Skip to main content

ขนาดว่าร่างกายแข็งแรงดี หลายคนยังให้เวลากับการออกกำลังกายเพียงน้อยนิด แต่จะอ้วนหรือผอม จะแข็งแรงหรืออ่อนแอ นั่นคือชีวิตที่เราต่างเป็นผู้เลือก—ภายใต้ร่างกายที่เอื้อให้ทำหรือไม่ทำอะไรได้อย่างอิสระ ต่างออกไปจาก ‘คนตาบอด’ ราวคนละโลก เพราะร่างกายของพวกเขากลับไม่เอื้อให้เลือกอะไรได้ง่ายนัก

เมื่อเป็นเช่นนั้น เขาจึงอยากพา ‘คนตาบอด’ มาออกกำลังกาย และเกิดเป็นกิจกรรมชื่อว่า ‘วิ่งด้วยกัน’ เมื่อปี 2558


ภาพ ชนากานต์ ตระกูลสุนทรชัย

“คนตาบอดส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ตอนนั้นคิดแค่ว่า ทำยังไงคนตาบอดถึงออกกำลังกายได้ เรานึกถึงการวิ่ง เพราะมันง่ายที่สุด แค่มีรองเท้าก็เริ่มได้เลย แต่คนตาบอดวิ่งคนเดียวไม่ได้ นอกจากมีเชือกให้จับแล้ววิ่งเป็นเส้นตรง เราเลยชวนอาสาสมัครมาวิ่งด้วย” ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้ก่อตั้งบริษัทกล่องดินสอ บริษัทผลิตสื่อการเรียนรู้สำหรับผู้พิการทางสายตา พูดถึงที่มาของกิจกรรมที่เขาเป็นผู้ริเริ่ม

ผลตอบรับครั้งแรกเป็นไปด้วยดี เขาเลยวางแผนว่าจะจัดอย่างต่อเนื่องเดือนละครั้ง (ถึงปัจจุบันมากกว่ายี่สิบครั้งเข้าไปแล้ว) จากผู้เข้าร่วมคือคนตาบอดและอาสาสมัคร เริ่มมีคนหูหนวกและคนนั่งวีลแชร์มาร่วม จากงานเล็กๆ ขยายเป็นงานที่ใหญ่ขึ้น กระจายไปตามจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี ชลบุรี สุราษฎร์ธานี จนกระทั่งเกิดเป็นงานวิ่งมินิมาราธอนมาแล้ว 2 ครั้ง (ครั้งแรกปี 2559 ระยะ 10, 5, 2.5 กิโลเมตร, ครั้งที่สองปี 2560 ระยะ 13, 8, 2.5 กิโลเมตร)

หลายสิบคนในกิจกรรมประจำเดือน และหลายร้อยคนในกิจกรรมประจำปี ย่อมมีความหลากหลายในเป้าหมาย ทั้งกับคนพิการและอาสาสมัคร บางคนตั้งหน้าตั้งตาวิ่งอย่างเอาจริง บางคนคาดหวังแค่มาเจอเพื่อนใหม่ แต่โดยไม่รู้ตัว เมื่อพวกเขาได้ ‘วิ่งด้วยกัน’ ช่วงเวลาเหล่านั้นได้ทำให้ ‘คนไม่พิการและคนพิการ’ เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

“การวิ่งด้วยกัน เปิดโอกาสให้คนพิการ และไกด์รันเนอร์ (อาสาสมัคร) ได้เรียนรู้ชีวิตกันและกัน คนไม่พิการมาเป็นเพื่อนกับคนพิการ เป็นการสร้างความตระหนักที่ดีมาก บางคนทัศนคติต่อคนพิการเปลี่ยนไปเลยนะ พอมีคนพิการเป็นเพื่อน ชวนเพื่อนไปไหน เราจะคิดแล้วว่าเพื่อนไปได้หรือเปล่า ไปห้างนี้ลำบาก บีทีเอสขึ้นไม่สะดวก แทนที่จะมองว่าคนพิการเรียกร้อง ตอนนี้คนเรียกร้องคือเพื่อน นี่ไง เพื่อนไปไม่ได้”

