Skip to main content

พฤติกรรมหลีกเลี่ยงการสบตาตรงๆ กับผู้อื่น (eye contact) คือหนึ่งในสัญญาณที่บ่งบอกถึงบุคลิกภาพพื้นฐานของคนที่มีภาวะออทิสติกแบบ ASD หรือ Autism Spectrum Disorder เป็นความบกพร่องด้านพฤติกรรมและการแสดงออกทางสังคมและการสื่อสาร

ตามความเข้าใจเดิม ผู้ที่มีภาวะออทิสติก จะมีลักษณะบางอย่างที่แตกต่างไปทั้งในด้านการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและบุคลิกภาพประจำตัว จึงทำให้มีการทำกิจกรรมพฤติกรรมบำบัดสำหรับผู้ที่มีภาวะออทิสติกมากมายหลากหลายวิธี เพื่อให้พวกเขามีพฤติกรรมที่เป็นธรรมดาที่สุดตามความเข้าใจของคนทั่วไป การหัดสบตาคนตรงๆ ก็เป็นหนึ่งในการฝึกการปรับพฤติกรรมของพวกเขาด้วยเช่นกัน


ภาพ นลัทพร ไกรฤกษ์

แต่จากการศึกษาชิ้นล่าสุดที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร the journal Scientific Reports กลับนำเสนอแง่มุมที่น่าสนใจว่า การมองเข้าไปในตาคนตรงๆสามารถส่งผลให้เกิดความไม่พอใจอันเป็นการกระตุ้นที่เกิดขึ้นภายในสมองของคนที่มีภาวะออทิสติกได้

นูชีน ฮาดิคานี รองศาสตราจารย์ด้านรังสีวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้ กล่าวว่า การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่า การขาดความสนใจระหว่างบุคคลที่แสดงออกในคนที่มีภาวะออทิสติกนั้น ไม่ได้เป็นเพาะการขาดความสัมพันธ์ระหว่างกัน ในทางตรงกันข้าม พฤติกรรมไม่สบตาคนนี้ มาจากสิ่งที่เกิดขึ้นภายในสมองของพวกเขาต่างหาก

“ผลจากงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมไม่สบตาคน เป็นวิธีการลดการกระตุ้นให้เกิดความไม่พอใจมากเกินกว่าที่คนที่มีภาวะออทิสติกเองจะรับได้ ซึ่งพฤติกรรมนี้ช่วยขวางกั้นจากการที่สมองเฉพาะส่วนถูกกระตุ้นมากเกินไป” ฮาดิคานีกล่าว

นอกจากนี้ ฮาดิคานียังได้กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า หรือในอีกทางหนึ่ง การที่คนที่มีภาวะออทิสติกไม่ยอมมองตาคนอื่นนั้น ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาไม่สนใจคนหรือสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

“มันเป็นเพราะการสบตาคนอื่นเป็นการกระทำที่มากเกินไปสำหรับพวกเขา” เธอกล่าว

ฮาดิคานีและนักวิจัยในทีมของเธอได้ทำงานศึกษาวิจัยร่วมกับศูนย์ Athinoula A. Martinos Center ศูนย์เฉพาะทางด้านชีวการแพทย์ที่โรงพยาบาล Massachusetts General Hospital ซึ่งศึกษาระบบการสั่งการใยประสาทจากสมองชั้นลึก หรือที่เรียกว่าชั้น subcortical สมองบริเวณนี้ทำหน้าที่ตั้งแต่เป็นทารก คือช่วยในการโฟกัสใบหน้า และมีประโยชน์ในการรับรู้อารมณ์อีกด้วย และจะถูกกระตุ้นให้ทำงานดีได้ด้วยการจ้องตา

นักวิจัยได้ใช้เทคโนโลยีการสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็กในงานศึกษาวิจัยชิ้นนี้ และวัดค่าความต่างการกระตุ้นในสมองชั้นลึกหรือชั้นของระบบ subcortical ของผู้มีภาวะออทิสติกจำนวน 24 คน และเด็กอีกกลุ่มในจำนวนที่เท่ากันคือ 24 คนที่มีภาวะ neurotypical เด็กธรรมดาที่มีปัญหาทางพฤติกรรมในสังคม

เมื่อพวกเด็กๆ ทำการทดสอบโดยตั้งใจในการมองตา การกระตุ้นสมองที่เกิดขึ้นมากเกินไปถูกพบในเด็กที่มีภาวะออทิสติก เมื่อมองใบหน้าที่มีการแสดงออกของอารมณ์หลายๆ แบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใบหน้าที่แสดงความหวาดกลัว จะส่งผลต่อการกระตุ้นสมองที่มากเกินไปมากกว่าใบหน้าอื่นๆ

จากการค้นคว้าของนักวิจัยหลายคน ชี้ให้เห็นถึงความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทหลายๆ ตัว ที่ทั้งกระตุ้นสมอง และทำให้สมองสงบ ในคนที่มีภาวะออทิสติก ความไม่สมดุลนี้อาจกระตุ้นให้เกิดสัญญาณสมองส่วน subcortical ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวกับการรับรู้ใบหน้าของคน ในทางตรงกันข้าม ยังส่งผลต่อความรู้สึกไม่ชอบสบตาโดยตรงของผู้ที่มีภาวะออทิสติกด้วย

“การบังคับให้เด็กที่มีภาวะออทิสติกมองเข้าไปในดวงตาของคนตรงหน้า เป็นการบำบัดพฤติกรรมที่อาจสร้างความวิตกกังวลให้เด็กมากขึ้น” ฮาดินีกล่าว

นอกจากนี้เธอยังได้เพิ่มเติมอีกว่า การให้คนที่มีภาวะออทิสติกเริ่มสบตาอย่างช้าๆ ทีละเล็กน้อย อาจช่วยให้พวกเขาสามารถเอาชนะการแสดงปฏิกิริยาตอบกลับที่ไม่ดี และในท้ายที่สุด พวกเขาจะได้เรียนรู้การควบคุม การสบตาโดยปราศจากความกังวลใจ

ขณะนี้ ฮาดิคานีกำลังมองหาแหล่งทุนสำหรับการศึกษาวิจัย เพื่อสร้างเทคนิคการสร้างภาพภายในประสาท (magnetoencephalography) การใช้สายตาตาม (eye tracking) และบททดสอบด้านพฤติกรรมชิ้นอื่นๆ เพื่อศึกษาการเลี่ยงหลบสายตาแบบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในภาวะออทิสติกต่อไป

 

แปลและเรียบเรียงจาก

https://www.disabilityscoop.com/2017/08/29/eye-contact-asd-study/24089/