Skip to main content

ธีรวุฒิ กลิ่นกุสม นายกเทศมนตรีนครรังสิตเปิดเผยว่า รังสิตเป็นเทศบาลนครและมีศูนย์บริการสาธารณสุขของตัวเอง ที่ผ่านมาจึงมีการดูแลเชิงการแพทย์และมีการจัดซื้อรถพยาบาลไว้ตั้งแต่ก่อนมี พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน แต่เมื่อเกิด พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉินขึ้นมา ทางเทศบาลนครรังสิตก็ได้เข้าร่วม และมีการจัดสรรรถพยาบาลที่มีอยู่บางส่วนเข้าไปร่วมทำการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองหรือไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ด้วยการไปรับที่บ้านเพื่อส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมาย


ธีรวุฒิ กลิ่นกุสม นายกเทศมนตรีนครรังสิต

ธีรวุฒิ กล่าวต่อว่า เมื่อดำเนินการไปได้ระยะหนึ่งก็มีคำทักท้วงจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่าการใช้รถพยาบาลไปรับส่งผู้ป่วยติดเตียงเหล่านี้ไม่ใช่อำนาจหน้าที่หรือภารกิจของท้องถิ่น ท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการได้ เป็นเหตุให้ต้องหยุดให้บริการดังกล่าวกลุ่มนี้ทั้งหมด

“ต้องเข้าใจว่าการทำงานตรงนี้มีค่าใช้จ่ายสูง และที่ผ่านมาเราก็ดำเนินการมาตลอด แต่เมื่อ สตง.ทักท้วงเราก็ต้องหยุด แต่จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้งดรับเสียทีเดียว เพราะนี่เป็นแค่คำท้วง ซึ่งผมก็ไม่เห็นด้วย แต่ปัญหาก็คือทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นก็ยืนยันซ้ำมาอีกว่าทำไม่ได้ ขณะนี้ก็ระงับการรับส่งผู้ป่วยมากว่า 1 ปี แล้ว” ธีรวุฒิ กล่าว พร้อมกล่าวด้วยว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับ สตง. และเห็นว่าเป็นหน้าที่หลักตาม พ.ร.บ.จัดตั้ง อยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องการให้บริการสาธารณสุขซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตคน และคณะกรรมการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นก็วินิจฉัยแล้วว่าการแพทย์ฉุกเฉินเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพยาบาล จึงควรดำเนินการได้

“ในช่วงที่หยุดมีผลกระทบเยอะมาก สุดท้ายจึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนด้วยการใช้กลไกมูลนิธิส่วนตัวที่มีอยู่ เอางบประมาณมูลนิธิไปซื้อรถเพื่อให้บริการผู้ป่วยไปก่อน แต่รถเราก็ไม่ได้มีเยอะ ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องบริการจัดการภายในและแบกรับภาระงบประมาณเอง” นายธีรวุฒิ กล่าว พร้อมระบุว่า ข้อท้วงติงดังกล่าวส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เพราะจะทำให้ท้องถิ่นทั่วไปประเทศไม่สามารถจัดบริการเหล่านี้ได้เลย ส่วนตัวมองว่าเรื่องการแพทย์ฉุกเฉินและการขนส่งผู้ป่วยเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก

“ตอนนี้มีความชัดเจนเฉพาะเรื่องการแพทย์ฉุกเฉินว่าสามารถทำได้ แต่ประเด็นการรับส่งผู้ป่วยติดเตียงนั้นยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งเขาก็ท้วงมาหลายประเด็น แต่สิ่งที่ชัดเจนที่สุดก็คือการแพทย์ฉุกเฉินเป็นอำนาจหน้าที่ของ อปท.แล้ว แต่จริงๆ การจัดบริการสาธารณะในส่วนของเทศบาล เราไม่ได้มองว่าจะได้ค่าตอบแทนจากการแพทย์ฉุกเฉินหรือไม่อย่างไร แต่เมื่อเราถูกร้องขอมาเราไม่สามารถปฏิเสธผู้ร้องขอได้ พอไปถึงแล้วเราไม่สามารถกลับได้ ตรงนี้คือปัญหาของทั้งประเทศ” นายกเทศบาลรังสิตกล่าว