Skip to main content

 “…

Something that sinks in my blood

Is telling me

Yes, I can               

… ”

ปี 2555 Channel 4 เจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดกีฬาพาราลิมปิกทำหนังโฆษณาเรื่อง Meet the Superhumans และเป็นหนังโฆษณาที่ดีที่สุดตลอดกาลเรื่องหนึ่งของโลก ครั้งนั้นหนังเล่าว่าคนพิการไม่ใช่คนที่ดูแลตัวเองไม่ได้ แต่เป็นยอดมนุษย์แห่งวงการกีฬาที่ไม่ต่างไปจากคนปกติ

ปี 2559  เพลง Yes,  I can ของ Sammy Davis Jr. ถูกบันทึกเสียงใหม่โดยนักดนตรีพิการแล้วนำมาประกอบหนังโฆษณาเรื่อง We’re The Superhumans ได้รับรางวัลกรังค์ปรีซ์หมวด Film และ Film Craft กลายเป็นหนังโฆษณาที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของยุโรป

ตัวหนังไม่ได้พูดถึงแค่คนพิการกับความสามารถด้านกีฬาเหมือนเดิม ๆ แต่เล่าไปถึงคนพิการที่ทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างน่าทึ่ง

แต่ไม่ว่าจะปีไหน ๆ ในสังคมของเรา คนพิการมักถูกนำเสนอออกมาในภาพของยอดมนุษย์ อย่าง ฮีโร่พาราลิมปิก ทำให้หลายคนมีพวกเขาเป็นแรงบันดาลใจ ไม่ก็น้ำหูน้ำตาไหล อดสงสารพวกเขากันไม่ได้

จนมีใครบางคนออกมาตั้งคำถามว่าจะมีนักกีฬาพาราลิมปิกสักกี่คนที่ใช้ชีวิตอย่างปกติกับครอบครัวทันที หลังกลับจากการแข่งขัน เพราะโดยทั่วไปพวกเขามักได้รับการยกยอให้สูงกว่าปกติ

- ผู้ชาย-พ่ายแพ้-เส้นชัย -

คำถามที่ว่าชวนให้ฉันคิด

คำถามต่อไปนี้ก็เช่นกัน

คำถามที่เกิดขึ้นระหว่างฉันเป็นผู้สัมภาษณ์และสายชล คนเจน นักกีฬาวีลแชร์ เรซซิ่ง ที่เพิ่งคว้าเหรียญจากพาราลิมปิกเกมส์ ปีล่าสุดเป็นผู้ให้สัมภาษณ์


ภาพ นันทินี แซ่เฮง

ตลอดชั่วโมงกว่า ๆ ที่คุยกัน ฉันเป็นคนเปิดประเด็นด้วยการถามถึงเรื่องเก่า ของเขาแม้เจ้าตัวจะบอกว่ามันเป็นช่วงชีวิตที่ไม่น่าจดจำ แต่ฉันก็ถามถึงมันซ้ำไปซ้ำมา เพื่อยืนยันกับตัวเองว่าสิ่งที่รู้มาก่อนหน้านี้ไม่ได้ผิดเพี้ยน จนมานึกดูแล้วบางครั้งคำถามก็ไม่ได้น่าฟังเอาเสียเลย

แต่ก็นั่นแหละ พอได้ฟังเขาตอบ ฉันกลับชอบ กลับเห็นด้วย และอยากเล่าสู่กันฟัง

1. ปีนี้ สายชล อายุสามสิบสามปี โดยส่วนตัวเขาก็ยังไม่รู้หรอกว่าคำอธิบายของใครถูกของใครผิด ระหว่างเขาพิการเพราะเป็นโรค โปลิโอตั้งแต่เกิด หรือเพราะถูกหมอฉีดยาโดนเส้นประสาทจนเดินไม่ได้ เอาตอนอายุสองขวบแต่ไม่ว่าจะเพราะอะไร เขาก็พิการซึ่งเขารับได้            