- - -

จากจุดเริ่มต้นที่คาดหวังเพียงสุขภาพของคนตาบอด กิจกรรม ‘วิ่งด้วยกัน’ กลายเป็นบทเรียนว่าด้วยการเรียนรู้ความแตกต่างในเพื่อนมนุษย์ที่จับต้องได้ ทั้งผู้จัดงาน คนพิการ และไกด์รันเนอร์ที่ได้รับประสบการณ์ดีๆ

“ครั้งแรกผมวิ่งกับคนตาบอด ยากนะ เราเคยแต่วิ่งคนเดียว คุมจังหวะเอง พอมีคู่ก็ต้องคอยดูคู่ สปีดไม่เท่ากัน ต้องปรับตัว วิ่งไปก็ระลึกเสมอ เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ต้องบอกเขานะเว้ย จะวิ่งแซงต้องคิดถึงคู่ที่ไปด้วยกันตลอด ที่เคยคิดว่าคนตาบอดวิ่งเป็นไปได้ยาก พอเรามาวิ่ง เออ ถ้ามีไกด์รันเนอร์ คนตาบอดก็วิ่งได้นี่หว่า

“หลังจากได้วิ่ง คนพิการกล้าออกจากบ้านมากขึ้นนะ บางคนไม่กล้าออก อายตัวเอง ชีวิตข้างนอกยากลำบาก ออกมาก็ไม่มีเพื่อน แต่พอได้ออกมาวิ่ง ความคิดเขาก็เปลี่ยนไป มีพี่คนนึง นอกจากออกไปทำงาน เขาไม่เคยออกจากบ้านเลย แต่ตอนนี้เขามีความมั่นใจมากขึ้น การได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น ผมว่าเป็นเรื่องสังคม เรื่องการยอมรับ การวิ่งทำให้เขาไม่แตกต่างจากคนอื่น คนอื่นทำได้ เขาก็ทำได้”

ไม่เพียงเท่านั้น ความต่อเนื่องได้สร้าง ‘ชุมชน’ ขึ้นมาในการรับรู้ของนักวิ่ง (ไม่พิการ) ขาประจำ เพราะนอกจากกิจกรรม ‘วิ่งด้วยกัน’ แล้ว คนพิการหลายคนยังสมัครไปร่วมในเวทีอื่นๆ อีกด้วย

“งานวิ่งทั่วไปเริ่มมีคนพิการไปวิ่งมากขึ้นเลยนะ ถึงขนาดมีนักวิ่งมาทักว่า ‘เจอที่งานนั้นนะ’ เขาเห็นว่าคนพิการก็วิ่งได้ คนจัดวิ่งก็ต้องเริ่มคิดแล้ว คนพิการมาต้องจัดการยังไง”

ในฐานะคนไม่ได้วิ่ง ผมไม่เข้าใจว่าการวิ่งมาราธอนสำคัญยังไง ก็แค่วิ่งไกลกว่า เหนื่อยกว่า คงร่างกายแข็งแรงกว่า หรืออาจปวดขามากกว่าก็ได้ ผมเลยถามเขาถึงความหมายของการ ‘วิ่งมาราธอน’ ที่ว่ากันว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของนักวิ่งทุกๆ คนที่ปรารถนาจะพิชิต โดยเฉพาะกับคนพิการที่แค่ออกจากบ้านมาเจอสังคมยังเป็นเรื่องไม่ง่าย

“กิจกรรมพัฒนาไปไกลมาก เราพาคนพิการไปมาราธอนได้แล้ว มันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากนะ นักวิ่งคนนึงจะไปมาราธอนได้ เดือนมกราคมที่ผ่านมา เรานัดกันไปวิ่งจอมบึงมาราธอน เหมารถบัสไปสี่สิบกว่าคน บางคู่วิ่ง 10 กิโล บางคู่วิ่ง 21 กิโล โดยมีสิบกว่าคู่ที่วิ่งมาราธอน 42 กิโล เกือบทั้งหมดเป็นมาราธอนครั้งแรก ตอนเริ่มจัด ‘วิ่งด้วยกัน’ บางคนยังไม่ค่อยอยากออกจากบ้าน บางคนวิ่งแค่ 2 กิโลรอบสวนลุมก็จะเป็นลม แต่วันนี้พวกเขาวิ่งมาราธอนได้ มาราธอนคือที่สุดของการวิ่ง แล้วไม่ใช่แค่ร่างกายอย่างเดียว คนวิ่งสำเร็จจะได้เสื้อ Finisher ซึ่งมันช่วย empower ให้พวกเขา ไม่ใช่ทุกคนจะวิ่งมาราธอนได้สำเร็จ แต่พวกเขาทำได้ มองย้อนกลับไป ถือว่างานที่ทำมามีพัฒนาการ เป็นเรื่องที่ผมประทับใจและดีใจนะ”

