Skip to main content

ที่ผ่านมา การเดินทางของคนพิการยังนับว่า เป็นไปได้จริงลำบาก ไม่เพียงแค่อุปสรรคในการออกจากบ้านเท่านั้น การเรียกรถ การขึ้นลงหรือแม้แต่ความสบายใจในการเดินทางก็ยังเป็นประเด็นที่ทำให้คนพิการและครอบครัวนั้นหนักใจ

หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นคนพิการที่ใช้วีลแชร์ คนตาบอด คนหูหนวกรู้สึกไม่ปลอดภัย และพบกับความยากลำบากในการเดินทางเพราะไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่เอื้ออำนวย รถเมล์ชานสูงที่แม้แต่คนเดินถนัด ก็ยังก้าวแล้วพลาด

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2560 Uber ประเทศไทยเปิดบริการใหม่ Uber ASSIST อีกหนึ่งฟังก์ชันเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งชูจุดเด่น “Aware ตระหนักรู้ - Ask สอบถามความต้องการ - Assist อำนวยความสะดวก” ร่วมกับการอบรมพาร์ทเนอร์ร่วมขับโดยภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A- Transportation For All) ในการพัฒนาหลักสูตรกิจกรรมให้ความรู้เรื่องความพิการ

การเดินทางเป็นเรื่องของทุกคน

ศิริภา จึงสวัสดิ์ ผู้จัดการ Uber ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การเดินทางสำคัญสำหรับทุกคน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเดินทางได้อย่างราบรื่นทุกวัน ยังมีคนจำนวนมากที่ต้องการบริการที่เป็นมิตร ปลอดภัย และสะดวกในการเดินทาง ทั้งผู้สูงอายุ คนพิการ รวมถึงผู้ใช้อื่นๆ

เสาวลักษณ์ ทองก๊วย หัวหน้าสำนักงานองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Disabled Peoples' International Asia-Pacific Region- DPI-AP) และพันธมิตร T4A กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบขนส่งสาธารณะและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับประชาชน แต่หลายปัจจัยยังคงทำให้คนพิการไม่สามารถใช้บริการเหล่านั้นได้จริง ดังนั้นการประสานงานและผลักดันให้เกิดการยกระดับ ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนที่เอื้ออำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุให้สามารถออกมาดำเนินชีวิตในสังคมได้จึงสำคัญ

“เรามีความยินดีเป็นอย่างมากที่ได้เป็นพันธมิตรกับ Uber ASSIST ที่เห็นถึงปัญหาและเข้าใจความต้องการ พร้อมเสนอทางเลือกเพื่อเติมเต็มและอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้กับคนพิการ ผู้สูงอายุ  และผู้ที่ยังไม่สามารถเดินทางในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวก โดยพาร์ทเนอร์ร่วมขับ Uber ASSIST จะได้ผ่านหลักสูตรกิจกรรมให้ความรู้และผ่านการทดสอบเพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการด้วยความเข้าใจ ใส่ใจ ไว้วางใจได้และที่สำคัญที่สุดด้วยความปลอดภัย ซึ่งจะทำให้คนพิการได้รับประโยชน์จากบริการนี้อย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเวลาเดินทาง ทราบค่าเดินทางไปจนถึงความสบายใจทั้งตัวเองและครอบครัวตลอดการเดินทาง”

Uber ASSIST นิยามตัวเองว่าอะไร

แม้มีบริการที่เกี่ยวพันกับความพิการและผู้สูงอายุ แต่ฟังก์ชันนี้ไม่ใช่บริการรถพยาบาลหรือรถฉุกเฉิน หากแต่บอกว่าตัวเองเป็นผู้บริการคนที่ต้องการความสะดวกสบาย เช่น มีวีลแชร์ ใช้ไม้เท้าขาว คนพิการทางการมองเห็น หรือทางการได้ยิน ซึ่งสามารถแจ้งพาร์ทเนอร์ร่วมขับให้รู้ได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มเดินทาง พาร์ทเนอร์ร่วมขับ Uber ASSIST ที่เข้าร่วมโครงการซึ่งได้เรียนรู้เรื่องความต้องการที่หลากหลาย รู้วิธีสอบถามความต้องการเฉพาะของผู้โดยสาร และวิธีอำนวยความสะดวกมาแล้ว ก็จะทำให้เกิดการเดินทางที่ราบรื่น