2. เขาว่าเกิดเป็นคนพิการในบ้านเราใช้ชีวิตยาก แค่นั่งวีลแชร์ออกจากบ้านก็เดินทางลำบาก ขนาดสถานที่ราชการก็ไม่มีทางลาด ถึงมี ก่อนจะขึ้นทางลาดก็เป็นบันได

3. สำหรับคนอื่นการเล่นกีฬาอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้มีสุขภาพที่ดี แต่สำหรับเขาการเล่นกีฬาเป็นทางเลือกเดียวที่จะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

4. สวัสดิการนักกีฬาคนพิการบ้านเรายังดีไม่พอ เขาว่า ต้องได้เหรียญเท่านั้นถึงจะอยู่รอดต่อไปได้

5. เพราะเริ่มเล่นกีฬามาตั้งแต่ร่างกายยังติดลบ แม้ตัวเองจะต้องซ้อมหนัก เหนื่อย ท้อ แต่ในเมื่อมันมาครึ่งทางแล้วก็ต้องไปต่อ ถ้าจะทิ้งไปทำอย่างอื่นก็เท่ากับว่าเขาต้องนับศูนย์ใหม่

6. เขาไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้เป็นนักกีฬาพาราลิมปิก ไม่เคยคิดกระทั่งว่าจะแข่งอะไรกับใครได้ แตเพราะการได้เหรียญทำให้มีกิน มีใช้ เป็นที่ยอมรับ ดังนั้นจึงต้องทำ ทำไปตามเป็นหน้าที่ ไปตามขั้นตามตอนแล้วก็มาถึงจุดนี้ จุดที่ไม่คิดว่าตัวเองจะมาถึง

7. ความพยายามของเขาเห็นฝั่งได้ง่ายขึ้น เพราะมีคนที่ประสบความสำเร็จอยู่ก่อนแล้วให้เห็น คนที่ได้เหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์ก็เป็นคนไทย เขาเหลือแค่คิดว่าจะปั่นอย่างไรให้ใกล้ ให้ชนะคนเหล่านั้น เพราะถ้าทำแค่นี้ได้ก็มีสิทธิ์ชนะคนทั้งโลก เขาย้ำด้วยว่าคนเรามี ตัวอย่างมากมายให้ทำตาม เหลือแค่เลือกเอาว่าจะทำตามใคร

8. การอิจฉาคนที่ดีกว่าในแวดวงเดียวกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่จะใช้ความอิจฉาที่เกิดขึ้นอย่างไรนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เขายอมรับตรงไปตรงมาว่าที่ซ้อมกีฬาหนักส่วนหนึ่งก็เพราะอยากได้เหรียญ มีเงิน มีบ้าน มีรถ มีครอบครัวเหมือนเพื่อนคนอื่น ๆ 

9. วิธีรับมือกับแรงกดดันที่ดีที่สุดของเขาคือเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะถ้าไม่เชื่อว่าตัวเองทำได้ เขาคนว่าเราก็มีสิทธิ์แพ้สูง

10. เป้าหมายของเขาคือเหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์ แต่ทำพลาด ผิดหวังมาแล้วสี่ครั้ง แต่ละครั้งต้องรอนานถึง 4 ปีกว่าจะได้แก้ตัว นับรวมเป็นเวลาสิบสองปีแล้วกับเป้าหมายเดิมที่ตัวเองยังทำไม่สำเร็จ แต่เขายังหวังอยู่และคงไม่ล้มเลิก

