Skip to main content

วันนี้ (11 ต.ค.2560) เวลาประมาณ 11.30 น. เสาวลักษณ์ ทองก๊วย กรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และเลขาธิการองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (DPIAP) และศุภวัฒน์ เสมอภาค เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการต่างประเทศ องค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกและสมาชิกภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หลังถูกปฏิเสธการให้บริการจากสายการบิน ด้วยเหตุแห่งความพิการ



บน ศุภวัฒน์ (ซ้าย) เสาวลักษณ์ (ขวา)
ล่าง อังคณา นีละไพจิตร (ซ้าย) ศุภวัฒน์ (ขวา)

ภาพจาก เสาวลักษณ์ ทองก๊วย

ทั้งนี้ เสาวลักษณ์ระบุว่า เหตุผลของการปฏิเสธขึ้นเครื่องเป็นเพราะผู้โดยสารไม่สามารถเดินขึ้นเองได้ อีกทั้งสายการบินไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ โดยมีรายละเอียดตามเนื้อหาด้านล่าง

เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2560 เสาวลักษณ์ ทองก๊วย ศุภวัฒน์ เสมอภาค ได้เดินทางโดยสายการบินนกแอร์ เที่ยวบินที่ DD8312 ออกจากท่าอากาศยานดอนเมือง ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่เวลา 12.40 น. ซื้อและออกเป็นตั๋วเดินทางกลุ่มจำนวน 8 คน โดยมีคนพิการจำนวน 2 คน คือเสาวลักษณ์และสุภวัฒน์ เพื่อต่อเครื่องไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากเป็นวิทยากรอบรมการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการส่วนบุคคลที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระหว่างวันที่ 6-7 ต.ค.2560

ประมาณ 11.00 น.ของวันเดียวกัน ขณะกำลังเช็กอินที่ท่าอากาศยานดอนเมือง พนักงานนกแอร์เดินมาสอบถามด้วยภาษากายที่ไม่แสดงความเป็นมิตรว่า “ผู้โดยสารเดินได้ไหมคะ เพราะสายการบินนกแอร์มีนโยบายไม่อนุญาตให้ผู้โดยสารที่นั่งรถเข็นและเดินไม่ได้เดินทางคนเดียว” เสาวลักษณ์ตอบว่าเดินทาง 8 คน จากนั้นพนักงานจึงแจ้งว่าจะออกตั๋วพร้อมโหลดกระเป๋าให้ แต่แล้วพนักงานคนเดิมก็ถามต่อว่าทั้ง 6 คนเป็นญาติหรือเปล่า ช่วยอุ้มได้ไหม เสาวลักษณ์จึงตอบว่าไม่แน่ใจ แต่ถ้าจำเป็นต้องยก พวกท่านซึ่งเป็นผู้ร่วมงานคงยินดี

จากนั้น พนักงานสั่งให้เสาวลักษณ์และสุภวัฒน์รอคุยกับกัปตันซึ่งไม่รู้เวลาที่แน่นอน เสาวลักษณ์จึงแจ้งว่าขอเข้าไปคุยที่ทางออกประตูขึ้นเครื่อง เพราะต้องการเข้าไปทำธุระส่วนตัวคือ เข้าห้องน้ำและทานข้าว พนักงานนกแอร์กลับไม่สนใจฟัง ไม่นานพนักงานชายอีกคนก็เดินมาบอกให้ทั้งสองคนรอคุยกับกัปตันก่อน แต่ทั้งสองคนได้ปฏิเสธและระบุว่าต้องการคุยที่ทางออกขึ้นเครื่องเท่านั้น

ท้ายที่สุดกัปตันไม่ให้ขึ้นเครื่อง พนักงานนกแอร์ที่ประจำประตูทางออกขึ้นเครื่องเข้ามาสอบถามทั้งสองคนว่าทำงานอะไร กระทรวงไหน มีตำแหน่งอะไร ก่อนที่พนักงานนกแอร์ 4 คนจะพาไปรับกระเป๋าที่ชั้น 1 ขาออกและทำเรื่องขอเงินค่าตั๋วคืน

พนักงานเอาแบบฟอร์มรีฟันด์มาให้ลงลายมือชื่อ โดยที่ทั้งสองคนเข้าใจว่ารีฟันด์เฉพาะเที่ยวดอนเมืองไปเชียงใหม่เท่านั้น แต่มาทราบภายหลังว่านกแอร์ยกเลิกและรีฟันด์ตั๋วขากลับด้วยโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ทางด้านสุภวัฒน์ซึ่งมาเช็กอินทีหลังก็เจอกับชุดดำถามคล้ายกันคือเจ้าหน้าที่ปฏิเสธ แต่ให้คำอธิบายที่ไม่แตกต่างกัน

ทั้งสองคนจึงจำเป็นต้องซื้อตั๋วสายการบินแอร์เอเชียเที่ยวบินถัดไป โชคดีที่สายการบินยินดีให้บริการ ที่น่าแปลกคือ เจ้าหน้าที่นกแอร์กลับไปถามเจ้าหน้าที่สายการบินแอร์เอเชียว่าทำไมถึงอนุญาตให้เดินทางได้ ซึ่งถือว่าละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวเป็นอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ของแอร์เอเชียตอบว่าเพราะแอร์เอเชียมีรถไฮลิฟต์กับเคบินวีลแชร์ให้บริการ

เหตุการณ์นี้ทำให้ทั้งสองคนเดินทางไปถึงเชียงใหม่ล่าช้า จึงไม่สามารถต่อเครื่องไปแม่ฮ่องสอน และจำเป็นต้องพักค้างคืนที่เชียงใหม่ ซ้ำยังต้องเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินไปแม่ฮ่องสอนและยกเลิกการเป็นวิทยากรในวันนั้นไป

