Skip to main content

14 สโมสรฟุตบอลจากทั้งหมด 20 สโมสรฯ ในพรีเมียร์ ลีกเปิดมิติใหม่ สร้างพื้นที่พิเศษที่รถเข็นวีลแชร์สามารถเข้าถึงได้ หลังจากที่มีการออกมารณรงค์ในเรื่องนี้โดยผู้สนับสนุนคนพิการ ตัวแทนกลุ่มคนพิการซึ่งดำเนินการทางกฎหมายด้วย เรียกร้องให้มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในสนามกีฬา


ภาพหน้าจอจากhttps://www.theguardian.com/football/2017/oct/20/wheelchair-access-at-premier-league-grounds-improved-after-campaigning

ในปี 2558 มีสโมสรฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก เพียง 2 แห่งเท่านั้น ที่มีการปรับพื้นที่ภายในสเตเดียมของสโมสรให้เหมาะสมเพื่อรองรับผู้ชมที่เป็นคนพิการ ซึ่งมีการก่อสร้างตามคู่มือสำหรับการออกแบบสเตเดียมหรือพื้นที่ทางกีฬาที่ออกแบบมาเพื่อให้คนพิการและทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ในเดือน ก.ย.ของปีนั้นเอง พรีเมียร์ ลีกได้เผยว่าภายในระยะเวลา 2 ปี ทางสโมสรต่างๆ ได้รับการแนะแนวทางและระหว่างปี 2559-2562 จะมีการมอบเงินสนับสนุนรวมเบ็ดเสร็จเป็นจำนวนเงินราว 8.4 พันล้านปอนด์จาก TV rights องค์กรที่สนับสนุนการถ่ายทอดกีฬาผ่านสื่อโทรทัศน์สมทบเข้ามาอีกเพื่อปรับปรุงพื้นที่ให้รองรับคนพิการ

เมื่อกล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินการตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2558 พรีเมียร์ ลีกได้สร้างพื้นที่สำหรับรองรับวีลแชร์กว่า 1,000 จุด และมี 14 สโมสรที่สร้างพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ยกเว้นสโมสรวัทฟอร์ด (Watford) ที่ในปัจจุบันยังไม่มีการร้องขอมาจากผู้สนับสนุนคนพิการ, คริสตัล พาเลซ (Crystal Palace) และ เอเวอร์ตัน (Everton) ที่กล่าวว่า มีความยากลำบากในการก่อสร้าง เพราะสโมสรเหล่านี้สร้างมานานแล้ว ยากแก่การปรับแก้แบบ จึงยังไม่สามารถจัดสรรพื้นที่หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการได้ สโมสรเชลซี (Chelsea) ได้มีการให้คำมั่นว่า จะวางแผนงานเพื่อควบรวมเอาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการที่ทันสมัย เข้าไว้ในการก่อสร้างครั้งใหม่ในอนาคตด้วย

“บอร์ดบริหารพรีเมียร์ ลีกได้ทวงถามไปทางสโมสรเชลซี ถึงความคืบหน้าของแผนการดำเนินงานที่จะก่อสร้างที่สแตมป์ฟอร์ด บริดจ์ (Stamford Bridge) และได้เรียกร้องขอแผนการดำเนินงานปรับปรุงพื้นที่ภายในเดือนสิงหาคม 2561” ตัวแทนจากพรีเมียร์ ลีกกล่าว

สโมสรนิวคัสเซิล ยูไนเต็ด (Newcastle United) และสโมสรเบิร์นลี (Burnley) สองสโมสรที่เข้ามาอยู่ในระดับชั้นพรีเมียร์ ลีกตั้งแต่ปี 2558 มีนโยบายจะพัฒนาพื้นที่ให้คนพิการเข้าถึงได้ตามที่ได้มีการแนะแนวทางไว้ ส่วนอีก 2 สโมสรฟุตบอลอย่างไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบียน (Brighton and Hove Albion) และสโมสรฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์ (Huddersfield Town) ก็มีการขยายจำนวนพื้นที่ภายในสโมสรของตนให้วีลแชร์สามารถเข้าถึงได้ โดยเพิ่มจำนวนพื้นที่ให้มากขึ้นกว่าเดิม

สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (Manchester United) ได้มีการสร้างพื้นที่ในสนามที่รองรับวีลแชร์ได้อีก 157 จุดพร้อมที่นั่งอีก 277 ที่ ในสนามประจำสโมสรที่มีอายุยาวนานและมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักอย่าง สนามโอลด์ ทรัฟฟอร์ด (Old Trafford)

สโมสรฟุตบอลทีมต่างๆ ในพรีเมียร์ ลีกยังมีพันธกิจเกี่ยวกับคนพิการและการสนับสนุนการเข้าถึงสนามฟุตบอลซึ่งรวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและที่นั่งที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการพื้นที่มากขึ้นเป็นพิเศษ นอกจากนี้ 18 สโมสรจาก 20 สโมสรฟุตบอลพรีเมียร์ ลีกมีการปรับปรุงห้องน้ำเดิมให้คนพิการสามารถใช้งานได้ไม่ต่างจากผู้เข้าชมอื่นๆ ที่ไม่พิการอีกด้วย

บิล บุช ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของพรีเมียร์ ลีก เปิดเผยว่า สโมสรฟุตบอลทีมต่างๆ มีแผนงานดำเนินการเพื่อพัฒนาเรื่องการเข้าถึงของคนพิการ และนี่เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนไม่ว่าจะด้านงานกีฬา หรืองานเอ็นเตอร์เทนเมนท์ประเภทไหน

กลุ่ม Level Playing Field ซึ่งเป็นกลุ่มตัวแทนคนพิการได้รณรงค์กับทางสโมสรเป็นเวลากว่า 20 ปี เพื่อเรียกร้องให้ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบเห็นความสำคัญในแง่การให้ความสะดวกผู้ชมที่เป็นคนพิการด้วย ซึ่งเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในปัจจุบัน อย่างสโมสรเวสต์ บรอมิช อัลเบียน (West Bromwich Albion) ซึ่งแม้สนามประจำสโมสรจะเก่ามากแล้วก็ตามที แต่ก็ได้จัดสร้างที่สำหรับคนดูที่พิการ

ตามพระราชบัญญัติความเสมอภาคปี 2553 คณะกรรมการความเสมอภาคและสิทธิมนุษยชน ให้ความเห็นว่า กีฬาพรีเมียร์ลีกในทุกวันนี้อยู่ในขั้นตอนของการรับคำสั่งเพื่อไปปรับใช้อย่างถูกต้อง แต่ก็เห็นได้ชัดว่าสโมสรบางแห่งมีวิธีการในการสร้างการเข้าถึงคนดูหรือผู้สนับสนุนทีมของพวกเขาที่เป็นคนพิการต่างกัน ทางหน่วยงานได้พบกับทุกสโมสรในพรีเมียร์ ลีกเป็นรายทีมเดี่ยวและอยู่ในขั้นตอนท้ายๆ ของการอภิปรายความเห็น เพื่อการมีความเห็นพิเศษเฉพาะนี้ร่วมกัน

 

แปลและเรียบเรียงจาก

https://www.theguardian.com/football/2017/oct/20/wheelchair-access-at-premier-league-grounds-improved-after-campaigning