Skip to main content

นิสิตจุฬาฯ สร้างของเล่น 3 มิติย่อโลกสร้างประสบการณ์การเรียนรู้แบบใหม่เพื่อเด็กพิการทางสายตา โดยจำลองเป็นทั้งหมด 4 ดินแดน แต่ละดินแดนจะมีผิวสัมผัสต่างกัน ได้แก่ ดินแดนปราสาท ทะเลสาบ หมู่บ้าน และป่าไม้

ภาดา โพธิ์สอาด จบการศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์, วสุพล แหวกวารี ปี 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ และพัชณาพร วิมลสาระวงค์ ปี 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมตัวกันออกแบบของเล่นที่มอบประสบการณ์การเรียนรู้ให้เด็กพิการทางสายตา ในผลงานที่ชื่อว่า“Time forTales”

ภาดากล่าวว่า ผลงานชิ้นนี้ มีแรงบันดาลใจจากการทำทีสิสก่อนจบ ซึ่งเลือกลงไปสำรวจข้อมูลปัญหาสำหรับของคนพิการทางสายตา พบว่าของเล่นที่ช่วยเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของน้องกลุ่มนี้มีอยู่อย่างจำกัด ต้องเล่นของเล่นชนิดเดียวกันกับคนไม่พิการทั่วไป บางชิ้นเป็นของเล่นที่ไม่สามารถสร้างการเรียนรู้ได้ เพราะเด็กตาบอดบางคนไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาตามเกณฑ์ ส่วนหนึ่งมาจากความผิดปกติทางการมองเห็น จึงทำให้เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้ช้า จึงได้เข้าร่วมโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ปี 5 ที่ดำเนินงานโดยเนคเทค เพื่อพัฒนาผลงานต่อ

ภาดาเล่าต่อว่า ของเล่นนี้เป็นของเล่นโต้ตอบอัตโนมัติรูปแบบใหม่สำหรับเด็กพิการทางสายตาวัยอนุบาลอายุ 4–9 ปี หรือที่เรียกว่า มัลติเซนส์ซอรี ที่ใช้เสียงและผิวสัมผัสในการส่งเสริมพัฒนาการ จินตนาการ และความรู้พื้นฐานอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเด็กพิการทางสายตาสามารถสัมผัสและเรียนรู้ในสิ่งที่เขาไม่สามารถจับต้องได้ในชีวิตประจำวัน

ความพิเศษอยู่ที่การออกแบบให้สามารถยกเข้าออกถอดประกอบหรือเปลี่ยนไปตามเรื่องราวนั้นๆ กลายเป็นของเล่นรูปแบบใหม่ ที่นำทักษะการสัมผัสและการฟังไว้ในชิ้นเดียว ทำให้เด็กตาบอดสามารถเล่นของเล่นชิ้นนี้ได้ไปพร้อมกับการฝึกการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก และใช้จินตนาการในการเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน

ของเล่นจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเรียกว่า base คือฐาน มีทั้งหมด 4 ดินแดน แต่ละดินแดนจะมีผิวสัมผัสต่างกัน เช่น ดินแดนปราสาท ทะเลสาบ หมู่บ้าน และป่าไม้ ส่วนที่สองเป็นคาแรคเตอร์ตัวละครต่างๆ ที่เด็กพิการทางสายตาสามารถสัมผัสได้ เช่น เจ้าหญิง เป็ด เด็กชาย หมาป่า เป็นต้น วิธีเล่นก็คือ เด็กจะจับตัวละครแล้วเอาไปวางบนหลุมของฐานต่างๆ ซึ่งแต่ละฐานจะมีตัวหลุมวงกลมเป็นทรงกระบอกเพื่อนำตัวละครใส่ลงไป จากนั้นจะมีเสียงที่ตัวละครบรรยายถึงสถานที่ต่างๆ

ผลงาน “Time for Tales” ได้รับรางวัลชมเชยและเบสท์พรีเซ็นต์ ประเภทผลงานด้านการออกแบบนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ จากการประกวดโครงงานสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุของนักศึกษาในระดับนานาชาติ จำนวน 8 ประเทศ 32 ผลงาน ในเวที ICREATE 2017 ที่ประเทศญี่ปุ่น และล่าสุดได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรมสะอาด ในโครงการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 17 ด้วย

“การได้รับรางวัลจากเวทีการประกวด ยังไม่ถือว่าเราประสบความสำเร็จ เรายังต้องพัฒนางานต่อไปอีก พัฒนาจนกว่าจะไปถึงมือผู้ใช้ได้จริงๆ ส่วนการได้ไปในเวทีนานาชาติก็เป็นโอกาสที่ดีทำให้เราได้เปิดหูเปิดตา ได้เห็นไอเดียจากเพื่อนหลายๆ ประเทศมาปรับใช้กับงานของเรา ตอนนี้พวกเรากำลังดำเนินการระดมทุนเพื่อจะนำของเล่นชิ้นนี้ไปบริจาคในหน่วยงานและสถานต่างๆที่ที่ต้องการ และได้มองเว็ปเทใจที่เป็นเว็ปทำ crowdfunding เพื่อวางแผนทำซีเอสอาร์โดยเข้าไปคุยกับบริษัทต่างๆ แต่ยังอยู่ในขั้นหาข้อมูลอยู่ ซึ่งสุดท้ายปลายทาง อยากเห็นผลงานชิ้นนี้เป็นของเล่นที่เด็กไม่พิการและพิการทางสายตาสามารถเล่นร่วมกันได้” ภาดากล่าวทิ้งท้าย