Skip to main content

เคยมีคนพูดไว้ว่า "คนตาบอด+ไม้เท้าขาว = การดำรงชีวิตอิสระ" สมการนี้เป็นจริงเสมอ หากคุณเป็นคนตาบอด ตาเลือนราง หรือมีคนรู้จักกำลังอยู่ในสภาวะเช่นนี้อยู่ การได้รู้จักกับการใช้ไม้เท้าขาวด้วยวิธีการฝึกฝนอย่างถูกต้องจากวิชาโอแอนด์เอ็ม (Orientation & Mobility: O&M) จะทำให้ชีวิตไม่ยากเย็น หดหู่ หรือโดดเดี่ยวอีกต่อไป

กาญจนา เสลาคุณ พนักงานคอลเซ็นเตอร์ตาบอด และชนะภัย จันทร์ดำ เจ้าหน้าที่ผลิตสื่อจะมาร่วมแลกเปลี่ยนและพูดคุยเกี่ยวกับคนตาบอดและไม้เท้าขาว ว่าการใช้ไม่เท้าขาวนั้นเปลี่ยนแปลงชีวิตและมอบอิสระในการดำเนินชีวิตอย่างไร

กาญจนา อายุ 31 ปี เธอตาบอด และปัจจุบันเป็นพนักงานคอล เซ็นเตอร์ ประจำศูนย์เครือข่ายโทรศัพท์ดีแทค ส่วนชนะภัย อายุ 32 ปี เคยสายตาเลือนรางก่อนจะบอดสนิท ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่บริการและผลิตสื่อการเรียนรู้ของศูนย์บริการนักศึกษาพิการมหาวิทยาลัยรามคำแหง

กาญจนาเข้ามาเป็นนักเรียนในโรงเรียนสอนคนตาบอดตั้งแต่เด็ก ขณะนั้นเธอตาบอดแล้ว สมาชิกใหม่ของที่นี่ต้องฝึกหัดทักษะที่เด็กตาบอดทุกคนต้องเรียนรู้ รวมถึงการใช้ไม้เท้าขาวด้วย เช่นเดียวกับชนะภัยที่เมื่อเข้ามาศึกษาในโรงเรียนสอนคนตาบอดนครราชสีมาในวัย 12 ปี เขาเองก็ต้องเรียนรู้การใช้ไม้เท้าขาวด้วยเช่นกัน แม้ว่าตอนนั้นเขาจะยังพอมองเห็นอยู่บ้างก็ตาม

เริ่มเรียนวิชาการใช้ไม้เท้าขาวตั้งแต่เมื่อไหร่

กาญจนา: ตั้งแต่ตอนเรียนประถมฯ เลยค่ะ ประมาณสัก 8-9 ขวบ ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ เรียนทั้งหลักสูตรปกติและการใช้ไม้เท้าด้วย แต่เพราะเรียนอยู่ที่นี่ตั้งแต่เล็กๆ ก็จะคุ้นเคยกับพื้นที่ภายในบริเวณโรงเรียนเป็นมาก เรียกว่าสามารถไปไหนมาไหนภายในโรงเรียนโดยไม่ต้องมีไม้เท้าเลยก็ได้

ชนะภัย: เริ่มเรียนตั้งแต่ตอนเตรียมความพร้อมเลย อายุ 12 ปี เรียนไปพร้อมกับเรียนอักษรเบรลล์ แต่ว่าตอนนั้นก็ไม่ค่อยได้ใช้ เพราะยังมองเห็นอยู่บ้าง ยังเดินนำทางคนตาบอดสนิทได้อยู่ ถึงแม้ตอนนั้นจะคิดว่ายังไม่ได้ใช้เร็วๆนี้หรอก แต่ก็เรียนไป เป็นความรู้

ไม้เท้าขาวเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตตอนไหน

เมื่อกาญจนาเรียนชั้นมัธยมฯ โรงเรียนส่งให้เธอออกไปเรียนร่วมกับนักเรียนไม่พิการในโรงเรียนที่อยู่ข้างนอก ทำให้ไม้เท้าขาวกลับมามีความสำคัญในชีวิตเธออีกครั้ง ชนะภัยเองก็เช่นกันเขาออกไปเรียนร่วมกับเด็กทั่วใปเมื่อขึ้นชั้นมัธยมปลาย ตอนนั้นการมองเห็นของเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว เขาจึงหันมาใส่ใจการใช้ไม้เท้าอย่างจริงจัง

กาญจนา: พอถือไม้เท้า ครั้งแรกก็ยังกลัวอยู่ แต่พอครั้งหลังๆ เริ่มรู้สึกว่า มันก็เป็นเครื่องช่วยที่ดีเพราะถ้าไม่มีไม้เท้าเดินไปไหนก็จะไม่มั่นใจไปเลย

ชนะภัย: ตอนต้องใช้เพราะต้องเดินเรียนตามอาคาร

สำหรับนักเรียนตาบอดจากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ทุกคน เมื่อต้องออกไปเรียนร่วม จะต้องเดินทางไปเอง กาญจนาก็เช่นกัน เธอเรียนที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยและต้องเดินมาขึ้นรถเมล์ที่ป้ายรถเมล์หน้าโรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นประจำ สำหรับชนะภัย เมื่อเขาต้องเข้าเรียนระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนโคราชพิทยาคมก็เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนให้เขาหันใช้ไม้เท้าขาวอย่างจริงจัง