- ไม่มีฮีโร่ ไม่มีอะไรง่าย -

หนึ่งเหรียญทอง อาเซียนพาราเกมส์ ที่เวียดนาม ปี 2546, สี่เหรียญทอง หนึ่งเหรียญเงิน สามเหรียญทองแดง อาเซียนพาราเกมส์ ที่ฟิลิปปินส์ ปี 2548, หนึ่งเหรียญทอง หนึ่งเหรียญเงิน หนึ่งเหรียญทองแดงเฟสปิกเกมส์ ที่มาเลเซีย ปี 2549, หนึ่งเหรียญเงิน หนึ่งเหรียญทองแดง พาราลิมปิกเกมส์ ที่จีน ปี 2551, สามเหรียญทอง อาเซียนพาราเกมส์ ที่อินโดนีเซีย ปี 2554, หนึ่งเหรียญเงิน สองเหรียญทองแดงพาราลิมปิกเกมส์ ที่อังกฤษ ปี 2555, สองเหรียญทอง สองเหรียญเงิน หนึ่งเหรียญทองแดงเอเชียนพาราเกมส์ ที่เกาหลีใต้ ปี 2557 และล่าสุดกับหนึ่งเหรียญเงิน หนึ่งเหรียญทองแดงพาราลิมปิกเกมส์ ที่บราซิล  ปี 2559

สายชลเป็นเจ้าของรางวัลข้างต้น

ยังไม่นับว่าเขามักติดอันดับต้น ๆ ของโพลล์นักกีฬาที่ถูกพูดถึงร่วมกับคนปกติที่สำนักสื่อต่าง  ๆ จัดทำขึ้น

เขาแลกทั้งหมดนั้นมาด้วยมือสองข้างของตัวเองใช้หมุนล้อวีลแชร์อยู่ในสนามซ้อมเป็นวัน ๆ เป็นเดือน ๆ ยิ่งช่วงใกล้แข่งขันรายการใหญ่ โค้ชก็ยิ่งเคี่ยว เขาต้องเก็บตัวซ้อมกีฬากับทีมที่โคราช ไม่ได้ออกไปเที่ยวไหน ไม่ได้อยู่กับครอบครัว--เวลาส่วนตัวหายไปเกือบทั้งหมด

“ถ้าเราไม่ยอมเสียเวลา มันก็จะไม่ได้อะไร คือ เราต้องยอมสละเวลาของตัวเองบ้าง เราไปแข่งก็ไปเพื่อประเทศ เพื่อครอบครัว เพื่อตัวเอง มันก็มีสิ่งที่เราได้กลับมาบ้างไม่ใช่ว่ามันจะหายไปเลย อย่างกลับมาครอบครัวก็ภูมิใจ หรือว่าใคร ๆ ก็ภูมิใจ”

คนเราได้อย่างก็ต้องเสียอย่างและถ้าเอาสิ่งที่เสียไปกับสิ่งได้กลับมาชั่งน้ำหนักดู สำหรับเขามันคุ้ม!

สิ่งที่น่าสนใจในตัวสายชลไม่ใช่แค่ว่าเขามีรางวัลมากมายมาการันตีความสามารถ มีชื่อเสียง ประสบความสำเสร็จด้านกีฬา แต่ก่อนหน้านี้เขามีชีวิตที่ต่างกับวันนี้โดยสิ้นเชิง เขาเป็นลูกชายคนเดียวหลังพ่อแม่มีลูกสาวหนึ่งคนเมื่อสี่ปีก่อน เป็นความหวังเดียวว่าเมื่อโตขึ้นจะเป็นเสาหลักของครอบครัวกรรมกรโรงสีข้าว บ้านอู่ยา จ.สุพรรณบุรี แต่พออายุได้สองขวบเกิดเป็นไข้หวัดตัวร้อน แม่จึงพาไปหมอที่ดีที่สุดในชนบท ซึ่งก็มีเพียงอดีตทหารเสนารักษ์

ตอนเช้าเขาถูกฉีดยาหนึ่งเข็ม พอตอนบ่ายเขาปวดเมื่อยไปทั้งตัว แม่จึงรีบพากลับไปหาอดีตทหารเสนารักษ์คนเดิม แต่อดีตทหารบอกว่าเป็นเพราะไข้หวัด พอยาออกฤทธิ์เขาก็จะหายดี

