Skip to main content

ในโลกที่เต็มไปด้วยความแตกต่างใบนี้ มีผู้คนมากมายจากหลายอาชีพ ที่พบเห็นทั้งในชีวิตจริงและตามหน้าสื่อต่างๆ บางอาชีพเป็นที่รู้จักคุ้นหูกันเป็นอย่างดี บางอาชีพก็ทำให้เราถึงกับอ้าปากค้าง และอุทานพร้อมกับความงุนงงว่ามีอาชีพแบบนี้ด้วยหรือ และหากจะพูดถึงอาชีพ นักแสดงตลก เชื่อว่า เสียงหัวเราะและการแต่งตัวที่เป็นเอกลักษณ์น่าจะทำให้ทุกคนรู้จักและผ่านหูผ่านตามาบ้าง จนคุ้นชินและเข้าใจ แต่ถ้าหากพูดถึง ‘นักแสดงตลกตาบอด’ ล่ะ คิดว่าพวกเขาสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมได้อย่างไร ?

 

ยูทาโร่ ฮามาดะ...เขยิบเข้ามาอีกนิด ให้ใกล้ชิดกับคนสร้างเสียงหัวเราะในความมืด

 “ถ้าคุณไม่สามารถให้กำลังใจกับตัวเองได้ด้วยการหัวเราะ ก็แค่กรุณาหัวเราะก็เท่านั้น”

ประโยคข้างต้นนี้เป็นคำกล่าวของ ยูทาโร่ ฮามาดะ (Yutaro Hamada) นักแสดงตลกตาบอดวัย 27 ปี การแสดงโชว์จัดขึ้นที่ย่านคิตะ (Kita) เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ในการแสดงชุดนี้ ฮามาดะพูดเป็นชุด ชนิดที่ไม่มีช่องไฟให้หยุดพักบนเวทีการแสดงต่อหน้าผู้ชม โดยในมืออีกข้างก็ยังถือไม้เท้าขาวซึ่งทำให้ใครต่อใครรู้ได้ทันที่ว่า เขาเป็นคนตาบอด

งานที่จัดขึ้นในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ที่ชื่อ  Up to Me ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท  Yoshimoto Kogyo จำกัด  โดยบรรดานักแสดงตลกต้องทำการแสดงเพื่อแข่งขันกันเองภายใน 3 นาที  ฮามาดะทำให้ผู้ชมหัวเราะได้ด้วยเรื่องราวของเขา ซึ่งมีพื้นฐานมาจากประสบการณ์และสิ่งที่เขาต้องพบเจออยู่ในชีวิตประจำวัน

ฮามาดะเป็นชาวเมืองโกเบ ตาซ้ายของเขาบอดสนิทมาตั้งแต่เกิด และตาขวาของเขาสามารถมองเห็นแค่แสงเท่านั้น เมื่อตอนที่เขาเรียนอยู่เกรด 6 เป็นครั้งแรกที่เขารู้จักการแสดงมันไซ (Manzai performance) ที่แสดงโชว์ผ่านทางโทรทัศน์ มันไซเป็นสไตล์การแสดงตลกประเภทหนึ่งของคนญี่ปุ่น โชว์ที่ฮามาดะดูนี้ เป็นการแสดงของคู่ตลกสองคนในฉายา Bikkizu แม้ว่า ดูโอ้ตลกคู่นี้จะแยกวงไปแล้วเมื่อปี พ.ศ.2550 ทว่าการแสดงของพวกเขาก็ทำให้ชีวิตของชายตาบอดคนหนึ่งเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่

หลังจากเรียนจบจากโรงเรียนเฉพาะทางสำหรับคนพิการทางการมองเห็นในท้องถิ่น ฮามาดะทำงานพาร์ทไทม์และนำเงินที่ได้ไปเป็นทุนเพื่อพาตัวเองเข้าสู่ถนนของการแสดงในสังกัด New Star Creation (NSC) ซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกหัดการแสดงที่ก่อตั้งโดยโยชิโมโตะ โคชิโยะ (Yoshimoto Kogyo)

ฮามาดะไม่คิดว่าความพิการทางสายตาของเขาเป็นปมด้อย แต่เขารู้สึกว่า ผู้ชมไม่สามารถตั้งใจชมการแสดงของเขาได้อย่างจริงๆ จังๆ เพราะในทันทีที่ผู้ชมรับรู้ว่านักแสดงตลกอย่างเขาเป็นคนพิการทางสายตา ก็ลังเลที่จะเข้าชม บางครั้งก็หัวเราะตามมารยาท บางครั้งผู้ชมก็ไม่มั่นใจว่า พวกเขาควรจะหัวเราะการแสดงที่มีนักแสดงตลกเป็นคนตาบอดจริงๆ หรือไม่

