Skip to main content

เว็บไซต์ประชาไท รายงานว่า องค์กรเวิร์ลด์ไวด์เว็บคอนซอร์เทียม (W3C) ซึ่งเป็นองค์กรวางมาตรฐานเว็บไซต์ทางอินเทอร์เน็ตถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการลงมติของพวกเขาเมื่อไม่นานมานี้ ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบรรษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่าง เน็ตฟลิกซ์, ไมโครซอฟท์ และกูเกิล รวมถึงทำให้คนที่มีปัญหาทางสายตาหรือการได้ยินเข้าถึงได้น้อยลง

องค์กร W3C มีการลงมติในเรื่อง Encrypted Media Extensions (EME) หรือมาตรฐานการถอดรหัสวิดีโอที่มีลิขสิทธิ์ผ่านการเผยแพร่ทางเบราเซอร์ต่างๆ หนึ่งในผลที่จะเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดไม่โครซอฟต์ซิลเวอร์ไลท์หรือส่วนเสริมอโดบีแฟลชในการชมวิดีโอที่มีลิขสิทธิ์จากแหล่งอย่างเน็ตฟลิกซ์ มีการออกประกาศในเรื่องดังกล่าวนี้เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามมีผู้ต่อต้านจากกลุ่มคนที่รณรงค์เรื่อง "ความเป็นกลางทางเน็ต" (Net Neutrality) ซึ่งหมายถึงหลักการที่ว่าต้องมีการจัดการกับข้อมูลต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ ผู้ที่ต่อต้าน EME มองว่ามันจะทำให้อินเทอร์เน็ตปลอดภัยน้อยลง เปิดกว้างน้อยลง และทำให้คนที่มีปัญหาทางสายตาหรือการได้ยินเข้าถึงได้น้อยลง ขณะที่บรรษัทไอทีใหญ่ๆ อย่างเน็ตฟลิกซ์โต้แย้งว่ามันจะทำให้ปลอดภัยขึ้น เปิดกว้างขึ้นและเข้าถึงได้มากขึ้นต่างหาก แต่ก็มีปัญหาว่ามันจะมีการเก็บข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ได้ยากขึ้นด้วย

ที่สำคัญคือมีผู้มองว่า EME จะกลายเป็นการสร้างประโยชน์ให้แต่กับกลุ่มทุนใหญ่ๆ เท่านั้น หนึ่งในผู้ที่ต่อต้าน EME คือกลุ่มปกป้องสิทธิทางอินเทอร์เน็ตอิเล็กโทรนิคฟรอนเทียร์ฟาวเดชัน (EFF) ที่ประกาศขอถอนตัวจากการเป็นสมาชิกร่วมของ W3C เพื่อประท้วงหลังมีการลงมติสนับสนุน EME

องค์กร W3C เองมีสมาชิกอยู่ 463 ราย มีทั้งนักวิชาการ กลุ่มที่ไม่แสวงหาผลกำไร ผู้ถือหุ้น ไปจนถึงบรรษัทใหญ่ๆ แห่งซิลิคอนวัลเลย์ โดยในการลงมติเรื่องนี้มีสมาชิกร่วมลงมติเพียง 185 ราย ซึ่งถือว่ามากกว่าการลงมติอื่นๆ ที่ผ่านมา มี 108 เสียงที่โหวตเห็นชอบ 57 เสียงโหวตคัดค้าน และ 20 รายที่งดออกเสียงในที่ประชุม นอกจากองค์กร EFF แล้ว เจ้าหน้าที่อีกรายหนึ่งชื่อแฮร์รี ฮาลพิน ลาออกเพื่อประท้วงในเรื่องนี้เช่นกัน เจฟฟ์ จัฟเฟอร์ ซีอีโอของ W3C บอกว่าไม่เคยมีการขอออกจากการเป็นสมาชิกเพื่อประท้วงมาก่อนเลยสำหรับ W3C

แม้ว่าองค์กร W3C จะเริ่มต้นก่อตั้งตั้งแต่ปี 2537 โดยทิม เบอร์เนอร์ส ลี ผู้ให้กำเนิดเวิร์ลด์ไวด์เว็บเอง และมีหลักการเพื่อเป็น "กลุ่มประชุมอภิปรายอย่างเป็นกลาง" โดยไม่ให้สมาชิกฝ่ายใดได้รับการปฏิบัติดีกว่าฝ่ายอื่นๆ รวมถึงไม่เน้นเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ทว่ามติเรื่องมาตรฐาน EME ล่าสุดถูกมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์กับสมาชิกที่เป็นกลุ่มทุนใหญ่ แม้แต่ถ้อยแถลงเรื่อง EME เองก็มีการชื่นชม สมาคมภาพยนตร์อเมริกัน (MPAA) สมาคมผู้ประกอบกิจการเพลงของสหรัฐอเมริกา (RIAA) และอุตสาหกรรมเคเบิลทีวีของสหรัฐฯ ทำให้ผู้คนวิจารณ์ในเชิงประชดประชันว่า "ขอบคุณที่ส่งมอบอินเทอร์เน็ตให้กับบรรษัทสื่อ" และวิจารณ์ว่าคนเหล่านี้เป็น "มาเฟีย" ที่กำจัดคู่แข่ง