หากเมื่อมันไม่หายแม่จึงพาเขาไปหาหมอพื้นบ้าน นวดน้ำมัน จับเส้นแล้วอาการก็รุนแรงขึ้น กล้ามเนื้อค่อย ๆ อ่อนแรง เขาเริ่มขยับไม่ได้ แม่จึงพาไปหาหมอที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด หมอที่นั่นสันนิษฐานว่าอดีตทหารเสนารักษ์ฉีดยาโดนเส้นประสาท ให้นอนรอดูอาการที่โรงพยาบาลแล้วให้ยากลับมากิน รักษาตัวที่บ้าน

ผ่านไปสามวันอาการของเขาก็ยังไม่ดีขึ้น แม่จึงพาเข้ามาหาหมอที่กรุงเทพฯ หมอที่นี่บอกว่ามาช้าไป รักษาไม่ได้แล้ว พ่อกับแม่จึงพยายามทำทุกวิถีทาง รดน้ำมนต์ ไล่ผี สะเดาะเคราะห์ เพื่อให้ลูกชายคนเดียว ความหวังเดียวของครอบครัวกลับมาเป็นปกติ แต่ก็ไม่มี อะไรเกิดขึ้น---สายชลกลายเป็นคนพิการ

สภาพร่างกายของเขาไม่ต่างจากคนเป็นโรคโปลิโอ ไปไหนมาไหนต้องคลานไปกับพื้นและทันทีที่เข้าโรงเรียนวัดข้างบ้านก็ถูกเพื่อนล้อ รังแกจนเสียความมั่นใจ แม้ได้ย้ายเข้าโรงเรียนใหม่ใน จ.กาญจนบุรี เพราะพ่อกับแม่ย้ายไปขายข้าวแกงให้คนงานตัดอ้อยที่นั่น ทว่าทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม

“เมื่อก่อนเราไม่ออกไปไหน เพราะอายที่เป็นคนพิการ เด็กยังล้อเราเลย ไปห้างก็ถูกมอง เด็กก็มอง คนโตก็มองไปในแง่ที่ไม่ดี เช่น เราจะมาขโมยของหรือเปล่า ตอนเด็ก ๆ มันก็แย่นะที่พอเป็นคนพิการแล้วสังคมไม่ยอมรับ”

ตอนนั้นเขาว่าตัวเองเกิดมาโชคร้าย เป็นภาระของครอบครัว น้ำตาไหลอาบแก้มทุกครั้งเมื่อเห็นพ่อกับแม่ปรับทุกข์กันแล้วตัวเองช่วยเหลืออะไรไม่ได้ แค่ช่วยเหลือตัวเองยังทำไม่ได้ แต่ก็ค่อย ๆ หลุดออกจากความคิดแบบนั้นเมื่อย้ายเข้าเรียนประถมศึกษาสี่ที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ จ.นนทบุรี หลังคนพิการลูกค้าร้านข้าวแกงของพ่อกับแม่แนะนำให้เขาลองเปลี่ยนสภาพแวดล้อม

“เราพึ่งเห็นว่ามีคนที่เดินไม่ได้เหมือนกันกับเรานี่หว่า มันเป็นเหมือนสังคมใหม่ สังคมที่ความพิการได้รับการยอมรับ เรายอมรับเขา เขาก็ยอมรับเรา แม้บางคนจะพิการมากกว่าเราอีก” 

สายชลผ่าตัดใหญ่ช่วงกำลังเรียนประถมหก แต่หลังเขางอมากเพราะไม่ยอมฝึกเดินจึงต้องผ่าตัดอีกครั้งเพื่อยืดขาให้ตรง ย้ายเนื้อจากสะโพกมาโปะหน้าขาและน่องเพื่อให้มีแรงยืดขา แรงยืนแล้วใส่เหล็กดามขาไว้ให้มีแรงเวลาทรงตัวเมื่อเดินด้วยไม้ค้ำยัน

