Skip to main content

เมกะเทรนด์ หรือเทรนด์ใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของโลก ก็คือการที่ผู้คนจะอพยพเข้ามาเป็น ‘คนเมือง’ มากถึงราว 75% ภายในปี 2050

ธนาคารโลกและองค์กรอนามัยโลก ประเมินว่าทั่วโลกมีผู้พิการ หรือคนที่มีภาวะพิการ (Living with a Disability) อยู่ราวๆ หนึ่งพันล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 15% ของประชากรโลกทั้งหมด

ทีนี้เมื่อคนทั่วโลก กลายร่างมาเป็น ‘คนเมือง’ มากถึง 75% ก็แปลว่าเมืองจะต้องมีผู้พิการใช้ชีวิตร่วมอยู่ด้วย

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วสังคมไทย ‘มอง’ ผู้พิการด้วยสายตาแบบไหน?

ลองนึกดูเล่นๆ ว่าถ้าเราเห็น ‘ที่จอดรถผู้พิการ’ คือที่จอดรถที่มีสัญลักษณ์รถเข็นพ่นอยู่ที่พื้น แล้วมีรถคันหนึ่งแล่นมาจอด เราคาดหวังว่าจะเห็นภาพแบบไหน

ผมเชื่อว่า ภาพที่ผุดขึ้นมาในหัวคนจำนวนมาก น่าจะเป็นภาพคนขับรถเปิดประตูออกมาแล้ว จากนั้นก็กุลีกุจอไปเปิดประตูอีกฝั่งหรือประตูด้านหลัง แล้วอาจจะกางรถเข็นออก ก่อนพยุงคนที่อยู่ในรถออกมานั่งบนรถเข็น เพื่อเข็นพาไปทำธุระปะปังต่างๆ

คุณอาจจะบอกว่า อ้าว! ภาพที่เห็นก็ควรจะเป็นอย่างนี้ไม่ใช่หรือ แล้วมันไม่ถูกต้องหรืออย่างไร จะปล่อยให้ผู้พิการหรือคนเฒ่าคนแก่ต้องลงจากรถเองโดยไม่มีใครช่วยเหลือกระนั้นหรือ?

ใช่ครับ - ถูกต้องแล้ว ไม่มีอะไรผิดเลย

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังอยากให้คุณลองนึกภาพอีกภาพหนึ่ง, เป็นภาพรถยนต์ขับมาจอดในที่จอดรถผู้พิการ แล้วคนขับก็เดินลงจากรถ ปิดประตูรถ แล้วสัญจรไปทำธุระต่างๆ เลย โดยไม่มี ‘ผู้พิการ’ อื่นใดมาให้เขาช่วยพยุงออกจากรถ คุณจะคิดอย่างไร

หลายคนอาจคิดว่า คนคนนั้นแย่มาก เพราะมาแย่งที่จอดรถผู้พิการก็ได้ เพราะเรามักทึกทักหรือสันนิษฐานตาม Preconceptions ของเราเอาไว้ก่อนว่า คนที่ขับรถได้ ไปไหนมาไหนเองได้ ต้องไม่ใช่ผู้พิการ ซึ่งถ้าพูดกลับกัน - ก็คือ, ผู้พิการไม่ควรจะขับรถได้หรือไปไหนมาเองได้ แต่ควรอยู่ในสภาพที่ต้องมีคนช่วยเหลืออยู่เสมอ

แต่ถ้าบอกคุณว่า - คนที่ขับรถมาและลงจากรถด้วยตัวเองคนนั้น, คือคนพิการล่ะ คุณจะว่าอย่างไร

---

ผมคิดว่า ‘ฐานคิด’ ต่อความพิการหรือผู้พิการในโลกตะวันออกกับโลกตะวันตกนั้นไม่เหมือนกัน เพราะในโลกตะวันออก สังคมมีการดำรงอยู่แบบเป็นกลุ่ม (Collectivism) มากกว่า ในขณะที่คนในโลกตะวันตก สังคมให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจก (Individualism) มากกว่า ดังนั้นในสังคมตะวันออก เราจึงมีแนวโน้มจะคิดว่า ผู้พิการต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งในด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อาจเป็นปัญหาได้เช่นกัน เพราะมันอาจทำให้ผู้พิการรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระกับคนอื่น