กิจกรรมวิ่งยังไปไกลกว่าแค่พิสูจน์ว่าคนพิการก็วิ่งได้ ทั้งในสนามเล็กและสนามใหญ่ แต่ยังพัฒนาไปถึง การทำงานร่วมกับผู้จัดวิ่ง ให้ทุกๆ ฝ่ายเห็นความสำคัญของ ‘คนพิการ’ ในงานวิ่งมาราธอน

“เรากำลังทำเช็คลิสต์สำหรับงานวิ่ง ถ้าคุณมีสิ่งเหล่านี้ คนพิการจะเข้าร่วมได้ คนจัดอยากให้คนพิการเข้าร่วมนะ มีคนโทรมาถามอยู่ เส้นทาง ต้องบอกให้ชัดว่ามีเนินชันเท่านี้นะ คนพิการจะตัดสินใจเอง วิ่งไม่วิ่งแล้วแต่ ห้องน้ำคนพิการ สักห้องนึงก็ได้

“อีกอย่างคือ ถ้วยรางวัลเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักวิ่งทุกคน เป็นความภูมิใจ แต่บางงานไม่ให้ถ้วยคนนั่งวีลแชร์ เพราะคนจัดรู้สึกว่า คุณไม่ได้วิ่งซะหน่อย คำถามคือ เราจะแบ่งประเภทคนแข่ง หรือจะเป็นถ้วยรวม เราจะนับวีลแชร์เป็นนักวิ่งคนนึงไหม ในทางปฏิบัติวีลแชร์ทำความเร็วได้มากกว่า เราต้องบวกเวลาคนใช้วีลแชร์ไหม แต่วีลแชร์บางคนต้องใช้คนเข็น ถือเป็นความเร็วของคนเข็น ผมว่าเรื่องเหล่านี้ต้องเกิดการคุยกัน”

“อะไรคือเป้าหมายของคุณในการจัดงานวิ่งด้วยกัน”

“ผมอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในงานวิ่ง เปิดรับรองรับคนพิการมากขึ้น เราเองจัดงานไม่ได้ตลอดเวลา เรามีโนวฮาวให้งานวิ่งต่างๆ ไปปรับใช้” เขาพูดถึงความตั้งใจของตัวเอง

“การมีคนพิการไปวิ่งในงานต่างๆ ร่วมกับคนไม่พิการ มันสำคัญยังไง” ผมถาม

“พอคนพิการออกมาใช้ชีวิต เราเห็นตัวตน นี่ไง คนพิการ พวกเขามีอยู่ ผมว่าเรื่องนี้จำเป็น” เป็นมุมมองของเขา

จากวันแรกที่ออกวิ่งด้วยสมาชิกหลักสิบ ปัจจุบันกลุ่ม 'วิ่งด้วยกัน' ในเฟซบุ๊กมีสมาชิกกว่าหมื่นคนเข้าไปแล้ว เราถามเขาถึงการเปลี่ยนแปลง จากการทำงานกับคนพิการมาระยะเวลาหนึ่ง เขาเห็นอะไร รู้สึกอะไร พบอะไร

“แต่ก่อนเราสงสาร โชคร้ายนะ ทำบุญมาน้อยเลยพิการ ตอนนี้ก็สงสาร แต่สงสารที่ต้องเกิดมาในสังคมที่ไม่ออกแบบมาให้เขา ผมว่าเป็นความผิดของสังคมแล้วล่ะ งานที่เราทำก็ต้องการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ แต่ก่อนมองว่าบุคคลนี้พิการ แต่ตอนนี้เรามองว่าสภาพแวดล้อมต่างหากที่พิการ ที่ออกแบบมาไม่เอื้ออำนวยให้เขา”