ก่อนจะพูดประโยคเดิม ๆ มีปล่อยมุกตลกตบท้าย ทำเอาบางคนกดขำกันไว้ไม่อยู่

เอาเข้าจริง เบื้องหลังเสียงหัวเราะเหล่านั้น ยากที่จะประเมินว่าใครบ้างที่กดลิฟต์ไปยังชั้นสามสิบเอ็ด เพื่อซื้อเบเกอรี่ของพวกเขาด้วยความสงสาร ความเห็นใจ ไม่ใช่ความหิว แต่เป็นแค่ความอยากจะช่วยเหลือคนพิการ

หากอย่างน้อย เบื้องหลังการ ‘บอกบุญ’ ของคริส ฉันเห็นแล้วว่าเต็มไปด้วยความจริงจัง ความขยันในการทำงานมากที่สุดเท่าที่คนหนึ่งจะมีได้

 

- ภาพจำกับสิ่งที่เป็น -                                                                                         

พูดถึง คริสโตเฟอร์ เบญจกุล เขาเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ดาวรุ่งและคงยืนระยะได้อีกยาวในแวดวงบันเทิง ถ้าระหว่างทางกลับจากหัวหินเข้ากรุงเทพของค่ำวันที่ 22 มิถุนายน ปี 2542 เขาไม่ลงจากรถไปช่วยคนขับมอเตอร์ไซค์ที่นอนคว่ำจมกองเลือดอยู่ข้างถนนแล้วไม่มีคนเมาขับมอเตอร์ไซค์เข้าชนเขาจากด้านหลังอีกที                                                                

แต่ก็อีกนั้นแหละ เท่าที่ระบุสาเหตุได้ คนพิการมากกว่าครึ่งคือคนไม่พิการมาก่อน        

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาถูกหามส่งโรงพยาบาลในสภาพหมดสติ นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลร่วมสามเดือน พูดไม่ได้อยู่สองปีและผ่าตัดสมองมากถึงแปดครั้ง จากนักแสดง นักศึกษาใกล้จบปริญญาตรี ต้องมารับบทใหม่เป็นผู้ป่วย เป็นคนพิการไปตลอดชีวิต ในช่วงแรกคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะยอมรับและเขาว่าทุกอย่างมันคล้ายจะจบ                                                                     

“มันเจ็บมาก ทุกก้าวที่เดินมันจะจี๊ดขึ้นสมอง ตอนหัดเดินใหม่ ๆ พ่อแม่ก็ยืนลุ้นอยู่ข้าง ๆ เขาขอให้เราฝึกเดินสิบรอบ เราบอกว่าตัวเองเดินไม่ไหว มันเจ็บมาก ขอฝึกแค่สามรอบ แต่พอเดินไปได้รอบสองรอบ เขาก็นับใหม่หมด สุดท้ายเราก็เดินครบสิบรอบ เพราะจำไม่ได้ว่าเดินไปกี่รอบแล้ว ช่วงนั้นมันเบลอมาก จะพูดอะไรก็ยังติดอ่าง”                                                                   

เขาพูดถึงสภาพหลังประสบอุบัติเหตุใหม่ ๆ และบอกว่าไม่เคยเสียใจที่เกิดเหตุการณ์นี้

ความเจ็บปวดมันเจือจางไปแล้วตามวันเวลา กำลังใจจากครอบครัว คนรอบข้าง เนื้อความในจดหมายภาษาไทย อังกฤษ จีน เยอรมัน หลายฉบับที่ส่งมาถึงหน้าประตูบ้าน ทำให้เขาผ่านวินาทีเลวร้ายนั้นมาได้                      

ถึงทุกวันนี้หลายคนยังจำคริสได้ มีมาทักทาย ขอถ่ายรูป ทั้งก่อนและหลังซื้อเบเกอรี่เสร็จ เขาว่าตัวเองแข็งแรงดีทั้งกายและใจ แต่กว่าอวัยวะทุกส่วนจะกลับมาตอบสนอง กลับมาทำหน้าที่ได้เต็มกำลังนั้นต้องใช้เวลาพอสมควร หากเมื่อพร้อมจะใช้ความรู้ที่เรียนมาทำงานกลับเจอคำถามเช่นว่า         

“พิการแบบนี้จะทำงานได้เหรอ”                                                                             

