Skip to main content

14 ก.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ใช้เฟสบุ๊คชื่อว่า อ.ชูศักดิ์ จันทยานนท์ สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิสซึ่ม(ไทย) ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสียในกรณี “แม่ทำร้ายลูกออทิสติกจนเสียชีวิต” โดยมีข้อเสนอ 4 ข้อ ดังนี้ 1) กระทรวงสาธารณสุขควรนำร่องจัดตั้งแผนกพิเศษออทิสติกในโรงพยาบาล 2) กระทรวงศึกษาธิการต้องพัฒนาห้องเรียนคู่ขนานออทิสติกและห้องเรียนสอนเสริมการศึกษาพิเศษในโรงเรียนทั่วไปในชุมชน  3) พม. ต้องนำร่องจัดตั้งบ้านพิทักษ์บุคคลออทิสติกในชุมชน เพื่อช่วยกลุ่มบุคคลออทิสติกที่ไม่มีผู้ดูแล  4) สนับสนุนให้มีสถาบันวิจัยออทิสติกเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตราฐานการบริการด้านต่างๆ

สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม(ไทย) ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวบุคคลออทิสติกครอบครัวหนึ่ง ปรากฎในข่าว "กรณีแม่ทำร้ายลูกออทิสติกจนเสียชีวิต" สาเหตุเนื่องจากภาวะเครียดสะสม ที่ขาดเสาหลักของครอบครัวและไม่ทราบว่าจะพึ่งพาใครหรือหน่วยงานใดได้บ้าง จึงตัดสินใจตามข่าวที่ปรากฎ ซึ่งพวกเรากลุ่มผู้ปกครองบุคคลออทิสติกในประเทศไทย "เข้าใจภาวะความกดดันดังกล่าว ที่หลายครอบครัวเคยเผชิญมาแทบทั้งสิ้น บางครอบครัวก็ก้าวผ่านไปได้ บางครอบครัวอยู่ในภาวะสับสน ซึ่งชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกในพื้นที่ พร้อมเป็นเพื่อนร่วมคิดหรือให้คำปรึกษาแนะนำแก่ครอบครัวต่างๆได้

ปัญหาดังกล่าว สะท้อนว่า "ถึงเวลาแล้ว ที่รัฐบาล" โดยเฉพาะกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรจะพัฒนา "กลไกการจัดการดูแล คือ จัดตั้งบ้านพิทักษ์บุคคลออทิสติดในชุมชน โดยเป็นหน่วยบริการในสังกัด"ศูนย์บริการบุคคลออทิสติก กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ" ซึ่งมีหน้าที่ดูแลและสนับสนุนบุคคลออทิสติกที่มีความพิการรุนแรง และครอบครัวไม่มีหรือไม่สามารถดูแลโดยลำพังได้เหมือนในต่างประเทศ ซึ่งสมาคมนำเสนอ สี่กลไกหลักตามออทิสติกโรดแมป ต่อคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ที่รองนายกรัฐมนตรี พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัยเป็นประธาน และมีมติเห็นชอบในหลักการและบรรจุเป็นตัวชี้วัดในแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติด้วย

แต่ระยะผ่านมาเกือบหนึ่งปี ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เครือข่ายผู้ปกครองและผู้ปกครองจำนวนมาก จึงทำหนังสือ "ร้องขอ"ต่อ "ฯพณฯนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านช่องทางศูนย์ดำรงธรรม และบางแห่งยื่นต่อฯพณฯนายกรัฐมนตรีในเวทีสาธารณะต่างๆ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณา แต่จนบัดนี้ยังไม่มีคำตอบใดๆ ที่เป็นรูปธรรมเลย สี่กลไกหลักออทิสติก ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อเด็กกออทิสติกเท่านั้น แต่เป็นประโยชน์ต่อคนพิการ และเด็กพิเศษกลุ่มต่างๆ ด้วย เช่น

1.ข้อเสนอให้ กระทรวงสาธารณสุข ทำ "โครงการนำร่องจัดตั้ง "แผนกพิเศษออทิสติก" ในโรงพยาบาลศูนย์ฯ โรงพยาบาลจังหวัดฯ และโรงพยาบาลอำเภอฯ" จะช่วยเด็กพิเศษที่มีภาวะบกพร่องด้านพัฒนาได้รับการฟื้นฟูและเตรียมความพร้อม โดยการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน รวมทั้งจัดระบบการให้คำปรึกษาหรือ Hotline สายด่วนต่างๆ

2. ข้อเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ "นำร่องจัดตั้งและพัฒนาห้องเรียน 2 รูปแบบ อันได้แก่ ห้องเรียนคู่ขนานออทิสติกและ ห้องเรียนสอนเสริมการศึกษาพิเศษ ในโรงเรียนทั่วไปในชุมชน จะตอบโจทก์เรื่อง การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม หรือ Inclusive Education ซึ่งกำหนดไว้ในแผนพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ของกระทรวงศึกษาธิการไว้แล้ว

3. ข้อเสนอให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมันคงของมนุษย์(พม.) นำร่องจัดตั้งบ้านพิทักษ์บุคคลออทิสติกในชุมชน จะช่วยให้ กลุ่มบุคคลออทิสติกที่ไม่มีผู้ดูแลหรือมีแต่ไม่สามารถดูแลได้ รับความช่วยเหลือ และลดปัญหาสังคม เหมือนกรณีที่ปรากฎเป็นข่าว และเป็นการพัฒนาสังคม"ซึ่งเป็นภารกิจหลักของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ

4.ข้อเสนอให้สนับสนุนให้มีสถาบันวิจัยออทิสติกจะเป็นการยกระดับคุณภาพและมาตราฐานการบริการด้านต่างๆ

สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึมไทย จึงขอ กราบเรียนเสนอให้ฯพณฯนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กรุณามีบัญชา ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย เร่งดำเนินการตามสี่กลไกหลักตามออทิสติกโรดแมปด้วย โดยแก้ไขข้อจำกัดด้านงบประมาณ ระเบียบปฎิบัติต่างๆ และให้สามารถนำงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งกระทรวงการคลังเห็นว่าใช้งบประมาณไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงเรียกเงินคืนคลังจำนวน 2,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งตามหลักการควรนำงบประมาณจำนวนดังกล่าวสนับสนุนการดำเนินการตามสี่กลไกหลักออทิสติกและงานด้านการพัฒนาภาพชีวิตคนพิการและโปรดบัญชาให้มีคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงกับภาคีเครือข่ายผู้ปกครองเพื่อพัฒนาระบบที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของกลุ่มเป้าหมาย

สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึ่ม(ไทย)

13กย2560

[email protected]