 

EME จะส่งผลกระทบอย่างไร

ในเว็บไซต์ของ W3C ระบุว่า EME เป็นกำหนดมาตรฐานในการเล่นสื่ออย่างเช่นวิดีโอได้บนเว็บเบราเซอร์โดยไม่ต้องอาศัยโปรแกรมพ่วงเพิ่มเติม รวมถึงผู้ควบคุมมาตรฐานจะสามารถควบคุมว่าจะเข้ารหัสเนื้อหาแบบใดได้บ้าง เป้าหมายของ EME ทำไปเพื่อได้เกิด "การนำส่งวิดีโอในเชิงธุรกิจบนเว็บไซต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

อย่างไรก็ตาม EME ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะการให้อำนาจควบคุมลิขสิทธิ์สื่อเหล่านี้แก่คนเพียงบางกลุ่มมากเกินไป ในเนื้อหาคำประกาศของ W3C ระบุว่าพวกเขาตัดสินใจให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหลายร้อยล้านคนต้องได้รับอนุญาตจากผู้สร้างในบางกรณีถ้าหากจะมีการดูวิดีโอที่ได้รับการคุ้มครองทางลิขสิทธิ์

ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกับกลุ่มบรรษัทมีความขัดแย้งกันมานานแล้วในเรื่องเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ การเล่นสนุกในอินเทอร์เน็ตอย่างการล้อเลียนเป็นมีม การตัดแต่ง การทำวิดีโอบันทึกการเล่นเกมพร้อมพากษ์เสียงตัวเองลงไปแบบที่เรียกว่า Let's Play (ในไทยนิยมเรียกว่า "แคสเกม") ไปจนถึงภาพเคลื่อนไหวสั้นๆ ไฟล์ GIFs เป็นสิ่งที่จะถูกสั่งให้เอาออกเมื่อใดก็ได้ถ้าหากเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่พอใจ บางครั้งผู้สร้างก็อาจจะถูกลงโทษด้วย

ประเด็นดังกล่าวนี้ยังนำมาสู่การถกเถียงเรื่องสิทธิในการจัดการทางดิจิทัล (DRM) ซึ่งเป็นคำที่กินความหมายกว้างมาก ก่อนหน้านี้เคยมีการใช้ DRM มาพยายามจำกัดการดาวน์โหลดเพลงเถื่อนมาก่อนแต่ระบบ DRM นั้นไม่ได้ส่งผลมากเท่าที่ควรและทำให้คนที่ซื้อเพลงหรือภาพยนตรในแบบดิจิทัลยากลำบากขึ้นจนทำให้ค่ายเกมใหญ่อย่างยูบิซอฟต์และอดีตหัวเรือใหญ่ของแอปเปิลอย่างสตีฟ จ็อบส์ เคออกมาบอกว่า DRM ไม่ส่งผลดี แต่การออกมาตรฐาน EME จะกลายเป็นเสมือนการตอกหมุดให้กับ DRM แทนที่จะถอนออก

ในแง่นี้หมายความว่า W3C กำลังเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบรรษัทจริงหรือไม่ จัฟเฟอร์บอกว่าไม่อย่างแน่นอน โดยเขายืนยันว่า W3C ยังคงมีจุดยืนทำให้เว็บไซต์เป็นเครื่องมือที่แสดงศักยภาพออกมาได้มากที่สุด อีกทั้งยังกล่าวอีกว่าสมาชิกร้อยละ 75 ของ W3C ล้วนแล้วแต่เป็นสมาชิกกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มทุนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น เอ็นจีโอ นักวิชาการ ธุรกิจสตาร์ทอัพ บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง

แต่นั่นก็ไม่ได้ลบความจริงที่ว่าการกำหนดมาตรฐาน EME นั้นจะทำให้ผู้ประกอบการใหญ่ๆ มีอำนาจในการกำหนดควบคุม DRM มากขึ้น โมซิลลา เจ้าของหนึ่งในเบราเซอร์ใหญ่อย่าง Firefox ระบุว่า ผลของ EME คือจะมีการออกมาตรการบังคับใช้ DRM แบบใหม่ที่อีกไม่นานจะกลายมาเป็นหนทางเดียวที่เบราเซอร์จะสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่ถูกกำกับควบคุมโดย DRM ได้