Skip to main content

แต่ก่อนผมเข้าใจว่าตัวเองรู้จัก ‘คนพิการ’ พอสมควร แม้ไม่ได้รู้ลึกในแง่ประเภทและลักษณะเฉพาะของความพิการ แต่ด้วยนิสัยเป็นคนคิดเยอะ ขี้สงสัย และชอบถาม เลยคิดว่าคำตอบที่ได้รับมาตลอดหลายปี คงเป็นต้นทุนให้ผมปฏิบัติต่อคนพิการได้ดีพอสมควร

           
ภาพ นันทินี แซ่เฮง

ผมไม่รีบร้อนเดินไปจูงคนตาบอดข้ามถนน แต่จะถามก่อนเสมอว่าต้องการให้ช่วยอะไรไหม ถ้าช่วย ผมจะให้เขาจับข้อศอกแล้วบอกสิ่งกีดขวางตามเส้นทางเป็นระยะ, ถ้าไปไหนกับเพื่อนที่นั่งวีลแชร์ ผมจะไม่ดึงดันหวังดีเป็นคนเข็นรถให้ ถ้าเขาอยากทำเอง เขาควรได้ทำ การทำเองหมายถึงการพึ่งตัวเองเท่าที่ทำได้ ไม่มีใครอยากพึ่งคนอื่นหรอก เมื่อร่างกายมีข้อจำกัด หากอะไรคือสิ่งที่เขาทำได้ ผมเชื่อ (จากการพูดคุยมา) ว่าคนพิการแทบทุกคนย่อมอยากทำเอง, ผมเลี่ยงการพูดกับคนพิการด้วยศัพท์แย่ๆ เช่น ไอ้บอด ไอ้ใบ้ ไอ้ปัญญาอ่อน ไอ้เอ๋อ ฯลฯ

            แค่นี้คงเพียงพอในการอยู่ร่วมกันแล้ว ผมคิดแบบนั้นมาตลอด และเอาเข้าจริงก็ใช้การได้ดีทีเดียว

เมื่อไม่นานมานี้ เพียงไม่กี่ชั่วโมงในคืนวันหยุด ผมพบว่าตัวเองได้รู้จักคนพิการในบางแง่มุมมากขึ้น เป็นเรื่องเล็กๆ ที่ไม่เคยสังเกต (จริงๆ ก็ไม่เล็กหรอก เพราะเกี่ยวโยงไปยังทุกๆ เรื่องก็ว่าได้) แต่มาเห็นและรู้สึกกับมันเอามากๆ ตอนไปตลาดนัดกลางคืนกับเพื่อนผู้หญิงสองคน – โดยหนึ่งในนั้นเป็นคนพิการร่างกายที่ต้องนั่งวีลแชร์

หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมที่ห้างเอสพลานาดรัชดา พื้นที่ใกล้เคียงในระยะเดินได้มีตลาดนัดรถไฟ ผมและเพื่อนผู้หญิงอีก 2 คนตัดสินใจว่าไปใช้เวลาเรื่อยเปื่อยในช่วงหัวค่ำที่นั่น

ตลาดนัดรถไฟเต็มไปด้วยร้านค้าที่เรียงเป็นล็อคติดๆ กัน และค่ำคืนของวันหยุดหนาแน่นไปด้วยผู้คนแทบทุกตารางเมตรของพื้นที่ ซอยทางเดินเว้นพื้นที่ขนาดสองคนเดินสวนแล้วไม่อึดอัด เนื่องจากไม่เคยมาที่นี่ เป้าหมายของผมคืออยากมาดูว่าตลาดนัดรถไฟหน้าตาเป็นยังไง ส่วนสาวๆ ทั้งสองคงตั้งใจมาช็อปปิ้งตามปกติ

เมื่อก่อนเวลาไปไหนในที่แคบๆ ด้วยนิสัยขี้เกรงใจ ผมมักเดินหลบๆ เพราะเกรงว่าจะเบียดคนอื่น แต่ด้วยความเป็นคนใจร้อน บางช่วงที่คนข้างหน้าเดินช้า ผมมักหาช่องทางเดินแทรกแซงผ่านไป

            แต่นั่นแทบเป็นไปไม่ได้เมื่อเพื่อนของผมที่ใช้วีลแชร์มาอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายในตลาดนัดแห่งนี้