ภาพ นันทินี แซ่เฮง

ในหลายสังคมของโลกตะวันตก เราจะเห็นผู้คน (ที่เป็น Individualism) พยายามคิดค้นหรือประดิษฐ์อุปกรณ์เครื่องมืออะไรต่อมิอะไรให้ผู้พิการสามารถ ‘ใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเอง’ อยู่เสมอ เช่น รถยนต์ที่มีอุปกรณ์พิเศษให้ผู้พิการสามารถขับได้ ต่อให้ไม่มีขา ไม่มีแขน หรือสูญเสียความสามารถบางเรื่องไป ก็จะใช้เทคโนโลยีบางอย่างมาเสริมเพื่อให้ผู้พิการสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้เหมือนที่คนทั่วไปทำ โดยไม่ต้องมีใครมาช่วย

ในโลกตะวันออก (ที่เป็น Collectivism) เมื่อการไปไหนมาไหนเป็นเรื่องลำบาก ต้องพึ่งพิงคนอื่นอยู่เสมอ และการคิดค้น ออกแบบ หรือใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ผู้พิการไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเองมีน้อย ที่สุดผู้พิการก็มักเลือกที่จะไม่ไปไหน การต้องพึ่งพิงคนอื่น แม้อยู่ในนามของความเมตตา แต่อีกด้านหนึ่งของเหรียญ ก็คือการตอกย้ำถึงความบกพร่องเว้าแหว่งของตัวเอง

แล้วทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับเมืองอย่างไร?

คำตอบก็คือเกี่ยวสิครับ เพราะการออกแบบคิดค้นต่างๆ ที่ว่า ไม่ใช่แค่เรื่องของผลิตภัณฑ์หรือบริการเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันลึกซึ้งกับการ ‘ออกแบบเมือง’ ที่ ‘เห็น’ ถึงความต้องการของผู้คนที่หลากหลายด้วย

ในการประชุมของสหประชาชาติ ว่าด้วยที่อยู่อาศัยและความยั่งยืนของการพัฒนาเมือง ซึ่งเรียกกันแบบง่ายๆ ว่า Habitat III เมื่อปลายปีที่แล้ว (การประชุมนี้เกิดที่เอควาดอร์ ในเดือนตุลาคม 2016) เป็นการประชุมที่ตระหนักถึง ‘เทรนด์’ ใหญ่ที่ว่า คนส่วนใหญ่ในโลกจะกลายมาเป็น ‘คนเมือง’ และดังนั้น เมืองจะต้องได้รับการออกแบบอย่างไรเพื่อให้เหมาะสมกับคนทุกคน รวมถึงผู้พิการด้วย

ข้อสรุปสำคัญที่ได้จากการประชุมมีอยู่ห้ามิติ คือ

1. เมืองต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Accessibility หรือเข้าถึงได้สำหรับคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการหรือคนทั่วไป แล้วที่สำคัญก็ต้อง ‘เข้าใจ’ ด้วยนะครับ ว่าการจะ ‘จัดหา’ Accessibility ให้กับผู้พิการนั้น ไม่ใช่เรื่องของการ ‘หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน’ คือไม่ใช่เรื่องของการ ‘เมตตา’ จากอำนาจใหญ่ๆ สู่คนเล็กคนน้อยในสังคม แต่สหประชาชาติบอกว่า นี่คือ Precondition หรือ ‘เงื่อนไขตั้งต้น’ ของ ‘สิทธิมนุษยชน’ คือเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องมี ไม่ใช่เห็นว่าคนเล็กคนน้อยหรือผู้พิการมีความเป็นมนุษย์ที่ ‘ต่ำ’ กว่าคนอื่น

