Skip to main content

เทือกเขาสูงใหญ่ขนาดเกือบ 300,000 ตารางกิโลเมตร ที่ปกคลุมหลายสิบประเทศในทวีปยุโรป รายล้อมด้วยยอดเขากว่าร้อยลูก เป็นหนึ่งในตำนานเทือกเขาที่คร่าชีวิตผู้คนในประวัติศาสตร์มาแล้วนับไม่ถ้วน ด้วยความสูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 4,815 เมตรจึงทำให้ภูมิอากาศที่นั่นหนาวเย็นมากเป็นพิเศษ บวกกับเส้นทางแสนยากลำบากที่น้อยคนจะจินตนาการได้ถึง

การข้ามเทือกเขาแอลป์คือหนึ่งภารกิจวัดใจที่อาศัยความตั้งใจเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องพึ่งพาทั้งกำลังกาย กำลังใจและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของเพื่อนร่วมทีม รวมทั้งความพยายามจนถึงขีดสุดจึงจะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ และสัมผัสกลิ่นอายของชัยชนะได้

‘Red Bull X-Alps’ หรือปฏิบัติการข้ามเทือกเขาแอลป์ในแบบฉบับของกระทิงแดงถูกออกแบบภายใต้กติกาสุดโหด 3 ข้อ

ข้อแรก...นักกีฬาทุกคนจะต้องข้ามเทือกเขาแอลป์ด้วยการเดินเท้าหรือใช้เครื่องร่อน โดยเส้นทางเริ่มจากประเทศออสเตรีย อิตาลี สวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส แล้วไปจบที่ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในประเทศโมนาโค ซึ่งแน่นอนว่าเส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ นักกีฬาจึงไม่เพียงแต่ต้องมีทักษะในการเดินเขาและการร่อนเครื่องร่อนเท่านั้น แต่ต้องอึดอย่างมากๆ เพราะบางครั้งพวกเขาอาจต้องเดินขึ้นเขากว่า 100 กิโลเมตรในหนึ่งวัน

ข้อสอง...ในหนึ่งทีมจะมีนักกีฬา 1 คนและผู้ช่วย 1 คนโดยผู้ช่วยจะสามารถช่วยได้แค่เรื่องการขนส่ง ลำเลียงสิ่งของ อาหารและด้านกำลังใจเท่านั้น

และข้อสุดท้าย...ในแต่ละวันนักกีฬาต้องไม่เดินทางนอกเหนือเวลาที่กำหนดคือหลัง 4 ทุ่มครึ่งและก่อนตี 5 โดยตลอดการแข่งขันจะอนุญาตให้มีการเดินทางในเวลากลางคืนได้ เพียง 1 คืนเท่านั้นและผู้ชนะก็คือคนที่เข้าถึงเส้นชัยก่อน

วินเซ็นต์ เดอเลอเปแลร์

และหนึ่งในนักผจญภัยคนล่าสุดที่ขอร่วมฝันร่วมท้าทายบนเส้นทางสุดโหดนี้ด้วยคือชายวัย 24 ปีจากประเทศฝรั่งเศส นาม ‘วินเซ็นต์ เดอเลอเปแลร์’

แม้จะไม่ได้ลงสนามในฐานะของนักกีฬาตัวจริงเหมือนคนอื่น แต่สิ่งที่ทำให้ชายหนุ่มผู้นี้พิเศษกว่า ก็คือการที่ร่างกายช่วงล่างของเขาเป็นอัมพาตจากอุบัติเหตุตกจากต้นไม้เมื่อ 3 ปีก่อนทำให้กระดูกสันหลังหัก ไม่สามารถเดินด้วยขาของตัวเองและต้องนั่งวีลแชร์ไปตลอดชีวิต

แต่ด้วยความหลงใหลและความคลั่งไคล้การร่อนร่มมาตั้งแต่ก่อนพิการ จึงทำให้วินเซ็นต์ยังเชื่ออยู่เสมอว่า เขาจะกลับไปร่อนร่มได้อีกครั้ง เขากับเพื่อนในกลุ่ม 3 คน ซึ่งรวมกลุ่มร่อนร่มกันตั้งแต่ พ.ศ. 2552 หรือก่อนที่วินเซ็นต์จะพิการ 2 ปี ต่างมาช่วยกันสานฝันของเพื่อนรักให้กลายเป็นจริง