“ผมต้องการก้าวข้ามผ่านเส้นแบ่งนี้ไปให้ได้” ฮามาดะกล่าว ทั้งยังเพิ่มเติมอีกว่า “ความฝันของผมคือการที่ได้ไปยืนอยู่บนเวทีใหญ่ๆ และสามารถทำให้ผู้ชมระเบิดเสียงหัวเราะของพวกเขาออกมาได้ โดยที่พวกเขาลืมไปเลยว่า ผมน่ะเป็นคนตาบอด นั่นมันคงจะทำให้ผมรู้สึกเยี่ยมยอดไปเลยล่ะ”

ความสามารถทางการแสดงของเขาเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จากซีรีส์เรื่อง Up to me สิ่งนี้ทำให้เข้าได้รับโอกาสทางการแสดงมากขึ้น และได้ไปโชว์ที่โรงละคร Yoshimoto Manzai Gekijyo ในย่านมินามิ (Minami) เมืองโอซาก้า เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เวทีที่นักแสดงตลกหรือสแตนอัพคอเมเดียนที่มีชื่อเสียงล้วนแล้วแต่ต้องเคยผ่านมาแล้วทั้งนั้น

ความท้าทายด้านการสร้างเสียงหัวเราะของเขากำลังเดินทางต่อไป

ความท้าทายที่จะเป็นนักเล่าเรื่องตลกตาบอดของฮามาดะกำลังดำเนินต่อไป และนั่นจึงทำให้เขาผลักดันตนเองความฝันของเขาบนเวทีโรงละคร Namba Grand Kagetsu

 

นิดี โกยาล จากนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ สู่การเป็นนักเล่าเรื่องตลกตาบอดหญิงคนแรกของอินเดีย

นอกจากสแตนอัพคอเมเดียนตาบอดชาวญี่ปุ่นแล้ว ยังมีนักเคลื่อนไหวหญิงตาบอดชาวอินเดียที่ใช้พรสวรรค์การเล่าเรื่องบวกกับเหตุการณ์น่าสนใจในชีวิตคนพิการ มาสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมได้อีกด้วย

นิดี โกยาล คอเมเดียนหญิงตาบอดคนแรกของประเทศอินเดีย ผู้ซึ่งแหวกทุกกฎเกณฑ์ที่เคยมีมา นิดีสูญเสียการมองเห็นเมื่อเธออายุ 15 ปี ปัจจุบันนิดีอายุ 31 ปีและเป็นสาวอารมณ์ดีที่มีความสุขที่สุดคนหนึ่ง ที่คุณควรได้รู้จัก


ภาพจาก http://www.hindustantimes.com

อันที่จริงแล้วนิดีไม่เคยกะเกณฑ์มาก่อนเลยว่า เธอจะมาเป็นนักเล่าเรื่องตลกหรือสแตนอัพคอเมเดียน หญิงพิการตาบอดชาวอินเดียคนนี้เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิคนพิการ และความยุติธรรมทางเพศทั้งในประเทศอินเดียเองและระดับนานาชาติ แต่ดูเหมือนว่าประสบการณ์ชีวิตของนิดีจะทำให้เธอเป็นคนที่มีมุขหรือเรื่องตลกขบขันมาเล่าอยู่เสมอ ซึ่งมุขตลกเหล่านี้เป็นที่ถูกอกถูกใจเพื่อนๆ ของเธอเป็นอย่างมาก

“เพื่อนๆ ของฉันชื่นชอบการอธิบายเรื่องราวและการผจญภัยต่างๆ ที่ฉันได้พบเจอมากเลยล่ะ” นิดีกล่าว

หนึ่งในเพื่อนที่ทำงานในกลุ่มนักเคลื่อนไหว พรามาดามีนอน (Pramada Menon) ได้จุดประกาย จนทำให้นิดีเริ่มต้นการเตรียมการแสดงโชว์พิเศษ โดยร่วมงานกับ อดิตี มิทาล (Aditi Mittal) ในโชว์เดี่ยวไมโครโฟนของเธอที่มีชื่อว่า Bad Girls นิดีเป็นคนจัดการ ออกแบบ และเขียนสคริปการโชว์ด้วยตัวเอง ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นในการแสดงนั้น ล้วนแล้วแต่มาจากเหตุการณ์จริงที่เคยเกิดขึ้นกับเธอและเพื่อนๆ นำมาเล่าใหม่ผ่านการร้อยเรียงเรื่องราวและความขบขัน ด้วยความที่เธอเป็นนักเคลื่อนไหว นิดีจึงสนใจชีวิตของคนพิการ เรื่องราวต่างๆ ในการแสดงโชว์จึงมาจากประสบการณ์เหล่านี้  

การแสดงของนิดีมักจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ต่างๆ และเรื่องเพศของคนพิการ ตั้งแต่เรื่องการแต่งงานที่ถูกจับคลุมถุงชนจนถึง เรื่องเพศในแง่มุมต่างๆ ทุกอย่างไม่มีข้อจำกัด นิดีต้องการใช้อารมณ์ขันเพื่อสื่อให้คนเข้าถึงความพิการ และรับรู้เรื่องราวของคนพิการผ่านประสบการณ์จริงต่างๆ ที่เธอได้พบเจอมาในชีวิต

ปัจจุบันคลิปการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนของนิดี โกยาลที่มีชื่อว่า Bad Girls with Aditi Mittal|Ep 1| Nidhi Goyal ในยูทูปที่ลงเผยแพร่เมื่อเดือน ก.พ.2560 มีจำนวนผู้เข้าชมมากกว่า 850,000 คน ผ่านทางช่อง Aditi Mittal

 

เจมี แมคโดนัล จากนักเขียนสู่นักเดี่ยวไมโครโฟนตาบอด

เจมี แมคโดนัล ชายตาบอดชาวสก็อตแลนด์วัย 34 ปี เป็นนักแสดงตลกหรือสแตนอัพคอเมเดียนอีกหนึ่งคนที่น่าสนใจ แมคโดนัลเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยอาเบอดีน ประเทศอังกฤษ ความพิการไม่เคยสร้างปัญหาให้เขา จนกระทั่ง แมคโดนัลมีอายุราว 20 ปี หลังเขาตัดสินใจใช้ชีวิตด้วยการพึ่งไม้เท้าขาว เขาพบว่า การใช้ชีวิตของเขาง่ายขึ้นมาก เมื่อมีไม้เท้าขาวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่น่าทึ่งกว่านั้นคือปฏิกิริยาที่เพื่อนและครอบครัวมีต่อเขานั้น เป็นไปในทางที่ดี

แมคโดนัลทำงานด้านการเขียนสคริปมาก่อน และยังทำงานด้านลงเสียงโฆษณาด้วย งานของเขาทำให้เขามีโอกาสดีๆ และโอกาสนั้นเอง ที่ทำให้เขาได้ออกมายืนอยู่บนเวทีการแสดงต่อหน้าผู้ชม ในปี 2556 แมคโดนัลเริ่มแสดงโชว์เพื่อสร้างเสียงหัวเราะเป็นครั้งแรก ภายใต้โชว์ที่มีชื่อว่า ‘That Funny Blind Guy’ ซึ่งทำให้เขาได้รับการพูดถึงในแวดวงนักแสดงตลกของสกอตแลนด์ และในปี 2557 เขาได้เปิดการแสดงอีกครั้งในชื่อโชว์ ‘That Funny Blind Guy 2’ ซึ่งทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้นอีกด้วย

แม้ว่าแมคโดนัลจะเรียนมาทางด้านกฎหมาย ทว่าเขาเลือกที่จะเป็นนักแสดงตลกตาบอด สแตนอัพคอเมเดียนผู้นี้ทำการแสดงโชว์ของเขากับไม้เท้าขาวที่เขาใช้ในชีวิตประจำวันด้วย

 

เมื่อโลกก้าวไปข้างหน้า ผู้คนในโลกใบก็ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับทัศนคติใหม่ๆ ที่ทันต่อโลก ทันต่อเหตุการณ์ การใช้ไม้เท้าขาวที่เป็นดังสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึงความพิการทางสายตา ถูกนำมาใช้ในการแสดงของนักแสดงตลก นักเล่าเรื่องตลก สแตนอัพคอเมเดียน ฯลฯ เป็นเหมือนการทะลายปราการของความพิการที่มีอยู่ในใจของผู้ชม การที่คนพิการหยิบเอาเรื่องราวของพวกเขาออกมาเล่าพร้อมอารมณ์ขัน หรือการที่พวกเขานำเอาไม้เท้าขาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความพิการออกมาแสดงสู่สายตาของสาธารณชนในที่แจ้ง เป็นดั่งการนำสิ่งที่ถูกเพิกเฉยหรือสิ่งที่เคยหลบเร้นอยู่ ออกมานำเสนอให้สังคมเห็นว่า มันไม่ได้หดหู่ น่าสงสาร ระทมทุกข์อย่างที่สังคมเข้าใจ เพราะคนที่หยิบยกเรื่องที่สังคมมองว่าเศร้าและหดหู่ออกมาพูด ออกมาเล่า พร้อมเสียงหัวเราะอยู่นั้น คือคนตาบอด ที่ดูเหมือนว่าพวกเขาก็ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นพวก ‘คนทุกข์’ อีกตต่อไปแล้ว แล้วสังคมจะยังมองพวกเขาด้วยความสงสาร หดหู่ หรือเป็นพลเมืองชั้นสองผู้ไร้ความสามารถอยู่ทำไมกัน

 

แปลและเรียบเรียงจาก