นี่เป็นคำถามที่เขาต้องตอบเมื่อไปสมัครงานตำแหน่งครี-เอทีฟโฆษณาในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ก่อนเริ่มรับงานด้านรณรงค์เมาไม่ขับ พิธีกรช่องเคเบิ้ลทีวีและเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเซียและแปซิฟิก (APCD)                                               

“ขอโทษนะครับ ผมมาสมัครเป็นครีเอทีฟโฆษณา ไม่ได้มาแบกดอลลี่”                       

เขาตอบกลับไปแบบนั้น และขยี้ใบสมัครต่อหน้าเจ้าของคำถาม เพราะขนาดคนในบริษัทก็ยังไม่เข้าใจว่าครีเอทีฟโฆษณาต้องใช้อะไรทำงานบ้าง เขาจึงไม่อยากร่วมงานด้วย คล้ายกัน เมแกน แนช แม่ชาวอเมริกันที่โพสต์รูปลูกชายพิการวัยสิบห้าเดือนเรียกร้องความหลากหลายลงในเพจ ‘Changing the Face of Beauty’ ซึ่งเป็นแคมเปญที่สร้างขึ้นเพื่อรณรงค์ให้แบรนสินค้าต่าง ๆ ยอมรับนางแบบที่ไม่มีร่างกายครบสมบูรณ์                    

ก่อนหน้านี้เธอได้ส่งรูปแอชเชอร์ ลูกชายที่เป็นดาวน์ซินโดรมให้กับเอเจนซี่โฆษณาแห่งหนึ่งในแอนแลนติ ซึ่งกำลังคัดเลือกเด็กเพื่อถ่ายแบบโฆษณาของแบรนเสื้อผ้า แต่เมื่อเวลาผ่านไปเธอไม่ได้รับการตอบกลับใด ๆ จากเอเจนซี่ ทั้งรูปของแอชเชอร์ยังไม่ได้เข้าไปในระบบการคัดเลือก

หลังจากโพสต์นั้นเธอได้รับข้อความให้กำลังใจอย่างล้นหลามจากคนในโลกออนไลน์ เกิดการตั้งคำถามว่าอะไรคือมาตรฐานของความงาม จนแบรนด์เสื้อผ้าออกมาติดต่อเธอเองโดยตรง เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือก และบอกว่าเป็นเรื่องดีที่จะนำเสนอภาพของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ                                

คล้ายกันอีกกับคนรู้จักของ ดวงนฤมล ดอกรัก ผู้จัดการการข้อมูลและความรู้ของ ‘Apcd’ หรือที่ทุกคนในร้านเบเกอรี่พากันเรียกว่า ‘พี่ต้อม’ ด้วยน้ำเสียงเชิงอ้อนอยากเล่นด้วยทุกครั้งที่เจอ เธอทำงานเกี่ยวกับคนพิการมาเจ็ดปีแล้วเล่าให้ฟังว่ามีคนรู้จักที่เรียนเก่ง พูดได้หลายภาษา แต่พอไปสมัครงานด้านกฎหมายในบริษัทแห่งหนึ่งกลับถูกปฏิเสธ เพียงเพราะสายตาเลือนราง โดยทางบริษัทให้เหตุผลว่าไม่รับคนพิการเข้าทำงาน แม้สายตาเลือนรางที่ว่าแทบไม่ส่งผลในชีวิตประจำวัน                

ฉันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับอดีตนักแสดงชาย แม่ชาวอเมริกันและคนรู้จักของผู้จัดการการจัดการข้อมูลนั้นแทบไม่ต่างกัน มันอาจเกิดขึ้นแล้วกับหลายคน คงเกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หากคนเราเลือกมองความพิการก่อนความสามารถ ก่อนศักยภาพของกันและกัน                                     

 

- ความไม่สำคัญของคำพิเศษ -                                                                             

หลังเดินขึ้นลงลิฟต์นับสิบกว่าชั้นเพื่อชวนทุกคนมาซื้อเบเกอรี่เสร็จ ฉันก็กดลิฟต์ตามไปยังชั้นสามสิบเอ็ดและเห็นจุ๊บแจงกำลังหยิบซอฟท์เค้กนมใส่ถุงให้ลูกค้า                                             