จากความตั้งใจอันแรงกล้านี้เองที่ไปเข้าตาผู้กำกับสารคดีหนุ่ม ‘นิโคลัส แฮรอน’ จากกลุ่ม Altitude Films ซึ่งกำลังผลิตซีรีย์แนวผจญภัยว่าด้วยความสูงอย่าง Vu du ciel พอดี เขาจึงชักชวนให้วินเซ็นต์และเพื่อนมาร่วมปฏิบัติตามรอยกิจกรรม Red Bull X-Alps ด้วยการข้ามเทือกเขาแอลป์แห่งนี้ไปด้วยกัน ซึ่งพวกเขาก็ไม่ลังเลที่จะตอบตกลง เพราะก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคม 2556 ทั้งสี่คนได้ตั้งกลุ่ม In Cloud ขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรการกุศลด้านกีฬาและนวัตกรรมของคนพิการ

และนั่นเป็นที่มาของโครงการ 'Handi cap au large Projet'

Handi cap au large Projet

แต่อย่างที่รู้กัน ลำพังแค่คนทั่วไปจะใช้เครื่องร่อนข้ามเทือกเขายังทำได้ยาก เพราะฉะนั้นสำหรับคนพิการจึงอาจต้องใช้ความพยายามมากกว่าเป็นทวีคูณ

วินเซ็นต์รู้ดีถึงข้อจำกัดนี้ เขาจึงพยายามอย่างหนักด้วยการฟิตซ้อมร่างกาย โดยเฉพาะการฝึกบริหารมือให้แข็งแรงเพราะต้องรับศึกหนักในการปั่นล้อวีลแชร์ในช่วงของการข้ามเขา ขณะเดียวกันพวกเขาก็ได้ปรับรูปแบบของรถเข็นให้กลายเป็นจักรยานปั่นมือและสร้างร่มร่อนแบบพิเศษที่สามารถยึดรถเข็นติดกับตัวเครื่องทำให้คนร่อนสามารถใช้มือและแขนบังคับทิศทางของเครื่องร่อนได้ รวมไปถึงช่วยกันคิดวิธีส่งตัวคนร่อนที่นั่งอยู่บนรถเข็น ซึ่งได้ข้อสรุปว่าต้องมีคนช่วยกันจับรถเข็นคนละข้าง และอีกคนทำหน้าที่กางปีกเครื่องร่อนก่อนจะดันให้รถเข็นขึ้นไปปะทะกับลม แล้วจึงปล่อยให้ลมทำหน้าที่พัดพาเครื่องร่อนไป ส่วนการร่อนลงจอดแบบที่วินเซ็นต์จะปลอดภัย พวกเขาก็เลือกการติดตั้งล้อเพิ่มที่รถเข็นเพื่อลดแรงกระแทก ทำให้การลงนิ่มนวลมากขึ้น และอีกเรื่องที่พวกเขาเป็นห่วงมากที่สุด ก็คือสภาพอากาศ เพราะสำหรับเทือกเขาแอลป์แล้วไม่มีอะไรสามารถคาดเดาได้ และถ้ามีความปรวนแปรเกิดขึ้นก็หมายความหมดสิทธิการใช้เครื่องร่อนอย่างสิ้นเชิง

1 เดือนคือระยะเวลาที่พวกเขาตั้งใจจะทำให้แผนการนี้ แม้จะหวาดหวั่นอยู่บ้าง แต่ด้วยความเชื่อมั่นในกลุ่มเพื่อนที่ฝากชีวิตกันมานานหลายปี ก็ทำให้วินเซ็นต์และทีม In Cloud พร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยถือฤกษ์วันที่ 15 ก.ค.2557 In Cloud เป็นวันออกสตาร์ท

ปฏิบัติการในโครงการ Handi cap au large "Projet

ในช่วง 2 สัปดาห์แรก สิ่งที่พวกเขากังวลก็เป็นจริงเพราะตลอดที่อยู่บนเขา อากาศแปรปรวนตลอดเวลา บางครั้งก็หนาวเย็นจนทนไม่ไหว บางวันก็ฝนตก บางวันก็มีหิมะ ทำให้ตลอดระยะเวลาในออสเตรียและสวิสเซอร์แลนด์ วินเซ็นต์ต้องข้ามข้ามด้วยการใช้จักรยานปั่นมือเป็นหลัก ส่วนเครื่องร่อนนั้นได้ใช้เพียง 2 ครั้งในช่วงที่ท้องฟ้าเปิด

จนกระทั่งสัปดาห์ที่ 3 ทีมงานเดินทางเข้าสู่เทือกเขาในฝรั่งเศส ความฝันที่รอคอยก็มาถึง ที่นี่สภาพอากาศต่างกับ 2 ประเทศแรกอย่างสิ้นเชิง พวกเขาสามารถบินและร่อนร่มได้เกือบทุกวัน จนทำให้พวกเขาเดินทางไปถึงชายขอบเมดิเตอร์เรเนียมในโมโนโคได้ในวันที่ 4 สิงหาคม 2557 ซึ่งเร็วกว่ากำหนดถึง 9 วัน