ขณะที่สองสาวหยุดเลือกข้าวของ พูดคุยเรื่องความสวยงาม และต่อรองราคาตามปกติ ผมรู้สึกว่าวีลแชร์ของเพื่อนไปกินพื้นที่ทางเดินของคนอื่นเล็กน้อย และด้วยขนาดของวีลแชร์ที่กว้างกว่าหนึ่งคนเดิน การเคลื่อนตัวในบางช่วงจึงขยับได้ค่อนข้างช้า ทุกสายตาโดยรอบมองมาที่เพื่อนเพราะเธอนั่งวีลแชร์ และหยุดมองในระยะประชิด เพราะการสัญจรติดขัดเป็นระยะ

ในฐานะเพื่อนและในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ผมไม่ได้รู้สึกว่าวีลแชร์เกะกะแต่อย่างใด ผมรอได้สบายมากถ้าเพื่อนเคลื่อนที่ช้าไปบ้าง (วีลแชร์ของเขาเป็นแบบไฟฟ้าด้วย บางช่วงที่ทางโล่งๆ เขาโยกคันบังคับเพียงเล็กน้อย ก็เคลื่อนที่ได้ไวกว่าคนเดินเท้าอีก) แต่อีกด้านก็รู้สึกเกรงใจคนเดินไปมาที่ต้องสัญจรอย่างติดขัดเล็กๆ น้อยๆ

---

ช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงในคืนนั้น สิ่งที่รู้สึกมากเป็นพิเศษในสายตาของผม-คนไม่ค่อยช็อปปิ้งไม่ว่าที่ไหนก็ตาม ภาพคนนั่งวีลแชร์มาตลาดนัดกลางคืนถือเป็นเรื่องไม่คุ้นตาอย่างยิ่ง ตอนความคิดนี้ผุดขึ้น ผมไม่เข้าใจว่าเพราะอะไร ถามๆๆ ตัวเองตลอดการเดิน บางช่วงเดินนำ บางช่วงเดินตาม เพราะอะไรผมถึงรู้สึกว่าภาพตรงหน้าถึงไม่ใช่สิ่งที่ผมรู้สึกว่าเป็นปกติ 

เท่าที่นึกออก เป็นไปได้ว่าเมื่อพูดถึง ‘คนพิการ’ ผมมักนึกถึงการใช้ชีวิต ‘เท่าที่จำเป็น’ โดยหลักๆ คือการไปโรงเรียนและมหาวิทยาลัย การไปทำงาน และการไปเที่ยวกับคนในครอบครัว หรือถ้าแหวกไปเลย คือคนพิการมักอยู่ในรายการทีวี หรือแม้แต่การแข่งขันกีฬาระดับชาติ ผมนึกถึงเพียงเท่านี้ (ทำไมน้อยจังนะ) พอคิดแบบนั้น ผมเผลอส่ายหัวโดยไม่รู้ตัว น่าเขกกะโหลกจริงๆ ทำไมผมถึงมองภาพวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างจำกัดและคับแคบเช่นนี้

            ใช่ ถึงไม่ค่อยเห็นมากนัก แต่ไม่ได้แปลว่าผมควรจำกัดว่าพวกเขามีปริมาณเท่านั้น และเลือกใช้ชีวิตได้แค่นั้น

สิ่งต่างๆ ที่ผมรู้สึกว่า ได้-ไม่ได้ ควร-ไม่ควร เหมาะ-ไม่เหมาะ หาได้เกี่ยวกับข้อจำกัดทางร่างกายไม่เอื้ออำนวยเลย (นี่ไง แม้จะเดินไม่ได้ แต่เพื่อนผมยังช็อปปิ้งได้สบายมาก) แต่มาจากการประเมินด้วย ‘ความรู้สึก’ ว่าอะไรปกติ และอะไรแปลกไปจากการรับรู้ที่คุ้นเคย (คงไม่ถึงขั้นใช้คำว่าผิดปกติ) แต่ความรู้สึกที่ว่าหาได้เกิดขึ้นลอยๆ ผมจดจำมาจากวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในพื้นที่สาธารณะของบ้านเรา นำสิ่งที่เห็น สิ่งที่เป็นความทรงจำมาค่อยๆ จัดรูปทรงให้การรับรู้ว่าสิ่งที่คนพิการทำ-ไม่ทำคืออะไร