อายไหมเวลาที่ต้องใช้ไม้เท้าขาว

กาญจนา: ไม่อาย แต่ตอนแรกที่ไม่ใช้เพราะคิดว่ามันยังไม่จำเป็น

ชนะภัย: สมัยที่เราพอมองเห็น เราไม่อยากถือหรอก ไม้เท้าน่ะ มันอาย เรายังคิดด้วยความรู้สึกในส่วนลึกๆ ของเราว่า เราไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ว่าก็ต้องฝึกเผื่อเวลาออกมาข้างนอก สมมติว่าอยากกลับบ้าน ก็ต้องถือไม้เท้าไป บ่อยๆ เข้าความคิดเรื่องไม่อยากจะใช้ไม้เท้าก็หายไป ถ้าไม่ใช้ก็ต้องไปเกาะคนอื่นเขา เดินเองก็ดี จะมีเดินชนบ้างก็เรื่องธรรมดา

แม้ว่าสถานที่อย่างภายในอาคาร โรงเรียน หรือที่พักอาศัย ไม้เท้าขาวดูจะไม่จำเป็นนัก แต่เธอและเขาก็ไม่ปฏิเสธว่าไม้เท้าขาวเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมากสำหรับคนตาบอด เมื่อต้องเดินทางออกไปนอกสถานที่

ในชีวิตประจำวันใช้ไม้เท้าขาวในสถานการณ์ใดบ้าง

กาญจนา: ใช้เวลาต้องเดินทาง ออกไปกินข้าว ออกไปทำธุระ

ชนะภัย: มันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว ก็ต้องถือ ถ้าไม่ถือเดี๋ยวเดินไม่ถูก เพื่อความไม่ประมาทด้วย เวลาเดินทางไปทำงานก็ใช้ไม้เท้า แต่ถ้าอยู่รอบพื้นที่ทำงานก็ไม่ต้องใช้ ถ้าอยู่ในที่ๆ เราคุ้นเคยและปลอดภัยพอที่จะไม่ใช้

ไม้เท้าขาวทำให้คนตาบอดมั่นใจในการออกไปใช้ชีวิตมากขึ้นจริงหรือเปล่า

กาญจนา: จริงมากค่ะ เคยลืมไม้เท้า เพราะมีคนพาเดินไปส่ง พอเขาไปส่งเราขึ้นรถเมล์ พอเราจะลง อ้าว ไม่มีไม้เท้า มันทำให้เราไม่มั่นใจในการเดิน

ชนะภัย: ใช่ แล้วก็ทำให้มีอิสระด้วย

ไม้เท้าขาวมีประโยชน์ยังไง

กาญจนา: ไม้เท้าทำให้เราเดินทางเองได้ในระดับหนึ่ง ถ้าเกิดไม่มีก็จะออกไปไหนไม่ได้ ต้องรอให้คนมาถามว่าเราจะไปไหน หรือต้องตะโกนบอกเขาเมื่อรู้สึกว่ามีคนเดินมาว่า ช่วยพาไปหน่อย พอมีไม้เท้าเราสามารถเดินไปเองได้ ในที่ที่เราไปไม่ถูก เราสามารถเดินไปหาคนให้เขาช่วยว่าจะไปตรงนี้ต้องเลี้ยวตรงไหนคะ ทำให้เราถามได้โดยไม่ต้องรอ

ชนะภัย: ทำให้เราปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง จากการเดินไปชนโน่นชนนี่ อีกอย่างก็คือทำให้เรา แตกต่าง ประโยชน์ของความแตกต่างคือ คนอื่นจะรู้ว่าเราตาบอด เขาจะมาช่วยเราได้

การใช้ไม้เท้าหรือการใช้เครื่องมืออื่นๆ ร่วมด้วยในการเดินทางสำหรับคนตาบอด นับได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้คนพิการทางการมองเห็นมีอิสรภาพ คือเอกลักษณ์ที่ทำให้คนอื่นเขารู้ว่าเราเป็นใคร เราต้องการอะไร ถ้าหากเราถือไม้เท้าก็จะเป็นดั่งการแสดงออกให้คนอื่นๆ รับรู้ว่า เรายอมรับในสิ่งที่เราเป็น

เมื่อเห็นคนพิการออกมาใช้ชีวิตในสังคม ทำให้สังคมเกิดการปรับตัว คนพิการก็ต้องปรับให้เข้ากับสังคม สังคมเองก็ต้องปรับให้เข้ากับคนพิการ เพราะหากจะว่าไปแล้ว ไม่มีใครสักคนจริงๆ หรอกที่จะสมบูรณ์แบบ หรือความสมบูรณ์แบบก็อาจจะเป็นแค่มาตรฐานใดมาตรฐานหนึ่งที่คนบางกลุ่มสร้างขึ้นก็ได้

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

วันไม้เท้าขาวสากล: ทำไมไม้เท้าขาวจึงแปรผันต่อคุณภาพชีวิตคนตาบอด ?