ไม่นาน เขาก็ลุกขึ้นยืนเดินเองได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องใช้ไม้ค้ำยันตลอดเวลา มันเหมือนพึ่งได้ชีวิตใหม่ เริ่มอยากเป็นนักกีฬาคนพิการทีมชาติเหมือนรุ่นพี่นักกีฬาปิงปองที่กลับมาเยี่ยมโรงเรียน แม้จะถูกหลายคนมองว่าฝันไกลเกินไป แต่เขาไม่สนใจ เริ่มตี และซ้อมตีปิงปอง จนได้เป็นตัวแทนโรงเรียนและเขตนนทบุรี ลงแข่งกีฬาเขตคนพิการแล้วเขาก็ได้เหรียญทอง ได้ถึงสองปีซ้อน ก่อนจะติดทีมชาติและลงแข่งเฟสปิกเกมส์

คนพิการอย่างเขามีคนมาขอจับมือ ขอถ่ายรูป ขอลายเซ็นและได้ไปอุ่นเครื่องถึงฮ่องกง ทุกอย่างมันไกลเกินกว่าที่ตัวเองฝันเอาไว้ ว่าก็ว่าเถอะ ลึก ๆ เขาก็มั่นใจว่าจะเข้าเส้นชัยได้ก่อนคู่แข่ง

แต่ครั้งนั้นเขากลับไม่ได้สักเหรียญและคิดว่าน่าอายที่ตัวเองทำพลาด จึงหลบหน้าคนอยู่เป็นเดือนซึ่งก็ตรงกับช่วงที่เรียนจบมัธยมต้น ไปสมัครเรียนเอาไว้พอเปิดเทอมก็ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม เมื่อชีวิตไม่รู้จะไปทางไหนต่อ เขาจึงกลับบ้านมาหาพ่อกับแม่แล้วสมัครเรียนช่างอิเล็กทรอนิกส์  จนเพื่อนมาบอกว่าสมาคมปิงปองติดต่อมาที่โรงเรียนศรีสังวาลเรียกนักกีฬาคนพิการทีมชาติเดิมกลับไปซ้อม                                                

สายชลลาออกจากที่เรียนแล้วออกจากบ้านไปหาสิ่งที่ตัวเองเคยผิดหวัง และทันทีที่ไปถึง เขาก็ผิดหวังอีก เพราะสิ่งที่เพื่อนบอกมาเป็นข่าวลือ แต่ก็ยังตัดสินใจอยู่ซ้อมปิงปองต่อที่นั่น

หากเมื่อไม่มีรายการแข่งขันก็ไม่มีเบี้ยเลี้ยงนักกีฬา เขาจึงไม่มีรายได้ สุดท้ายต้องกลับบ้านมาคลานกับพื้นในเล้าเพื่อเลี้ยงไก่ขาย รายได้หลังหักต้นทุนแทบไม่พอจ่าย ชีวิตเป็นแบบนั้นอยู่เกือบสามเดือน จนเพื่อนมาชวนไปเข้าสมาคมกีฬาคนพิการจ.นนทบุรี เพื่อลงแข่งกีฬาคนพิการแห่งชาติ 

กับเรื่องกีฬาสายชลไม่เคยปฏิเสธ  เขาไปและซ้อมปิงปอง อยู่ กิน นอนกับเพื่อนที่บ้านคนจนเมือง  

“มันลำบากที่สุด และคงไม่มีอะไรลำบากมากไปกว่านั้นอีกแล้ว”

ฉันถามต่อว่าทำไมเขาถึงทนอยู่ได้กับห้องแคบ  ๆ เล็ก ๆ เหม็น ๆ มีคนคลานไปคลานมา อัดกันอยู่ถึงสิบกว่าคน กระเป๋าเสื้อผ้าอีกสิบกว่าใบ ทั้งเสื้อผ้าที่ยังไม่ได้ซัก ซักแล้วไม่แห้งก็แขวนอยู่ระเกะระกะรอบห้องจนถึงขั้นมีคนเปรียบมันเหมือน ‘ไหปลาร้า’