“อันนี้อร่อยนะคะ”

“อันนี้ก็อร่อยเหมือนกันค่ะ”

เธอมักพูดแบบนี้กับลูกค้าแล้วชี้ไปที่เบเกอรี่ในกะบะตรงหน้าของตัวเอง

บางแว่บที่ไม่มีลูกค้าฉันแอบถามเธอว่าเหนื่อยบ้างไหมเพราะฉันเองรู้สึกล้าไปทั้งขาแม้จะทำหน้าที่ของเด็กใหม่ได้ไม่ถึงไหน

“ไม่เหนื่อยค่ะ ไม่เหนื่อยเลยค่ะ”

เธอตอบ และต่อให้จะถามแบบนี้อีกสักกี่ครั้ง คำตอบของเธอก็ไม่เปลี่ยน ยิ่งถ้าสังเกตดี ๆ เธอเป็นคนที่พูดคะ ขา เสมอไม่ว่าจะถูกโยนคำ  ใส่สักเท่าไหร่ จนก็อดสงสัยไม่ได้เหมือนกันว่านี่หรือ คือคนที่ถูกนิยามว่ามีความบกพร่องทางพัฒนาการด้านสังคม ภาษา การสื่อความหมาย พฤติกรรมและอารมณ์

ตอนนั่งรถตู้แม่ของจุ๊บแจงเล่าให้ฉันฟังว่าจุ๊บแจงคลานและพูดได้ช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน ตอนเรียนชั้นอนุบาลก็ชอบอยู่คนเดียว ครูถามอะไรก็ตอบไม่ได้ จนครูแนะนำเธอว่าควรพาลูกสาวไปเรียนการศึกษาพิเศษ

จุ๊บแจงจึงเรียนต่อแบบห้องเรียนร่วม ที่โรงเรียนพญาไทในระดับประถมก่อนเข้าร่วมโครงการฝึกอาชีพระยะสั้น ที่สถาบันราชานุกูล ฝึกเย็บผ้า ทำงานบ้านอยู่เกือบสี่ปีเพราะสอบเข้าเรียนต่อในชั้นมัธยมไม่ได้ และเมื่อโครงการฝึกอาชีพระยะสั้นปิดตัวลงตรงกับช่วงที่เธอเกษียณอายุงานและสามีป่วยหนัก จึงตัดสินใจให้จุ๊บแจงอยู่บ้านเฉย ๆ  

จนเดือนเมษายน ปี 2558 เธอพาจุ๊บแจงในวัยสามสิบมาสมัครเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ร้านหกสิบพลัสเบเกอรี่ เพราะมองว่าเป็นช่องทางเดียวที่ลูกจะได้มีสังคมเป็นของตัวเอง แม้ที่ผ่านมาจะเชื่อว่าลูกตัวเองทำงานได้เหมือนกับคนทั่วไป แต่สังคมไม่ค่อยเปิดโอกาสให้คนออทิสติกกันเท่าไหร่

จุ๊บแจงฝึกงานอยู่ที่นี่เกือบสามเดือน โดยมีเทรนเนอร์คอยดูว่าเธอถนัดด้านไหน ซึ่งเธอทำครัวซองต์ออกมาได้ดี แม้ตอนหลังจะย้ายมาอยู่ฝ่ายขาย เพราะชอบพูดคุยกับคนมากกว่าอยู่ในครัว

‘ป๋าล้วน’ หรือ จตุพร สอนบุญตา เทรนเนอร์ ที่บริษัทไทยยามาซากิส่งมาให้ร่วมบุกเบิกร้านหกสิบพลัสเบเกอรี่ก็บอกว่าจุ๊บแจงมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เดิมทีเธอติดแม่มาก แต่เดี๋ยวนี้ทำงานคนเดียวได้ทั้งคุยเก่งขึ้น

และถ้าถามกลับมายังตัวเขาเอง ตอนแรกก็ตกใจที่ต้องมาทำงานกับคนพิการเพราะไม่เคยการทำงานร่วมคนกลุ่มนี้มาก่อน แต่ในเมื่อบริษัทให้มาก็ต้องมา               