            ความเคยชินกลายเป็นสิ่งคิดไปเอง และเลยเถิดไปจำกัดการรับรู้ของผมโดยไม่รู้ตัว 

ไม่สิ คิดแบบนี้ไม่ดีเลย ผมลองคิดใหม่ ยุคสมัยที่เราทุกคนมีเสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ (ภายใต้กรอบของกฎหมาย) ถ้า ‘คนไม่พิการ’ สามารถไปดูหนัง ช็อปปิ้ง สูบบุหรี่ กินเหล้า กลับบ้านดึก หรือแม้แต่เข้าอาบอบนวด (เอาเฉพาะที่ถูกกฎหมายละกัน) ทำไม ‘คนพิการ’ ถึงทำแบบนั้นไม่ได้ล่ะ พอคิดแบบนี้ กลายเป็นว่าอะไรๆ ก็เป็นไปได้ทั้งนั้นนี่หว่า

ดังนั้น หน้าที่ในการปรับการรู้ว่าอะไรคือ ‘ความปกติ’ ย่อมเป็นของคนผ่านมาพบเห็น และพ้นไปจากการรับรู้ สิ่งที่ต้องคำนึงคือ เราจะเรียนรู้วิธีปฏิบัติต่อกันที่แตกต่างหลากหลายได้อย่างไร

ทางเดินแคบๆ ของตลาดนัด ไม่ได้มีไว้เพื่อคนที่มีร่างกายแบบเดียวเท่านั้น แต่เปิดกว้างสำหรับเด็กเล็ก เด็กโต วัยรุ่น ผู้ใหญ่ คนสูงวัย ที่เดินช้า เดินเร็ว เดินไม่ได้ ที่มีร่างกายผอม สมส่วน อ้วน อ้วนมาก ใช้ไม้เท้า นั่งวีลแชร์ มองไม่เห็น ฯลฯ 

ดังนั้น การหลบ-การรอ จึงเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นอย่างเป็นเรื่องปกติ นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างเท่านั้น เพราะความจริงหมายความเช่นนี้ไปในทุกๆ พื้นที่นั่นแหละ

ท่ามกลางสายตาคนเดินตลาดนัดรถไฟที่ไม่คุ้นเคยกับคนพิการที่มาตลาดนัด การใช้ชีวิตตามประสาสาวช็อปปิ้งของเธอ ได้กลายเป็นบทเรียนที่มีประโยชน์กับคนรอบตัวอย่างแนบเนียนเป็นธรรมชาติ (เธอไม่ได้ตั้งใจพาตัวเองมาสอนสั่งอะไรใครหรอก เธอแค่มาช็อปปิ้งเสื้อผ้า!) ต่อให้ท่องจำหลักการสวยหรูแม่นยำแค่ไหน ถ้าโลกรอบตัวยังไม่มีคนพิการ ยังไม่มีความแตกต่างที่ต้องเรียนรู้ คงไม่ใช่เรียนง่ายเลย ที่เราจะค่อยๆ ปรับตัวเข้าหากัน สถานการณ์ตรงหน้าย่อมเอื้อให้บทเรียนซึมลึกเข้าไปในเนื้อในตัว เพื่อให้เราทุกคนปรับภาวะข้างในให้เหมาะสมกับโลกความเป็นจริง

            ความจริงที่โลกนี้ไม่ได้มีแค่เรา แต่โลกนี้ห้อมล้อมไปด้วยเพื่อนมนุษย์ที่แตกต่างและหลากหลาย

เปรียบเทียบว่า การที่บางคนเผลอรู้สึกว่า ‘กรุงเทพฯ’ เท่ากับ ‘ประเทศไทย’ ทั้งที่มีคนอีกจำนวนมากสังกัดประเทศไทย แต่ไม่ได้มีวิถีชีวิตแบบเดียวกับคนในกรุงเทพฯ (ว่ากันถึงที่สุด เราต่างเป็นประชากรโลกด้วยกัน) คงไม่ต่างจาก ‘คนไม่พิการ’ จำนวนมาก (บางครั้งก็ผมด้วย) ที่เผลอเข้าใจว่าโลกนี้มีคนแค่แบบเดียวกัน ทั้งที่ความเป็นจริงยังมีคนในแบบอื่นๆ ที่ต้องเรียนรู้ความแตกต่างเพื่ออยู่ร่วมกัน

            ไม่ว่าพื้นที่แห่งนั้นจะเป็นตลาดนัดรถไฟหรือที่ไหนก็ตาม