2. ที่อยู่หรือบ้านและสาธารณูปโภคต่างๆ คือกุญแจหลักในการสร้างเมืองให้ทั้งยั่งยืนและเป็นเมืองที่นับรวมทุกคน (คือเป็นเมืองที่มีทั้ง Sustaianability และ Inclusivity) พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อมี ‘สำนึก’ ในข้อ 1 แล้ว ข้อ 2 นี้ก็คือการ ‘สร้าง’ มาตรฐานและการออกแบบที่สอดคล้องกับสำนึกที่ว่า นั่นคือสร้างเมืองที่นับรวมผู้คนที่หลากหลายและยั่งยืนด้วยวิธีการต่างๆ ต้องมีการออกแบบมาตรฐานใหม่ ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้คนทุกคนสามารถมีที่อยู่อาศัยได้โดยไม่ต้องดิ้นรนตะเกียกตะกายกันมากเกินไป โดยเฉพาะผู้พิการที่อาจมีข้อจำกัดบางอย่างในชีวิต

3. ถัดจากบ้าน การเดินทางก็ต้องเป็นไปได้สำหรับทุกคนด้วย เรื่องนี้คล้ายกับข้อ 2 ที่เป็นเรื่องของที่อยู่อาศัยหรือ ‘บ้าน’ แต่ข้อ 3 นี้ หมายถึง ‘เสรีภาพ’ ในอันที่จะไปไหนต่อไหนได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอให้ใครมาพาไป เพราะฉะนั้น เมืองจึงต้องออกแบบการเดินทางทั้งหลายให้ ‘นับรวม’ ทุกคน ด้วยสำนึกเดียวกับข้อ 1 ซึ่งจะก่อให้เกิด ‘ชีวิต’ ในทางสังคม ทางเศรษฐกิจ ทางวัฒนธรรม และทางการเมือง สำหรับผู้พิการทุกรูปแบบ

4. รัฐต้องทำให้คนเข้าถึงบริการและผลิตภัณฑ์ด้านไอซีทีและเทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ ได้ ทั้งในแง่ของราคาและการเข้าถึงเครือข่าย โดยเรื่องพวกนี้ต้องเป็น ‘สิทธิ’ พื้นฐานอย่างหนึ่ง

5. ผู้พิการต้องสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองได้ โดยแกนหลักของเรื่องนี้ก็คือต้อง Leave no one behind ด้วยการทำให้ทุกคนต้องมี ‘เสียง’ หรือมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง ที่จะกลายมาเป็นที่อยู่อาศัยของทุกคนในอนาคต

Habitat III นั้น มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า The New Urban Agenda ซึ่งเดิมทีเป็นเอกสารความยาว 23 หน้า ซึ่งเป็นรากฐานให้กับนโยบายการวางผังเมืองต่างๆ ทั่วโลก ในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยฐานคิดทั้งหมดวางอยู่บนปรัชญาสั้นๆว่า

All persons are able to enjoy equal rights and opportunities

ทุกคนต้องสามารถมีความสุขไปกับสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมกันได้

 

ผมไม่แน่ใจนัก ว่ารัฐไทยในปัจจุบัน จะขานรับหรือเข้าใจ Habitat III มากน้อยแค่ไหน เพราะจากโครงการใหญ่ๆ ที่เห็นทั้งหมด คล้ายว่าเรายังเดินไปตามทิศทางเดิม พูดได้ว่าเป็น Old Urban Agenda คือการเป็นเมืองขยายไม่สิ้นสุด ที่มีศูนย์กลางอยู่ตรงวัฒนธรรมรถยนต์ ไม่มีการวางแผน ไม่มีการคิดเรื่องผังเมืองรวมที่หลากหลายและนับรวม ไม่ทำให้เมืองมีความสามารถในการสัญจรด้วยวิธีที่หลากหลายและตอบรับต่อกลุ่มคนที่แตกต่าง ทั้งยังสร้างการพัฒนาแบบที่ไม่สนใจผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งแปลว่าจะไม่ใช่เมืองที่ยั่งยืน

คำถามสำคัญอาจอยู่ที่ว่า ‘สำนึก’ พื้นฐานแบบที่เป็นอยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะมุมมองที่เราและรัฐมีต่อผู้พิการนั้น มันสอดคล้องหรือเสริมส่งให้เกิด Habitat III มากน้อยแค่ไหน