วันที่ 8 ต.ค. 2560 เวลา ประมาณ 11.20 น.ทั้งสองคนได้เดินทางกลับพร้อมคณะรวม 8 คนโดยเข้าเช็คอินที่เคาน์เตอร์นกแอร์ ก่อนพบว่าตั๋วโดยสารขากลับเชียงใหม่-กรุงเทพได้ถูกยกเลิกและทำรีฟันด์ไปแล้ว แต่ตั๋วเดินทางของสุภวัฒน์กับผู้ช่วยยังคงใช้ได้

ขณะที่กำลังเจรจากับพนักงานที่เคาน์เตอร์เช็กอิน มีเจ้าหน้าที่นกแอร์ซึ่งเป็นผู้ชายแสดงตัวและบอกว่า “ผมได้รับรายงานเรื่องของคุณจากกรุงเทพแล้ว” พร้อมกับใบหน้ายิ้มแย้มแต่ไม่เป็นมิตร ซ้ำยังไม่พร้อมรับฟังผู้โดยสารอธิบาย

ขณะที่พยายามถามถึงเหตุผลของการปฏิเสธไม่ให้เดินทาง พร้อมยกตัวอย่างสายการบินบางกอกแอร์เวย์ซึ่งทั้งสองคนเดินทางจากแม่ฮ่องสอนมาเชียงใหม่ แม้จะเป็นเครื่องบินแบบ ART 72-600 มี 2 ใบพัดและมีที่นั่งผู้โดยสารเพียง 72 ที่นั่ง แต่ก็ยังยินดีต้อนรับให้บริการผู้โดยสารพิการและให้บริการโดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดตามหลักสากล เจ้าหน้าที่ชายท่านนั้นจึงขอดูตั๋วเครื่องบินบางกอกแอร์เวย์ เมื่อถามว่าเอาไปทำไม เจ้าหน้าที่ชายท่านนี้แสดงความไม่พอใจและบอกว่าต้องการเอาไปสอบถามกับพนักงานบางกอกแอร์เวย์เรื่องการอนุญาตให้เดินทาง การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้โดยสาร

ต่อมาศุภวัฒน์และผู้ช่วยต้องการจะยกเลิกการเดินทางและทำรีฟันด์ แต่สายการบินนกแอร์กลับไม่ยอม แจ้งว่าถ้าไม่เดินทางก็จะไม่คืนเงิน ขณะเดียวกันก็ไม่ออกตั๋วเดินทางให้ อ้างว่าต้องรอคำตอบจากดอนเมืองว่าอนุญาตให้เดินทางได้หรือไม่ รวมทั้งต้องตรวจสอบก่อนว่าเครื่องบินจะเข้าจอดที่หลุมจอดหรือไม่ จะขอให้คำตอบเวลา 14:00 ก่อนเครื่องออกเพียง 45 นาที

ศุภวัฒน์และผู้ช่วยยืนยันว่าจะขอยกเลิกการเดินทางและไม่ขอเงินคืนถ้าไม่ได้รับคำตอบภายใน 5 นาที ทางสายการบินนกแอร์ดอนเมืองจึงอนุญาตให้ออกตั๋วเดินทางได้ ขณะที่คุณเสาวลักษณ์ยืนยันว่าจะไปซื้อตั๋วสายการบินอื่น แต่พนักงานนกแอร์ที่เคาน์เตอร์เช็กอินบอกว่าให้ซื้อตั๋วของนกแอร์ เจ้าหน้าที่จะออกตั๋วให้ได้เลย

น่าแปลกที่การเดินทางขากลับครั้งนี้มีเคบินวีลแชร์ให้บริการ แถมยังมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกก่อนขึ้นเครื่อง หลังจากเดินทางถึงท่าอากาศยานดอนเมือง ทั้งสองคนก็สามารถรับรถเข็นตัวเองได้ที่หน้าประตูเครื่องบิน ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าสายการบินนกแอร์สามารถให้บริการแก่ผู้โดยสารพิการได้ตามมาตรฐานของสายการบินทั่วไป แต่เลือกที่จะไม่ยอมให้บริการเช่นนี้ตามที่เป็นข่าวตามสื่อต่างๆ บ่อยครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

จากเหตุการณ์นี้ เป็นที่น่าสงสัยว่าสายการบินนกแอร์ไม่มีนโยบายที่ชัดเจน แม้จะอ้างเรื่องความปลอดภัย แต่ไม่สามารถอธิบายและหาแหล่งอ้างอิงได้ อีกทั้งพนักงานของนกแอร์ทั้งที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ยังไปสอบถามข้อมูลจากสายการบินอื่น แสดงให้เห็นว่าพนักงานไม่มีทักษะ ไม่มีความรู้ในการให้บริการ ไม่มีอุปกรณ์และเครื่องมืออำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานตามมาตรฐานสายการบินต้นทุนต่ำทั่วไป รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอในการให้บริการ จึงอยากฝากให้สายการบินนกแอร์ช่วยอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่เรื่องมารยาทและการปฏิบัติต่อผู้โดยสารตามหลักสากลและตามหลักสิทธิมนุษยชนด้วย

การกระทำทั้งหมดนี้ ถือได้ว่าสายการบินนกแอร์ได้กระทำการละเมิดสิทธิและเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสารด้วยเหตุแห่งความพิการตามคำนิยามของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ซ้ำยังละเลยต่อการดำเนินตามนโยบายของ International Civil Aviation Organization (ICAO) : Manual on Access to Air Transport by Persons with Disabilities โดยการแสดงให้เห็นถึงอคติ การเหมารวมและการละเมิดสิทธิ์ซึ่งขัดกับหลักการอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ และพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550