เนื่องจากมีรถบางคันเท่านั้นที่เป็น Uber ASSIST ดังนั้นอาจต้องรอสักครู่หลังกดเรียกบริการ โดยมีอัตราค่าโดยสารเดียวกับ UberX และ Uber FLASH และไม่มีค่าใช้จ่ายใดเพิ่มเติม

กว่าจะเป็น Uber ASSIST

ในการเป็น Uber ASSIST รอบแรกนี้ ไม่ใช่พาร์ทเนอร์ทุกคนที่เป็นได้ คุณสมบัติเริ่มต้นที่คนขับจะต้องมีได้แก่  

  • พาร์ทเนอร์ร่วมขับที่คะแนนดาวสูง และมีประสบการณ์การขับ Uber มาแล้วมากกว่า 100 เที่ยว และเป็นรถขนาดกลาง
  • พาร์ทเนอร์ผู้ร่วมขับทุกคนต้องเข้าใจ พร้อมให้บริการและอำนวยความสะดวกสบายแก่ผู้ที่เรียกใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ หรือผู้สูงอายุ  
  • พาร์ทเนอร์ร่วมขับผ่านเนื้อหากิจกรรมการเรียนรู้จาก ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้
  • นี่ไม่ใช่บริการรถพยาบาล
  • พาร์ทเนอร์ร่วมขับได้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ให้ดูแลอุปกรณ์ช่วยเหลือทางการแพทย์ เช่น ไม้เท้าขาว รถเข็นที่พับได้ อย่างไรก็ดี คนนั่งสามารถให้คำแนะนำการจัดเก็บและดูแลอุปกรณ์ในระหว่างทางได้
  • สามารถกดเรียกให้กับเพื่อนหรือคนในครอบครัวได้

ศิริภากล่าวว่า  Uber เป็นบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ทุกคนใช้รถให้เกิดประโยชน์ โดยเป็นตัวกลางที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น มีความปลอดภัยโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ทั้งการแชร์ทริป ติดตามทริป ถ้าขับแล้วเบรกบ่อยกระทันหันเกินไป มีระบบตรวจจับ เพื่อสร้างระบบเพื่อนร่วมเดินทาง ส่วนกฎหมายตอนนี้แม้จะยังไม่มีการรองรับ ซึ่งเป็นเรื่องปกติหากมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามา ก็จะต้องใช้เวลาออกกฎหมาย ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนนั้นก็มีกฎหมายออกมารองรับแล้ว เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์  มาเลเซีย หรือแม้แต่ในพม่าและกัมพูชาด้วยเช่นกัน ฉะนั้นจึงหวังว่า ในประเทศไทยก็ไม่น่าจะนานเกินไป

นอกจากรถยนต์ส่วนตัวแล้ว Uber เปิดโอกาสให้กับผู้ที่มีรถแท็กซี่ที่อยากจะเข้าสู่ระบบร่วมเดินทางด้วยเช่นกัน ด้วยระบบบริการใหม่ที่ชื่อ Uber Flash ที่เป็นรถแบบไหนก็ได้ที่อยู่ใกล้ที่สุด ฉะนั้นทุกวันนี้ผู้ร่วมขับก็มีที่ใช้แท็กซี่ แต่อย่างไรก็ดีต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบและขั้นตอนทุกอย่างตามมาตรฐาน

ท้ายที่สุดการเป็น Uber นั้นคือชุมชนที่ทั้งคนขับและคนนั่งจะต้องให้คะแนนกันและกัน ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะเป็นการทำให้รู้ว่ามาตรฐานเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อคัดกรองคนที่ไม่ถึงมาตรฐานและจัดอบรม ทำกิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติม หรือตัดสิทธิการขับ

คนพิการได้อะไรจากการมี Uber ASSIST

เสาวลักษณ์กล่าวว่า กรุงเทพฯนั้นติดอันดับ 1 ใน 10 เมืองที่คุ้มค่าแก่การท่องเที่ยว คุ้มค่าแก่การมาพักผ่อน นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ตั้งของหน่วยงานสำคัญๆ ของโลกหลายแห่ง มากไปกว่านั้น ในอนาคตอันใกล้ไทยยังถูกวางให้เป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน และพาร์ทเนอร์ของงานด้านพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง จากข้อมูลเหล่านี้ทำให้เห็นการหมุนเวียนและการใช้งานของคนหลายกลุ่ม ไม่เพียงแต่เฉพาะคนที่มีร่างกายแข็งแรง แต่กลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุที่กำลังจะเพิ่มตัวอย่างมากก็เป็นประชากรกลุ่มหลัก ที่จะเข้ามามีบทบาทต่อกลไกการพัฒนา

