Skip to main content

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา เราอาจเห็นข่าวเด็กชายชาวต่างชาติ วิ่งงอแงให้รถชนหลังตัวเองอยากกินแมคโดนัล แต่ไม่ได้กินเพราะแม่เลือกที่จะซื้อพิซซ่ามาให้ ในภาพข่าวปรากฏภาพของเด็กผู้ชายตัวใหญ่ นอนอยู่ที่พื้น พร้อมด้วยตำรวจ 2-3 คน และชาวบ้านที่มุงดูเหตุการณ์ด้วยความงง

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ ในช่วงแรกที่นำเสนอข่าว คนก็ต่างคาดเดาว่าเด็กคนนี้เป็นอะไรกันไปต่างๆ นาๆ ทั้งเรียกร้องความสนใจ เอาแต่ใจ ดื้อ และคลุ้มคลั่ง ฯลฯ รวมทั้งคอมเม้นท์ในโซเชียลก็ต่างเป็นไปในเชิงลบ แต่ไม่นานนักความสงสัยก็คลี่คลายและเงียบเป็นเป่าสากเมื่อพบว่า เด็กชายคนนี้มีภาวะอาการออทิสติก (Autistic Disorder) จึงทำให้เขาแสดงพฤติกรรมเช่นนั้น


ภาพ ชนากานต์ ตระกูลสุนทรชัย

ออทิสติก Vs. ออทิซึม (Autism)


หลายครั้งเราอาจได้ยินทั้งคำว่า ออทิสติก ออทิสซึม เด็กออ(คำนี้ไม่ควรใช้) ฯลฯ โดยไม่รู้ว่าแต่ละคำนั้นมีความหมายแตกต่างกันอย่างไร ในทางการแพทย์ ‘ออทิซึม’ หมายถึงความผิดปกติของระบบประสาท โดยมีลักษณะเด่นคือความบกพร่องด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการสื่อสาร และมีพฤติกรรมทำกิจกรรมบางอย่างซ้ำๆ ในขณะที่คำว่า ‘ออทิสติก’ เป็นคำที่ใช้เรียก คนที่มีภาวะออทิซึม นอกจากออทิสติกแล้ว ก็ยังมีภาวะแอสเปอร์เจอร์ (Asperger syndrome) ที่มีความใกล้เคียงของอาการ จนแทบแยกไม่ออกเลยทีเดียว

เป็นออทิสติกต้องก้าวร้าว จริงหรือไม่?


โดยทั่วไป คนที่เป็นออทิสติกไม่ได้ก้าวร้าว แต่มีปัญหาด้านการเข้าสังคมและการสื่อสาร อย่างเช่นที่เราเห็นเร็วๆ นี้ในซีรีส์ SidebySide ภาวะเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม แม้ว่า การถ่ายทอดทางพันธุกรรมจะซับซ้อนและยังไม่สามารถอธิบายกลุ่มอาการได้แม่นยำนัก กลุ่มอาการนี้เกิดราว 6 ใน 1,000 คน ผู้ชายมีความสุ่มเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง 4 เท่า

เราอาจเห็นพฤติกรรมยุกยิก เอียงคอไปมา ตาขยิบหรือปากพูดอะไรพึมพำ สิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งในพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่งและอาจเป็นสาเหตุของพฤติกรรมก้าวร้าวซึ่งพบได้บ่อยในเด็กที่มีภาวะออทิสติกและพัฒนาการบกพร่อง

หากนึกภาพพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactive Behavior) ไม่ออก สังเกตง่ายๆ จากการไม่สามารถนั่งนิ่งอยู่กับที่ได้นาน ไม่มีสมาธิ สนใจอะไรได้สั้น ถ้าเป็นเด็กก็อาจทำอะไรจับจด ไม่ฟังคำสั่ง เปลี่ยนความสนใจไปเรื่อยไม่จริงจัง เบื่อง่าย หันเหความสนใจเมื่อมีสิ่งกระตุ้นอย่างง่ายดาย ทำอะไรออกไปโดยปราศจากความยั้งคิด จนคนอื่นมองว่า วู่วาม ใจร้อน ทำอะไรทันที ไม่มีการรั้งรอ มองเผินๆ จึงเหมือนเป็นคนไม่เป็นระบบ ต้องการความช่วยเหลือแนะนำอยู่เสมอ

นอกจากทำอะไรตามแบบแผนได้ยากแล้ว เขาจะมีความอดทนในการเล่นและรวมกลุ่มน้อยมาก และคอยไม่เป็น ถ้าอยู่บางคนเสียงดัง ร้องตะโกน อยู่ไม่เป็นที่ ชอบวิ่งกระโดด ปีนป่าย พาตัวเองไปเสี่ยงอันตรายอยู่เสมอ จนพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่งที่พวกเขามีอาจกลายเป็น “ก้าวร้าว” แบบเทียมๆ ในสายตาคนรอบข้าง จนกลายเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวในอนาคต

พฤติกรรมก้าวร้าว (Aggressive Behavior) แสดงออกได้ทั้งทางความคิด คำพูด และการกระทำ คนเป็นมักไม่เป็นมิตร คุกคามและรุกรานผู้อื่น เพื่อระบายความโกรธ หรือปกปิดความกลัว พฤติกรรมนี้เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับตัวเอง คนอื่น และสิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งอาจสังเกตได้จากการแสดออกทางสีหน้า เช่น บึ้งตึง โกรธ แววตาไม่เป็นมิตร, การเคลื่อนไหว และการกระทำ เช่น กระวนกระวาย อยู่นิ่งไม่ได้ หรืออยู่ๆ ก็หยุดกิจกรรมที่ทำอยู่อย่างปุปปัป
 

ความก้าวร้าวก็มีระดับ


แม้จะเรียกรวมๆ ว่าก้าวร้าว แต่จริงๆ แล้วความก้าวร้าวนั้นมีหลายระดับ

ระดับอ่อน (MILD ANGER) แสดงพฤติกรรมบึ้งตึง โกรธ แววตาไม่เป็นมิตร ทำท่าทางไม่พอใจ พูดโต้ตอบด้วยน้ำเสียงห้วน ขึ้นเสียง
ระดับปานกลาง (MODERATE AGGRESSIVE) มักส่งเสียงดัง กระแทก หรือรุนแรง เอะอะ วางอำนาจ ขู่ตะคอก
ระดับรุนแรง (SEVERE VIOLENCE) จะถึงขั้นขาดสติ ขาดความยับยั้งชังใจ ชกต่อย ทุบตี ทำร้ายผู้อื่น ทำลายข้าวของ



ก้าวร้าวเกิดจากอะไร


แน่นอนว่าไม่ใช่อยู่ดีๆ ที่ใครคนหนึ่งจะเกิดพฤตกรรมก้าวร้าว ความก้าวร้าวจึงเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ไม่ได้สิ่งที่ต้องการ
กลัว รู้สึกไม่มั่นคง รู้สึกไม่คงเส้นคงวา เลียนแบบการแสดงออกของคนที่ตัวเองชื่นชอบและคนในครอบครัว มีสถานการณ์ที่คุกคาม อย่างสิ่งเร้าจำพวก สี เสียง แสงต่างๆ มีความผิดปกติทางสมองร่วมด้วย มีความพิการหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไร้ระเบียบแบบแผน



ก้าวร้าวแก้ได้ และหายขาด


ตั้งแต่ในวัยเด็กการสร้างความสัมพันธ์หรือสร้างความคุ้นเคยกับเด็กด้วยการพูดคุย กอดสัมผัส โอบหลัง - ไหล่ ด้วยท่าทีที่เป็นมิตร และน้ำเสียงที่พูดอ่อนโยนและมั่นคง โดยเฉพาะการเรียกชื่อจะช่วยฝึกให้เขาได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
แต่ในวัยผู้ใหญ่ การจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดพฤติกรรม เช่น เสียงอึกทึกครึกโครม รวมทั้งต้องสามารถยืดหยุ่นได้ และสามาระปรับให้เหมาะเฉพาะกับบุคคลจะช่วยให้พฤติกรรมก้าวร้าวนั้นลดลงและอาจไม่เกิดขึ้นอีก

 

คนรอบข้างต้องรับมืออย่างไร


หากเป็นเด็กสิ่งที่ต้องทำก่อนคือแยกเด็กออกจากสถานการณ์ หรือสิ่งรบกวน และรีบขจัดหรือลดสิ่งกระตุ้นที่เป็นสาเหตุโดยตรง ทั้งหมดทั้งมวลเราเองก็ต้องเผชิญหน้าด้วยความระมัดระวัง ท่าทีสงบไม่ตื่นเต้นหรือแสดงอาการก้าวร้าวโต้ตอบ
และควรเรียกชื่อ เพื่อให้เด็กรู้สึกตัวและหยุดพฤติกรรมที่ทำอยู่ชั่วคราวด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน ไม่ตำหนิ ถ้าเป็นไปได้ให้เด็กมีโอกาสได้ระบายความคับข้องใจ ความรู้สึกโกรธ ความไม่พอใจ โดยมีเราเป็นผู้ฟังที่ดี ด้วยคำถาม เช่น อะไรทำให้ไม่พอใจ? หรือไม่พอใจอะไรถึงได้ทำแบบนี้?
หากเป็นคนที่ได้รับยาซึ่งมีฤทธิ์ทำให้พฤติกรรมรบกวนตนเองและผู้อื่นน้อยลง ก็ควรช่วยดูแลให้ทานยาอย่างสม่ำเสมอตรงตามแพทย์สั่ง

 

---

http://www.autismthai.com/mcontents/

http://www.thaihealth.or.th/Content/32125

http://www.autisminfo.com/category