อย่างไรก็ดี แม้กิจกรรมนี้จะเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่การร่อนร่มนั้นไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด เพราะด้วยความช่ำชองและการฝึกฝนอย่างหนักของทีมงาน ทุกคนจึงพร้อมรับกับสถานการณ์ได้อย่างดีเยี่ยม วินเซ็นต์บอกว่าในช่วงที่อยู่ในอากาศ เขาสามารถทำทุกอย่างได้เหมือนตอนก่อนที่เขาจะประสบอุบัติเหตุ ที่สำคัญเขามีเพื่อนที่พร้อมจะสอดส่องดูแลหากเกิดปัญหาอะไรขึ้น จึงไม่มีอะไรน่าเป็นหน่วง

ทว่าสิ่งที่ดูดพลังของนักกีฬากลุ่มนี้กลับเป็นเรื่องการขนส่งเครื่องร่อนและอุปกรณ์ต่างๆ

ปฏิบัติการใน Handi cap au large "Projet

พวกเขาต้องตื่นตั้งแต่ 6 โมงเช้าเพื่อเอารถจักรยานออกมาจากหลังรถกระบะแล้วใส่เครื่องร่อนเข้าไปแทนที่ เริ่มปั่นจักรยานหาที่ที่เหมาะสมแก่การร่อน แล้วก็นำเครื่องร่อนลงจากรถ เอาจักรยานขึ้นรถกระบะ แล้วเปลี่ยนจากการปั่นเป็นการโบยบินบนท้องฟ้าแทน หลังจากที่ร่อนลงจอดก็ต้องเก็บอุปกรณ์ แล้วยกเครื่องร่อนเก็บใส่ท้ายรถกระบะ นำจักรยานออกมาปั่นต่อไปยังจุดหมายปลายทางต่อไปและหมดวันที่เต็นท์นอน ก่อนเริ่มวันใหม่ด้วยกิจกรรมเดิม แต่โชคดีที่ความงดงามของทัศนียภาพสองข้างทางก็ช่วยเปลี่ยนความเบื่อหน่ายในวัฎจักรชีวิตซ้ำซากนี้ให้หมดไป

21 วันกับภารกิจสุดท้าทาย แม้วินเซ็นต์จะได้ชื่อว่าเป็นคนพิการคนแรกที่ข้ามเทือกเขาแอลป์ได้สำเร็จ แต่สิ่งที่เหนือกว่าคือพลังใจที่ไม่ยอมปล่อยให้ร่างกายมาเป็นอุปสรรคในการสานฝัน รวมไปถึงความเป็นทีมของกลุ่มแห่งก้อนเมฆกลุ่มนี้ที่แม้จะไม่ใครเชื่อว่าพวกเขาจะทำได้แต่พวกเขาก็ช่วยกันทำจนสำเร็จ

ด้วยเหตุนี้ หลังเสร็จภารกิจพวกเขาจึงไม่หยุดที่จะสานฝันต่อไป โดยการบริจาคอุปกรณ์ทั้งหมด รวมไปถึงเผยแพร่ความรู้เรื่องนวัตกรรมคนพิการ และเทคนิคการเล่นกีฬาร่อนร่มนี้แก่สาธารณชน โดยพวกเขาหวังว่าความสำเร็จนี้จะเป็นตัวจุดประกายให้คนพิการคนอื่นๆ มีพลังและกำลังใจในการสร้างฝันให้ลุล่วงโดยไม่ให้ความบกพร่องร่างกายมาเป็นอุปสรรค

เพราะภารกิจพิชิตแอลป์ในครั้งนี้ไม่ใช่แค่การท้าทายตัวเอง แต่คือการท้าทายความเชื่อของคนค่อนโลกเพื่อเปลี่ยนความเชื่อที่ว่า ‘ทำไม่ได้เพียงเพราะความพิการ’ เป็น ‘ทำได้แม้ร่างกายจะพิการ’

ปล. ติดตามภารกิจการเดินทางของพวกเขาเต็มๆ ได้ที่ http://www.incloudasso.fr/pages/ou-sommes-nous.html และชมสารคดี Vu du ciel - Épisode 3 : les rêves de Vincent ได้ที่ http://vimeo.com/100300606

 

เนื้อหาแและภาพจาก http://www.bluerollingdot.org/articles/inspiration/280
โดย ณัฐภรณ์ เหลืองพิพัฒน์