“ก็มันมีเพื่อน มีความหวังว่าอีกหน่อยก็คงจะประสบความสำเร็จ อีกอย่างคือมันไม่มีทางเลือกอื่น แล้วสำหรับคนพิการอย่างเราทางนี้แหละ น่าเลือกที่สุดแล้ว”

เขาบอกและก็คิดว่าครั้งนั้นตัวเองมาถูกทางเพราะได้สามเหรียญเงินจากกีฬาปิงปองคนพิการแห่งชาติ ถึงอย่างนั้นพอไม่มีรายการแข่งขันก็ไม่มีเบี้ยเลี้ยง เขาจึงไม่มีรายได้ สุดท้ายก็กลับมาลำบากเหมือนเดิม ซ้อมปิงปอง อยู่กินนอนที่นั่นกับห้องแคบๆ เล็กๆ เหม็นๆ ห้องเดิม ที่มีคนพิการสิบกว่าคนนั่งรอกินข้าวกันอย่างพร้อมหน้า แต่ละมื้อมีแกงแค่ถุงเดียวให้แบ่งกันตักคนละช้อนแล้วคลุกข้าว ต่างคนต่างคอยว่าสัปดาห์นี้ญาติใครจะเอา ของมาให้กิน เอาเงินมาให้ใช้ แล้วชีวิตก็เป็นแบบนี้สักพักจนพี่สาวมาพาเขากลับไปอยู่บ้านเพราะทนเห็นน้องชายอยู่ในสภาพนั้นไม่ไหว

สายชลบอกว่าหลังตัวเองกลับบ้านไปเลี้ยงไก่ขายอีกครั้งได้ไม่นาน เพื่อนก็มาบอกอีกว่าที่สมาคมกีฬาคนพิการได้โค้ชใหม่เป็นรุ่นพี่ศรีสังวาลย์มาปั้นนักกีฬาวีลแชร์ เรซซิ่งไปลงแข่งอาเซียนพาราเกมส์ เขาจึงตัดสินใจออกจากบ้านอีกครั้งด้วยความหวังเดิม

แม้ความเป็นอยู่ใช่ว่าจะดีกว่าครั้งก่อน แต่ในเมื่อกีฬาเป็นทางเลือกที่น่าเลือกกว่าเลี้ยงไก่อยู่บ้าน เขาจึงต้องอดทน กลางวันเขาซ้อมกีฬา กลางคืนขับมอเตอร์ไซค์ออกไปขายลอตเตอรี่กับเพื่อนตามอาเซียนพาราเกมส์ ที่เวียดนาม 

การเป็นตัวแทนทีมชาติไทยต้องซ้อมหนักกว่าที่เคยซ้อม ทำให้เขาไม่มีเวลาออกไปขายลอตเตอรี่ มีเพียงเงินเบี้ยเลี้ยงอาทิตย์ละห้าร้อยซึ่งแทบไม่พอใช้ แต่ก็อย่างว่าเพราะไม่มีทางอื่นให้เลือก เขาจึงต้องอดทนกว่าทุกครั้ง แล้วในที่สุดเขาก็ได้เหรียญเงินกลับมา สายชลบอกว่าตัวเองเขาดีใจและอยากไปต่อให้ไกลกว่านี้ ซึ่งช่วงที่กลับมาจากเวียดนามก็ใกล้ช่วงมหกรรมการแข่งขันกีฬาคนพิการที่ใหญ่ที่สุด

เขามุ่งมั่น จริงจังกับการซ้อม เพื่อคัดตัวให้ติดทีมชาติไทยไปแข่งพาราลิมปิกเกมส์ ปี 2547 ที่กรีซ ไม่น้อยหน้าไปกว่าใคร แต่ปรากฏว่าสถิติของเขาไม่ผ่านมาตรฐาน