สำหรับเขาการสอนคนออทิสติก คนหูหนวกเบเกอรี่นั้น มีอุปสรรคอยู่บ้างเพราะไม่รู้จะสื่อสารกันอย่างไรดี แต่ก็ค่อย ๆ ฝึกภาษามือ สังเกตพฤติกรรม นิสัยใจคอของกันและกันไป ถึงแม้ไซส์งานจะต่างกับที่ตัวเองเคยทำมา แต่ผลลัพธ์ก็ออกมาเป็นเบเกอรี่ที่มีหน้าตาและรสชาติดีเหมือนกัน

จนตอนนี้เป็นเวลากว่าสองปีแล้วที่เขาทำงานร่วมกับคนกลุ่มนี้และพูดได้เต็มปากว่าตัวเองมีความสุขเพราะไม่ว่าใครจะรู้สึกอะไรก็แสดงออกมา ไม่แกล้งทำ ไม่มีปิดบัง

เมื่อย้อนดูกฎหมายเกี่ยวกับจ้างการงานคนพิการนั้นก็พอจะสรุปได้ว่า ที่ผ่านมาภาครัฐเองมี เจตนารมณ์ให้กลุ่มนี้ได้มีโอกาสใช้ความสามารถในการมีรายได้ พึ่งพาตนเอง ลดภาระของครอบครัว และสังคม แต่ขณะเดียวกันข้อมูลรายงานสถานการณ์คนพิการในประเทศไทย กรมส่งเสริมและพัฒนาชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความของมนุษย์ ประจำเดือนธันวาคม ปี 2559 ก็ระบุว่า คนพิการในวัยทำงานเกินครึ่งหนึ่งของประเทศที่สามารถประกอบอาชีพได้แต่ยังคงตกงาน

ทั้งแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพยังพบว่า คนพิการที่มีงานทำนั้นมีรายได้เฉลี่ยเพียงสองในสามของคนปกติ ซึ่งค่าตอบแทนได้เทียบเท่ากับแรงงานไร้ฝีมือ          

นอกจากนี้ยังเกิดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางรายได้ มีคนพิการแปดเปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้เข้าทำงานในระบบ รวมถึงองค์การภาครัฐและภาคเอกชนที่มีการจ้างงานเกินร้อยคนยังยินยอมบริจาคเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมากกว่าการจ้างงานคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

ที่สำคัญตอนหนึ่งจาก ‘การสร้างงานแก่บุคคลออทิสติก’ ในวันรณรงค์ตระหนักรู้ออทิสติกโลก เมื่อ ปี 2558 ก็มีการประมาณการว่ากลุ่มคนที่มีคนออทิสติกทั่วโลกกว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์ไม่มีงานทำ จากข้อจำกัดด้านจำนวนศูนย์ฝึกอบรมด้านอาชีพ การไม่มีระบบสนับสนุนการจ้างงาน การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงความเข้าใจของนายจ้างที่มองสภาพความบกพร่องมากกว่าศักยภาพที่แท้จริงของคนที่มีคนออทิสติก

ถึงอย่างนั้นต้อมยังยืนยันว่าการทำงานร่วมกับคนออทิสติก คนหูหนวก หรือคนพิการประเภทอื่นนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เผลอ ๆ อาจสนุกกว่าที่คิดไว้ แค่ต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้ธรรมชาติที่ซับซ้อนของกันและกัน

ทั้งควรถามก่อนให้ความช่วยเหลือ เพราะคนพิการบางคนก็มีความสามารถไม่ต่างจากคนทั่วไปที่ทำอะไรได้ด้วยตัวเอง และถึงมีความพิการประเภทเดียวกันก็ใช่ว่าแต่ละคนจะต้องการความช่วยเหลือที่เหมือนกัน

สั้น กระชับที่สุดตาม ‘พี่ต้อม’ บอก ฉันว่าคงไม่มีใครชอบให้ตัวเองถูกยัดเหยียด แม้จะรู้ว่าอีกฝ่ายให้ หรือทำด้วยเจตนาดี

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ ไม่มีพื้นฐานแต่ไม่ต่างกัน: เรื่องเล่าระหว่างฉัน เธอ เขา และ'ความพิการ'ของเรา ทีสิสนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ เอกวารสารและหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

---

อ่าน "เรื่องเล่าระหว่างฉัน เธอ เขา และ'ความพิการ'ของเรา" ตอนอื่นได้ที่ : ไต่บันไดในความมืด