ในกรุงเทพฯ มีผู้สูงอายุอายุมากกว่า 60 ปี จำนวนกว่า 800,000 ราย โดยร้อยละ 92 นั้นยังสามารถออกมาใช้ชีวิตได้ และตามสถิติขององค์การสหประชาชาติที่กล่าวว่า ในแต่ละพื้นที่จะมีคนพิการนับเป็นร้อยละ 15 จึงเท่ากับว่าในกรุงเทพฯ จะมีคนพิการกว่า 840,000 คนอาศัยอยู่

จำนวนที่มากมายขนาดนี้ จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างไร

เสาวลักษณ์ชี้ปัญหาว่า แม้ในตอนนี้จะมีรถสาธารณะแต่ก็ยังต้องอาศัยการเชื่อมต่อในจุดเชื่อมต่อหลายที่ เช่น รถเมล์ รถสองแถว มอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นบริการที่คนพิการเข้าไม่ถึง จึงทำให้คนพิการไม่สามารถออกมาร่วมกิจกรรมนอกบ้าน กิจกรรมทางสังคมและลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนๆ นั้น

เสาวลักษณ์ทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ดีจะมีการประเมินผลการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟีตแบคการทำงานและให้ข้อเสนอแนะต่อไป

ศิริภา(ซ้าย) เสาวลักษณ์ (ขวา)

ด้านศิริภากล่าวว่า แนวคิดเริ่มต้นจากการคิดว่า การเดินทางเป็นเรื่องของทุกคน จึงทำให้ Uber เริ่มฟังก์ชันนี้ขึ้น โดยเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ และอาจขยายต่อไปยังจังหวัดอื่นเช่น เชียงใหม่ พัทยา ขอนแก่น ฯลฯ โดยพาร์ทเนอร์ร่วมขับที่เข้าโครงการจะมีประสบการณ์เบื้องต้นในเรื่องความพิการ

ศิริภาเล่าว่า Uber Assist นั้นเกิดขึ้นครั้งแรกที่เมืองฮูสตัน ในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2557 ต่อมาจึงค่อยๆ ขยายเข้าสู่ประเทศในแอเชีย และไทยตามลำดับ โดยปัจจุบัน มีพาร์ทเนอร์ร่วมขับที่เข้าร่วม 39 คันและจะมีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้น โดยคนขับที่สนใจเมื่อเข้าร่วมจะได้รับการเพิ่มเติมประสบการณ์ได้แก่ ข้อมูลเทคนิค เช่น การช่วยเหลือคนหูหนวก คนตาบอด หรือการจัดเก็บวีลแชร์  และความรู้ความเข้าใจในความต้องการของคนพิการ และเทคนิคในการช่วยเหลือ

แค่รู้จักคนพิการไม่พอ ต้องเข้าใจเรื่อง “สิทธิคนพิการ” ด้วย

เสาวลักษณ์กล่าวว่า  Uber เป็นที่แรกที่อบรมพนักงานในเรื่องของสิทธิคนพิการ โดยให้คนขับมีส่วนร่วมกับคนพิการ ทั้งในเรื่องของทัศนคติ ความต้องการของคนพิการ และการมองว่า คนพิการก็คือลูกค้าคนหนึ่ง ที่ไม่ต้องสงสาร ไม่ต้องสงเคราะห์ และน่าจะเป็นตัวอย่างให้กับบริการรถสาธารณะอื่นๆ ในการบริการคนทุกคนอย่าเท่าเทียม และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

วิธีใช้บริการ Uber ASSIST

 

1. ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Uber

2. ใส่จุดเริ่มต้นและสถานที่ปลายทาง

3. กดเลือก Uber ASSIST โดยตัวเลือกอื่นจะกลายเป็นสีเทา

4. กดเรียกรถแล้วเตรียมตัวให้พร้อมระหว่างรอรถมารับ

5. หากต้องการความช่วยสามารถแจ้งกับพาร์ทเนอร์ร่วมขับ ล่วงหน้าได้ด้วยการโทรหรือส่งข้อความในแอพ