เขาผิดหวัง ร้องไห้ เสียใจ แต่ก็ไม่ได้ยอมแพ้ ต่อให้ไม่ได้ลงแข่งก็อยู่ซ้อมต่อกับเพื่อน คอยช่วยเหลือ บริการ อำนวยความสะดวกให้กับทีม แต่ชีวิตก็วนลูปเดิม เพราะเมื่อไม่มีรายการแข่งขันก็ไม่มีเบี้ยเลี้ยง เขาจึงไม่มีรายได้ ต้องลำบากอีกเช่นเคย คอยอาศัยส่วนแบ่งเงินเดือนพี่สาว

ถึงจะดีใจกับเพื่อนที่ไปคว้าชัยชนะกลับมาได้จนหลายคนมีเงินทองมากมาย แต่ลึก ๆ ตัวเองก็หนีไม่พ้นความรู้สึกเสียดายที่ทำพลาด แถมยังคิดไม่ตกว่ามื้อต่อไปจะมีกินหรือไม่ หากเมื่อเพื่อนเดินสายฉลองความสำเร็จกันเสร็จก็ยื่นซองเงินให้เขาเป็นสินน้ำใจที่อยู่ช่วยระหว่างซ้อม---คล้ายเขาเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ

ต่อมาสายชลซ้อมกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งต่อจนได้เป็นตัวแทนทีมชาติไทยลงแข่งอาเซียนพาราเกมส์ ปี 2548 ที่ฟิลิปปินส์และได้เหรียญกลับมามากมายตามด้วยเหรียญจากเฟสปิกเกมส์ ปี 2549 ที่มาเลเซีย เขาเริ่มมีชื่อและโด่งดังในระดับประเทศก่อนจะคัดตัวติดทีมชาติไปแข่งพาราลิมปิกเกมส์ ปี 2551 ที่จีนแล้วได้เหรียญกลับมาทุกรายการที่ลงแข่ง อย่าง จีน เจ้าโลกกีฬาทุกประเภทในตอนนั้น

ถัดมาในปี 2555 ถึงวันนี้  เราก็มีนักกีฬาพาราลิมปิก อย่าง สายชล คนเจน ที่ไม่เคยทำให้ผิดหวัง ในขณะเดียวกันเขาก็กลับมาเป็นความหวังของครอบครัว ส่งเงินเลี้ยงดูพ่อกับแม่ สร้างครอบครัวของตัวเองหลังตกหลุมรักและศึกษาดูใจกับหมอประจำทีมนักกีฬาคนพิการเมื่อสิบกว่าปีก่อน ครั้งไปแข่งเฟสปิกเกมส์ ที่เวียดนาม ประคับประคองความสัมพันธ์ของกันและกันมาจนแต่งงาน มีลูกชายด้วยกันหนึ่งคน

 

- เมล็ดพันธุ์ในวันวาน -

วันเวลาพัดพาเด็กชายสายชลกลายเป็นนายสายชล แต่ความเป็นศิษย์เป็นครูระหว่างเขากับครูโป้ ทิพย์ภาพร เนตรแก้ว ครูผู้ดูเด็กพิการที่โรงเรียนศรีสังวาลย์เมื่อสามสิบกว่าปีก่อนยังคงดำเนินอยู่

หลังสายชลออกจากรั้วโรงเรียนศรีสังวาล และผิดหวังจากกีฬาปิงปองซ้ำไปซ้ำมา ครูโป้บังเอิญเจอเขาขณะขายลอตเตอรี่                

“เธออดทนพอหรือยัง ถ้าคนปกติหนึ่งคนซ้อมกีฬาสามชั่วโมง เธอต้องซ้อมกีฬาอย่างน้อยหก หรือเก้าชั่วโมง ถ้าเราไม่พยายาม ไม่อดทน ไม่มุมานะ เราก็จะไม่ประสบความสำเร็จ ยิ่งเราไม่เหมือนคนอื่น เราก็ยิ่งต้องมีความพยายามมากกว่าคนอื่น”

นี่คือสิ่งที่ครูโป้บอกเขาไปในวันนั้นและไม่เคยมองว่าเด็กพิการด้อยกว่าเด็กปกติ แม้พวกเขาจะมีอุปสรรคมากกว่าคนทั่วไป เพราะไม่ใช่แค่มีร่างกายไม่สมบูรณ์ แต่สภาพแวดล้อม ทัศนคติของคนในสังคมก็ยังไม่เอื้อให้พวกเขาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง

“แน่นอนคนพิการอาจมีข้อจำกัดมากกว่าคนอื่น ที่ว่าพวกเขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แล้วถูกตีตรา ถูกคนส่วนใหญ่มองว่าคงทำอะไรไม่ได้ คงไม่มีความสามารถหรอก แต่อยากถามว่าคุณเคยให้โอกาสพวกเขากันแล้วหรือยัง”

ถ้าเปรียบเด็กพิการเป็นเมล็ดพันธุ์อะไรสักอย่าง ครูโป้ว่าลูกศิษย์ของเธอนั้นเป็นเมล็ดที่จะค่อย ๆ เจริญเติบโต

บางเมล็ดอาจอาศัยเวลานานกว่าเมล็ดอื่น แต่ในที่สุดก็จะงดงามไม่แพ้ใครและสายชลก็เป็นอีกเมล็ดพันธ์นั้นที่เธอภูมิใจ

ถ้าคนเรามองกันที่สภาพร่างกายภายนอก สายชล คนเจน คงไม่สมบูรณ์แบบหรอก ขาของเขาเล็กและลีบ แต่ถ้าถามว่าเขาเป็นนักกีฬาสมบูรณ์แบบหรือไม่ ฉันว่าเขาไม่มีอะไรบกพร่อง วินัยในการซ้อม ความอดทน พยายาม มุมานะ ไม่มีอะไรให้เราต้องเคลือบแคลงสงสัยในรางวัลมากมายที่เขาได้มา และก็จริงอยู่ที่บางทีเราไม่ได้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยสภาพร่างกายภายนอกที่สมบูรณ์แบบนั้น หากเคลื่อนไปด้วยหัวใจ ไม่ก็วิธีคิดอะไรบางอย่าง

เรื่องราวทั้งหมดนี้อาจเป็นส่วนสำคัญของชีวิตคนชื่อ สายชล คนเจน ก่อนภาพจะตัดมาตอนที่เขาเป็นฮีโร่พาราลิมปิก หรือก่อนภาพจะตัดมาตอนที่คนจะมีเขาเป็นแรงบันดาลใจ ไม่น้ำหูน้ำตาไหล เพราะอดสงสารเขากันไม่ได้ แต่ไม่ว่าภาพจะตัดมา หรือตัดไปถึงตอนไหน

ทว่าเวลายี่สิบปีเศษที่เขายังหวัง ยังไม่หยุดฝันกับกีฬา ยังคงรับผิดชอบต่อสิ่งที่รักและเลือก มันก็นานพอที่จะให้ทบทวนตัวเองดูว่าที่ผ่านมาเราล้มเลิกกับบางสิ่งบางอย่างเร็วเกินไปหรือเปล่า

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ ไม่มีพื้นฐานแต่ไม่ต่างกัน: เรื่องเล่าระหว่างฉัน เธอ เขา และ'ความพิการ'ของเรา ทีสิสนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ เอกวารสารและหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

---

อ่าน "เรื่องเล่าระหว่างฉัน เธอ เขา และ'ความพิการ'ของเรา" ตอนอื่นได้ที่ : ไต่บันไดในความมืด

พลังที่ซ่อนอยู่ในคนพิเศษ

สถานีต่อไป ไม่มีเสียง